xs
xsm
sm
md
lg

กกต.เปิดโผอีก 13 ส.ส.“ไข่แม้ว” ส่อเค้าพ้นสภาพ ส.ส.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิชาต สุขัคคานนท์
กกต.เปิดเผยรายชื่อ 13 ส.ส.เพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลอีก 44 คน ส่อพ้นสมาชิกสภาพความเป็น ส.ส.ขณะที่อีก 18 ส.ส.ยังต้องลุ้น เหตุถือหุ้นบริษัทที่ กกต.ยังไม่เคยวินิจฉัย ด้าน “สมชัย” เผย กกต.เตรียมเลือกตั้งใหม่แทน “เทพเทือก” ภายใน 45 วัน

วานนี้ (17 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีการถือครองหุ้นของ ส.ส.ที่เหลือ กกต.ยังไม่ได้มีมติเป็นคำร้อง ที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา และ นายสมคิด หอมเนตร นักวิชาการอิสระ ขอให้ตรวจสอบการสิ้นสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.61 คน แต่มีผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิและลาออก จึงเหลือกรณีที่ กกต.จะวินิจฉัย 44 คน แยกเป็นพรรคเพื่อไทย 23 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 3 คน พรรคประชาราช 3 คน พรรคเพื่อแผ่นดิน 8 คน พรรคภูมิใจไทย 3 คน พรรคกิจสังคม 1 คน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 2 คน พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน โดยในจำนวนนี้เป็นรมต.ในรัฐบาลชุดนี้ถึง 6 คน จากการตรวจสอบ พบว่า มีบุคคลที่ถือครองหุ้นอยู่ใน 18 บริษัทต้องห้ามที่ กกต.มีคำวินิจฉัยไว้แล้ว รวม 13 คน แยกเป็นพรรคเพื่อไทย 5 คน ได้แก่ นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ถือหุ้นบริษัท ปตท.สผ.จำกัด (มหาชน) นาย สมพล เกยุราพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ถือหุ้น บ.ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด และ บริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ถือหุ้น บริษัท ปตท.สผ.จำกัด (มหาชน) และ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีเอสเสท จำกัด นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ถือหุ้น ปตท.จำกัด (มหาชน) นายไพโรจน์ ตันบรรจง ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย ถือหุ้น โกลว์พลังงาน จำกัด (มหาชน)

พรรคชาติไทยพัฒนา 2 คน ได้แก่ นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร ส.ส.อยุธยา พรรคชาติไทยพัฒนา รมช.คมนาคม ถือหุ้น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สผ.จำกัด (มหาชน) พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ส.ส.สัดส่วน พรรคชาติไทยพัฒนา ถือหุ้น บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) และธนาคารทหารไทย จำกัด พรรคประชาราช 1 คน ได้แก่ นายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.สัดส่วน หัวหน้าพรรคประชาราช (ภรรยาถือหุ้น) บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด พรรคเพื่อแผ่นดิน 4 คน ได้แก่ นางมลิวัลย์ ธัญญสกุลกิจ ส.ส.สุรินทร์ ถือหุ้น บ.ปตท.จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท.อะโรเมติกส์ และการกลั่น จำกัด (มหาชน) นายสาธิต เทพวงศ์ศิริรัตน์ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อแผ่นดิน ถือหุ้น บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) ม.ร.ว.กิติวัฒนา (ไชยันต์) ปกมนตรี ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน ถือหุ้น บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) นพ.วัลลภ ไทยเหนือ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน ถือหุ้น บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี และพรรคกิจสังคม 1 คน ได้แก่ นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาตย์ ส.ส.พิษณุโลก พรรคกิจสังคม ถือหุ้น บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี

ทั้งนี้ ต้องรอดูผลการตรวจสอบของคณะกรรมการไต่สวนของ กกต.ที่จะสรุปเสนอต่อ กกต.ว่าบุคคลเหล่านี้ถือครองหุ้นประเภทใด หากถือครองหุ้นสามัญก็จะถือว่ากระทำการเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 48 และ 265 เป็นเหตุให้ต้องสิ้นสมาชิกภาพความเป็นส.ส.ตามมาตรา 106(6) แต่ถ้าถือหุ้นกู้ก็จะยังคงดำรงตำแหน่ง ส.ส.ได้ต่อไป

