“นายกฯ” เผยผู้แทนยูเอ็นไม่พบวันนี้ ปัดมีปัญหาเรื่องบินขนอาวุธ บอกนัดคุยโลกร้อน “สุเทพ” ซัด “จตุพร” พล่ามรางวัลนำจับหวังแค่ทำลายรัฐ เชื่อไม่ชักศึกเข้าบ้าน เพราะทำตามหน้าที่สมาชิกสหประชาชาติ ด้าน ตม.ดอนเมืองยันไม่มีใครสั่งประสานสอบเครื่องบินลำนี้พิเศษ ขณะที่อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศยังอุบผลสอบ 5 ต่างชาติ รับคดีสุดซับซ้อน ส่วน ทอ.ซัดฝ่ายค้านสุดมั่ว ยันไม่ได้ส่งบินรบไล่จี้เครื่องบินให้ลงจอด
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (15 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยก่อนเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ในวันนี้ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย จะไม่ได้มาเข้าพบตามกำหนดการ แต่ก็ไม่ได้เป็นเพราะมีปัญหาอะไร และเหตุที่มาพบก็เพื่อจะหารือกันเรื่องภาวะโลกร้อน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกรณีการจับกุมเครื่องบินขนอาวุธเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (12 ธ.ค.)
ส่วน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย เปิดเผยเรื่องรางวัลเงินนำจับเครื่องบินพร้อมกับผู้ต้องหาขนอาวุธสงครามว่า เป็นความต้องการสร้างประเด็นทางการเมืองเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ซึ่งตนไม่เคยได้ยินมาก่อน โดยตนจะขอทวนความให้ฟังว่า เมื่อแหล่งข่าวแจ้งมายังเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยว่ามีขบวนการขนอาวุธผ่านประเทศไทย ซึ่งอาจผ่านโดยเครื่องบินลำนี้ เมื่อเครื่องลำนี้ขออนุญาตผ่านประเทศไทย เราก็พยายามไม่อนุญาตให้ผ่าน แต่ด้วยข้อจำกัดในแง่ตกลงทางการบินก็ต้องยอมให้ผ่าน เมื่อแวะมาเติมน้ำมันในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ก็เข้าไปตรวจสอบไม่พบว่ามีอาวุธ และขากลับก็แวะกลับมาเติมน้ำมันที่ประเทศไทยอีกครั้ง เราก็เข้าไปตรวจสอบ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าไม่มีเรื่องสินบนอย่างที่พยายามกรุเรื่องขึ้นมา ตนไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อนจริงๆ ส่วนที่มีแหล่งข่าวทางการทูตออกมาระบุว่าหากมีการจับกุมของผิดกฎหมายจะมีรางวัลนำจับเช่นเดียวกับกรณีที่รัฐบาลไทยจับตัวนายฮัมบาลีนั้น นายสุเทพกล่าวว่า จะไปตรวจสอบเรื่องนี้
นายสุเทพยังมั่นใจว่า การจับกุมดังกล่าวจะไม่เป็นการชักศึกเข้าบ้าน หรือก่อให้เกิดปัญหากับเกาหลีเหนือ ที่มีการรายงานระบุว่าเป็นประเทศต้นทางของอาวุธดังกล่าว เพราะการดำเนินการทุกอย่างของรัฐบาลไทยนั้นไม่ได้มีเจตนาร้าย ไม่ได้มีอคติกับใคร แต่เป็นความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติตามมติสหประชาชาติ เพราะไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ และหลายประเทศต้องปฏิบัติตามมติสหประชาชาติเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายของไทยที่จะละเว้นการปฏิบัติไม่ได้ ทั้งนี้ ตนไม่คิดว่าจะมีปัญหาเรื่องการชี้แจงกับต่างประเทศ ซึ่งก็คงต้องชี้แจงให้ต่างประเทศได้รับทราบ สำหรับเครื่องบินที่ยึดไว้ตอนนี้ยังไม่มีใครมาขอรับผิดชอบ ซึ่งเราจะดำเนินการไปตามข้อกฎหมาย ส่วนอาวุธก็จะต้องถูกทำลายตามมติของสหประชาชาติด้วยเช่นกัน
