"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
โดย โชกุน
“ส่วย” กับ “ตำรวจ” นั้น เป็นของคู่กัน มีตำรวจที่ไหน ต้องมีส่วยที่นั่น
ไม่เว้นแม้กระทั่งในแวดวงตำรวจด้วยกันเอง ก็ยังมีการเก็บส่วย-ส่งส่วยกันเอง
บางยุค บางสมัย และบางระดับ มีนวัตกรรม “ ส่วย” แบบแปลกๆ เพื่อไม่ให้ดูน่าเกลียด และหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ
อย่างเช่น อดีต ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( ผบ.ตร.) คนหนึ่ง ใช้วิธีให้บริวารตั้งบริษัทจัดสรรที่ดิน ขายให้เฉพาะตำรวจ และเปิดให้จองซื้อในช่วงฤดูกาลโยกย้ายเท่านั้น ใครอยากไปกินตำแหน่งใหญ่ๆ โตๆ มีผลประโยชน์อื้อซ่าที่ไหน ต้องซื้อที่ดินของบริษัทนี้ ยิ่งตำแหน่งสำคัญๆ ก็ยิ่งต้องซื้อหลายแปลง
นายตำรวจหลายคน จึงมีที่ดินอยู่แถวหนองคาย อุดรธานี แต่ไม่เคยโผล่ไปดูที่เลย
อีกคนหนึ่ง เคยเป็น ผบ.ตร. เหมือนกัน ใช้วิธีปล่อยพระสมเด็จ ให้เช่าเฉพาะตำรวจ และเปิดให้เช่าในช่วงโยกย้ายเหมือนกัน ยังดีที่เป็นพระจริง ไม่ใช่พระเก๊ แม้ว่า จะโก่งราคาสูงไปมากก็ตาม
ไม่เหมือนรายนี้ เป็น รอง ผบ.ตร. ให้เช่าพระเหมือนกัน แต่ลงทุนมากหน่อย คือ หล่อเอง คนเช่าไป ตอนแรกคิดว่า เป็นเหรียญปราบฮ่อ จ.ศ. 123 มารู้ที่หลังว่า ไม่ใช่ แต่เป็นเหรียญปราบฮ่อ ร.ศ. 223 แทบร้องไห้ จะคืนก็ไม่ได้ เพราะอ้อยเข้าปากช้างไปแล้ว
สำหรับในยุคของ ผบ.ตร. คนปัจจุบัน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ซึ่งกำลังงัดข้อ วัดกำลังภายในกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีอยู่ ก็มีเสียงร่ำลือกันหนาหูกว่าทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา แม้แต่นายอภิสิทธิ์ก็ยังสงสัยอยู่เหมือนกัน ถึงให้สัมภาษณ์ว่า
“จริงๆ ผมอยากจะเรียนว่า ที่ผ่านมามีปัญหาอยู่ทั้งในเรื่องข้อกฎหมาย และมีการครหาร้องเรียนในเรื่องผลประโยชน์พอสมควร เพียงแต่ไม่มีหลักฐาน และรองนายกฯ สุเทพ เป็นคนเสนอว่า เรื่องนี้สงสัยจะต้องมาตั้งหลักดูกันใหม่”
ลองคนระดับนายอภิสิทธิ์ พูดอย่างนี้ ก็แปลว่า มันต้องมีมูล สำทับด้วยนายศิริโชค โสภา คนใกล้ชิดนายอภิสิทธิ์ ที่ออกมาพูดว่า การแต่งตั้งครั้งนี้ มีการซื้อขายตำแหน่งกัน
การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับผู้บัญชาการถึงผู้บังคับการ 152 ตำแหน่ง หรือโผ 152 นายพล เสร็จสิ้นไปก่อนที่ พระราชฎีกาแบ่งส่วนราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2552 หรือ กฎหมายโครงสร้างตำรวจใหม่ จะมีผลบังคับใช้ คือ วันที่ 16 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นวันที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ยังไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ว่า ไปเจรจาตกลงกันแล้วว่า ใครจะกินตำแหน่งอะไร แล้วก็ออกมาขู่ว่า โผนี้ใครก็แตะต้องไม่ได้ แม้แต่นายกรัฐมนตรี ขืนไปรื้อหรือยกเลิก เป็นได้ถูกคนที่ได้รับการแต่งตั้งไปแล้ว ไปฟ้องร้องศาลปกครองแน่
นายกรัฐมนตรีนั้น มีตำแหน่งประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการทำงานของตำรวจ ถ้ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า การแต่งตั้งนายพล 152 คนครั้งนี้ มีการเรียกรับผลประโยชน์กันแล้ว ไม่สามารถทบทวน เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ เพราะจะถูกฟ้องต่อศาลปกครอง ก็ไม่ควรจะอยู่เป็นนายกฯอีกต่อไปแล้ว เพราะปกครองใครไม่ได้
ทำไม พล. ต. อ. พัชรวาท จึงไม่รอให้ โครงสร้างใหม่ มีผลบังคับใช้ก่อนในวันที่ 16 สิงหาคมนี้ แล้วจึงค่อยแต่งตั้ง โยกย้าย 152 นายพล
คำตอบคือ มติ ครม. ห้ามไม่ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ 60 วันก่อน เกษียณอายุราชการ ซึ่งวันที่โครงสร้างใหม่มีผลบังคับใช้ มันเลยเงื่อนเวลาไปแล้ว
แล้วทำไม พล.ต.อ.พัชรวาท ไม่ให้ ผบ.ตร.คนใหม่ เป็นคนแต่งตั้งละ คนที่เชื่อว่า ส่วย กับตำรวจนั้นเป็นของคู่กัน คงคิดออกเองว่า ทำไม
พล.ต.อ.พัชรวาท คงไม่รู้หรอกว่า มีการซื้อขายตำแหน่งกันจริงหรือไม่ เพราะเรื่องแบบนี้ ทำกันเป็นทีม เป็นขบวนการ จากต้นทางถึงปลายทาง มีคนเกี่ยวข้องจำนวนมาก ท่านจะไปรับรู้ได้อย่างไร
เรื่องมันยุ่งตรงนี้ ถ้านายอภิสิทธิ์จะรื้อโผ 152 นายพล เพราะมีการจ่ายมัดจำซื้อ” ตั๋ว” กันไปแล้ว เงินมัดจำไปอยู่ที่ใครบ้างก็ไม่รู้
วันที่ตำรวจยกขบวนไปให้กำลังใจ พล.ต.อ.พัชรวาท ที่บ้านซอยโชคชัย 4 มีหลายคนคันปากยิกๆ อยากถาม ถึงเรื่องเงินมัดจำว่า จะได้คืนไหม แต่ก็ไม่กล้า เพราะรู้ว่า ท่านไม่เกี่ยว
อยากรู้จริงๆ ว่า เงินไปอยู่ที่ใคร แล้วจะได้คืนไหม ก็คงต้องไปถามเอากับคนรอบๆ ตัว ผบ.ตร.