xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.สผ.กำไรวูบ3.2พันล.เซ่นพิษศก. เร่งบริหารต้นทุน-ทบทวนแผนงานใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปตท.สผ. เจอพิษเศรษฐกิจ กำไรสุทธิไตรมาสแรกทรุดฮวบเกือบ 3.2 พันล้านบาท หรือ 35% เหลือแค่ 5.7 พันล้านบาท จากปีก่อนสูงเกือบ 9 พันล้านบาท ผู้บริหารแจงวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลให้ความต้องการในประเทศลดลงอย่างมาก พร้อมปรับกลยุทธ์การบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพและทบทวนแผนการลงทุนใหม่ให้ชัดเจนมากขึ้น

นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP กล่าวถึง ผลการดำเนินงานไตรมาสแรก สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2552 ว่า บริษัทและบริษัทมีกำไรสุทธิ 5,746.26 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 1.74 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน 8,904.71 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 2.70 บาท กำไรสุทธิลดลงกว่า 3,158.45 ล้านบาท หรือคิดเป็น 35.47%

โดยบริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 26,522 ล้านบาท ลดลง 1,852 ล้านบาท หรือ 7% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2551 ที่มีรายได้รวม 28,374 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 15,255 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,664 ล้านบาท หรือ 21% เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายรวมของปีก่อนที่ 12,591 ล้านบาท

ด้านฐานะการเงินของบริษัทและบริษัทย่อย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2552 มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 284,705 ล้านบาท หนี้สินรวม 153,303 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 131,402 ล้านบาท

นายอนนต์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานที่ผ่านมา สืบเนื่องจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยได้ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง จากไตรมาสที่ 4 ปี 2551 อันเป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออก บวกกับความไม่สงบทางการเมือง ยังส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวชะลอตัว ซึ่งปัจจัยลบดังกล่าวส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าและปิโตรเคมี ทำให้ปริมาณการใช้พลังงานและความต้องการปิโตรเลียมในประเทศปรับตัวลดลงอย่างมาก

“ความต้องการของตลาดในประเทศที่ลดลง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างมาก ทำให้กำไรสุทธิของบริษัทไตรมาสแรกต่ำกว่าประมาณการที่ตั้งไว้”

อย่างไรก็ตาม วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทได้เพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น เพราะมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ต้องให้ความสำคัญ อาทิ ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนราคาน้ำมันดิบที่ผันผวน เป็นต้น ในไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา ปตท.สผ. จึงได้ดำเนินการปรับยุทธศาสตร์การลงทุนอย่างเป็นขั้นตอนภายใต้กรอบการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยเน้นการเลือกลงทุนในโครงการที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของบริษัทรวมทั้งยังมีระบบติดตามและประเมินสถานการณ์ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการปรับแผนงานอย่างทันท่วงที และได้เตรียมแผนงานเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆที่อาจเกิดขึ้น

"ปตท.สผ. ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ดังกล่าวด้วยการจัดการต้นทุนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยดารเร่งรัดทบทวนระบบและแผนงานของโครงการต่างๆ เพื่อหาแนวทางลดต้นทุนจากการประสานผลประโยชน์และใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทั้งการได้ปรับเปลี่ยนวิธีการจัดหาสินค้าและบริการให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ของตลาด รวมทั้งได้ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์การผลิตหลักในโครงการต่างๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อเพิ่มปริมาณการสั่งซื้อต่อครั้ง และเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรอง"

ขณะเดียวกัน ปตท.สผ. ยังได้มองหาตลาดใหม่ในการจัดหาสินค้าและบริการเพิ่มเติมจากแหล่งที่มีอยู่เดิม และมีการทบทวนสัญญาเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย รวมถึงการจัดกิจกรรมภายในองค์กรเพื่อรณรงค์หาทางลดต้นทุนในการดำเนินงาน เพื่อสร้างจิตสำนึกให้พนักงานได้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

พร้อมกันนี้ ปตท.สผ. ได้ปรับแผนการพัฒนาโครงการโดยพิจารณาระยะเวลาของการพัฒนาโครงการให้เหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการพลังงานของประเทศ โดยได้ประสานงานกับผู้ซื้อและหน่วยงานของรัฐ เพื่อร่วมกันวางแผนและคาดการณ์ความต้องการปิโตรเลียม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อที่จะสามารถพัฒนาการผลิตจากแหล่งต่างๆ ให้มีความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้ดียิ่งขึ้น

ด้านแผนการลงทุนขยายกิจการใหม่ๆ นั้น บริษัทปรับแผนการลงทุนในโครงการ (Portfolio Management) และกำหนดแผนการขยายธุรกิจ รวมทั้งกำหนดกลุ่มประเทศและธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุนให้ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยพิจารณาทั้งด้านความเสี่ยง ผลตอบแทนการลงทุน และกระแสเงินสดในการดำเนินงาน โดยจะให้ความสำคัญกับการลงทุนหรือขยายธุรกิจในโครงการที่สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์เป็นอันดับแรก รวมทั้งมุ่งเน้นให้จัดสรรเงินลงทุนตลอดจนทรัพยากรในโครงการต่างๆ ตามลำดับความสำคัญด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น