ไม่น่าเชื่อว่าจะได้เห็นระดับ “องคมนตรี” ที่ถือว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองออกมาให้สัมภาษณ์ชี้แจงในประเด็นที่ “ละเอียดอ่อน” กระทบกับความมั่นคงของชาติ เพราะตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันแทบจะน้อยครั้ง ที่จะได้เห็นลักษณะแบบนี้
การออกมาให้สัมภาษณ์ให้ความเห็นแบบตรงๆ ของ พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรี ต่อการล่ารายชื่อของบรรดา “คนเสื้อแดง” เพื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ “ทักษิณ ชินวัตร” ว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง อีกทั้งในทางปฏิบัติทางกฎหมายก็ไม่สามารถทำได้
แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือการออกมา “อีกครั้ง” ของ พล.อ.พิจิตร ดูแล้วเหมือนกับ “เหลืออด” กับปรากฏการณ์จาบจ้วง ก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ของคนบางกลุ่ม รวมทั้งความไม่เอาไหนของรัฐบาล รวมไปถึงความไม่เอาไหนของบรรดาผู้บริหารระดับสูงทั้งตำรวจ ทหารและหน่วยงานด้านความมั่นคงที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง
ไม่เคยใส่ใจ ขัดขวาง หรือออกมาชี้แจงให้สังคมทั่วไปได้รับรู้ในวงกว้างอย่างเอาจริงเอาจังแต่อย่างใด
ที่ผ่านมาหากย้อนกลับไปในช่วงที่มีข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงของ ทักษิณ ชินวัตร เริ่มล่ารายชื่อถวายฎีกา ก็ไม่เคยเห็นฝ่ายรัฐบาลออกมาชี้แจงถึงขั้นตอนทางกฎหมาย และความ “ไม่บังควร” ในสิ่งที่กำลังกระทำกันอยู่
อาจจะมีบ้างที่จะได้เห็นการให้สัมภาษณ์แสดงความเห็นของ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รองนายกฯ ด้านความมั่นคง สุเทพ เทือกสุบรรณ รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่กล่าวว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสมแล้วให้ประชาชนใช้วิจารณญาณเอาเอง
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วประชาชนส่วนใหญ่อาจมีความเข้าใจผิดว่าเมื่อร่วมลงชื่อถวายฎีกาจำนวนมากๆ แล้วจะทำให้สามารถช่วยเหลือให้ ทักษิณ ชินวัตร ได้รับพระราชทานอภัยโทษ เป็นการสร้างความคาดหวังที่ผิดๆ เพราะแม้ว่าจะมีรายชื่อจำนวนกี่ล้านชื่อก็ตามก็ไม่สามารถทำได้
และทำให้มีผลกระทบต่อสถาบันเบื้องสูง ชาวบ้านเหล่านั้นจะเข้าใจผิดในทำนองว่า ทักษิณ ไม่ได้รับความเมตตา หรือได้รับความยุติธรรม
ในทางปฏิบัติเมื่อศาลพิพากษาจนถึงที่สุดแล้ว ตามขั้นตอนนักโทษคนนั้นจะต้องมารับโทษ และจากนั้นก็อาจทำเรื่องถวายฎีกาของพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งอาจเป็นบุคคลคนอื่นในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ ลูก หรือภรรยา แต่ไม่ใช้บุคคลอื่นหรือประชาชนทั่วไปจะทำได้
ที่สำคัญนักโทษคนนั้นจะต้องสำนึกผิดเสียก่อน
เมื่อความเป็นจริงไปอีกทางหนึ่ง แต่ยังดันทุรังเดินหน้ากันต่อไป โดยไม่สนใจเสียงทักท้วงก็ย่อมถือว่ามีเจตนา “ซ่อนเร้น” เป้าหมายเพื่อนำจำนวนรายชื่อมาข่มขู่สถาบันเบื้องสูงใช่หรือไม่
เพราะมีการอ้างถึงตัวเลขรายชื่อที่รวบรวมได้แล้วนับล้าน ไปจนถึง 3-5 ล้านคน
เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาจากคำพูดของ องคมนตรี อย่าง พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ ที่ระบุว่ามีอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งทุ่มเงินจำนวน 1.8 หมื่นล้านบาทที่ได้มาจากการฟอกเงินจากเกาะเคย์แมนเพื่อนำมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความปั่นป่วนในบ้านเมืองเวลานี้ มันก็ยิ่งน่าอันตราย
และหากให้เดาก็คงเดาไม่ยากว่าอดีตนายกฯ คนที่ว่านั้นเป็นใคร เพราะคงไม่มีอดีตนายกฯ ทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบันคนไหนจะมีเงินมากมายนับแสนๆ ล้านและลงทุนทุ่มเงินเป็นหมื่นล้านทำเรื่องแบบนี้
อย่างไรก็ดีด้วยข้อมูลที่ออกมาจากปากของระดับองคมนตรีดังกล่าวก็ย่อมถือว่าไม่ธรรมดา เพราะเงินจำนวน 1.8 หมื่นล้านบาท เป็นจำนวนมากมายมหาศาล ดังนั้นเป้าหมายก็ต้อง “หวังผล” ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ หลังจากที่ดำเนินการในช่วงเหตุการณ์ “จลาจล” วันสงกรานต์มาแล้ว แต่ล้มเหลว
ดังนั้นเมื่อ พิจารณาจากองค์ประกอบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเวทีปราศรัยปลุกระดมในต่างจังหวัด อย่างถี่ยิบจนผิดสังเกต รวมทั้งการชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพฯ วันที่ 31 กรกฎาคมนี้เพื่อรวบรวมรายชื่อก่อนยื่นถวายฎีกาในวันที่ 7-8 สิงหาคม
เหมือนกับว่าเป็นการส่งสัญญาณสร้างความปั่นป่วนอีกรอบ
ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งเมื่อหันกลับไปมองบทบาทของฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะยิ่งได้ยินคำพูด ล่าสุดเมื่อ วานนี้ (29 กรกฎาคม) ของ ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่กล่าวอย่างเต็มปากเต็มคำในเรื่องการถวายฎีกาว่า “ในฐานะทหารของชาติ ทหารของพระเจ้าอยู่หัว และทหารของสมเด็จพระราชินี ผมไม่มีความเห็นครับ”
แล้วแบบนี้ยังจะฝากความหวังได้อีกหรือไม่ !!