xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิสภาจัดสัมมนาต้านแก้ รธน.อดีตบิ๊ก คมช.เสนอกฎเหล็กลงดาบนักการเมืองเลวซื้อเสียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน
วุฒิสภา จัดสัมมนาต้านแก้ รธน.อดีต คมช.เสนอให้ประหารชีวิตการเมือง ส.ส.ขี้ฉ้อ ที่ซื้อสิทธิขายเสียง โกงเลือกตั้ง เพื่อลงดาบดัดสันดานนักการเมืองเลว ขณะที่ ส.ส.เพื่อไทย เรียกร้องให้กลับมาใช้ รธน.ปี 40 พร้อมจี้ให้ รบ.ลาออก เพื่อเปิดทางให้เลือกตั้งใหม่

วันนี้ (15 ต.ค.) ที่ห้องรับรอง 1-2 อาคารรัฐสภา 2 จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ ใครได้ใครเสีย” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมาธิการการศึกษา ตรวจสอบกรณีการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน และคณะกรรมาธิการสามัญศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยมีสมาชิกวุฒิสภา อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งประชาชน ร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ที่มาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดจากสาเหตุความวุ่นวายในช่วงเดือนเมษายน โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้น 2 คณะ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อหาทางสร้างความสมานฉันท์ แต่มติของพรรคเพื่อไทย ที่ไม่สนับสนุนให้มีการแก้รัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น ทำให้ตนเห็นว่า ขณะนี้ นายอภิสิทธิ์ ไม่มีเหตุผลในการแก้ไข เพราะถ้าหากดำเนินการต่อไปจะไม่เกิดประโยชน์ต่อฝ่ายใด ดังนั้น เห็นว่านายกรัฐมนตรี ควรยุติการดำเนินการเรื่องดังกล่าว อีกทั้งเห็นว่า นักการเมืองใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ทางการเมืองมากเกินไป

ด้าน นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา และอดีต ส.ส.ร.50 กล่าวว่า ปัญหาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดจากนักการเมืองเพียงไม่กี่คน และการแก้ไขใน 6 ประเด็น ที่กรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอ มีเพียงประเด็นเดียวที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน คือ มาตรา 190 ส่วนอีก 5 ประเด็นที่เหลือล้วนเกี่ยวข้องกับการแก้กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับนักการเมือง ดังนั้น ตนจึงเห็นว่า 6 ประเด็นดังกล่าว ไม่สามารถตอบโจทย์ในเรื่องความสมานฉันท์ รวมทั้งประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร

ขณะที่ นายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีต ส.ส.ร.40 กล่าวว่า การเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ตนรู้สึกว่า มั่วผิดปกติ เพราะ นายอภิสิทธิ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำตัวเจ้ากี้เจ้าการ อยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งให้ ส.ส.และ ส.ว.เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดในการแบ่งอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ นอกจากนั้น ตนยังเห็นว่าการเสนอให้มีการทำประชามติ ก็เป็นเพียงความปรารถนาดีส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ทั้งที่มติของกรรมการสมานฉันท์ ไม่ได้ระบุไว้ นอกจากนี้ การทำประชามติในเรื่องนี้ไม่น่าจะผูกมัดคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐสภาได้ โดยสิ่งที่สำคัญนอกเหนือกว่านั้นเป็นการใข้งบประมาณถึง 2,000 ล้านบาท ในภาวะเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพง ดังนั้น จึงควรคิดถึงความรู้สึกของประชาชน ว่าประโยชน์ที่ได้จะคุ้มค่าหรือไม่

