xs
xsm
sm
md
lg

กกต.นัดเชือด 28 ปชป. 14 ก.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กกต.ยื้อลงดาบ 28 ส.ส.ปชป.ถือหุ้นต้องห้ามไปเป็น 14 ก.ค. อ้างติดวันหยุด-กกต.บางคนต้องไปดูงานต่างประเทศ "สุทธิพล" โต้ "สุนัย" ปตท.เข้าข่ายบริษัทต้องห้ามเหตุบริษัทลูกได้สัมปทานรัฐ ส่วนกรณี"เทพเทือก"ส่ง 19 ส.ส.ช่วยงานก.วัฒนธรรมรอด "เจ๊สด"ว้ากใส่ประธานวุฒิฯ ใช้ กม.อะไรให้ กกต.ทบทวนมติ 16 ส.ว.ถือหุ้น เตือนไม่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเจอ ม.157

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. แถลงว่า ในการประชุมกกต. วานนี้ (30 มิ.ย.) นายอภิชาต ิสุขัคคานนท์ ประธานกกต.แจ้งกับกกต.ว่า ได้รับรายงาน ผลสรุปการสอบสวนกรณี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 28 คนถือหุ้นบริษัทที่อาจเข้าข่ายลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 48 และ 265 จากคณะอนุกรรมการแล้ว โดยได้ตัดซองและสำเนาแจกจ่ายให้กกต.นำไปศึกษา พร้อมกำหนดนัดลงมติในวันที่ 14 ก.ค.นี้ เนื่องจากเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 7 วัน จะเป็นวันหยุดราชการ และหลังจากนั้นนายประพันธ์ นัยโกวิท กกต. ก็ติดภารกิจรับเชิญไปดูงานการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ จึงต้องนัดลงมติในวันดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นวันอังคารแรกที่องค์ประชุมจะอยู่ครบ

อย่างไรก็ตามการเปิดซองเอกสารดังกล่าวไม่มีการตรวจสอบว่า มีความ ครบถ้วนเพียงพอที่ กกต.จะลงมติได้เลยหรือไม่ อีกทั้งเรื่องดังกล่าวจะเป็นดุลพินิจของ กกต.แต่ละคน ที่จะใช้เวลาในช่วงที่นำสำนวนไปศึกษาพิจารณาอีกครั้ง หากผลสอบ มีความครบถ้วนทั้งในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กกต.ก็จะลงมติได้ ทั้งนี้กรณีดังกล่าวจะแตกต่างจากผลสอบกรณีส.ส. 61 คน ถือหุ้นที่อาจเข้าข่ายลักษณะต้องห้าม ที่อนุกรรมการฯยังสอบพยานไม่แล้วเสร็จ แต่มีการเสนอมาให้ กกต.พิจารณา เพราะเกรงว่า ระยะเวลาการสอบสวนจะยาวนานเกินไป แต่กกต.เห็นว่า มีความจำเป็นต้องสอบเพิ่ม จึงให้อนุกรรมการฯไปสอบสวนเพิ่มเติม

ส่วนที่ นายสุนัย จุลพงศ์ธร ส.ส.เพื่อไทยตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใด กกต.จึงวินิจฉัยว่า บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เป็นบริษัทรับสัมปทานรัฐ เพราะฝ่ายกฎหมายของ ปตท.ยืนยันว่า ไม่ใช่ นายสุทธิพล กล่าวว่า เนื่องจากอนุสอบสวนชุด ส.ว.เห็นว่า บริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) เข้าไปถือหุ้น 100 %ในบริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐในการขุดเจาะปิโตรเลียมตามหนังสือเลขที่ 2/2528/27 แล้วพบว่าบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน ) ได้เข้าไปถือหุ้นในบริษัท ปตท.สผ. จำกัด(มหาชน) เกินกว่า 50 % ซึ่งถือว่ามีอำนาจครอบงำบริษัท ปตท.สผ. จำกัด ทำให้บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) เข้าข่ายได้รับสัมปทานจากรัฐโดยอ้อม

นอกจากนี้กกต.ยังมีมติขยายเวลาครั้งที่ 3 ให้กับอนุกรรมการฯสอบสวนกรณี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ร้องให้ตรวจสอบความเป็นรัฐมนตนรีของนายก ษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182(7) ออกไปอีก 10 วัน เนื่องจากทางอนุกรรมการฯต้องการสอบปากคำผู้แทนของบริษัทและผู้แทนของ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ กรณีที่ภรรยาของนายกษิตเข้าไปถือครองหุ้น โดยจะครบกำหนดในวันที่ 6 ก.ค.นี้

