xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : ธาตุแท้ “ทักษิณ-เพื่อไทย” ไม่แก้..แต่จะเอา รธน.2540!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงจี้ให้รัฐบาลนำ รธน.2540 มาใช้ เพื่อความสงบ-สมานฉันท์(13 ต.ค.)
อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน

การกลับลำ-กลับไปกลับมาของพรรค “เพื่อไทย” เกี่ยวกับเรื่องแก้ รธน.เดี๋ยวแก้..เดี๋ยวไม่แก้..เดี๋ยวไม่เอา ส.ส.ร.เดี๋ยวไม่เอาประชามติ สุดท้ายจบลงแบบง่ายๆ เอาแต่ใจตัวเองว่า ไม่เอา รธน.2550 แต่จะเอา รธน.2540 โดยอ้างว่า เพื่อความสงบ-สมานฉันท์นั้น ไม่เพียงเป็นเครื่องยืนยันว่า หัวหน้าพรรคตัวจริงอย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” สั่งให้ ส.ส.ทำอะไร..ต้องได้ตามนั้น แต่ยังเป็นการตีแผ่ธาตุแท้-ตัวตนของคนพรรคนี้ด้วยว่า เป็นพวก “ปากประชาธิปไตย แต่หัวใจเผด็จการ” ใช่หรือไม่? เพราะในขณะที่ปากเอาแต่โจมตี รธน.2550 ว่า มาจากเผด็จการ ทั้งที่ รธน.ฉบับนี้ผ่านการทำประชามติมีคนรับรองถึง 14 ล้านเสียง แต่พอตัวเองไม่ชอบใจ อยากเปลี่ยนแปลง รธน.กลับไม่กล้าให้ประชาชนตัดสินด้วยการทำ “ประชามติ” ...อย่างนี้จะให้เรียกว่าอะไร?

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ที่โจมตีรัฐธรรมนูญ 2550 มาตลอด ก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และกลุ่มคนเสื้อแดง รวมทั้ง ส.ส.พรรคเพื่อไทย โดยอ้างว่า รธน.ฉบับนี้เป็นผลผลิตจากเผด็จการคณะรัฐประหาร พร้อมจุดกระแสให้มีการแก้ รธน.เป็นระยะๆ กระทั่งรัฐบาลและสภา ต้องตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไข รธน.แต่ผู้ที่เป็นคณะกรรมการส่วนใหญ่ ก็คือ ส.ส.-ส.ว.ที่มีความอยากแก้ รธน.เป็นทุนเดิม ซึ่งในที่สุด คณะกรรมการก็ได้ข้อสรุปว่า ควรแก้ รธน.6 ประเด็นเพื่อความสมานฉันท์ ประกอบด้วย

1.ที่มาของ ส.ส.เสนอให้เปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ส.ส.จากเขตเดียวเรียงเบอร์ เป็นเขตเดียวเบอร์เดียว 2.ที่มาของ ส.ว.ให้มีแต่ ส.ว.จากการเลือกตั้ง แต่มีบทเฉพาะกาลยืดอายุ ส.ว.สรรหาที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันให้ สามารถอยู่ในตำแหน่งได้นานขึ้น จาก 3 ปี เป็น 6 ปี 3.มาตรา 190 ให้ระบุว่า หนังสือสัญญาประเภทใดบ้างที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา 4.มาตรา 237 ให้ยกเลิกโทษยุบพรรค และยกเลิกการตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคกรณีที่มีการทุจริตเลือกตั้ง โดยให้ถือว่าความผิดดังกล่าวเป็นความผิดเฉพาะบุคคล 5.มาตรา 265 ควรแก้ไขโดยเปิดให้ ส.ส.สามารถดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี หรือเลขานุการรัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรีได้ โดยอ้างว่า เพื่อให้ ส.ส.มีโอกาสเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์การทำงานด้านการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อเตรียมพร้อมทำงานในตำแหน่งสำคัญต่อไป (ซึ่งหมายถึงตำแหน่งรัฐมนตรีนั่นเอง) และ 6.มาตรา 266 ควรแก้ไขให้ ส.ส.และ ส.ว.สามารถแทรกแซงการทำงานของข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และราชการส่วนท้องถิ่นได้ โดยอ้างว่า เพื่อให้ ส.ส.และ ส.ว.ช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผ่านส่วนราชการต่างๆ ได้

