xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้น!มติกกต.“หุ้น”พ่นพิษ เสียว32 ส.ว."ตายน้ำตื้น"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น่าติดตามยิ่งนักกับการประชุมประจำสัปดาห์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ชุดใหญ่ ในวันนี้(16 มิ.ย.52 ) ซึ่งมีรายงานว่ากกต.จะพิจารณาเรื่อง
“การยื่นคำร้องขอถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่ง”
เนื่องจากได้ ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา48 ห้ามไว้ และเป็นผู้ถือหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทที่เข้าคู่สัญญาในลักษณะผูกขาดตัดตอน หรือในบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 265 วรรคสองบัญญัติไว้ และต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา119(5)
เรื่องดังกล่าว เป็นการสอบสวนและวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายของกกต.หลังจากเมื่อช่วง กรกฏาคม 2551 มีผู้ยื่นคำร้องดังกล่าวให้กกต. อันแยกเป็น 2 กรณีคือ
การขอให้ถอดถอนส.ว.ยื่นโดย ศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย เวลานั้นยังอยู่พรรคพลังประชาชน
และอีกส่วนเป็นการยื่นเพื่อถอดถอน ส.ส.ที่ยื่นโดย เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา
โดยข้อมูลทั้ง 2 ฝ่ายล้วนมาจาก “บัญชีทรัพย์สิน-หนี้สิน” ที่มีการยื่นต่อป.ป.ช. และเปิดเผยต่อสาธารณชน
วันนี้ทั้งสองเรื่องกำลังกลายเป็นเรื่องเดียวกัน ด้วยบรรทัดฐานการชี้ขาดจาก กกต.ที่จะพิจารณาในส่วนของส.ว.ก่อนซึ่งมีทั้งหมด 32 คน
หากผลการประชุมมีมติว่าส.ว.ไม่ผิด ไม่ต้องพ้นสมาชิกภาพตามคำร้อง ก็หมายความว่า บรรดารัฐมนตรี-ส.ส.อีกหลายคนก็รอดไปด้วยโดยปริยาย
อย่างไรก็ตาม กระแสข่าวออกมาเป็นระยะๆว่า ที่ประชุมใหญ่กกต. อาจไม่สามารถชี้ขาดได้ภายในวันเดียวตามสไตล์ที่เรื่องใหญ่ๆ และมีผลกระทบทางการเมืองสูง กกต.ทั้งหมดก็จะต้องใช้เวลาค่อนข้างนานในการสรุปมติออกมา
ยกเว้น แต่ว่ากกต.จะมีแนวทางการวินิจฉัยมาล่วงหน้าดีแล้ว ก็สามารถหยิบยกวาระนี้ขึ้นมาหารือ แล้วอภิปรายกันก่อนจะลงมติกันไปเลย
สำหรับกรณีนี้ เป็นที่รู้กันมาแล้วว่า สำนวนการวินิจฉัยเรื่องนี้ อนุกรรมการสืบสวนสอบสวนที่ กกต.ตั้งขึ้นได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมายมาหลายเดือนแล้ว แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้
มติออกมาเป็น 3 ต่อ 2
โดยเสียงข้างมากเห็นว่า แม้ ส.ว.ถือครองหุ้นมาก่อนดำรงตำแหน่ง แต่ไม่ใช่เหตุให้สิ้นสุดการเป็นสมาชิกภาพได้ แต่เสียงข้างน้อยเห็นว่า การที่ส.ส.-ส.ว.ถือครองหุ้นไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่า ถือครองหุ้นก่อนรับตำแหน่ง เพราะเป็นหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองต้องปลดเปลื้องให้พ้นจากการรับสัมปทาน หรือการถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานให้เรียบร้อยตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
การที่อนุกรรมการฯเสียงแตก และเสียงข้างมากชนะแค่คะแนนเดียว ทำให้ กกต.สั่งให้ที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.พิจารณาในข้อกฎหมาย กระทั่งที่ปรึกษากฎหมายเห็นในแนวทางเดียวกับเสียงข้างน้อย
อันหมายความว่า สมาชิกสภาพของส.ว.ทั้ง 32 คน สุ่มเสี่ยงยิ่งต่อการ
ตกงาน
หากกกต.กลับเห็นคล้อยตามกับอนุกรรมการฯเสียงข้างน้อย
เรื่องนี้ ไม่ว่ากกต.วินิจฉัยออกมาอย่างไร จะต้องมีคำอธิบายต่อสังคม ทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสังคมหลายฝ่าย เนื่องจากนักกฎหมายหลายคนได้ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อดูตามคำร้องขอถอดถอนที่ยื่นต่อ กกต.โดยเฉพาะในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญผสมกับการตีความตามตัวอักษรจะเห็นได้ชัดว่า
รัฐธรรมนูญได้บัญญัติข้อห้ามเอาไว้ชัดเจน ในเรื่องการถือหุ้นในบริษัทที่เป็นคู่สัญญากับรัฐ และที่สำคัญรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติขยายความในเรื่อง
“ถือหุ้นมากหรือถือหุ้นเล็กน้อย”แต่อยู่ที่ว่าได้ “ถือหุ้น”ไว้จริงหรือไม่
จึงถือเป็นอีกการพิสูจน์ครั้งสำคัญของกกต. เพราะเรื่องนี้มีผลกระทบทางการเมืองสูง เนื่องเพราะหากกกต.มีมติตามคำร้อง จะทำให้ ส.ว. 32 คน ที่หลายคนก็มีชื่อเสียง-บทบาทโดดเด่นไม่น้อยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ต้องปิดฉาก สิ้นสุดสมาชิกภาพไปก่อนกำหนด
