กกต.มีมติเชือด 13 ส.ส.ปชป.ถือหุ้นบริษัทคู่สัมปทานรัฐ ขัดรัฐธรรมนูญ “สุเทพ-ไตรรงค์” โดนตามคาด ขณะที่อีก 14 ส.ส. และ “กษิต” เฮ รอดเหตุถือแค่หุ้นกู้ ด้าน “สุทธิพล” เผยมีอีก 4 บริษัทที่ถูกชี้เพิ่มจาก 14 บริษัทเดิมว่าเข้าข่ายต้องห้าม ส.ส.-ส.ว.เข้าถือหุ้น ย้ำมติ กกต.ยึดหลักเดียวกับมติฟัน 16 ส.ว.แต่สวนทางคณะกรรมการไต่สวนที่เสนอให้ยกคำร้องทั้งหมด พร้อมรับรอง “อนุรักษ์-สุรชาติ” เป็น ส.ส.แล้ว เผยมีคิวเชือด ส.ส.อีก 44 คน “เพื่อไทย” เจอนิ่มๆ 23 คน แถมมีรัฐมนตรีพ่วงอีก 6 คนทั้ง “เสธ.หนั่น-บุญจง”
วันนี้ (16 ก.ค.) นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.แถลงว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณารายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการไต่สวนกรณี นายศุภชัย ใจสมุทร ยี่นคำร้องขอให้ตรวจสอบการกระทำของ ส.ส.28 ราย พรรคประชาธิปัตย์ กระทำการอันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 48 ถือครองหุ้นในธุรกิจประกอบมาตรา 265 ถือครองหุ้นในบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานรัฐ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามมาตรา 106(6) ของรัฐธรรมนูญ โดยมีมติเสียงข้างมาก เห็นว่า ส.ส.13 ประกอบด้วย 1.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี เลขาธิการพรรค และ รองนายกรัฐมนตรี ถือหุ้นในบริษัท บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 2.นายอนุชา บูรพชัยศรี ส.ส.กทม.ถือหุ้น บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) 3.นายสมเกียรติ ฉันทวานิช ส.ส.กทม.ถือหุ้น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) 4.นายสราวุธ อ่อนละมัย ส.ส.ชุมพร ถือหุ้น บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) 5.นายเธียรชัย สุวรรณเพ็ญ ส.ส.ตาก ถือหุ้น บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) 6.น.ส.นริศา อดิเทพวรพันธ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ถือหุ้น บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) 7.นายสัมพันธ์ ทองสมัคร ส.ส.นครศรีธรรมราช ถือหุ้นบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)
8.นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก ถือหุ้นโดยภรรยา คือ นางสมานจิตต์ ไกรฤกษ์ ซึ่งถือหุ้นใน บริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหานชน) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) 9.นายเจือ ราชสีห์ ส.ส.สงขลา ถือหุ้นโดยภรรยา คือ นางสมผิว ราชสีห์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท โกลว์พลังงาน จำกัด (มหาชน) 10.นายลาภศักดิ์ ลาภาโรจน์กิจ ส.ส.สงขลา ถือหุ้นโดยภรรยา คือ นางสุไหม ลาภาโรจน์กิจ ถือหุ้นใน บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) 11.นางนิภา พริ้งศุลกะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ถือหุ้นโดย นายกำธร พริ้งศุลกะ ถือหุ้นในบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 12.น.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ ส.ส.สัดส่วน กลุ่มที่ 8 ถือหุ้น บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) 13.นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ส.ส.สัดส่วน กลุ่มที่ 8 ถือหุ้นโดยภรรยาคือ นางนงนุช สุวรรณคีรี ถือหุ้นใน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กระทำการอันมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวเป็นเหตุให้สมาชิภาพสิ้นสุดลง ซึ่งก็ได้มีการยกร่างคำวินิจฉัยยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คาดว่า จะดำเนินการได้เร็วขึ้นเนื่องจากมีแนวปฏิบัติจาก ส.ว.แล้ว
