xs
xsm
sm
md
lg

ศาลรธน.นัดไต่สวนส.ว.ปราจีนฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อเวลา 11.00 น. วานนี้ (9 ธ.ค.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นำโดย นายชัช ชลวร ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์ เพื่อนัดพร้อมคู่ความ สอบถามถึงพยานหลักฐานที่จะต้องนำสืบเพิ่มเติม และกำหนดประเด็นแนวทางในการไต่สวน คดีประธานวุฒิสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91กรณีสมาชิกภาพของ นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรี ว่าสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 119 (4) และมาตรา 115 (6) จากกรณีที่นายสุรเดช ได้ลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ไม่ถึง 5 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ประเด็นที่ต้องพิจารณามีเพียงประเด็นเดียว คือนายสุรเดช ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 21 พ.ค. 45 จริงหรือไม่ ส่วนข้อเท็จจริงอื่น สามารถยุติได้ในตัวอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางฝ่ายผู้ร้องได้ขอสืบพยานเพิ่มเติมจำนวน 5 ปาก ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของ กกต.ในส่วนของผู้ที่มีหน้าที่ดูแลในระบบฐานข้อมูลสมาชิกพรรคของกกต. และคณะกรรมการไต่สวนที่ทำคดีดังกล่าว ในขณะที่ผู้ถูกร้อง ได้ขอเบิกพยานจำนวน 10 ปาก ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ของกกต. ด้านกิจการพรรคการเมือง และเจ้าหน้าที่ของพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงระบุในตัวเองเป็น 1 ใน 10 ปากด้วย
นอกจากนี้ยังได้ขอฐานข้อมูลจากพรรคประชาธิปัตย์ และกกต.ในระหว่างปี 45 ถึง 50 ทั้งนี้ ผู้ถูกร้องได้ขอเลื่อนการไต่สวนออกจากไปเป็นเดือน ม.ค.53 โดยอ้างว่า คณะทนายความได้ติดว่าความต่อศาลอื่น ซึ่งได้มีกำหนดนัดไว้ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัด โดยศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ยินยอม โดยจะไต่สวนพยานเฉพาะของในส่วนผู้ร้องในวันที่ 16 ธ.ค.52 ตามกำหนดนัดเดิม แต่ในส่วนของฝ่ายผู้ถูกร้อง ให้นัดไต่สวนพยานทั้ง 10 ปากในวันที่ 14 ม.ค.53 เวลา 10.00 น.
**กรณี“สุรเดช”กกต.ส่งผิดศาลหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่ กกต. เสนอเรื่องให้ประธานวุฒิสภา เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาสมาชิกภาพของนายสุรเดช ครั้งนี้ ยังคงเป็นปัญหาข้อถกเถียงกันอยู่ แม้แต่ในระดับชั้นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวน หรือแม้แต่ใน กกต.เอง ก็ยังมีความเห็นในเรื่องนี้ที่แตกต่างกัน เนื่องจากการกรณีดังกล่าวมีผู้ร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ดังนั้น กรณีของนายสุรเดช นี้ น่าที่จะส่งให้กับศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณา การที่ กกต. มีมติส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณานั้น จะเป็นการยื่นผิดศาลหรือไม่
แหล่งข่าว เปิดเผยว่าการร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติของนายสุรเดช นั้นยังร้องในขณะที่อยู่ในขั้นตอนของการเลือกตั้ง คือ เป็นการร้องคัดค้านหลังจากประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไม่ถึง 30 วัน อีกทั้งการร้องในครั้งนั้น เป็นการร้องเรื่องคุณสมบัติการรับสมัคร เรื่องจึงถือว่ายังอยู่ระหว่างขั้นตอน และกระบวนการของการเลือกตั้ง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่า เป็นหน้าที่ของศาลฎีกาที่จะพิจารณาเรื่องนี้ แต่ กกต.เสียงส่วนมากกลับมองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของคุณสมบัติ โดยไม่มองว่า เป็นในขั้นตอนของกระบวนการเลือกตั้งหรือไม่ จึงเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 91
"กรณีนี้มีคนมองว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจในการรับพิจารณาวินิจฉัยกรณีนี้หรือไม่ เพราะกระบวนการของการดำเนินการของกกต. ที่ต้องพิจารณาตามระเบียบของการสืบสวนสอบสวนของ กกต. เมื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนจนได้ข้อเท็จจริงปรากฏ และเห็นว่าสมควรให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก็ต้องส่งเรื่องให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา ให้วินิจฉัย ตามมาตรา 239 ของรัฐธรรมนูญมากกว่า" แหล่งข่าวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น