xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองกลางพิพากษา ทอท.แพ้คดี เลิกจ้าง “เทอดศักดิ์” นั่งเก้าอี้เอ็มดี สั่งจ่ายกว่า 20 ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.อ.เทอดศักดิ์ สัจจะรักษ์
“พล.อ.อ.เทอดศักดิ์ สัจจะรักษ์” ชนะคดีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กรณีถูกบอกเลิกสัญญาจ้างเป็นผู้บริหาร (กรรมการผู้จัดการใหญ่) ก่อนครบกำหนดอายุสัญญาจ้างฯ ศาลปกครองกลางพิพากษาให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ต้องควักเงินจ่ายต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยกว่า 20 ล้านบาท ขณะที่เจ้าตัวพอใจผลคำพิพากษาของศาล ลั่นทำให้สามารถกอบกู้เกียรติยศ ศักดิ์ศรี ชื่อเสียงวงศ์ตระกูลกลับคืนมาได้ แม้จะต้องใช้เวลาต่อสู้คดีในศาลมานานถึง 6 ปีครึ่งก็ตาม

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. เวลา 14.00 น. ที่ศาลปกครองกลาง ห้องพิจารณาคดีที่ 5 พล.อ.อ.เทอดศักดิ์ สัจจะรักษ์ พร้อมด้วยทนายความ นายวิเชียร ศิริมงคล ได้เดินทางไปฟังคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง โดยนายอาจินต์ ฟักทองพรรณ ตุลาการศาลปกครองกลาง ได้อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 1129/2549 คดีหมายเลขแดงที่ 2003/2552 คดีระหว่าง พล.อ.อ.เทอดศักดิ์ สัจจะรักษ์ ผู้ฟ้องคดี บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน ผู้ถูกฟ้องคดี เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง โดยความเดิมเกี่ยวกับคดีนี้นั้น เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2546 คณะกรรมการของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ซึ่งขณะนั้นมีนายศรีสุข จันทรางศุ เป็นประธานกรรมการ และมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้กำกับดูแลและควบคุมการบริหารกิจการของ ทอท. ได้มีมติเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีก่อนกำหนดอายุของสัญญาจ้าง

โดยให้เหตุผลว่าผู้ฟ้องคดีได้ให้ข่าวต่อพนักงาน ทอท.ที่ห้องประชุมเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2546 ว่าถูกกลั่นแกล้งจากผู้มีอำนาจทางการเมือง ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับงานจ้างปรับปรุงทางวิ่งทางอากาศยานภูเก็ตและเชียงใหม่ โดยใช้วิธีพิเศษโดยมิชอบ ปล่อยให้พนักงาน ทอท.จัดชุมนุมและแต่งชุดดำไว้ทุกข์และมีพนักงาน ทอท.บางส่วนเดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับผู้ฟ้องคดีในเรื่องที่ยังไม่ส่งผลกระทบและเกิดขึ้นกับตัวผู้ฟ้องคดีที่ทำเนียบรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2546 โดยที่ผู้ฟ้องคดีได้ทราบเหตุการณ์ดังกล่าวล่วงหน้าแล้ว แต่ก็มิได้มีการป้องกันหรือห้ามการชุมนุมแต่อย่างใด การกระทำดังกล่าวข้างต้นเป็นการผิดเงื่อนไขสัญญาจ้างเป็นผู้บริหารฯ เป็นเหตุให้คณะกรรมการ ทอท.ได้รับความเสียหาย โดยเสื่อมเสียชื่อเสียง อาจถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากพนักงาน ทอท.หรือประชาชนทั่วไป ทอท.และกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ได้รับความเสียหาย เกิดความเข้าใจว่าเป็นองค์กรที่ขาดการบริหารจัดการที่ดี กระทบต่อชื่อเสียงขององค์กร ขาดความเชื่อถือจากสาธารณชน และส่งผลกระทบต่อการจะนำหุ้นของ ทอท.เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อไปในอนาคต