นอกจากนี้ มติเสียงข้างมากยังยกคำร้อง ส.ส.14 ราย ประกอบด้วย 1.นายสกลธี ภัททิยกุล ส.ส.กทม.ถือหุ้น บริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) 2.นายวินัย เสนเนียม ส.ส.สงขลา โดย พญ.วณิดา เสนเนียม ถือหุ้นบริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) 3.น.ส.รัชดา ธนาดิเรก ส.ส.กทม.ถือหุ้น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) 4.นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.กทม.ถือหุ้น บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) 5.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ โดย นางธันยวีร์ ศรีอ่อน ภรรยาถือหุ้น บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) 6.นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส.นครนายก ถือหุ้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ธนายง จำกัด 7.นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ถือหุ้นบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 8.นางกันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์ ส.ส.พังงา โดย นพปฎล กุลจรรยาวิวัฒน์ สามี ถือหุ้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 9.พล.อ.พิชาญเมธ ม่วงมณี ส.ส.สัดส่วน กลุ่มที่ 1 ถือหุ้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
10.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ส.ส.กทม.ถือหุ้น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) 11.นายสงกรานต์ จิตสุทธิภากร ส.ส.นครสวรรค์ ถือหุ้นกู้ ปตท.จำกัด 12.นายชนินทร์ รุ่งแสง ส.ส.กทม.ถือหุ้นกู้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) 13.นายวิชัย ล้ำสุทธิ ส.ส.ระยอง ถือหุ้นกู้ บมจ.ปตท.จำกัด (มหาชน) และ 14.นายประกอบ จิรกิติ ส.ส.สัดส่วน ถือหุ้น บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บมจ.บ้านปู บมจ.ไทยออยล์ และ บมจ.เบญจจินดา เนื่องจากเห็นว่าถือครองหุ้นที่บริษัทที่ไม่เข้าข่ายต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ และในบางรายแม้จะถือหุ้นในบริษัทต้องห้ามแต่หุ้นที่ถือครองนั้นเป็นประเภทหุ้นกู้ เช่น นายประกอบ ถือหุ้นกู้ในบริษัท ทรู คอเปอร์เรชั่น นายวิชัย ถือหุ้นกู้ในบริษัท ปตท.นายสงกรานต์ ถือหุ้นกู้ในบริษัท ปตท.
ส่วน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีต ส.ส.กทม. กกต.ไม่ได้พิจารณาเนื่องจากได้ลาออกจากการเป็น ส.ส.แล้ว
นายสุทธิพล ยังกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ แม้ว่าคณะกรรมการไต่สวน จะเสนอรายงานว่า มีบริษัทที่เข้าข่ายต้องห้าม ส.ส.ไปถือหุ้นนอกจาก 14 บริษัทเดิมที่ กกต.เคยวินิจฉัยแล้ว เพิ่มอีก 4 บริษัทคือ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท โกล์ว พลังงาน จำกัด (มหาชน) ซึ่ง กกต.ก็เห็นตาม แต่ในรายงานสรุปการสอบสวนคณะกรรมการ มีความเห็นว่า ผู้ถูกร้องถือครองหุ้นมาก่อนเข้าดำรงตำแหน่ง ยังสามารถที่จะถือครองได้ต่อไป จึงมีมติเสนอ กกต.ว่า ให้ยกคำร้องผู้ถูกร้องทั้งหมด แต่ กกต.ยึดการพิจารณาวินิจฉัยกรณี ส.ว.เป็นหลักจึงมีมติต่างจากที่คณะกรรมการเสนอ
ส่วนในกรณีของ นายสุเทพ ถูกร้องตั้งแต่เดือน ก.ค.ปี 2551 ขณะดำรงตำแหน่ง ส.ส.เมื่อถูกร้องก็ดำเนินการขายหุ้น แต่ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็น รมต.เมื่อ ธ.ค.2551 ซึ่ง กกต.พิจารณาเฉพาะการสิ้นสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ตามที่ร้องเท่านั้น ดังนั้น เมื่อ นายสุเทพ เคยถือหุ้นสามัญในบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหุ้นต้องห้ามที่เคยวินิจฉัยไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ขณะเป็น ส.ส.ถือว่ากระทำการเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามให้ต้องสิ้นสมาชิกภาพแล้ว แต่กรณีดังกล่าวถ้าดูตามกฎหมายแล้ว การไม่เป็น ส.ส.ก็ยังสามารถเป็น รมต.ได้