หลังคณะกรรมการสมานฉันท์ได้ข้อสรุปดังกล่าว พรรคเพื่อไทย เห็นรัฐบาลเพิกเฉย จึงออกมากระทุ้งให้รัฐบาลรีบทำตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ หาทางออกด้วยการให้ประธานรัฐสภาเปิดประชุมเพื่อให้ ส.ส.-ส.ว.ได้อภิปรายเกี่ยวกับการแก้ รธน.ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ เมื่อวันที่ 16-17 ก.ย.จากนั้น นายกฯ ได้ออกมาส่งสัญญาณเสนอ 3 แนวทางแก้ รธน.คือ 1.ตั้งองค์กรเฉพาะหรือสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากสมาชิกรัฐสภา-ส.ส.ร.2540-ส.ส.ร.2550 และนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ 2.ตั้งคณะกรรมการอิสระที่มาจากคนนอกสภา เพื่อศึกษาและนำผลมาเปรียบเทียบกับข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ ก่อนทำประชามติ และ 3.ให้ทุกพรรคการเมืองร่วมกับวุฒิสภาช่วยกันยกร่างแก้ไข รธน.ใน 6 ประเด็นที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เสนอ แต่ดูเหมือนทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคจะไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร.และการตั้งคณะกรรมการอิสระ หวยจึงออกที่แนวทางที่ 3 โดยคณะกรรมการประสานงาน(วิป) 3 ฝ่าย คือ วิปรัฐบาล-วิปฝ่ายค้าน-วิปวุฒิสภา ได้ประชุมหารือเมื่อ 23 ก.ย.ก่อนมีมติเห็นด้วยกับการแก้ รธน.6 ประเด็นตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ พร้อมคุยกันถึงการทำประชามติด้วย

ซึ่งหลังจากประชุมร่วมกันอีก 2-3 ครั้ง รวมทั้งประชุมร่วมกับนายกฯ และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ก็ได้ข้อยุติว่า จะให้ฝ่ายกฎหมายของทั้ง 2 สภาเป็นผู้ยกร่างแก้ไข รธน.6 ประเด็นดังกล่าว ส่วนการทำประชามติ เบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า จะทำหลังร่างแก้ไข รธน.เข้าสภาและผ่านวาระ 1 แล้ว แต่มีข่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และพรรคประชาธิปัตย์ อยากให้ทำประชามติก่อนนำเรื่องเข้าสภามากกว่า ซึ่งก็สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ชี้ว่า การทำประชามติหลังสภาผ่านวาระ 1 แล้ว อาจขัดต่อ รธน.มาตรา 165 ได้

หลังชัดเจนว่า ยังไงก็ต้องมีการทำประชามติว่าประชาชนเห็นด้วยกับการแก้ รธน.6 ประเด็นดังกล่าวหรือไม่ ไม่ว่าจะทำก่อนหรือหลังเรื่องแก้ รธน.เข้าสภาฯ ก็ตาม ปรากฏว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทยเริ่มมีปัญหาเสียงแตกในพรรค โดยฝ่าย นายวิทยา บูรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ออกอาการหนุนแก้ รธน.6 ประเด็นตามที่วิป 3 ฝ่ายมีมติ แต่อีกฝ่ายหนึ่งนำโดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน และประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย กลับพูดไปอีกทางว่า พรรคไม่หนุนแก้ รธน.แต่ต้องการให้เอา รธน.2540 มาใช้แทน รธน.2550 ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีจำคุก 2 ปี ที่ส่งสัญญาณผ่านวิดีโอลิงก์เข้าที่ประชุมพรรคเพื่อไทย(6 ต.ค.) ว่า รัฐบาลซื้อเวลาด้วยการแก้ รธน.6 ประเด็น พร้อมท้ารัฐบาลว่ากล้าหรือไม่ที่จะให้ประชาชนเลือกระหว่าง รธน.2540 กับ รธน.2550

