กกต.เล่นเกมยื้อเวลายุบ ปชป. ชี้เสียงข้างมากโยนเผือกร้อนนายทะเบียนพรรคการเมืองตัดสินใจ ล่าสุดมติ 3 ต่อ 2 ให้ยกคำร้อง จับตา “อภิชาต” อาจต้องกลืนน้ำลายตัวเอง
วันนี้ (17 ธ.ค.)นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ภายหลังการประชุม กกต. ในที่ประชุมฯ ได้พิจารณารายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการไต่สวนกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษขอให้ กกต.ตรวจสอบการกระทำของพรรคประชาธิปัตย์ กรณี พรรคประชาธิปัตย์รับเงินบริจาคจากบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) ผ่านบริษัท เมสไซอะ จำกัด จำนวน 258 ล้านบาท โดยมีการทำสัญญาว่าจ้างจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นนิติกรรมอำพราง และถือว่าผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 66(2)และ (3)ประกอบมาตรา 94(3),(4),(5) หรือไม่ และกรณีมีการกล่าวหาว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช้จ่ายเงินจากกองทุนเพื่ออการพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นไปตาม บทบัญญัติของกฎหมาย และไม่ยื่นบัญชีต่อ กกต.ซึ่งขัดต่อ พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 62, 65 ประกอบมาตรา 82และ 93 โดยมติเสียงข้างมากเห็นควรให้ นายทะเบียนพรรคการเมืองไปดำเนินการตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 95 กล่าวคือให้นายทะเบียนพรรคการเมืองตรวจสอบและทำความเห็น หากเห็นว่ามีความผิดก็ให้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม กกต.เพื่อขอความเห็นชอบ ซึ่งหากที่ประชุมเห็นชอบด้วยกับความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองก็ให้เสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาใน 30 วัน หากอัยการสูงสุดเห็นสมควรก็ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคต่อไป
นายสุทธิพลยังปฏิเสธว่า มติดังกล่าวจะไปสรุปว่า เป็นการโยนภาระให้กับนายทะเบียนพรรคการเมืองคงไม่ได้ ซึ่งหากนายทะเบียนฯได้ตรวจสอบและมีความเห็นว่า พรรคการเมืองกระทำผิดตามมาตรา 94 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองก็จะต้องส่งเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม กกต.อีกครั้ง แต่หากนายทะเบียนฯ เห็นควรให้ยุติเรื่องก็ไม่ต้องส่งเข้าที่ประชุม กกต.อีก อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาการทำงานของนายทะเบียนฯ เอาไว้ ซึ่งก็คิดว่านายทะเบียนฯ คงไม่ยื้อเวลา แต่ทั้งนี้ ทะเบียนเองก็มีสิทธิที่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบอีกครั้ง หรือจะใช้ความเห็นจาก คณะกรรมการไต่สวนของ กกต.ก็ได้ แล้วแต่ดุลพินิจของนายทะเบียนฯ
ส่วนเสียงข้างน้อยในกรณีนี้ได้มีการวินิจฉัยในเนื้อหาของรายงานผลการสอบสวน และได้มีการลงมติโดยมติที่ออกมานั้นมีทั้ง 2ทาง ซึ่งตนคงไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าใครเป็นเสียงข้างน้อย รวมทั้งไม่ขอเปิดเผยว่า ประธาน กกต.ซึ่งมีฐานะเป็นนายทะเบียนฯด้วยนั้นลงมติอย่างไร
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการนำเสนอรายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการไต่สวนฯ ยังคงมีความเห็นเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 ให้ยกคำร้อง ทำให้ในการพิจารณาของกกต.ตลอดทั้งวันค่อนข้างตรึงเครียด โดยเมื่อช่วงของการลงมติก็ได้ให้เจ้าหน้าที่ออกจากห้อง เพื่อพิจารณาลงมติลับแต่กกต.ก็ไม่สามารถกระทำให้เสร็จสิ้นในห้องประชุมได้ โดยมีการขอไปกลับไปเขียนมติที่ห้องทำงาน และจัดให้ส่งให้สำนักการประชุมภายในวันเดียวกัน โดยมติสุดท้ายส่งมาถึงในเวลา 18.00 น. ซึ่งมติกกต.ที่ออกมาเสียงข้างมาก 3 เสียง คือ นายประพันธ์ นัยโกวิท, นางสดศรี สัตยธรรม และนายสมชัย จึงประเสริฐ ส่วนเสียงข้างน้อยแบ่งเป็น 2 ทาง โดยนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.เห็นควรให้ยกคำร้อง ส่วนนายวิสุทธิ โพธิแท่น เห็นว่าควรเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค
อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวจะเป็นปัญหากับนายอภิชาตที่ต้องใช้อำนาจในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็น เพราะมติคณะกรรมการไต่สวน และมติ กกต.เสียงข้างน้อยที่ออกมานั้นมีทั้ง 2 ทาง อีกทั้งตนเองก็ได้ใช้อำนาจในฐานะกรรมการ กกต.มีมติเห็นควรให้ยกคำร้องไปแล้ว ซึ่งก็น่าสนใจว่านายอภิชาตจะมีมติแตกต่างจากที่ได้ลงไว้ก่อนแล้วหรือไม่ เนื่องจากหากนายทะเบียนฯ มีความเห็นให้เสนอศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อนำเสนอต่อที่ประชุม กกต.ขอความเห็นชอบเพื่อดำเนินการต่อ ก็เท่ากับว่ามติของนายอภิชาตในกรณีนี้จะเป็น 2 แนวทาง แต่ถ้านายทะเบียนพรรคการเมืองยังยืนยันมติเดิมของตนเองที่ลงไว้ก่อนแล้วคือเห็นควรให้ยกคำร้องนายทะเบียนฯ อาจต้องเผชิญกับการถูกครหาว่าต้องการอุ้มรัฐบาล รวมทั้งอาจถูกพรรคเพื่อไทยฟ้องร้องได้ ทำให้มติเสียงข้างมากที่ออกมาในครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการโยนเผือกร้อนให้นายทะเบียนพรรคการเมือง