xs
xsm
sm
md
lg

เปิดข้อมูล ส.ส.ส่อโดน กกต.ฟัน “ไข้พิษหุ้น” ปชป.14-พรรคอื่น 11 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประพันธ์ นัยโกวิท กกต.
หลัง 16 ส.ว.เจอพิษหุ้นทำสภาบนอ่วมอรทัย ถึงคิว ส.ส.โดนบ้าง เปิดข้อมูล ส.ส.คอพาดเขียงส่อเจอพิษไข้หุ้นเล่นงานตกเก้าอี้ เบื้องต้น ปชป.14 คน พรรคอื่น 11 คน จับตาอนุฯสอบกล้าชง กกต.ฟันหรือไม่ หาก 63 ส.ส.ที่ “เรืองไกร” ยื่นไว้ ชี้ว่าถือหุ้นบริษัทใด ด้าน “ประพันธ์” แจงเหตุเป็นเสียงข้างน้อย มองจำนวนหุ้นที่ ส.ว.ถือครองแค่หลักร้อย หมดสิทธิ์ที่จะเข้าบริหารครอบงำกิจการ ชี้ถือว่าเป็นเหตุให้ผลประโยชน์ขัดกัน แต่ยอมรับมติ กกต. จะเป็นบรรทัดฐานใช้ได้ทั้งกับ ส.ส.-รมต.

วันนี้ (19 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ กกต.มีมติเสียงข้างมากให้ 16 ส.ว.สิ้นสมาชิกภาพตามรัฐธรรมนูญมาตรา 119(5) เนื่องจากถือครองหุ้นในธุรกิจสื่อที่เข้าข่ายขัดมาตรา 48 และถือครองหุ้นบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ หรือคู่สัญญาอันมีลักษณะผูกขาดตัดตอน ซึ่งเข้าข่ายขัดมาตรา 265(2) ของรัฐธรรมนูญ กรณีดังกล่าวจะเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาข้อกล่าวหาเดียวกันนี้ที่นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ร้องขอให้กกต.ตรวจสอบการสิ้นสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106(6) ของ ส.ส.ที่มีรายงานว่ากกต.จะมีการพิจารณาวินิจฉัยในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ ในจำนวน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 28 คน ที่ นายศุภชัย ยื่นให้ กกต.ตรวจสอบนั้น มี 14 คนที่ถือหุ้นใน 14 บริษัทที่ กกต.มีมติว่าห้ามมีหุ้น ประกอบด้วย 1.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค และ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ถือหุ้นในบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 2.นายอนุชา บุรพชัยศรี ส.ส.กทม.ถือหุ้น บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 3.นายสมเกียรติ ฉันทวานิช ส.ส.กทม.ถือหุ้น บริษัท เนชั่น มัลติมีเดียกรุ๊ป บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

4.นายชนินทร์ รุ่งแสง ส.ส.กทม.ถือหุ้น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) 5.น.ส.นริศา อดิเทพวรพันธุ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ถือหุ้น บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) 6.นายสัมพันธ์ ทองสมัคร ส.ส.นครศรีธรรมราช ถือหุ้นบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) 7.นายสงกรานต์ จิตสุทธิภากร ส.ส.นครสวรรค์ ถือหุ้นบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

8.นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก ถือหุ้น บริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหานชน) 9.นายวิชัย ล้ำสุทธิ ส.ส.ระยอง ถือหุ้นบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) 10.นายเจือ ราชสีห์ ส.ส.สงขลา ถือหุ้น บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 11.นายลาภศักดิ์ ลาภาโรจน์กิจ ส.ส.สงขลา ถือหุ้น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) 12.นางนิภา พริ้งศุลกะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ถือหุ้นบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 13.นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ส.ส.สัดส่วน กลุ่มที่ 8 ถือหุ้น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ 14.น.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ ส.ส.สัดส่วน กลุ่มที่ 8 ถือหุ้น บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน)