แม้ความไม่เป็นเอกภาพในพรรคเพื่อไทย จะสะท้อนผ่านการที่ ร.ต.อ.เฉลิม ประกาศไขก๊อกจากประธาน ส.ส.ของพรรค แต่เอาเข้าจริง ก็เสียงอ่อน พร้อมกลับเข้าดำรงตำแหน่งประธาน ส.ส.พรรคเหมือนเดิมตามที่เพื่อน ส.ส.เรียกร้อง ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็วิดีโอลิงก์เข้าที่ประชุมพรรคเพื่อไทยอีก (13 ต.ค.) โดยนอกจากจะโจมตี รธน.2550 ว่า “ไข่วรนุสก็ต้องเป็นวรนุสอยู่วันยังค่ำ” แล้ว ยังมีข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ส่งสัญญาณให้พรรคเพื่อไทยถอนตัวจากมติวิป 3 ฝ่ายที่ให้แก้ รธน.ด้วย “วิปฝ่ายค้านควรไปบอกต่อที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย ว่า เพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับ รธน.ปี 2550 และเห็นว่าถ้าจะทำให้บ้านเมืองมีความเป็นประชาธิปไตย ต้องนำ รธน.ปี 2540 มาใช้เท่านั้น”

หลังประชุม สังคมจึงได้เห็น นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงตามบัญชา พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า หนทางที่จะสร้างความสงบสุข ความสมานฉันท์กลับคืนมา คือ จะต้องกลับไปใช้ รธน.ปี 2540 เท่านั้น ขณะที่ท่าทีนายกฯ และพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มไม่แน่ใจว่า กระบวนการแก้ รธน.6 ประเด็นยังควรจะเดินหน้าต่อหรือไม่ ในเมื่อพรรคเพื่อไทยประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมด้วยเช่นนี้

ลองไปดูกันว่า หลายฝ่ายในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกวุฒิสภา นักวิชาการ และอดีต ส.ส.ร.2550 จะมองสถานการณ์การแก้ รธน.อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อพรรคเพื่อไทยมีอาการกลับไปกลับมา เดี๋ยวอยากแก้ รธน.เดี๋ยวไม่อยากแก้ แต่จะให้เอา รธน.2540 มาใช้เลย

อ.คมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และอดีต ส.ส.ร.2550 มองว่า เรื่องแก้ รธน.ค่อนข้างเป็นเกมการเมือง ทั้งในฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน โดยฝ่ายรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ไม่อยากแก้ รธน.แต่พรรคร่วมรัฐบาลอยากแก้ เพราะหลายคนโดนคดีจากกรณียุบพรรค รัฐบาลจึงอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างจำใจแก้ รธน.เพื่อความอยู่รอดของรัฐบาล ขณะเดียวกัน ก็พยายามเซฟตัวเองด้วยการให้มีการทำประชามติ เพราะสิ่งที่จะแก้ ล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ของนักการเมืองเอง ไม่ใช่ประโยชน์ของประชาชน ส่วนความขัดแย้งในพรรคเพื่อไทยเรื่องแก้ รธน.ก่อนหน้านี้นั้น ก็น่าจะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ภายในพรรค มากกว่าจะเป็นเรื่องของอุดมการณ์

อ.คมสัน ยืนยันด้วยว่า ส่วนตัวแล้วเห็นว่าไม่ควรแก้ รธน.6 ประเด็นตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เสนอ เพราะประชาชนไม่ได้ประโยชน์ พร้อมตั้งข้อสงสัยว่า มาตราที่ควรแก้และประชาชนได้ประโยชน์ ทำไมไม่แก้

