xs
xsm
sm
md
lg

“ปธ.วิปรัฐบาล” ยันแก้ รธน.เพื่อความสมานฉันท์ เตรียมประชุมอีกรอบบ่ายนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ชินวรณ์” ระบุประชุมแก้ รธน.คืบ ฝากการบ้าน ส.ส.ระดมความคิดทำอย่างไรให้เข้าถึง ปชช. ก่อนนำเข้าสภาขอความเห็นชอบบ่ายนี้ ขอร้องอย่ามองว่าเป็นเรื่องยื้อเวลา ยันมีเจตนาเพื่อความสมานฉันท์ ขณะที่ “สุรชัย”วอนอย่ามีอคติต่อ รธน.50 ซึ่งถอดมาจากรธน.40 เพียงแต่แก้จุดอ่อน เพิ่มการตรวจสอบ ยับยั้งสภาเผด็จการ ด้าน“ผศ.นพ.ตุลย์” เผยแก้ ม.190 หวังใช้อำนาจกฎหมายยกเลิกความผิดย้อนหลัง ระบุ ม.237 โทษเบาไป โกงเลือกตั้งเสมือนปล้นอำนาจรัฐ น่าลงโทษตัดสิทธิตลอดชีวิต


คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ “คนในข่าว”

รายการ “คนในข่าว”ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน ช่วงเวลา 20.30-21.30 น. วันที่ 23 กันยายน 2552 โดยมีนางสาวรัตน์ติกรณ์ จารุเกษตรวิทย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายชินวรณ์ บุญเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล และนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา พร้อมด้วย ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น

นายชินวรณ์ กล่าวถึงผลการหารือนอกรอบของวิปทั้งสามฝ่าย เป็นการลงมติถึงความชัดเจน ว่า วิธีการที่จะเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ จะให้คณะกรรมการสมานฉันท์ไปยกร่างเอง หรือจะตั้ง สสร.เพื่อยกร่างใน 6 ประเด็นโดยเฉพาะ หรือจะตั้งคณะกรรมการอิสระ โดยได้ข้อสรุปที่ทุกฝ่ายเห็นพร้องต้องกัน กำหนดให้ทั้งวุฒิสภา ฝ่ายค้านและรัฐบาล จะต้องลงชื่อร่วมกัน ในการเสนอกฎหมาย พร้อมกับให้แต่ละฝ่ายกลับไปปรึกษาหารือกัน ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปฏิรูปการเมืองและสร้างความสมานฉันท์ ครั้งนี้ จะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ก่อนจะนำเข้าสู่ที่ประชุมอีกครั้งในวันนี้ เวลา 14.00 น.

“การแต่งตั้ง สสร.3 ครั้งนี้เพื่อต้องการให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมเสนอร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พ้นจากข้อครหาว่า เป็นการเสนอจากสมาชิกรัฐสภา เพราะเคยมีตัวอย่างเมื่อครั้ง ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ยื่นเสนอถอดถอนญัตติ ครั้งที่ผ่านมาทำให้ตกไป”นายชินวรณ์ กล่าว

นายชินวรณ์ กล่าวว่าการดำเนินการพิจาณาร่างแก้ไขจะมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ประเด็นสำคัญอยากให้ทุกฝ่ายตระหนัก เราต้องรับผิดชอบร่วมกันในการนำพาประเทศให้รอดพ้น จากวิกฎติของความขัดแย้งให้ได้ เมื่อผ่านกฎหมายประชามติแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเอาเข้าสภาเพื่อขอความเห็นชอบ จากนั้นจะเสนอให้มีการโปรดเกล้าฯทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วจึงประกาศในราชกิจานุเบกษา บังคับเป็นกฎหมายต่อไป

นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่าเอกภาพรัฐบาลตอนนี้ ยอมรับว่ามีความคิดเห็นที่ต่างกันอยู่บ้าง แต่ไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บท ที่มีผลกระทบต่อประชาชน จึงต้องหาทางออกอย่างรอบคอบ การที่พรรคภูมิใจไทยแสดงท่าทีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ไม่สอดคล้องกับพรรคประชาธิปัตย์ ตนเชื่อว่าไม่กระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะได้มีการประชุมพรรคร่วมรัฐบาล มาก่อนที่จะหารือกับวิปสามฝ่าย ทั้งนี้ต้องยอมรับความจริง ว่า รายงานของคณะกรราการสมานฉันท์ มาจากข้อเสนอจากการประชุมร่วมตามมาตรา 179 มีเป้าหมายเพื่อความสมานฉันท์ ปฎิรูปทางการเมือง ดังนั้นตนไม่อยากให้กล่าวหา ว่า เป็นเรื่องการยื้อเวลา