นายบุญเลิศ กล่าวต่อว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือเป็นยุทธศาสตร์ของนายกรัฐมนตรี เพื่อดึงความสนใจของประชาชนทั้งประเทศ ให้หันไปสนใจกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะให้ลืมเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินที่มีปัญหา และที่สำคัญหากมีการทำประชามติจริงก็ต้องใช้เวลายาวนาน โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็ใช้เวลายาวนานออกไปอีก อย่างไรก็ตาม ใน 6 ประเด็นที่กรรมการสมานฉันท์ฯ เสนอให้มีการแก้ไข ก็ไม่มีทางที่จะทำให้บ้านเมืองเกิดความสมานฉันท์ได้ เนื่องจากมูลเหตุเกิดจากวิกฤตของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกทำการปฏิวัติ อีกทั้งขณะนี้ทางวิปฝ่ายค้านได้ถอนตัวออกมาจากวิป 3 ฝ่ายแล้ว จึงเหลือแค่เพียงวิปรัฐบาลและวิปวุฒิสภา ดังนั้น ทางวุฒิสภาควรจะหารือกันว่าจะปล่อยให้รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป หรือควรจะระงับเรื่องนี้ แต่ตนคิดว่ารัฐบาลจะต้องยุติความคิดในการแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็น พร้อมทั้งล้มเลิกความคิดที่จะทำประชามติเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ 2,000 ล้านบาท รวมทั้งล้มเลิกให้ใช้รัฐธรรมนูญปี 40 เพราะเป็นการเอามาเป็นเกมการเมือง เพื่อกลบเกลื่อนปัญหาให้ตัวเองต่อไป

ส่วน พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานข่าวกรองแห่งชาติ และกลุ่มสยามสามัคคี กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ ปี 40 เป็นรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจกับรัฐบาลค่อนข้างมาก ทั้งนี้ มีบุคคลบางกลุ่มที่เอารัฐธรรมนูญที่ได้มาไปใช้ในทางป้องกันและการตรวจสอบ ซึ่งการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 40 ทำให้ ส.ส.ไม่เห็นความสำคัญของการประชุมรัฐสภา แต่รัฐธรรมนูญปี 50 จะทำให้ ส.ส.เห็นความสำคัญของการประชุม ตนจึงมองว่ารัฐธรรมนูญ ปี 50 ทำให้ความใกล้ชิดของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมากกว่ารัฐธรรมนูญ ปี 40 และกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ออกมา เพื่ออุดรอยรั่วของรัฐธรรมนูญ 40 ได้ดีที่สุด ซึ่งรัฐธรรมนูญ ปี 50 ถือว่าเหมาะสมที่สุดในการนำมาปรับใช้ในปัจจุบัน

สำหรับประเด็นพรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พล.ท.นันทเดช กล่าวว่า ตนเชื่อว่า เป็นเพราะถูกกดดัน แต่ท้ายที่สุดแล้ว เชื่อว่า จะไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน แต่สิ่งสำคัญกว่านั้น คือการใช้รัฐธรรมนูญ ปี 40 มาเป็นเครื่องมือของฝ่ายค้านในการหาเสียง เพื่อให้เกิดความแตกแยก เช่นเดียวกับการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ทำขึ้นเพราะต้องการสร้างความแตกแยกเช่นกัน

ด้าน พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตหัวหน้าสำนักงานอดีตหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กล่าวว่า ที่มาของ ส.ส.และ ส.ว.ในปัจจุบัน มาจากรัฐธรรมนูญ ปี 50 โดยในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญนั้น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ก็ไม่เคยไปยุ่งเกี่ยวกับเนื้อหาแต่อย่างใดๆ ซึ่งเป็นเพียงแค่เข้าไปปรับบางส่วนเท่านั้น แต่ก็ยังมีหลายข้อที่ไม่ได้ปรับและแก้ไข ทั้งนี้ ทาง คมช.ได้พยายามจะเปลี่ยนเผด็จการให้เป็นประชาธิปไตย โดยสิ่งที่อยากให้แก้ในรัฐธรรมนูญ ปี 50 คือ เรื่องที่มาของนายกรักฐมนตรี ว่าไม่อยากกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะว่านักเลือกตั้งจะเตะคนดีออกนอกอเวจี เนื่องจากคนดีเหล่านี้จะไม่ซื้อเสียง และจะเห็นได้ว่านักการเมืองดีๆ ในสภามีจำนวนไม่มากนัก ดังนั้น ถ้าอยากให้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเป็น ส.ส.ก็ได้ เพราะฉะนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ตนเห็นด้วย ถ้าหากแก้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ แต่ถ้าหากแก้เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือพรรคใดพรรคหนึ่งให้ได้ประโยชน์ ก็ไม่สมควรแก้