“ถ้าถามผมเนี่ย ในขณะนี้โดยเงื่อนไขของผู้แก้ ผมเห็นว่าไม่ควรแก้เลย เพราะถ้าเราดูจริงๆ เนี่ย มันเป็นประเด็นปัญหาเรื่องผลประโยชน์นักการเมืองทั้งนั้น ถามว่าประชาชนได้อะไรกับประเด็นนี้ ผมก็ตอบว่าไม่ได้เลย ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรจากยุบพรรค ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการเพิกถอนสิทธิ แต่นักการเมืองที่ถูกเพิกถอนสิทธินั้น ได้ประโยชน์จากการที่ตัวเองทำผิดแล้วไม่ต้องถูกลงโทษ ที่มาของ ส.ส.ที่มาของ ส.ว.มันถูกประเมินอย่างไรล่ะ ว่ามันไม่ดี คือจริงๆ แล้วมันต้องมีฐานข้อมูลทางวิชาการมากกว่าที่ออกมาประกาศว่า จะแก้ 6 ประเด็น ต้องตอบให้ได้ว่า แต่ละเรื่องมีปัญหาอะไรที่กระทบต่อประชาชนอย่างไร ผมยังเห็นประเด็นไหนที่เขาพูดถึงกระทบประชาชน เขาพูดถึงกระทบผลประโยชน์นักการเมืองทั้งนั้นนะ ที่มาของวุฒิฯ กลับไปสู่ รธน.2540 ก็ที่มาของวุฒิฯ นี่แหละ จาก รธน.2540 และทำให้ รธน.พัง การทำหนังสือสัญญา ก็เป็นเหตุผลหนึ่งซึ่งคนทำขัดกับบทบัญญัต ม.190 ทำให้เสียอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนปราสาทพระวิหาร ประเด็นของ ม.266 มันก็ไม่ใช่ประเด็นปัญหา เพราะมันก็เป็นประเด็นเก่าที่เขียนใน รธน.2540 เพียงแต่แก้คำบางคำ แล้วก็เป็นการตีความเพื่อจะหาเหตุให้กับการแก้มากกว่า แต่ความจริงแล้วประชาชนไม่ได้เสียหายอะไรจากตรงนั้นเลย ม.266 เพราะฉะนั้นประเด็นที่แก้ไขทั้งหมด 5-6 ประเด็นที่กรรมการไม่รู้จะสมานฉันท์หรือเปล่าเสนอมาเนี่ย มันสร้างความแตกร้าวให้กับสังคมมากขึ้น”

“(ถาม-แสดงว่าต้องถามไปที่คณะกรรมการสมานฉันท์ ด้วยว่าทำไมต้องแก้ 6 ประเด็นนี้?) ก็องค์ประกอบคณะกรรมการมันเป็นอย่างนั้น มันจะสมานฉันท์ยังไงล่ะ องค์ประกอบกรรมการมันคือนักการเมืองซะส่วนใหญ่ นักวิชาการเสียงส่วนน้อย ได้ข่าวว่าลาออกกันตั้งหลายคน เพราะฉะนั้นเรื่องของตัวเอง เขาก็แก้ให้ตัวเองกันทั้งนั้นแหละ เพราะฉะนั้นประเด็นนี้ คนได้คนเสียเนี่ยนักการเมืองล้วนๆ เลย ประชาชนไม่ได้อะไรเลย ทำไมเขาไม่ไปแก้ ม.67 ล่ะว่าให้เกิดองค์กรสิ่งแวดล้อมขึ้นมาทันทีน่ะ ประชาชนได้ประโยชน์แน่ มีหลายประเด็นที่เขาไม่ได้ทำให้มันเกิดประโยชน์ขึ้นมาทันที ส่วนใหญ่แล้วไปดูสิ ทำผิดแล้ว เมื่อนักการเมืองทำผิดแล้วมาขอแก้ไขทั้งนั้น ทั้งที่ตัวเองก่อนลงไปสมัครในกติกานั้นก็รู้อยู่แล้วว่า มันมีกติกาห้าม จะแรงไปเบาไปก็เป็นประเด็นที่คุณรู้อยู่แล้ว คุณก็อย่าทำสิ ในเมื่อพรรคควบคุมกันไม่ได้ มันก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น”