ด้าน พล.ต.ต.วิสนุ ปราสาททองโอสถ ผู้บังคับการกองบังคับการตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานแห่งชาติ (ผบก.ตท.) เปิดเผยถึงกรณีการจับกุมเครื่องบินขนอาวุธว่า จากการตรวจสอบในวันเกิดเหตุ (12 ธ.ค.) เจ้าหน้าที่ประจำสนามบินดอนเมืองได้รายงานให้ตนทราบว่า ได้ตรวจสอบเครื่องบินเช่าเหมาลำสัญชาติจอร์เจียที่มาขอพักจอดเติมน้ำมัน โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการเอกสารหนังสือเดินทางของลูกเรือ 4 คน และกัปตัน ก็ไม่พบความผิดปกติ จากนั้นได้ขอตรวจสอบใบสำแดงสินค้าก็พบว่ามีความผิดปกติจึงเข้าไปตรวจในเครื่องบิน ซึ่งพบอาวุธสงครามจำนวนมากดังกล่าว โดยการตรวจสอบนั้นมีเจ้าหน้าที่จากศุลกากร พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำสนามบินดอนเมืองร่วมตรวจสอบด้วย ส่วนเครื่องบินลำดังกล่าวนั้น ทางสนามบินดอนเมืองไม่ได้รับการประสานงานมาก่อนว่าเป็นเครื่องบินที่ลักลอบขนอาวุธ หรือมีสิ่งผิดกฎหมายภายใน และยอมรับว่าเครื่องบินลำดังกล่าวเคยมาแวะจอดเติมน้ำมันแล้ว 2 ครั้ง แต่ขณะนั้นในเครื่องไม่มีอุปกรณ์ เป็นเครื่องบินเปล่าที่คาดว่าอาจบินไปรับสินค้า จึงไม่พบพิรุธในขณะนั้น
ทั้งนี้ การประสานข้อมูลจับตาตรวจสอบเครื่องบินลำดังกล่าวเป็นพิเศษนั้น ยังไม่ได้มีการร้องขอหรือให้ตรวจสอบจากหน่วยงานใด ซึ่งอาจเป็นการประสานไปยังเจ้าหน้าที่ส่วนอื่น แต่ในส่วนของสนามบินที่ตนเองดูแล ไม่ได้รับการประสานมา อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีกับ 5 ผู้ต้องหานั้น ขณะนี้ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และการสอบสวนคดีนี้จะมีอัยการเข้าร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนด้วย
ขณะที่ นายศิริศักดิ์ ติยะพรรณ อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีการเข้าไปร่วมกับพนักงานสอบสวนทำการสอบสวน 5 ผู้ต้องหาขนอาวุธข้ามชาติว่า ในเบื้องต้นต้องดูว่าข้อมูลที่ได้จากผู้ต้องหาทั้ง 5 คนนั้นเพียงพอหรือไม่ ซึ่งหากผู้ต้องหาไม่ให้ความร่วมมือก็ต้องขอความร่วมมือจากประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ ทั้งนี้ ยอมรับว่ารูปคดีมีความซับซ้อน เพราะถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการจับกุมอาวุธได้ถึง 35 ตัน ซึ่งแตกต่างจากคดีของวิกเตอร์ บูต นักค้าอาวุธระดับโลกที่ถูกทางการไทยจับกุมเมื่อปีที่แล้ว เพราะกรณีวิคเตอร์ เป็นการขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน เนื่องจากความผิดเกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่กรณีผู้ต้องหาทั้ง 5 คนนี้ เป็นการทำผิดกฎหมายไทย ซึ่งความผิดในการขนอาวุธเข้ามาในประเทศไทยนั้น จะมีโทษจำคุกสูงสุดประมาณ 10 ปี โดยยังไม่รวมว่าอาจจะมีการเชื่อมโยงกับความผิดอื่นๆ ด้วย
ด้าน น.อ.มณฑล สัชฌุกร รองโฆษกกองทัพอากาศ กล่าวถึงการตรวจสอบอาวุธของกลางจำนวน 35 ตัน ที่ยึดมาจากเครื่องบินต่างชาติ โดยขณะนี้นำไปเก็บไว้ที่คลังสรรพาวุธ กองบิน 4 อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ว่าในส่วนของหน้าที่การตรวจสอบนั้นเป็นของกองปราบปราม ทหารเป็นเพียงผู้ช่วยเจ้าพนักงาน มีหน้าที่เก็บรักษาอาวุธให้เท่านั้น สำหรับการตรวจสอบคงต้องใช้เวลาเพราะมีเป็นจำนวนมาก พร้อมกันนี้ รองโฆษกกองทัพอากาศยังปฏิเสธด้วยว่ากองทัพอากาศไม่ได้นำเครื่องบินขึ้นไปบินประกบเพื่อบังคับให้เครื่องบินลงจอดตามที่ฝ่ายค้านกล่าวหาแต่อย่างใด