พล.อ.สมเจตน์ กล่าวอีกว่า การที่ คณะกรรมการสมานฉันท์ เสนอให้แก้ใน 6 ประเด็น ตนไม่เห็นว่าจะมีข้อใดทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ เช่น การแก้มาตรา 237 ตนไม่เห็นด้วยที่มองว่าใครทำผิด ก็ควรลงโทษเฉพาะตัวบุคคล อย่าไปเหมารวมยุบทั้งพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค เพราะคิดว่าพรรคการเมืองถือเป็นส่วนสำคัญ หากไม่สนับสนุนเรื่องเงิน นักการเมืองก็ไม่สามารถซื้อเสียงได้ ดังนั้น มาตรานี้จึงเป็นการแก้ไขให้นักการเมืองที่เข้ามาเป็น ส.ส.โดยไม่สุจริต เพราะฉะนั้นหากจะแก้ควรแก้เกี่ยวกับนักการเมืองที่ซื้อเสียง ก็ควรให้ถูกประหารชีวิตทางการเมือง หรือห้ามลงเลือกตั้งตลอดชีวิต

“รัฐธรรมนูญเดิมที่ระบุให้นักการเมืองที่ทำผิดต้องตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ยังถือว่าโทษน้อยไป เพราะบุคคลเหล่านี้ไม่ควรอยู่ได้นาน เนื่องจาก 5 ปี ไม่สามารถแก้สันดานนักการเมืองเลวๆ ได้ และที่สำคัญ กรรมการบริหารพรรคเป็นตัวสำคัญยิ่งที่จะต้องถูกลงโทษ” พล.อ.สมเจตน์ กล่าว

ขณะที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ในฐานะวิปวุฒิสภา กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ วิปทั้ง 2 ฝ่าย ควรหารือกันให้รู้เรื่องเสียก่อน เพราะไม่ใช่นำประเด็นนี้มาเป็นเกมการเมือง เพื่อช่วงชิงผลประโยชน์กันเอง เนื่องจากจุดประสงค์ที่แท้จริงของฝ่ายค้าน ก็เพียงเพื่อต้องการให้มีการยุบสภา แล้วเลือกตั้งใหม่ ขณะที่ รัฐบาลก็ต้องการเป็นรัฐบาลนานๆ ดังนั้น เรื่องนี้จึงยังไม่สามารถหาทางออกได้

ส่วน นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ส.ร.50 กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 50 ถูกสร้างขึ้นมาบนพื้นฐานของการแก้ปัญหาบ้านเมืองที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ในฐานะที่ตนร่วมร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 40 มีข้อดีมาก แต่ปัญหาอยู่ที่คนใช้ไม่ดี จึงทำให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย รัฐสภากลายเป็นระบอบเผด็จการ อย่างไรก็ตาม ตนอยากให้รัฐบาล และรัฐสภาหันมาให้ความสำคัญกับการออกกฎหมายสำคัญๆ เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาสังคม แทนที่จะใช้เวลาเพื่อหาทางแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของนักการเมืองเพียงอย่างเดียว เพราะตนเชื่อว่าไม่ว่าจะมีรัฐธรรมนูญกี่ฉบับ หากนักการเมืองไม่เปลี่ยนคงไม่สามารถสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นได้

ด้าน นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนเห็นด้วยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะขณะนี้เกิดปัญหามาก โดยต้นตอมาจากการที่รัฐธรรมนูญ ปี 50 มาจากการรัฐประหาร ดังนั้น เมื่อต้องการให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น 2 ระยะ เบื้องต้นจะมีการแก้ไขใน 6 ประเด็นก่อน แต่เวลานี้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่า มีแต่การแก้เพื่อผลประโยชน์นักการเมือง ทั้งนี้ ตนอยากอธิบายว่าเมื่อนักการเมืองได้ประโยชน์แล้ว ประชาชนก็จะได้ประโยชน์ตาม

นอกจากนี้ นายพีรพันธุ์ ยังกล่าวว่า เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จ จะต้องเปิดโอกาสให้มีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ก็จะทำให้ตัดปัญหาเรื่องที่มาของรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม อย่างไรก็ตามสาเหตุที่พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนใจเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นท่าทีความไม่ชัดเจนของรัฐบาล ดังนั้น จึงเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญ 40 กลับมาใช้แทน อีกทั้งขอยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นคงไม่คิดแก้ไข
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม
กำลังโหลดความคิดเห็น