นายสุรชัย กล่าวถึงรัฐธรรมนูญ 50 จริงๆแล้วยึดต้นแบบจากรัฐธรรมนูญ 40 เพียงแต่เอาจุดด้อยของ รธน. 40 มาแก้ไข เพราะรัฐบาลขณะนั้นเข็มแข็งเกินไป จนเป็นระบบเผด็จการรัฐสภา ด้วยเหตุนี้เราจึงเอาจุดนี้มาปรับปรุงแก้ไขไว้ในรัฐธรรมนูญ 50 เฉพาะส่วนที่เป็นปัญหาของประเทศ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด

“รัฐธรรมนูญปี 40 ที่ถูกใช้มาแล้วถึง 9 ปี ผ่านการพิสูจน์เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า เป็นปัญหา ยกตัวอย่าง ที่แก้ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ตรงนี้อย่าลืมว่าในอดีตเมื่อปี 2540 เราเคยมีวุฒิสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วผลเป็นอย่างไร ทำไมมีการขนานนามสภาในสมัยนั้นว่า เป็นสภาทาสบ้าง สภาหมอนข้างบ้าง อย่างไรก็ตามเมื่อเราผ่านจุดนั้นมาแล้ว แล้วยังจะหวลกลับไปสู่รูปแบบเดิมอีกหรือ” นายสุรชัย กล่าว

นายชินวรณ์ กล่าวว่าคณะกรรมการสมานฉันท์ หาทางออกยุติความรุนแรงไว้ถึงสามแนวทาง คือ 1.ให้ลดทิฐิ ลดการใส่ร้ายป้ายสีทางการเมือง 2.ปฎิรูปทางการเมืองทั้งตัวบุคคล และพรรคการเมือง และ 3.แก้รัฐธรรมนูญ แต่ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้รับความสนใจจากประชาชนมากเป็นพิเศษ จึงถูกนำมาพิจารณาก่อน จนลืมไปว่าเรายังเหลือสองแนวทางแรกอีก ซึ่งทั้งสามแนวทางนี้จะต้องผ่านที่ประชุมสภาเหมือนกัน ผศ.นพ.ตุลย์ กล่าวเสริมว่าไม่คิดว่ารัฐบาลจะลืมสองแนวทางแรก แต่แนวทางดังกล่าวเป็นเพียงข้ออ้างแอบแฝงนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเมื่ออ่านร่างที่จะแก้ใน 6 มาตรา ก็รู้ได้ทันทีว่ามีอคติต่อรัฐธรรมนูญ 2550

ผศ.นพ.ตุลย์ กล่าวว่ารัฐธรรมนูญควรจะเป็นโดยประชาชนเพื่อประชาชน แต่ร่างคณะกรรมการสมานฉันท์ เป็นการร่างโดยนักการเมืองและเพื่อนักการเมือง โดยจากที่ตรวจสอบ คณะกรรมการสมานฉันท์ ทั้ง40 ท่าน ทั่ง ส.ส. และ ส.ว. ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง จนเป็นเหตุให้ตนยื่นถอดถอน ส.ส.-ส.ว. ที่ร่วมลงชื่อขอแก้ไขดังกล่าว

อย่างไรก็ตามตนไม่เห็นด้วยกับกระบวนการ ที่จะกลับไปสู่ความสมานฉันท์ ด้วยวิธีนี้ เพราะเป็นการวินิจฉัยโรคผิดตั้งแต่แรก รัฐธรรมนูญไม่ใช่ต้นเหตุปัญหา ความแตกแยกที่แท้จริง เกิดจากการที่กลุ่มหนึ่งเชียร์คนโกง ส่วนอีกกลุ่มเกลียดคนโกง ดังนั้นจึงต้องมีคนกลางมาตรวจสอบว่า ตกลงเขาโกงหรือไม่ หากโกงก็ต้องเข้ากระบวนการยุติธรรม ที่ทำให้คนแตกแยกเป็นสองฝ่ายคือตัวพ.ต.ท.ทักษิณ

ผศ.นพ.ตุลย์ กล่าวต่อว่าคณะกรรมการสมานฉันท์ ตั้งขึ้นมาช่วงสงกรานต์เลือด เพื่อหากทางให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้นภายในประเทศ แต่ ความแตกแยกของประชาชน เกิดตั้งแต่หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ตลอดถึงการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป แต่ไม่เสียภาษี ทำให้ประชาชนไม่พอใจ ขนาดประชาชนยังเสียภาษี แล้วเป็นหัวหน้ารัฐบาลจะมาทำอย่างนี้ได้อย่างไร