อย่างไรก็ตาม ยังมีบริษัทที่ ส.ส.ถือหุ้นอยู่ แต่ กกต.ยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยว่าเป็นบริษัทที่เข้าข่ายห้ามถือหุ้นหรือไม่ ประกอบด้วย 1.หุ้นบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ นายอนุชา บุรพชัยศรี ถืออยู่ 2.หุ้นบริษัท เนชั่น มัลติมีเดียกรุ๊ป บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ นายสมเกียรติ ฉันทวานิช ส.ส.กทม.ถืออยู่ 3.บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ นายสราวุธ อ่อนละมัย ส.ส.ชุมพร ถืออยู่หุ้น 4.บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่ นายเธียรชัย สุวรรณเพ็ญ ส.ส.ตาก ถืออยู่ 5.บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ที่ นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก ถืออยู่ 7.บริษัท เดอะโคเจนเนอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ นายเจือ ราชสีห์ ส.ส.สงขลา ถืออยู่

ส่วน ส.ส.ที่ถูกร้อง แต่พบว่าถือหุ้นในบริษัทที่ กกต.มีมติว่าไม่เข้าข่ายห้ามถือ ประกอบด้วย 1.นายสกลธี ภัททิยกุล ส.ส.กทม.ถือหุ้น บริษัท อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) 2.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ส.ส.กทม.ถือหุ้น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) 3.น.ส.รัชดา ธนาดิเรก ส.ส.กทม.ถือหุ้น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) 4.นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.กทม.บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) 5.นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส.นครนายก ถือหุ้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 6.นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ถือหุ้นบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 7.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ ถือหุ้น บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) 8.นางกันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์ ส.ส.พังงา ถือหุ้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 9.นายวินัย เสนเนียม ส.ส.สงขลา ถือหุ้น บริษัท อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) 10. พล.อ.พิชาญเมธ ม่วงมณี ส.ส.สัดส่วน กลุ่มที่ 1 ถือหุ้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และส่วนนายประกอบ จิรกิต ส.ส.สัดส่วน กลุ่มที่ 6 ได้ลาออกไปแล้ว

ขณะเดียวกัน ในส่วน ส.ส.ที่ นายเรืองไกร ยื่นขอให้ กกต.ตรวจสอบทั้งหมด 2 ครั้งนั้น ไม่มีการระบุว่าถือหุ้นในบริษัทใด มีทั้งหมด 63 คน แต่มีที่ถูกเพิกถอนสิทธิและลาออกไป 21 คนทำให้เหลือ ส.ส.ที่ถูกร้อง 42 คน ซึ่งมี ส.ส.11 คน ที่ผู้สื่อข่าวตรวจสอบพบจากการรายงานบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ล่าสุด ยังถือหุ้นในบริษัทที่ กกต.มีมติว่าห้ามมีหุ้นประกอบด้วย 1.นางมลิวัลย์ ธัญญสกุลกิจ พรรคเพื่อแผ่นดิน ถือหุ้น ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.อะโรเมติกส์ และการกลั่น จำกัด (มหาชน) 2.นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร พรรคชาติไทยพัฒนา รมช.คมนาคมบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สผ.จำกัด (มหาชน)

3.นางอุไรวรรณ เทียนทอง ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาราช ถือหุ้น บริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด 4.นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ที่ภรรยาถือหุ้นบริษัท ทางด่วนฯ ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 265 วรรคท้ายบัญญัติครอบคลุมห้ามไปถึงคู่สมรสหรือบุตร หรือหุ้นเหล่านี้ด้วย 5.นายสุนัย จุลพงศธร พรรคเพื่อไทย ถือหุ้นบริษัท ปตท.สผ.จำกัด (มหาชน) 6.นายสมพล เกยุราพันธุ์ พรรคเพื่อไทย ถือหุ้น ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด และบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด 7.นายสาธิต เทพวงศ์ศิริรัตน์ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อแผ่นดิน ถือหุ้นบริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) 8.ม.ร.ว.กิติวัฒนา (ไชยันต์) ปกมนตรี พรรคเพื่อแผ่นดิน ถือหุ้น บริษัท ทีทีแอนด์ที 9.ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช พรรคเพื่อไทย ถือหุ้น ปตท.สผ.จำกัด (มหาชน) 10.นายวิชาญ มีนชัยนันท์ พรรคเพื่อไทย ถือหุ้น ปตท.จำกัด (มหาชน) 11.พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ พรรคชาติไทยพัฒนา ถือหุ้นบริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน)