ดังนั้น ทอท.จึงมีสิทธิเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า หรือจ่ายค่าสินไหมทดแทนใด ๆ ตามเงื่อนไขสัญญาจ้างเป็นผู้บริหาร ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการ ทอท.ครั้งพิเศษที่ 2/2546 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2546 คณะกรรมการ ทอท.จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้เลิกจ้างผู้ฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2546 เป็นต้นไป ซึ่งข่าวการถูกปลดกลางอากาศ หรือถูกเลิกจ้างของ พล.อ.อ.เทอดศักดิ์ สัจจะรักษ์ ดังกล่าวได้ปรากฏแพร่หลายตามหน้าหนังสือพิมพ์ทั่วไปในช่วงเวลาดังกล่าว และต่อมาในเวลาใกล้เคียงกันคือเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2546 พล.อ.อ.เทอดศักดิ์ จึงได้นำคดีนี้ขึ้นสู่ศาลปกครองกลางฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก ทอท.กับพวก และคดีได้มีการพิจารณากันทั้งที่ศาลปกครองกลาง, ศาลแพ่ง และท้ายสุดคดีได้ถูกโอนสำนวนจากศาลแพ่งมาพิจารณาที่ศาลปกครองกลาง ซึ่งนับแต่เกิดเหตุจนถึงวันที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา คดีได้ยืดเยื้อมาเป็นเวลากว่า 6 ปีครึ่ง

ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเกี่ยวกับคดีพิพาทดังกล่าว กล่าวโดยสรุปในประเด็นสำคัญประเด็นแรกได้ว่าการที่ ทอท.เลิกจ้าง พล.อ.อ.เทอดศักดิ์ ผู้ฟ้องคดีก่อนครบกำหนดสัญญาจ้างนั้น ทอท.เป็นฝ่ายผิดสัญญาทั้งนี้เพราะศาลเห็นว่าจากพยานหลักฐานต่างๆ ที่นำเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดีนี้นั้น มีเหตุผลที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีเชื่อว่าตนถูกกลั่นแกล้ง กล่าวหา และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการถูกสอบสวนเกี่ยวกับงานจ้างปรับปรุงทางวิ่งท่าอากาศยานภูเก็ตและเชียงใหม่ฯ ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีได้ให้ข่าวต่อพนักงาน ทอท. เชื่อว่าเป็นความพยายามที่จะปกป้องชื่อเสียง เกียรติยศ และศักดิ์ศรีของตนเองจากการถูกกล่าวหาที่เห็นว่าไม่เป็นธรรม การกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงไม่ได้เป็นการให้ข่าวโดยจงใจกระทำให้เกิดความเสียหายต่อ ทอท. ตามเหตุผลที่ถูกเลิกจ้างแต่อย่างใด

ประเด็นที่สอง การที่ ทอท.อ้างว่าผู้ฟ้องคดีปล่อยให้พนักงานจัดชุมนุมแต่งชุดดำและเดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่กระทรวงคมนาคมและทำเนียบรัฐบาลโดยที่ผู้ฟ้องคดีทราบเหตุการณ์ล่วงหน้าแต่มิได้ป้องกันหรือห้ามปราบนั้น ศาลได้วินิจฉัยว่าเป็นการกล่าวอ้างของคณะกรรมการ ทอท.โดยลอยๆ โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวอ้างดังกล่าว แต่จากบันทึกสรุปเหตุการณ์และข้อเท็จจริงของประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ทอท.(สร.ทอท.) และคำชี้แจงยืนยันข้อเท็จจริงของอดีตประธาน สร.ทอท. (ที่ดำรงตำแหน่งในช่วงเกิดเหตุ) ต่อศาลปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ฟ้องคดีได้โทรศัพท์ไปขอร้องให้พนักงานเดินทางกลับ อย่ากระทำการใดๆ อันเป็นการไม่สงบ เพราะจะทำให้องค์กรเสียหาย แต่ประธาน สร.ทอท.แจ้งว่าเป็นเรื่องของ สร.ทอท.ที่สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับผู้ฟ้องคดี และผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิห้ามปราม