ส่วนที่นักการเมืองชอบอ้างว่า รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญมาจากปลายกระบอกปืนหรือรัฐประหาร และร่างกันเพียงไม่กี่คน ตรงนี้ตนไม่ทราบว่านักการเมืองเหล่านั้นไปมุดหัวอยู่ที่ไหน เป็นการให้ข้อเท็จจริงด้านเดียว ซึ่งสาเหตุที่มีการปฏิวัติ เพราะรัฐบาลสมัยนั้นไม่ถูกตรวจสอบ นายกไม่ถูกตรวจสอบ เพราะนายกฯไปรวบรวมพรรคการเมืองอื่นๆ เข้าร่วมจนกระทั่ง เสียงเกินกว่าที่จะลงมติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางในรัฐมนตรีได้

ผศ.นพ.ตุลย์ กล่าวว่าถ้าจะแก้ตนอยากให้แก้มาตรา 237 เพราะโทษเบาไป เจตนารมณ์ทีแท้จริงต้องการให้พรรคหรือคณะกรรมการบริหารพรรคต้องร่วมรับผิด หากลูกพรรคทุจริตเลือกตั้ง จะอ้างว่ากรรมการบริหารพรรคไม่รู้เรื่องไม่ได้ เพราะการเลือกตั้ง คือภัยที่อันตรายที่สุดของระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นหากจับได้ว่าโกงเลือกตั้ง น่าจะได้รับโทษถึงขั้นตัดสิทธ์ไม่ให้เล่นการเมืองตลอดชีวิต เพราะถือว่า การกระทำอย่างนี้ คือการปล้นอำนาจรัฐไปจากประชาชน ได้เป็นนักการเมืองเพราะซื้อเสียง ไม่ได้มาจากประชาชนโดยแท้จริง

ผศ.นพ.ตุลย์ กล่าวต่อว่าหากจะแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 ต้องตอบให้ได้ ว่า มันเกี่ยวกับความแตกแยกตรงไหน หรือสอดไส้เข้ามาหวังใช้สิทธิ์ทางกฎหมายย้อนหลังให้พ้นผิด อย่างไรก็ตามตนไม่เห็นว่ามาตรานี้จะเป็นอุปสรรคต่อการปฎิบัติหน้าที่เลย กรณี พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน อ้างว่าจะสลายม็อบอย่างไร แล้วไปถาม ป.ป.ช. ซึ่งที่ถูก พล.ต.ต.อำนวย ควรร่างวิธีการขึ้นมาเองว่าจะปฎิบัติตามนี้ แล้วไปถามนายกฯ ว่าเห็นด้วยหรือไม่ สวนกรณีมาตรา 190 ก็เหมือนกัน รัฐบาลต้องร่างออกมา แล้วไปถามกฤษฎีกา ว่าอย่างนี้ปฏิบัติได้หรือไม่

นายสุรชัย กล่าวเสริมว่าทางออกของมาตรา 190 ได้เขียนไว้อยู่ในตัวเองถึงสองกรณี 1.ถ้ามีปัญหา..ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ 2.ให้ออกกฎหมายลูก กำหนดวิธีการและเงื่อนไขในการนำสนธิสัญญามาให้รัฐบาลให้ความเห็นชอบ และที่นักการเมืองอ้างว่ามาตรา 190 สร้างปัญหา ไม่รู้ว่าเป็นการประชดหรือไม่ ตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินเรื่องสนธิสัญญาร่วมที่นายนพดล ปัทมะ เคยไปทำไว้ ต้องขอความเห็นชอบในสภาก่อน ทำให้ตั้งแต่นั้นมาทุกสนธิสัญญา จะถูกดันเข้ามาในรัฐสภาทั้งหมด จนทำให้ดูวุ่นวาย เหมือนว่ามาตรา 190 สร้างปัญหา

ทั้งที่บางสัญญาไม่เกี่ยวกับมาตรา 190 ประกอบกับจนป่านนี้ไม่มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญออกมาใช้เลย แล้วมาบ่นว่าเป็นปัญหา ไม่ชัดเจนบ้าง ต้องตีความบ้าง ซึ่งปัญหาทุกอย่างเป็นเพราะท่านไม่ออกกฎหมายลูกมาใช้เอง ส่วนที่หลายคนบอกว่า แล้วทำไมไม่เขียนต่อให้เสร็จที่เดียวเลยจะได้ไม่ต้องมีกฎหมายลูก ตรงนี้ต้องเข้าใจว่า ขณะนี้รัฐธรรมนูญไทย ถือว่ายาวที่สุดในโลก หากจะใส่รายละเอียดลงไปอีก ก็คงจะเป็นพันมาตรา
นายชินวรณ์ บุญเกียรติ
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย
ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์
นางสาวรัตน์ติกรณ์ จารุเกษตรวิทย์
กำลังโหลดความคิดเห็น