นายสุทธิพล แถลงอีกว่า กกต.มีมติกรณีร้อง กกต.ให้พิจารณาส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตาม ม.182 (7)ของรัฐธรรมนูญ กรณีมีหนังสือถึง รมว.วัฒนธรรม ขอส่งตัว ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์รวม 19 คนไปช่วยงาน โดยมีมติเสียงข้างมาก ให้ยกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของนายสุเทพ ไม่ได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ เข้าไปก้าวก่าย เพราะหนังสือที่มีไปถึง รมว.วัฒนธรรมนั้น กระทำในฐานะรองนายกฯ ซึ่งมีสถานะเป็นรมต.เช่นเดียวกันโดยมีการแจ้งรายชื่อแนบท้ายของบุคคลที่ประสงค์ ขอไปช่วยราชการที่กระทรวงวัฒนธรรม กรณีดังกล่าวนี้รมว.วัฒนธรรมมีอำนาจในการพิจารณาได้เองว่าจะรับบุคคลดังกล่าวหรือไม่ ทั้งนี้ในการสอบสวนยังไม่ปรากฎหลักฐานอื่นว่านายสุเทพใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซง จึงว่าการกระทำของนายสุเทพ ยังไม่เข้าข่ายมาตรารัฐธรรมนูญมาตรา 182 ( 7)

รายงานข่าวแจ้งว่า มติดังกล่าว สวนทางกับมติเสียงข้างมากของ อนุกรรมการ สอบสวน 4 ต่อ 1 ที่เห็นการกระทำของนายสุเทพ เข้าข่ายเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ เข้าไปก้าวก่าย หรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมืองไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

นางสดศรี สัตยธรรม กกต. ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวว่าการที่นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภาให้ กกต.ทบทนมติเรื่อง ส.ว.ถือครองหุ้นกิจการที่เป็นสัมปทานกับรัฐเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เป็นอดีตตุลาการมาแล้วใช้กฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ มาตราใดมาให้ กกต. ทบทวน รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2575 หรือเปล่า ประธานวุฒิเหมือน นายไปรษณีย์ ขณะที่กกต.เหมือนอัยการเมื่อสั่งฟ้อง ท่านก็ต้องส่งไป ศาลก็ต้องตัดสิน

"ท่านเป็นเพียงคนเดินสาสน์เอาเอกสารไปให้ศาล แต่นายไปรษณีย์กลับบอกว่า ให้เอามาทบทวนก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน เรากำลังค้นกฎหมายเหมือนกันว่า ใช้มาตราอะไรสั่งให้ทบทวน หรือใช้หลักอะไร กกต.เป็นองค์กรอิสระแยกออกจากกัน วุฒิสภาไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของ ของ กกต. แต่ละองค์กรต้องดูว่า มีบทบาทหน้าที่อย่างไร"

นางสดศรี ยังได้ยกตัวอย่างกรณีประธานวุฒิสภาเสนอให้ กกต. ทบทวนกรณี นายสุรเดช จิรัฐติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรีโดยอ้างว่ามีเอกสารที่ กกต.ยังไม่ได้พิจารณา แต่เมื่อส่งมาอนุกรรมการฯก็บอกว่าพิจารณาไปแล้ว กกต.จึงยืนตามความเห็นเดิม และทราบว่าขณะนี้ประธานวุฒิสภา ยังไม่ได้เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนญก็ไม่ทราบว่าเพราะอะไรถึงยังไม่ส่ง

"การตัดสินเราทำตามกฎหมาย แต่การที่ประธานวุฒิบอกไม่ส่งหรือให้กลับมาทบทวนก็อยากจะทราบเหตุผลของท่าน อยากดูว่ากฎหมายใดให้อำนาจประธานวุฒิสภาในการระงับหรือไม่ส่งเพราะอะไร หากไม่ส่งผู้ที่ร้องเรียนก็อาจจะใช้สิทธิตาม 157 ของประมวลกฎหมายอาญา เรื่องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่"

นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีท กกต. ยืนยันที่จะไม่ทวน คำวินิจฉัยกรณี ส.ว. 16 คนถือหุ้นในกิจการที่เป็นสัมปทานของรัฐว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจ ของกกต. ว่าจะทบทวนหรือไม่ก็ได้ไม่มีปัญหา แต่เชื่อว่าเรื่องนี้ยังมีเวลาอีกนาน เมื่อกกต.ส่งคำวินิจฉัยมาที่วุฒิสภาแล้วตนยังต้องพิจารณาอีกและยังต้องส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาพิจารณานานเพียงใด เบื้องต้น เชื่อว่าภายใน 2 เดือนยังไม่มีผลกระทบจากเรื่องนี้ ส่วนหากระยะยาวเมื่อมีผลการวินิจฉัยของศาลออกมาแล้วค่อยว่ากันอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น