ด้าน ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ประสานงานสมัชชาประชาชนกรุงเทพฯ ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการแก้ รธน.6 ประเด็นตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์เสนอ โดยถามกลับว่า 6 มาตราดังกล่าวมีข้อผิดพลาดหรือไม่ดีอย่างไร ถึงจะต้องแก้ เช่น มาตรา 237 เรื่องยุบพรรค ถามว่า ถ้าไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียง แล้วพรรคการเมือง 4 พรรคจะถูกยุบได้อย่างไร

ผศ.นพ.ตุลย์ ยังชี้ด้วยว่า รธน.2550 เป็นของประชาชนทั้งประเทศ เพราะผ่านการทำประชามติมา ไม่ใช่เป็นของนักการเมืองแค่ 400-500 คน การที่มีประชาชนคัดค้านการแก้ รธน.สะท้อนว่า การจะแก้ไขทั้ง 6 ประเด็นตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์เสนอ ไม่ได้สร้างความสมานฉันท์จริง รังแต่จะทำให้เกิดความแตกแยกด้วยซ้ำ ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยแตกคอก่อนหน้านี้ โดยมีบางคนอยากให้แก้ แต่บางคนค้าน ก่อนสรุปตาม พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า ไม่หนุนแก้ แต่จะให้เอา รธน.2540 มาใช้เลยนั้น ผศ.นพ.ตุลย์ วิเคราะห์ว่า ความต้องการของ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทย ในขณะนี้ไม่ได้อยู่ที่การแก้ รธน.แต่ต้องการให้รัฐบาลออกจากอำนาจหรือยุบสภาให้เร็วที่สุด

“ผมเองดูท่าทีของพรรคฝ่ายค้าน ผมก็สับสนเหมือนกันว่าเขาเอายังไงกันแน่ แต่ที่ผมเห็นชัดเจนและผมไม่สับสนเลย ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายคุณทักษิณ เฉลิม วิทยา ก็ตาม สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุด ก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ที่จะให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ออกจากอำนาจให้เร็วที่สุด ให้เลือกตั้งใหม่ให้เร็วที่สุด แล้วค่อยมาแก้ (รธน.) ตอนที่เขาอยู่ในอำนาจดีกว่า ตอนนี้ถ้าแก้ไปโดยที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ยังมีอำนาจ ไม่มีทางแก้ได้สำเร็จ แก้อย่างที่ต้องการไม่มีทางทำได้แน่ๆ เพราะฉะนั้นเขาอาจจะบอกว่า โอเค เอาให้ได้ 2540 กลับมาเลย นี่คือ ประเด็นล่าสุดที่เขาอยากให้มา ซึ่ง 2540 ก็คือ ไม่มี 309 เขาไม่ต้องการมาตราอื่นเลย เช่น 190 ของ รธน.2550 เนี่ย ก็คือ 224 ของ รธน.2540 หลายๆ อันไปเช็คได้เลย มันก็มาจาก หรือการยุบพรรค 237 การยุบพรรคก็มาจาก 2540 เพียงแต่เติมเรื่องการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเข้าไป ทุกอย่างมันแก้ออกมาจาก รธน.2540 ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นผมมองว่า ไม่ว่าเขาเลือกใช้วิธีไหน เขาต้องการให้ยุบสภาแค่นั้นเอง ส่วน รธน.จะว่ายังไง เดี๋ยวค่อยแก้ทีหลังก็ได้ ไม่เสียหลาย ยังไงเขาก็ไม่เข้าประเทศมาให้โดนจับอยู่แล้ว เขาต้องการแค่ว่าให้ตัวเขาพ้นผิดผ่านองค์กรต่างๆ แม้กระทั่งพรรคอื่นๆ ที่เขาโดนยุบพรรคไปด้วย เขาก็อยากจะให้แก้เพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ รวมความแล้วไม่มีความเป็นนักการเมืองที่ไม่มีความรับผิดชอบใดใดทั้งสิ้น ไม่ได้สนใจเลยว่าจะแก้การซื้อสิทธิขายเสียง สนใจอย่างเดียวขอให้ข้าพเจ้าพรรคข้าพเจ้าได้มีคนเยอะๆ จะได้ไปร่วมพรรคร่วมรัฐบาล และมีอำนาจ ขอแค่นั้นเอง ไม่ได้สนใจเลยว่า ความถูกต้องในบ้านเมืองเป็นยังไง”