เลขาธิการ กกต.ยืนยันว่า การพิจารณา กกต.นั้น ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล แต่เป็นการยึดหลักการตามกฎหมาย ไม่เลือกว่าใครอยู่ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลหรือพรรคร่วม แต่ผู้ที่จะชี้ขาดเรื่องดังกล่าวคือศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัย
อย่างไรก็ตาม มติเสียงข้างมากของ กกต.ในครั้งนี้ เหมือนกับที่เคยลงมติในคราววินิจฉัยหุ้น 16 ส.ว.โดยเสียงข้างน้อย 1 เสียง คือ นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้ง
นอกจากนี้ ที่ประชุม กกต.ยังได้พิจารณากรณีที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ยื่นหนังสือให้ขอตรวจสอบคุณสมบัติ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่า มีการกระทำส่อต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ประกอบมาตรา 265 วรรค(2) และมาตรา 265 วรรค 3 เนื่องจาก นางจินตนา ภรรยา ถือหุ้น บ.ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด จำนวน 100 หุ้น เป็นเงิน 1 แสนบาทถ้วน โดยที่ประชุมมีมติเอกฉันท์เห็นตามที่คณะกรรมการไต่สวนเสนอให้ยกคำร้อง เนื่องจากหุ้นที่ นางจินตนา ถือเป็นหุ้นกู้ ซึ่งถือว่า บริษัทเป็นผู้ยืมเงินจากผู้ถือหุ้น โดยมีผลตอบแทนอยู่ในรูปแบบดอกเบี้ย และมีกำหนดการไถ่ถอนที่แน่นอน ถือว่าผู้ถือหุ้นมีลักษณะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท ไม่มีอำนาจก้าวก่ายแทรกแซงกิจการ หรือเข้าไปจัดการในบริษัทดังกล่าว ดังนั้นการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิ้นของนายกษิต และคู่สมรสที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขณะที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีวันที่ 22 ธ.ค.2551 จึงไม่เข้าข่ายให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกษิตต้องสิ้นสุดลงตามมาตรา 182(7)
นายสุทธิพล ระบุว่า ที่ประชุม กกต.มีมติรับรองและประกาศให้นางอนุรักษ์ บุญศล ผู้สมัคร เป็นส.ส.เขต 3 ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย หลังยกคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งกรณีร้องคัดค้านว่ามีการโฆษณาหาเสียงด้วยวิธีใส่ร้ายรวม 3 เรื่อง และประกาศให้ นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ เป็น ส.ส.เขต 1 ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย หลังมีมติยกคำร้องคัดค้าน กรณีมีการโฆษณาหาเสียงด้วยวิธีใส่ร้าย นอกจากนี้ยังมีมติยกคำร้องนายโชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.สิงห์บุรี พรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งยกคำร้องนางรัชนี พลซื่อ ส.ส.ร้อยเอ็ด เขต 3 พรรคเพื่อแผ่นดิน กรณีที่มีการกล่าวหาว่าจ่ายเงินให้กับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีการถือหุ้นของ ส.ส.ยังคงเหลือกรณีที่คณะกรรมการไต่สวนของกกต.กำลังสอบสวนกรณี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา นายสมคิด หอมเนตร นักวิชาการอิสระ ร้องขอให้ กกต.ตรวจสอบการสิ้นสมาชิกภาพความ ส.ส.ของ ส.ส.61 คน แต่มีผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิและลาออก จึงเหลือกรณีที่กกต.จะวินิจฉัย 44 คน โดยเป็นพรรค เพื่อไทย 23 คน ชาติไทยพัฒนา 3 คน ประชาราช 3 คน เพื่อแผ่นดิน 8 คน ภูมิใจไทย 3 คน กิจสังคม 1 คน รวมใจไทย 2 คน ประชาธิปัตย์ 1 คน
โดยในจำนวนนี้เป็น รมต.ในรัฐบาล 6 คน ประกอบด้วย นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข และ นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน โดยคณะกรรมการไต่สวนครบกำหนดขอขยายระยะเวลาการสอบสวน 15 วันในวันที่ 23 ก.ค.นี้