ส่วน ส.ส.ที่ผู้สื่อข่าวตรวจสอบการถือหุ้นจากบัญชีทรัพย์สินที่ได้แจ้งไว้ต่อ ป.ป.ช.และพบว่าถือในบริษัทที่ กกต.มีมติว่าไม่เข้าข่ายต้องห้ามนั้นมี 13 คน ประกอบด้วย 1.นายอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ถือหุ้นบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 2.นายเอี่ยม ทองใจสด พรรคเพื่อไทย ถือหุ้นบริษัท ปูนซีเมนต์เอเชีย จำกัด (มหาชน) 3.นายนิทัศน์ ศรีนนท์ พรรคเพื่อไทย ถือหุ้นบริษัท การบินไทย 4.นายอิทธิเดช แก้วหลวง พรรคเพื่อไทย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 5.นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ถือหุ้นบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

6.นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ถือหุ้นการบินไทย จำกัด (มหาชน) 7.นายภูมิ สาระผล พรรคเพื่อไทย ที่ภรรยา ถือหุ้น การบินไทย จำกัด (มหาชน) 8.พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ พรรคเพื่อไทย ถือหุ้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 9.น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ พรรคเพื่อไทย ถือหุ้น ธนายง จำกัด 10.นายประนอม โพธิ์คำ พรรคเพื่อแผ่นดิน ถือหุ้นบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 11.นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ พรรคเพื่อไทย ถือหุ้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางจากปิโตเลียม จำกัด 12.พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก พรรคเพื่อแผ่นดิน ถือหุ้น การบินไทย จำกัด (มหาชน) 13.นายปวีณ แซ่จึง ส.ส.เพื่อไทย ถือหุ้นบริษัท บางจากปิโตเลียม จำกัด

สำหรับที่ตรวจสอบพบว่า ถือหุ้นบริษัทที่ กกต.ยังไม่วินิจฉัยประกอบด้วยหุ้นธนาคารกรุงไทย ที่พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก พรรคเพื่อแผ่นดิน และ นายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ พรรคเพื่อไทย ถืออยู่หุ้นธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ที่ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย (มหาชน) ถืออยู่ หุ้นเทเลคอมเอเซีย คอร์เปอร์ชั่น จำกัด (มหาชน) ที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ พรรคเพื่อไทย ถืออยู่ หุ้นบริษัท เอ็มลิ้งค์ เอเชียจำกัด (มหาชน) ที่น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ พรรคเพื่อไทย ถืออยู่ หุ้นศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด ที่นายชัย ชิดชอบ พรรคภูมิใจไทย ถืออยู่ หุ้นเอสซี เอสเสท จำกัด และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช พรรคเพื่อไทย ถืออยู่

นอกจากนี้ ที่ตรวจสอบไม่พบว่าถือครองหุ้นใดอยู่ประกอบด้วย 1.นางปานหทัย เสรีรักษ์ พรรคเพื่อไทย 2.นายไพโรจน์ ตันบรรจง พรรคเพื่อไทย 3.นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ พรรคภูมิใจไทย 4.น.ส.ตรีนุช เทียนทอง พรรคประชาราช 5.นายมานิต นพอมรบดี พรรคภูมิใจไทย รมช.สาธารณสุข 6.นายอนุวัฒน์ วิเศษจินดาวัฒน์ พรรคเพื่อแผ่นดิน 7.นายอัศวิน วิภูศิริ พรรคชาติไทยพัฒนา 8.นายสมชัย เจริญชัยฤทธิ์ พรรคประชาราช ถือหุ้นบริษัท 9. นางดวงแข อรรณนพพร พรรคเพื่อไทย 10.นายอัสนี เชิดชัย ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย 11. นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน 12.พล.ต.อ.วิรุฬห์ พื้นแสน ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย 13.นายไพฑูรย์ แก้วทอง ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี น่าสนใจว่า หาก นายเรืองไกร ไม่ได้ยื่นข้อมูลว่า ส.ส.ที่เขาร้องนั้นถือหุ้นในบริษัทใดจริงตามที่ระบุ อนุกรรมการไต่สวนกกต.จะมีการไปสืบค้นข้อมูลหรือไม่ เพราะตามแนวปฏิบัติที่ผ่านมาจะเป็นการพิจารณาและสืบค้นในข้อมูลที่มีการร้องเข้ามาเท่านั้น

