“อ๋อย” เหน็บรัฐตัวต้นเหตุสังคมแตกแยกเพราะไม่อยู่ภายใต้กติกาประชาธิปไตย หัวชนฝาอย่างไร “กษิต” ก็ผิด จวกนายกฯ ถ้าจะสมานฉันท์จริงเห็นใครเซอย่าซ้ำ ระบุประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องไม่มีการยึดอำนาจ รับลูกเสื้อแดงล่ารายชื่อเพื่อ “พ่อแม้ว” เป็นประเพณีดั้งเดิม แขวะ “มาร์ค” ไม่กล้ายุบสภาเร็วๆ นี้แน่
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ให้สัมภาษหลังแถลงในงาน “6เดือนรัฐบาลอภิสิทธิ์ ความล้มเหลวจากที่มาและกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย” ผู้สื่อข่าวถามว่าคิดว่ารัฐบาลควรยุบสภาเลือกตั้งใหม่ตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ นายจาตุรนต์กล่าวว่า ไม่เชิง คือตนพูดตอนท้ายตีความได้อย่างนั้นเหมือนกัน แต่เน้นที่การแก้กติกา สร้างกติกาให้เป็นประชาธิปไตย แล้วก็แก้ที่ต้นเหตุ คือมาหาทางดูว่าสังคมไทยที่ขัดแย้งแตกแยกกัน ทำอย่างไรให้มีทางออกลดความขัดแย้งแตกแยก และอยู่ร่วมกันอย่างสันติอยู่ภายใต้กติกาประชาธิปไตย และเมื่อได้กติกาอย่างนั้นแล้วแน่นอนว่ามีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลนี้เยอะ เพราะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เขาไม่ได้เลือกรัฐบาลนี้มา ถึงเวลานั้นควรยุบสภาและมีการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้บอกให้วันนี้พรุ่งนี้ให้รับยุบสภา ผมก็เชื่อว่ารัฐบาลเขาไม่อยากยุบอยู่แล้ว อยากให้แก้ปัญหาให้ได้ ส่วนยุบสภาไม่ใช่ประเด็นที่เน้นเลย
เมื่อถามว่ากติกาที่เป็นปัญหามองว่ามันเกิดจากรัฐธรรมนูญปี 50 นายจาตุรนต์กล่าวว่า ที่สำคัญเกือบทั้งหมดอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 50 เมื่อถามว่าท่าทีของรัฐบาลขณะนี้ที่มีคณะกรรมการปฏิรูปรัฐธรรมนูญหรือคณะอื่นๆ คิดว่าจะช่วยคลี่คลายบรรยากาศได้หรือไม่ นายจาตุรนต์กล่าวว่า บรรยากาศคลี่คลายไปได้บ้างเพราะคนรู้สึกว่ารอคณะกรรมการนี้ แต่มันจะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่เป็นห่วงคือว่าพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่นายกฯ ไม่แสดงความเห็น ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่แสดงความเห็นอะไร และยังส่งอดีตหัวหน้าพรรค 2 คนมาบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญเลย แล้วมันจะแก้ได้จริงหรือไม่ ระหว่างนี้ก็มีการชิงไหวชิงพริบตลอด คณะกรรมการนี้เป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ ถ้าจะสมานฉันท์ นายกฯและรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ ต้องปรับท่าทีใหม่ คือแสดงความจริงใจว่าจะสมานฉันท์ ไม่ใช่ระหว่างทางไปก็เห็นใครเซหน่อยก็ซ้ำ เห็นใครยังไม่เซก็ทำให้เซ ถ้าเป็นอยู่อย่างนี้จะสมานฉันท์อย่างไร
เมื่อถามว่าประเมินสถานการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยโดยกลุ่ม นปช.จะมีพัฒนามากขึ้นจนสามารถช่วงชิงประชาธิปไตยในแนวทาง นปช.ได้หรือไม่ นายจาตุรนต์กล่าวว่า ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยได้หรือไม่ ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนหลายฝ่าย มากว่านี้อีกมาก นปช.คนเสื้อแดง เป็นการเคลื่อนไหวส่วนหนึ่ง แต่ถ้าจะเป็นประชาธิปไตยต้องอาศัยอีกหลายฝ่าย ต้องมาทำความเข้าใจร่วมกัน แล้วผลักดันให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยร่วมกัน
เมื่อถามว่าถ้าให้ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมในการที่ประชาชนทุกฝ่ายร่วมกันเพื่อสร้างประชาธิปไตยมองว่าควรเป็นอย่างไร นายจาตุรนต์กล่าวว่า ต้องศึกษาทำความเข้าใจแล้วก็หาทางแสดงออกในทางที่ยึดมั่นกับหลักการประชาธิปไตย หลักการความยุติธรรมที่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ นิติธรรมจริงๆ และไม่ยอมปล่อยให้ผู้มีอำนาจปกครองอยู่ด้วยระบอบประชาธิปไตย หรือระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหรือมีการกระทำอะไรที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย ไม่ใช่ปล่อยให้ใครยึดอำนาจก็ได้ ปล่อยให้ใครอยากจะสนับสนุนการยึดอำนาจ สนับสนุนระบอบเผด็จการ ก็ไม่ได้ว่าอะไร ต่างคนต่างอยู่ อย่างนี้คงไม่ได้ ต้องช่วยกันรณรงค์หลายๆทาง