นอกจากนี้ ยังน่าสนใจว่า ในจำนวน ส.ส.ที่ถือครองหุ้นดังกล่าว แยกเป็น ส.ส.สัดส่วน 6 คน ส.ส.เขต 7 คน หากที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยืนตามที่ กกต.เสนอ ในส่วน ส.ส.เขตไม่มีปัญหาสามารถจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ แต่ในส่วน ส.ส.สัดส่วนที่รัฐธรรมนูญมาตรา 109(2) กำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรประกาศเลื่อนรายชื่อผู้ที่อยู่ในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นในเขตเลือกตั้งนั้น ขึ้นมาเป็น ส.ส.แทน นั้นจะเป็นปัญหากับส.ส.สัดส่วนที่ถือครองหุ้นเข้าข่ายต้องห้าม 5 คน เพราะพรรคการเมืองที่สังกัด อย่างพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อแผ่นดิน และพรรคภูมิใจไทย เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ ทำให้ยังไม่มีบัญชีรายชื่อของพรรคให้ประธานสภาประกาศเลื่อนลำดับ

อย่างไรก็ตาม สำหรับรายชื่อบุคคลที่ถือครองหุ้นในบริษัทที่ไม่เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 9 คน ได้แก่ นายอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ ส.ส.ลำปาง ถือหุ้นบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นายนิทัศน์ ศรีนนท์ ส.ส.นนทบุรี ถือหุ้นบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นายอิทธิเดช แก้วหลวง ส.ส.เชียงราย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นายภูมิ สาระผล ส.ส.ขอนแก่น ที่ภรรยาถือหุ้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ ส.ส.กาญจนบุรี ถือหุ้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ ส.ส.สัดส่วน ถือหุ้น บ.ธนายง จำกัด นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ ส.ส.สัดส่วน ถือหุ้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด นายปวีณ แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ ถือหุ้นบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) นางปานหทัย เสรีรักษ์ ส.ส.แพร่ ถือหุ้น บริษัท เหมืองบ้านปู จำกัด

พรรคเพื่อแผ่นดิน 1 คน ได้แก่ นายประนอม โพธิ์คำ ส.ส.นครราชสีมา ถือหุ้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พรรคภูมิใจไทย 1 คน ได้แก่ นายชัย ชิดชอบ ส.ส.สัดส่วน และประธานรัฐสภา ถือหุ้น บ.ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด พรรคร่วมใจไทยชาติพัฒนา 2 คน ได้แก่ นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ ส.ส.นครราชสีมา ถือหุ้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล ส.ส.นครราชสีมา และ รมว.พลังงาน ถือหุ้น บ.การบินไทย จำกัด (มหาชน)

แต่ทั้งนี้ ก็ยังมีการถือครองหุ้นในบริษัทที่ กกต.ยังไม่เคยมีคำวินิจฉัย ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 9 คน ได้แก่ นายเอี่ยม ทองใจสด ส.ส.เพชรบูรณ์ ถือหุ้น บริษัท ปูนซีเมนต์เอเชีย จำกัด (มหาชน ) พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.นนทบุรี ถือหุ้น ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ ถือหุ้น บริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์เปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ ถือหุ้นบริษัท เอ็มลิ้งค์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) นายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ ส.ส.เชียงราย ถือหุ้น ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) นางดวงแข อรรณนพพร ส.ส.ขอนแก่น ถือหุ้น บจก.ขอนแก่น มิลแลนด์เนียมกอล์ฟ นายอัสนี เชิดชัย ส.ส.สัดส่วน ถือหุ้น บจก.กิจการราชสีมายานยนต์ พล.ต.อ.วิรุฬห์ พื้นแสน ส.ส.สัดส่วน บจก.บ้านตากศิลาทอง นายอดุลย์ วันไชยธนวงศ์ ส.ส.แม่ฮ่องสอน บมจ.หลักทรัพย์กิมเอ็ง (ประเทศไทย)

พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน ได้แก่ นายอัศวิน วิภูศิริ ส.ส.สัดส่วน ถือหุ้น บจก.เอกสาธร บจก.ภัทรสาธร และ บจก.ธนสาธร คอร์ปอเรชั่น พรรคประชาราช 2 คน ได้แก่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว ถือหุ้น บจก.พีทีเอ คอนสตรัคชั่น 3,000 หุ้น นายสมชัย เจริญชัยฤทธิ์ ส.ส.นครสวรรค์ ถือหุ้น บจก.เคจีไอ พรรคเพื่อแผ่นดิน 3 คน ได้แก่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ส.ส.สัดส่วน ถือหุ้น บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) นายอนุวัฒน์ วิเศษจินดาวัฒน์ ส.ส.นครราชสีมา ถือหุ้น บจก.นครราชสีมาเดินรถ มีหุ้นมูลค่า 650 หุ้น และ บมจ.นครราชสีมา หนองงูเหลือมเดินรถ นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.สัดส่วน ถือหุ้น บจก.ศรีนคร แอ๊กโกร พรรคภูมิใจไทย 2 คน ได้แก่ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา และ รมช.มหาดไทย ถือหุ้น บมจ.หลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) มูลค่า 2.5 ล้านบาท บริษัท เคจีไอ ประเทศไทยจำกัด มูลค่า 40.5 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้นำเงินจำนวนกว่า 30 ล้านบาท ไปลงทุนในสหกรณ์ออมทรัพย์นครราชสีมา นายมานิต นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี รมช.สาธารณสุข ที่ยังตรวจไม่พบว่าถือครองหุ้นในบริษัทใด พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน ได้แก่ นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน และ ส.ส.สัดส่วน ถือหุ้น บริษัท ก.นราพัฒน์ จำกัด บริษัท สระก่อสร้าง จำกัด

นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวน กล่าวถึงกรณีที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี แถลงลาออกจากการเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ว่า ขอชื่นชม นายสุเทพ ที่แสดงสปิริตทางการเมือง โดยการลาออก แต่ในคำวินิจฉัยของ กกต.ที่ให้ ส.ส.ปชป.13 คน สิ้นสมาชิกภาพ ซึ่งจะส่งถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ยังคงมีชื่อ นายสุเทพ อยู่ แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยหรือไม่ก็ขึ้นกับดุลพินิจ ส่วนของ กกต.จากนี้ก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.เขต 1 สุราษฎร์ธานี ใหม่ ภายใน 45 วัน นับแต่ตำแหน่งว่างลง เหมือนขั้นตอนทั่วไปเมื่อมี ส.ส.ลาออก

เมื่อถามว่า การลาออกจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพ ได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า เป็นสิ่งที่อยู่ในวิสัยที่ทำได้ ลาออกแล้วมีการเลือกตั้งใหม่ ไม่เหมือนหลายคนที่ออกมาโทษโน้นโทษนี่ ไม่ยอมรับความคิดเห็นคนอื่น ส่วนการเลือกตั้งจะต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลเป็นพิเศษหรือไม่ ก็ต้องดูก่อน หากในพื้นที่แข่งขันรุนแรงก็จะส่งเจ้าหน้าที่สืบสวนส่วนกลางลงไปเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง และหาข่าวเพื่อป้องกันปราบปรามการทุจริต แต่ส่วนตัวยังเชื่อว่า การเลือกตั้งในสุราษฎร์จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

นายสมชัย ยังกล่าวถึง ส.ส.ที่ กกต.มีมติให้สิ้นสมาชิกภาพ ว่า อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ เพราะเรื่องเหล่านี้ยังต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้เป็นบรรทัดฐานต่อไป มติ กกต.ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด อย่างไรก็ตาม คำร้องเรื่องนี้ก็เป็นของคนร่วมรัฐบาลนี้ร้องมา ซึ่ง กกต.จะไม่ตรวจสอบก็ไม่ได้ และการที่ กกต.มีมติ ก็ไม่ได้ทำโดยลำพัง เรามีอนุกรรมการซึ่งเชี่ยวชาญในข้อกฎหมาย รวมทั้งที่ปรึกษากฎหมายที่ประกอบด้วยอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญด้วย เมื่อมีความเห็นที่แตกต่างกันตั้งแต่อนุกรรมการ ที่ปรึกษา และ กกต.ด้วยกันเอง จึงเห็นควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทั้งนี้

“ขอให้ ส.ส.และ ส.ว.ที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่มีความรู้สึกผิดชอบ ควรเข้าใจการทำงานขององค์กรอิสระ ซึ่งท่านเป็นผู้กำหนดอำนาจหน้าที่เหล่านี้มาเอง เพราะที่ผ่านมาผมได้เคยเสนอความเห็นไปแล้วว่าให้สมาชิก 1 ใน 10 ของรัฐสภายื่นเรื่องให้สภาตรวจสอบกันเอง แต่ปรากฏว่า มีความเห็นกันว่า กกต.ควรทำหน้าที่นี้ ผมเป็นเพียงเสียงข้างน้อยก็ได้ แต่ปฏิบัติตามนั้น จึงฝาก ส.ส.และ ส.ว.ที่มีวุฒิภาวะแล้วน่าจะเข้าใจ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นเช่นเดียวกับ กกต.ว่า ห้าม ส.ส.และ ส.ว.ถือครองหุ้นในบริษัทต้องห้าม จนเป็นเหตุในสมาชิกภาพต้องสิ้นสุดลง และต้องมีการเลือกตั้งใหม่ บุคคลเหล่านี้ก็ยังคงสมัครรับเลือกตั้งได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 101 และ 102 ที่กำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง และลักษณะต้องห้ามของบุคคล มิให้ใช้สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ได้กำหนดว่า ห้ามบุคคลที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พ้นสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.และ ส.ว.เนื่องจากถือครองหุ้นต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 48 และ 265 ลงสมัครแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น