นอกจากนั้นยังปรากฏพยานหลักฐานต่อไปอีกว่าในช่วงเวลาดังกล่าว คณะผู้บริหารของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ทำหนังสือยืนยันข้อเท็จจริงว่าได้เข้าพบและหารือเรื่องการปฏิบัติงานกับผู้ฟ้องคดี โดยในระหว่างการสนทนาได้ยินผู้ฟ้องคดีรับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่พูดกับบุคคลอื่นพอจับใจความได้ว่าขอให้ยกเลิกการเดินขบวน จึงน่าเชื่อว่าผู้ฟ้องคดีได้พยายามห้ามปรามแล้ว ไม่ได้ปล่อยให้พนักงานจัดชุมนุมและเดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องโดยที่ไม่ได้ห้ามปรามตามข้อกล่าวหาของคณะกรรมการ ทอท. และเห็นว่าเป็นสิทธิที่กฎหมายรับรองให้ สร.ทอท.สามารถกระทำได้ภายในขอบเขตของกฎหมาย ซึ่งผู้ฟ้องคดีไม่อาจสั่งห้ามได้ ดังนั้น เหตุผลในการเลิกจ้างของ ทอท. ในประเด็นข้อนี้จึงไม่ชอบ ประเด็นข้อสุดท้ายที่คณะกรรมการ ทอท.อ้างว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นเหตุให้ ทอท. คณะกรรมการ ทอท. และกระทรวงการคลังได้รับความเสียหายฯ นั้น

ศาลเห็นว่าข่าวเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตและความขัดแย้งในองค์กร ทอท.ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดมา ข่าวดังกล่าวเกิดจากการให้สัมภาษณ์ของนายศรีสุข จันทรางศุ ประธานกรรมการของทอท. และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และการให้ข่าวของผู้ฟ้องคดี รวมทั้งจากการชุมนุมของพนักงาน ทอท. จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าความเสียหายจากการมีข่าวดังกล่าวเกิดจากการกระทำของผู้ฟ้องคดีแต่เพียงลำพังฝ่ายเดียว ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีส่วนทำให้เกิดขึ้น คณะกรรมการ ทอท. จึงไม่อาจยกเป็นเหตุผลกล่าวหาผู้ฟ้องคดีฝ่ายเดียวได้ ส่วนกระทรวงการคลัง แม้จะเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานของ ทอท. และในฐานะผู้ถือหุ้นทั้งหมดของ ทอท.

ศาลเห็นว่ากระทรวงการคลัง ไม่ได้รับความเสียหายจากการตกเป็นข่าวของ ทอท. และการให้ข่าวของผู้ฟ้องคดีไม่น่าจะทำให้คณะกรรมการ ทอท.ได้รับการดูหมิ่น เกลียดชังจากพนักงานและประชาชนทั่วไปตามข้ออ้าง เพราะคณะกรรมการ ทอท.ยังไม่ได้พิจารณาวินิจฉัยผลการสอบสวนข้อเท็จจริงว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดหรือไม่ ส่วนข้ออ้างว่ามีผลกระทบต่อการนำหุ้นของ ทอท.เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น ศาลเห็นว่าผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีส่วนทำให้เกิดผลกระทบขึ้นดังได้กล่าวไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม จากข่าวการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ไทยโพสต์ และเดลินิวส์ ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ทอท. เลื่อนแผนการนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์เนื่องจากบรรยากาศการลงทุนอยู่ในภาวะที่ไม่เหมาะสม เป็นผลมาจากความไม่ชัดเจนของภาวะสงครามระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอิรัก รวมทั้งโรคระบาด ซึ่งไม่ตรงกับข้อกล่าวหาของคณะกรรมการ ทอท.ที่เลิกจ้างผู้ฟ้องคดี