“ผมอยากเห็น ส.ส.และ ส.ว.ทำหน้าที่เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง มีอีกหลายมาตราที่ควรจะแก้ไข เพราะถูกบิดเบือนถูกแก้ เพราะผมสืบทราบมาว่า ส.ส.ร.ได้พยายามตัด ยกตัวอย่างเช่น อัยการ เขาบอกเลยว่า อัยการห้ามเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ แต่มีมือดีเข้าไปใส่ไว้เหมือนเดิมว่า ยกเว้น ก.อ.อนุมัติ นั่นคือคณะกรรมการอัยการอนุมัติ ซึ่งตรงนี้เป็นรากเหง้าทำให้อัยการสูงสุดหลายท่าน อัยการหลายท่านเข้าเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ พอมีการทุจริตเกิดขึ้น เราก็เลยไม่สามารถ เขาก็เลยจะฟ้องกันเอง ก็ฟ้องไม่ถูก ไปไหนไม่เป็น นี่เป็นตัวอย่างมาตราหนึ่งที่ยังมีข้อบกพร่อง คุณแก้ตรงนี้สิ ทำไมคุณไม่แก้ คุณก็เห็นอยู่ ผมบอกได้เลยที่แบบคดีหรือระบบยุติธรรมไม่ถูกต้อง เห็นชัดๆ เลยเรื่องนี้เนี่ย ทำไมคุณไม่แก้ล่ะ แต่คุณไปแก้ในส่วนที่คุณมองว่า คือเปิดตามองเนี่ย มีตาซ้ายตาขวา มองแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง แต่ผลประโยชน์ของประชาชนไม่ลืมตามองดูบ้าง”


ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการแก้ รธน.แต่ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมวิป 3 ฝ่าย ก็พูดถึงกรณีที่รัฐบาลและวิป 3 ฝ่ายพยายามเดินหน้าแก้ รธน.6 ประเด็นตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ก่อนที่พรรคเพื่อไทยฝ่ายค้านจะกลับลำไม่หนุนแก้ รธน.ว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้อยากแก้ รธน.แต่ไม่สามารถหยุดได้ เพราะพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านบอกว่าแก้เพื่อความสมานฉันท์ จึงต้องยอมดำเนินการให้มีกระบวนการแก้ไข รธน.6 ประเด็น แต่ส่วนตัวแล้วเชื่อว่า ถึงจะเดินหน้าแก้ รธน.ต่อไป ก็คงไม่ได้แก้ เพราะในที่สุดก็คงเกิดการสะดุดอีก

“ผมดูแล้ว ทางรัฐบาลเนี่ยเห็นด้วยให้มีกระบวนการแก้ไข รธน.แต่โดยส่วนตัวของเขาจริงๆ แล้ว ที่ผมฟังผู้ใหญ่ซะส่วนใหญ่ เขาไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข รธน.แต่ไม่สามารถจะหยุดได้ แต่อยากจะให้สุดท้ายก็ไปจบที่ประชามติว่าประชาชนเห็นอย่างไร ก็เอาตามนั้น มันก็จะจบตรงนั้น แต่ผมยังคิดว่าถึงเวลา เขาก็จะไปรณรงค์ไม่แก้ไข รธน.(ถาม-แต่ทุกฝ่ายก็มีสิทธิที่จะรณรงค์ ถ้าถึงตอนนั้น คุณไพบูลย์คิดว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับการแก้หรือไม่แก้ หรือแก้แค่บางประเด็น?) ผมคิดว่ามันอาจจะมีหลงให้แก้ รธน.หรือไม่ ผมไม่รู้นะ เพราะมาตราที่ฟังดูเหมือนเห็นพ้องต้องกัน ก็คือ มาตรา190 มาตรา 190 นั้นฝ่ายเราก็ต้องไปขยายผลน่ะว่ามันมีปัญหายังไง และขณะเดียวกัน 190 ก็ไม่มีพลังในเรื่องของการที่ฝ่ายการเมืองจะไปสนับสนุนให้แก้มาตรานี้เท่าไหร่ แต่สิ่งที่เขาต้องการให้แก้ก็เป็นเรื่องเขตเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.นั้นก็มีได้มีเสีย คือมันมีพรรคกลุ่มหนึ่งเห็นว่าควรจะแก้ อีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่าไม่ควรแก้ กลุ่มที่เห็นว่าไม่ควรแก้ ก็เช่น พวกประชาธิปัตย์ และตอนนี้ก็มีเพื่อไทย ก็ไม่อยากให้แก้ กลุ่มที่เห็นควรจะแก้กลับกลายเป็นภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนาพวกนี้”