ที่แยกออกเป็น ส.ว.สรรหา อาทิ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย มือกฎหมายสภาสูง ที่ถือหุ้นบริษัททรูคอร์ปอเรชั่น, พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช ถือหุ้น ช.การช่าง ,ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด,ทรูคอร์ปอเรชั่น ถาวร ลีนุตพงษ์ แห่งเครือยนตรกิจ ถือหุ้นบริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)บริษัท ปตท.,ทีพีไอ โพลีน , ปูนซีเมนต์ไทย วรินทร์ เทียมจรัส แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.มีหุ้น การบินไทย, สมชาย แสวงการ ที่ครอบครองหุ้นบริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด ,ไทยออยล์ เป็นต้น
ส่วนซีก ส.ว.เลือกตั้งที่น่าสนใจอาทิ พล.ต.อ.โกวิท ภักดีภูมิ ส.ว.อ่างทอง ถือหุ้นไออาร์พีซี - บ้านปู - ปตท., นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ ถือหุ้น บริษัท ทีพีไอ โพลีน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี หากส.ว.เหล่านี้สิ้นสุดสมาชิกภาพไป แต่ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ จนกว่าศาลจะวินิจฉัยเบ็ดเสร็จเด็ดขาดออกมา
ทว่า เรื่องนี้ ส.ว.หลายคน รวมถึงแม้แต่รัฐมนตรี- ส.ส.ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีหางว่าวดังกล่าว โต้แย้งในลักษณะเดียวกันว่า การถือหุ้นดังกล่าว เป็นการไปซื้อหุ้นในบริษัทตลาดหลักทรัพย์ฯ อันเป็นการลงทุนตามปกติ ไม่ได้มีเจตนาปกปิดบัญชีทรัพย์สิน และเป็นการถือครองหุ้นก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่ง
และการยกเหตุผลเรื่องไม่ได้ครอบครองหุ้นในปริมาณที่มากจนมีสิทธิ์มีเสียงในฐานะฝ่ายบริหารที่จะเข้าไปกำกับ หรือสั่งการด้านนโยบายบริษัทต่างๆได้ เพราะเป็นแค่การถือหุ้นแบบลูกจ้าง เพราะซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ผ่านโบรกเกอร์เหมือนกับประชาชนทั่วไป
ในบางรายยกเหตุผลเรื่องหาก กกต.ชี้ขาดว่าส.ว.ทั้ง 32 คนขาดคุณสมบัติแล้วต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้น และจะเป็นบรรทัดฐานต่อไปกับ ส.ส.ก็จะมีผลทำให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้น
สิ้นเปลืองงบประมาณอีกนับพันล้านบาท
การยกเหตุผลเรื่องความสิ้นเปลืองเงินทองในการต้องมีการเลือกตั้ง หรือต้องมานับหนึ่งใหม่ในการสรรหาส.ว.เพื่อแทนส.ว.ซีกสรรหา หากสุดท้ายต้องพ้นสมาชิกภาพไปจริงๆ แล้วจะทำให้การทำหน้าที่ของส.ว.ต้องหยุดชะงักไปนั้น
พิจารณาแล้ว ที่บ้านเมืองมีปัญหากันทุกวันนี้ ก็เพราะมีบางฝ่ายไม่ยึดหลักกฎหมาย ละทิ้งความถูกต้อง จนทำให้ระบบกฎหมายบ้านเมืองแทบไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่หากเห็นชัดเจนว่า เกิดสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผิดรัฐธรรมนูญขัดต่อกฎหมาย แล้วยอมปล่อยไปเพื่อเหตุผลบางอย่าง เช่น เกรงว่าจะสิ้นเปลืองเงินงบประมาณในการเลือกตั้ง เสียเวลาในการสรรหาส.ว.
ถ้าหากว่าต้องเลือกตั้งใหม่จริง ต้องสรรหา ส.ว.กันอีกรอบ ต่อให้เสียเงินงบประมาณไปอีกเท่าไหร่ แล้วรักษาไว้ซึ่งความถูกต้อง ก็ควรต้องกระทำ โดยไม่ต้องคิดลังเลสงสัย
เช่นเดียวกับการสรรหาส.ว.เพื่อมาทดแทนส.ว.สรรหา ที่หากจะต้องพ้นสมาชิกภาพไป ก็ไม่แน่ที่เราอาจได้ส.ว.ที่ดีๆ กว่าบุคคลที่จะพ้นไปมิใช่หรือ?
หลังการชี้ขาดของ กกต.หากมีมติให้ 32 ส.ว.ผิดตามคำร้อง ฝ่ายที่จะลุ้นหนักตามมา ก็คือกลุ่มรัฐมนตรี-ส.ส.ทั้งซีกรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่มีชื่ออยู่ในคำร้องด้วย
อาทิ สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ถือหุ้น บริษัทธนายง,ทีพีไอ โพลี ,ทรู คอร์ปอเรชั่น ,เสนาะ เทียนทอง มีหุ้นบริษัททางด่วนกรุงเทพ ,พลตรีสนั่น ขจรประศาสตร์ รองนายกรัฐมนตรี ถือหุ้นบริษัทสามารถเทเลคอม ,เกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม ถือหุ้นบริษัท ปตท.,มานิต นพอมรบรดี รมช.สาธารณสุข ถือหุ้นบริษัทปตท.สผ.-ทีพีไอโพลีน –ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น เป็นต้น
อนาคตการเมืองของรัฐมนตรี-ส.ส.-สว.เกือบร้อยคน จึงต้องลุ้นกับการวินิจฉัยของ กกต.ด้วยใจระทึก และหากเรื่องนี้ออกมาแบบตายหมู่
คงเป็นอุธาหรณ์สำคัญทางการเมือง ที่ทำให้หลายคนสะอึกกับคำว่า “ตายน้ำตื้น”
กำลังโหลดความคิดเห็น