ดังนั้น ศาลปกครองกลางจึงได้สรุปข้อเท็จจริงว่า เมื่อฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้ไปชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสอบสวนโครงการจัดจ้างปรับปรุงทางวิ่งทางอากาศยานภูเก็ตและเชียงใหม่ ที่มีการกล่าวหาว่ากระทำโดยมิชอบและการพูดจาเกี่ยวกับการที่จะให้ผู้ฟ้องคดีออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ ทอท. รวมทั้งเงื่อนไขที่ผู้ฟ้องคดีได้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท. ให้พนักงานของ ทอท.ทราบตามที่ สร.ทอท.ขอให้ไปชี้แจงในฐานะที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กร และตกเป็นข่าวว่ามีส่วนกระทำผิดและจะถูกปลดออกจากตำแหน่ง โดยผู้ฟ้องคดีเชื่อว่าตนถูกกลั่นแกล้งกล่าวหาจากผู้มีอำนาจทางการเมืองและจากคณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งมีเหตุผลที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีเชื่อเช่นนั้นได้ จึงเป็นการกระทำไปเพื่อปกป้องชื่อเสียงของตนจากการถูกกล่าวหาที่เห็นว่าไม่เป็นธรรม ไม่ได้เป็นการนำความลับของ ทอท.ไปเปิดเผยตามข้อกล่าวหา ไม่ได้ปล่อยให้พนักงานจัดชุมนุมและเดินทางไปเรียกร้องขอความเป็นธรรม โดยผู้ฟ้องคดีได้ห้ามปรามแล้ว แต่พนักงานไม่ปฏิบัติตามเนื่องจากเห็นว่ามีสิทธิกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้เป็นเพียงผู้เดียวที่ให้ข่าวทำให้ ทอท.เสียชื่อเสียงจากการตกเป็นข่าวและกระทบต่อการนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ตามที่ถูกกล่าวหา

จึงไม่ถือว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการจงใจทำให้ ทอท.ได้รับความเสียหายตามเงื่อนไขสัญญาจ้างข้อ 11.4 (2) ที่กำหนดให้ผู้ว่าจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนใดๆ ตามข้ออ้างของ ทอท. ถึงแม้จะฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ ทอท.ที่ไม่ให้นำเรื่องที่พูดกันในที่ประชุมไปเปิดเผย อันเป็นการไม่รักษาวินัยโดยเคร่งครัด เป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างข้อ 2 และข้อ 3.2 ก็ตาม แต่เงื่อนไขดังกล่าวไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญทีจะนำมาอ้างว่าเป็นการจงใจทำให้ ทอท.เสียหาย และมีสิทธิเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนใดๆ ส่วนข้อกล่าวอ้างของ ทอท.และคณะกรรมการ ทอท.ในคำให้การว่าผู้ฟ้องคดีประมาทเลินเล่อทำให้ทอท. ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงผิดเงื่อนไขสัญญาจ้างข้อ 11.4 (3) ที่ผู้ว่าจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ด้วยนั้น ในหนังสือบอกเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีไม่ได้ระบุเหตุผลดังกล่าว จึงไม่อาจยกขึ้นอ้างในชึ้นศาลได้

ดังนั้น การที่ ทอท.เลิกจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นผู้บริหารก่อนครบกำหนดสัญญาจ้าง จึงเป็นการกระทำผิดสัญญาจ้าง ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำผิดสัญญาจ้างให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามกฎหมาย ศาลจึงมีคำพิพากษาให้ ทอท.จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนจากการบอกเลิกสัญญาจ้างให้แก่ พล.อ.อ.เทอดศักดิ์ สัจจะรักษ์ ผู้ฟ้องคดี เป็นเงิน 15,786,666.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ยกฟ้องคณะกรรมการ ทอท. และกระทรวงการคลัง และยกคำขออื่นนอกจากนี้ของผู้ฟ้องคดีฯ

ภายหลังทราบผลคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง พล.อ.อ.เทอดศักดิ์ สัจจะรักษ์ ได้ให้ให้สัมภาษณ์ว่าพอใจในผลคำพิพากษาของศาลเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ตนถูกกล่าวหาและเลิกจ้างด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เพราะเท่ากับลบล้างข้อกล่าวหาของคณะกรรมการ ทอท.ทั้งหมดที่เลิกจ้างตน ทำให้ตนเองสามารถกอบกู้เกียติยศ ศักดิ์ศรี ชื่อเสียง และวงศ์ตระกูลกลับคืนมาได้แม้จะต้องใช้เวลาต่อสู้คดีในศาลมาเป็นเวลานานถึง 6 ปีครึ่งก็ตาม และคดีนี้ไม่แน่ใจว่าจะมีการอุทธรณ์ต่อสู้คดีกันต่อไปในศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ ซึ่งตนเองจะได้ปรึกษาหารือกับทนายความต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น