"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
โดย โชกุน
อย่าเพิ่งดีใจว่า รัฐบาลใจดี ลดราคาน้ำมันดีเซลลงให้ลิตรละ 2 บาท เพราะกว่าจะมีผล ก็ต้องรอถึงวันพรุ่งนี้ เป็นอย่างช้า เนื่องจาก คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจว่า จะลดราคา ต้องแจ้งให้ ที่ประชุม คณะรัฐมนตรีวันนี้ รับทราบและเห็นชอบเสียก่อน
ทำไม เวลาบริษัทน้ำมันจะขึ้นราคา ประกาศเย็นนี้ พรุ่งนี้เช้าขึ้นเลย ไม่เห็นต้องขออนุญาตใคร แต่ทีจะลดราคา ทำไมต้องไปขอ ครม.เสียก่อน
เรื่องนี้ เข้าใจว่า การลดราคาครั้งนี้ เป็นการลดเงินที่นำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ใดๆเกี่ยวกับ 2 กองทุนนี้ เป็นเรื่องทางนโยบาย จึงต้องเข้า ครม.
ส่วนที่ บริษัทน้ำมันขึ้นราคานั้น เป็นการขึ้นตามราคาตลาดโลก จึงทำได้ทันที
ส่วนราคาน้ำมันดีเซลบี 2 ที่ลดลงมาลิตรละ 2 บาท บี 5 ลดแค่ลิตรละ 40 สตางค์ นั้น คงช่วยประชาชนไม่ได้มากเท่าใด ถ้าบริษัทน้ำมันยังขึ้นราคาพรวดๆ ทีละ 80 สตางค์ โดยอ้างว่า ราคาตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ขึ้นอีก 2 ครั้ง ราคาก็กลับไปเหมือนเดิม
ขนาดรู้ว่า รัฐบาลจะลดราคาน้ำมันลงมา บริษัทน้ำมัน ( ยกเว้น ปตท.) ยกขึ้นราคาดักไว้ก่อนล่วงหน้า ลิตรละ 80 สตางค์ เมื่อวานนี้
ดังนั้น จึงบอกว่า อย่าเพิ่งดีใจ เพราะมันเป็นแค่การ สร้างคะแนนนิยมชั่วข้ามคืนจริงๆ อีกสองสามวัน ราคาน้ำมันก็จะสูงขึ้นเหมือนเดิม
ตั้งแต่ต้นปีมานี้ ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเกือบ 10 ครั้งแล้ว ทำให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ มีราคาสุงขึ้นเกือบ 100 % และน้ำมันดีเซลแพงขึ้นประมาณ 50 % ด้วยข้ออ้างของบริษัทน้ำมัน ที่นำโดย ปตท. ว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ด้วยสาเหตุร้อยแปด เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ แข็งแรงขึ้น จึงคาดว่า ความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้น หรือ สต๊อกน้ำมันของสหรัฐฯลดลง หรือ รัสเซียไม่ส่งแก๊สไปให้ยุโรป หรือ อิสราเอลทะเลาะกับเลบานอน คาดว่า จะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำมัน สุดแท้แต่จะอ้างกัน
น้ำมัน เป็นสินค้าที่อยู่เหนือการควบคุมจริงๆ ในขณะที่สินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันอื่นๆ เช่น ข้าวสาร กะปิ น้ำปลา ไข่ไก่ บะหมี่มาม่า ยังมีกรมการค้าภายใน คอยดึงขาผู้ผลิต ตรึงราคาไว้ได้บ้าง ทำไมรัฐบาลจึงไม่คิดจะเอา น้ำมันไปอยู่ในรายการสินค้าจำเป็น ที่จะต้องมีการควบคุมราคา
อย่าบอกว่า มีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ คอยดูแลอยู่แล้ว เพราะหลายๆคนในคณะกรรมการชุดนี้ ที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ก็นั่งกินเบี้ยเลี้ยง โบนัส ในฐานะกรรมการของ ปตท.อยู่ เช่น ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น
ระหว่าง การดูแลปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันแพง กับ ผลกำไรของบริษัทน้ำมัน คนที่เล่นทั้งบทกรรมการ และเป็นผู่เล่นในสนามเสียเอง จะเลือกอะไร ?
การบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในภาวะน้ำมันแพง ด้วยการลดราคาน้ำมันลงมา เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่ช่วยอะไรไม่ได้มากนัก หากรัฐบาลไม่ปรับกลไกการควบคุมดูแลธุรกิจน้ำมัน โดยแยกผู้กำกับดูแล กับผู้ถูกกำกับดูแลที่มีส่วนได้เสียโดยตรงออกจากกัน