“ทีนี้คำถามหนึ่ง คือ ลักษณะอย่างนี้เขาจะกล้าลงทุนหรือ เพราะพวกนี้ไปพูดกับประชาชนทีไร มันจะต้องจ่ายเงินน่ะ เขาจะยอมจ่ายเงินมั้ย เพื่อที่จะให้ประชาชนไปลงมติตามที่เขาต้องการ หรือเขาเพียงแต่ไปพูดเฉยๆ ไปพูดเฉยๆ มันก็ไม่มีผลอะไรที่จะไปทำให้ประชาชนทำอะไรกันมากมาย ผมก็ยังอ่านยาก เที่ยวนี้ เพราะถ้าจะให้คุณทักษิณเอาเงินไปจ่ายเพื่อที่จะลงมติไปผลักดันให้แก้ รธน.6 ประเด็น คุณทักษิณก็คงไม่จ่ายหรอก เมื่อไม่จ่าย ถ้าจะจ่ายก็คือ ก็ต้องไปผลักดันกรณีที่เอา รธน.2540 มาใช้ หรือผลักดันให้มีการแก้ไข รธน.มาตรา 309 ซึ่งมันเกิดขึ้นไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ มันหลุดกรอบ มันก็เลยเกิดการที่ตีรวนกันไปทั้งระบบ ซึ่งผมคิดว่าไม่ได้แก้หรอก เขาถึงจะเดินก็เดินกันไป สุดท้ายมันก็ไปสะดุดอีก”


นายไพบูลย์ ยังพูดถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ท้ารัฐบาลว่า ถ้าจะทำประชามติเรื่องแก้ รธน.ให้ถามประชาชนดีกว่าว่าจะเลือก รธน.2540 หรือ รธน.2550 ว่า เป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะยอมให้ทำอย่างนั้น นายไพบูลย์ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณพูดเช่นนี้ ก็เพื่อสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณยอมไม่ได้ที่จะให้มีการทำประชาติเกี่ยวกับการแก้ รธน.เพราะต้องใช้เวลาหลายเดือน ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ คงรอไม่ได้ เนื่องจากจะตายอยู่แล้ว เพราะคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท ก็ใกล้จะรู้ผลแล้วในเดือน ธ.ค.หรือ ม.ค.ที่จะถึงนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงต้องพยายามคุมการนำในการที่จะสร้างความปั่นป่วนให้กับรัฐบาล เพื่อที่จะตนและพรรคเพื่อไทยจะได้ไม่ตกเข้าอยู่ในเกมการทำประชามติของรัฐบาล!!
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร วีดิโอลิงก์มายังคนเสื้อแดง ที่ชุมนุมบริเวณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยโจมตีรัฐบาล และรัฐธรรมนูญ 2550 เมื่อ 11 ต.ค.
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ประชุมร่วมกับวิป 3 ฝ่ายเรื่องแก้ รธน.(2 ต.ค.)
วิป 3 ฝ่ายมีมติเห็นด้วยกับการแก้ รธน.6 ประเด็นตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ (23 ก.ย.)
อ.คมสัน โพธิ์คง อดีต ส.ส.ร.2550 ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข รธน.ทั้ง 6 ประเด็น เพราะล้วนแล้วแต่แก้เพื่อประโยชน์ของนักการเมือง
ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ เป้าหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทย ไม่ได้อยู่ที่การแก้ รธน.แต่ต้องการให้รัฐบาลยุบสภาหรือออกจากอำนาจให้เร็วที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น