"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
โดย โชกุน
ยุคน้ำมันแพงกลับมาแล้ว รอบนี้ บริษัทน้ำมันปรับราคากันแบบก้าวกระโดด ทีละ 80 สตางค์ ต่อลิตร ขณะที่รอบที่แล้ว เมื่อปีกว่าๆที่ผ่านมา ยังปรับกันแบบเกรงใจ ครั้งละ 40 สตางค์เท่านั้น ทำให้ราคาน้ำมันบ้านเรา ตอนนี้ น้ำมันดีเซลตกลิตรละ 29 บาท 70 สตางค์แล้ว ส่วนแก๊สโซฮอล์ 95 ขึ้นไปถึงลิตรละ 32 บาทกว่า
การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ( กพช.) วันนี้ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะ เป็นประธาน หากเป็นไปตามข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ ก็คงจะมีการลดอัตราเงินที่เก็บจากน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล และแก๊ซโซฮอลล์ ลิตรละ 50 สตางค์ เพื่อส่งเข้ากองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับนำไปสร้างระบบขนส่งมวลชนในอนาคต นอกเหนือจากการลดเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันลดลงไปลิตรละ 1-2 บาท
การเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อนำไปสร้างระบบขนส่งมวลชน เป็นการตัดสินใจที่ง่ายเกินไป และคำนึงถึงแต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
มาตรการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ เพื่อนำไปสร้างรถไฟฟ้า เกิดขึ้นในสมัยที่นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปัจจุบัน เงินก้อนนี้มีอยู่ราวๆ 5-6 พันล้านบาท หากเก็บต่อไป อีกไม่นาน ก็คงมากพอที่จะสร้างรถไฟฟ้าได้เพิ่มอีกสาย โดยไม่ต้องกู้เงินจากต่างประเทศ ถือเป็นการอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืน และเป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มาก
ราคาน้ำมันของเรานั้น มีต้นทุนประมาณ 30-40 % ที่เป็นค่าภาษีประเภทต่างๆ และเงินที่ต้องส่งเข้ากองทุนซึ่งมีอยู่ 2 กองทุน คือ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
กองทุนทั้ง2 กองนี้ เอาเงินไปทำอะไร สำหรับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น บทบาทเห็นได้ชัดคือ เข้าไปแทรกแซงราคา ถ้าน้ำมันแพงมาก กองทุนก็เข้าไปอุ้ม โดยเอาเงินที่เก็บไปจากผู้ใช้น้ำมัน ไปชดเชยราคา
ส่วนกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานนั้น หนักไปในทางโฆษณา ประชาสัมพันธ์ อย่างเช่น โครงการพลังงานหาร 2 โครงการบ้านประหยัดพลังงาน โครงการทูตพลังงาน เป็นต้น
ถามว่า คุ้มไหม กับการใช้เงินที่เก็บจากผู้ใช้น้ำมัน แม้จะลิตรละ 4-5 สตางค์ แต่ปีหนึ่งก็เป็นเงินหลายร้อยล้าน บาท
สมัยที่ นายปิยะสวัสดิ์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานอีกเช่นกัน เคยระงับโครงการทูตพลังงาน ที่เป็นการคัดเลือกเด็กนักเรียนมาทำหน้าที่รณรงค์การประหยัดพลังงาน ซึ่งใช้งบประมาณปีละ 30 กว่าล้านบาท บริษัทเจเอสแอล ได้รับการคัดเลือกให้ทำโครงการมา 3 ปีติดต่อกัน ซึ่งนายปิยะสวัสดิ์เห็นว่า เป็นการสิ้นเปลือง เพราะทำไปแล้ว ไม่เห็นได้อะไร
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ก็ยังมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ โครงการทูตพลังงานนี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งในหลายๆโครงการ ของ การใช้เงินที่หักคอผู้ใช้น้ำมันไปเข้ากองทุนฯ
กองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานนั้น เป็นเหมือนกระเป๋าส่วนตัวของผู้บริหารกระทรวงพลังงานและ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ( สนพ)เอาไว้ใช้ตีปี๊บ ประชาสัมพันธ์ผลงานผ่านสื่อ โดยมีบริษัทเจ้าประจำผูกขาดอยู่ไม่กี่เจ้า มูลค่าโครงการแม้จะอยู่ระดับ 5-10 ล้านบาท แต่ก็มีปริมาณโครงการอยู่มาก
อันว่า โครงการประเภท “ รณรงค์, สร้างจิตสำนึก ,สร้างความรับรู้, ให้ตระหนักรู้” นั้น วัดผลยากว่าได้ผลคุ้มกับเงินที่จ่ายไปไหม ถ้าไปถามหน่วยงานที่รับผิดชอบ ก็คงงัดเอาตัวเลขมาแสดงว่า รณรงค์มากี่ปี ประหยัดพลังงานไปได้ กี่ร้อยล้านบาท คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม แต่มันเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เป็นได้แค่ตัวเลขที่เอาไว้คุย
นอกจากเงินที่ใช้ไปเพื่อการตีปี๊ปแล้ว กองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์ ยังให้เงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาวิจัย พลังงานทดแทน พลังงานทางเลือก ให้เงินสำหรับทำโครงการพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน แต่ไม่ปรากฏว่า การศึกษา การวิจัย และโครงการที่ใช้เงินจากกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์ มีผลอย่างไรในเชิงโครงสร้างต่อ การจัดหาและการใช้พลังงานของประเท ศ สามารถคิดค้น สร้างนวตกรรมด้านพลังงานอะไรได้บ้าง
หาก กพช. มีความจริงใจที่จะลดความเดือดร้อนของประชาชนจากราคาน้ำมันแพงแล้ว เงินกองทุนที่เก็บไปจากผู้ใช้น้ำมันที่สมควรจะเลิกเก็บเสีย ก็คือ เงินที่เก็บเข้ากองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานที่เอาไปใช้ในโครงการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ไม่ใช่เงินส่วนที่กันเอาไว้ใช้สร้างระบบขนส่งมวลชน