กกต.อ้างติดวันหยุด ทั้งต้องดูงานต่างประเทศ ยืดเวลาลงมติฟัน 28 ส.ส.ประชาธิปัตย์ถือหุ้นบริษัทคู่สัมปทานรัฐผิดหรือไม่ เป็นวันที่ 14 ก.ค.ขณะที่ เลขา กกต.โต้ “สุนัย” ชี้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เข้าข่ายบริษัทต้องห้าม เหตุบริษัทลูกได้สัมปทานรัฐ
วันนี้ (30 มิ.ย.) นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข่าวว่า ในการประชุม กกต.นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.แจ้งกับ กกต.ว่า ได้รับรายงานผลสรุปการสอบสวนกรณี ส.ส.ปชป.28 คน ถือหุ้นบริษัทที่อาจเข้าข่ายลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 48 และ 265 จากคณะอนุกรรมการแล้ว โดยได้ตัดซอง และสำเนาแจกจ่ายให้ กกต.นำไปศึกษา พร้อมกำหนดนัดลงมติในวันที่ 14 ก.ค.นี้ เนื่องจากเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 7 วัน จะเป็นวันหยุดราชการ และหลังจากนั้น นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้ง ก็ติดภารกิจรับเชิญไปดูงานการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ จึงต้องนัดลงมติในวันดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นวันอังคารแรกที่องค์ประชุมจะอยู่ครบ
อย่างไรก็ตาม การเปิดซองเอกสารดังกล่าวไม่มีการตรวจสอบว่า มีความครบถ้วนเพียงพอที่กกต.จะลงมติได้เลยหรือไม่ อีกทั้งเรื่องดังกล่าวจะเป็นดุลพินิจของ กกต.แต่ละคน ที่จะใช้เวลาในช่วงที่นำสำนวนไปศึกษาพิจารณาอีกครั้ง หากผลสอบมีความครบถ้วนทั้งในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กกต.ก็จะลงมติได้ ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวจะแตกต่างจากผลสอบกรณี ส.ส.61 คน ถือหุ้นที่อาจเข้าข่ายลักษณะต้องห้าม ที่อนุกรรมการยังสอบพยานไม่แล้วเสร็จ แต่มีการเสนอมาให้ กกต.พิจารณา เพราะเกรงว่า ระยะเวลาการสอบสวนจะยาวนานเกินไป แต่ กกต.เห็นว่า มีความจำเป็นต้องสอบเพิ่ม จึงให้อนุกรรมการไปสอบสวนเพิ่มเติม
เมื่อถามว่า นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.เพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใด กกต.จึงวินิจฉัยว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทรับสัมปทานรัฐ เพราะฝ่ายกฎหมายของ ปตท.ยืนยันว่า ไม่ใช่ นายสุทธิพล กล่าวว่า เนื่องจากอนุฯสอบสวนชุด ส.ว.เห็นว่า บริษัท ปตท.สผ.จำกัด (มหาชน) เข้าไปถือหุ้น 100% ในบริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐในการขุดเจาะปิโตรเลียมตามหนังสือเลขที่ 2/2528/27 แล้ว พบว่า บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ได้เข้าไปถือหุ้นในบริษัท ปตท.สผ.จำกัด (มหาชน) เกินกว่า 50% ซึ่งถือว่ามีอำนาจครอบงำบริษัท ปตท.สผ.จำกัด ทำให้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เข้าข่ายได้รับสัมปทานจากรัฐโดยอ้อม
นอกจากนี้ กกต.ยังมีมติขยายเวลาครั้งที่ 3 ให้กับอนุกรรมการสอบสวนกรณีที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ร้องให้ตรวจสอบความเป็นรัฐมนตนรีของ นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182(7) ออกไปอีก 10 วัน เนื่องจากทางอนุกรรมการต้องการสอบปากคำผู้แทนของบริษัท และผู้แทนของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ กรณีที่ภรรยาของนายกษิตเข้าไปถือครองหุ้น โดยจะครบกำหนดในวันที่ 6 ก.ค.นี้