ด้าน นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณี กกต.มีมติเสียงข้างมากให้ 16 ส.ว.สิ้นสมาชิกภาพ เนื่องจากถือหุ้นเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 48 และ 265 ว่า ข้อมูลที่อนุกรรมการไต่สวนเสนอ ได้มีการตรวจสอบหุ้นที่ผู้ถูกร้องเสนอ พร้อมคัดแยกรายชื่อบริษัทที่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย 14 บริษัท และบริษัทที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย 21 บริษัท โดย กกต.เสียงข้างมาก เห็นว่า การถือครองหุ้นสื่อและบริษัทที่รับสัมปทานรัฐนั้นขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 265 ที่บัญญัติไว้เพียงว่า ส.ส.หรือส.ว.จะต้องไม่ถือครองหุ้นบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐไม่ได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะถือก่อนหรือหลังเข้าตำแหน่ง ก็ไม่ผลอะไร

“ที่ผมเป็นเสียงข้างน้อย เพราะมองว่ามาตรา 265 อยู่ในหมวดการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะถือว่าฝ่าฝืนมาตรานี้ก็ต้องมีการกระทำในลักษณะที่ขัดกับประโยชน์ แต่จากการไต่สวนของอนุกรรมการนั้น หุ้นสื่อ หรือหุ้นบริษัทที่ 16 ส.ว.ถืออยู่ เป็นการถือมาก่อนที่จะดำรงตำแหน่ง และในรายงานของอนุกรรมการก็ระบุเองว่า ตอนที่ ส.ว.ชุดนี้เข้ามาแรก ๆ สำนักเลขาธิการวุฒิสภาได้เชิญผู้แทนของ ป.ป.ช.มาอธิบายเรื่องการถือหุ้น โดยมีส.ว.ถามว่า ถ้าถือหุ้นบริษัทการบินไทย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และซื้อในตลาดหลักทรัพย์ จะต้องมีการขายไปก่อนที่เขาจะเข้าปฏิญาณตนรับตำแหน่งเป็น ส.ว.หรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ก็ชี้แจงเองว่าคงไม่จำเป็น เพราะไม่ได้เข้าไปครอบงำ และในความเห็นของผมเองก็มองว่า 16 ส.ว.เขาไม่ได้จงใจที่จะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ หุ้นที่เขามีก็ไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นทั้งบริษัท เพราะอย่างบางคนถือหุ้นแค่หลักร้อยเท่านั้นเอง ซึ่งหุ้นขนาดนี้ไม่มีผลให้เขาสามารถเข้าไป จูงใจ แทรกแซง หรือบริหาร ครอบงำบริษัทอะไรได้ จนเรียกว่าเป็นการกระทำฝ่าฝืนเรื่องผลประโยชน์ขัดกัน”

ส่วนหลายบริษัทที่อนุกรรมการ เห็นว่า ไม่เข้าข่ายบริษัทที่มีลักษณะต้องห้าม ส.ว.เข้าไปถือหุ้นแต่คนทั่วไปอาจเข้าใจว่าเป็นสัมปทานรัฐ เช่นบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นั้น ทางอนุกรรมการ ก็มองว่า บริษัทดังกล่าวมีการแข่งขันกับสายการบินอื่น จึงไม่เข้าข่าย แต่อย่างบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในรายงานสอบสวนของอนุก็บอกว่าผู้แทนของบริษัทเหล่านี้ก็รับว่าเป็นกิจการที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ อย่างไรก็ตาม เมื่อ กกต.มีมติแล้วว่าการถือหุ้นของ 16 ส.ว.เป็นเหตุให้สิ้นสมาชิกภาพ ก็จะส่งคำวินิจฉัยไปยังประธานวุฒิสภา เพื่อให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ส.ว.ทั้ง 16 ก็เอาประเด็นเหล่านี้ไปสู้ที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้วกัน

นายประพันธ์ ยังกล่าวอีกว่า มติ กกต.เรื่องนี้สามารถนำไปใช้กับการพิจารณาคุณสมบัติของส.ส.และรมต.ได้เลย เพราะเป็นหลักกฎหมายเดียวกัน ซึ่งเวลานี้ทั้ง 2 เรื่องอยู่ในชั้นการไต่สวนของอนุกรรมการ กกต.
กำลังโหลดความคิดเห็น