ผู้สื่อข่าวถามถึงการที่แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ถูกออกหมายเรียกกรณียึดสนามบินสุวรรณภูมิ คิดว่าพรรคประชาธิปัตย์ และนายกษิต ควรแสดงสปีริตต่อเรื่องนี้อย่างไร นายจาตุรนต์กล่าวว่า การที่ตำรวจออกหมายเรียกและตั้งข้อหาไปตามเนื้อผ้าได้ ครั้งนี้ต้องถือเป็นความกล้าหาญของพนักงานสอบสวน ทั้งที่นายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณว่าท่านเห็นว่าคนขึ้นเวทีเป็นแกนนำปิดสนามบิน 2 แห่งไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร ท่านเอามาตั้งให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศให้ดูเล่นได้ เท่ากับส่งสัญญาณว่าท่านไม่เห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องผิดทั้งที่เป็นความผิดซึ่งเห็นเต็มตาชัดเจน คนเข้าใจได้ทั้งโลกและทั้งประเทศไทย แต่นายกฯ เห็นว่าไม่ได้ผิดอะไรจึงตั้งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ตำรวจย่อมต้องกลัวอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวว่าตำรวจจะเอาข้อหาก่อการร้ายออกไป แต่ที่เป็นข่าววันนี้คือมีข้อหาว่าไปตามเนื้อผ้าว่าพึงจะผิด พึงจะตั้งข้อหาก็ตั้งหมด นี่ถือเป็นความกล้าหาญและน่าเป็นห่วงว่าไม่รู้ว่าการแต่งตั้งโยกย้าย ต่อไปนี้จะไปกระทบอะไรกับตำรวจที่รับผิดชอบคดีเหล่านี้หรือไม่ และกระบวนการยุติธรรมที่จะเกิดขึ้นในขั้นสอบสวนและขั้นอัยการจะถูกแทรกแซงหรือไม่ อันนี้ต้องเรียกร้องรัฐบาลอย่าแทรกแซง
เมื่อถามว่าตัวนายกฯ เป็นคนระบุเองว่าไม่ต้องการให้เกิดกระบวนการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมจะเชื่อได้มากน้อยแต่ไหน นายจาตุรนต์กล่าวว่า การที่นายกฯ และบุคคลสำคัญในรัฐบาลไปเลือกจี้คดีบางคดีในอดีตแล้วปล่อยปะละเลยที่จะจี้บางคดีที่เกิดขึ้นในระยะหลังๆ โดยเฉพาะคดีของพันธมิตรฯ เท่ากับเป็นการแทรกแซงอยู่แล้ว การที่เข้าไปใช้ตำรวจดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทั้งเข้าไปแทรกแซง เข้าไปดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมแทรกแซง ไปปฏิบัติการเร่งความขัดแย้ง เร่งดำเนินคดีเรื่องที่เกิดขึ้น ที่เพิ่งเกิดขึ้นอย่างผิดปกติก็ดี นี่เป็นการแทรกแซงตลอด ฉะนั้นจึงไม่น่าเชื่อถือว่าจะไม่แทรกแซง แต่ผมก็เรียกร้องว่าอย่าแทรกแซงและแสดงความจริงใจให้เห็นว่า ทุกคดีใครทำผิดอะไรต้องถูกดำเนินคดีอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ 2 มาตรฐาน ที่นี้จะเรียกร้องให้รับผิดชอบอย่างไร ผมคิดว่ามันเลยขั้นตอน
“อย่างกรณีของคุณกษิต ตั้งไม่ได้มาแต่ต้นในความเห็นผม ตั้งไม่ได้มาตลอดอยู่แล้ว เวลานี้มีพนักงานสอบสวนของประเทศไทยเห็นว่านายกษิต ภิรมย์ทำผิดร้ายแรง ถึงขั้นที่เขาตั้งข้อกล่าวหาเป็นผู้ก่อการร้าย ที่เรียกความรับผิดชอบก็คือนายกฯควรจะหาที่ทางว่าจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน ก็แค่นั้นการเรียกร้องให้ปลดนายกษิต เป็นข้อเรียกร้องที่ล้าสมัย เพราะผมคิดว่าตั้งไม่ได้แต่ต้น”
วันนี้มาวิจารณ์ผลงานรัฐบาลล้มเหลวใน 5 เรื่องมันใหญ่กว่าเรื่องนายกษิตหลายร้อยเท่า เข้าใจว่าเรื่องนายกษิตเป็นข่าว ก็อยากรู้ว่าคุณกษิตจะไปชี้แจงกับทูตประเทศต่างๆอย่างไร ถ้าจะไปประชุมการแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย จะไปอธิบายอย่างไร แน่นอนหลักการที่ว่าถ้ายังไม่ต้องคำพิพากษาอย่างที่สุด ก็ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่มันเห็นตำตา เห็นคนเอาไม้ไปตีคนสลบนต่อหน้าต่อตาแล้วบอกว่ายังบริสุทธิ์อยู่ คนดูจะรับได้หรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรกับการล่ารายชื่อเพื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ถ้าเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องการถวายฎีกาเพื่อให้ทรงปัดเป่าทุกข์อยากเดือดร้อน ก็เป็นเรื่องที่ประชาชนทำได้ ไม่ว่าจะเกิดจากกรณีใดๆ เป็นประเพณีมาแต่ดั้งเดิมมาจนปัจจุบัน แล้วถ้าจะให้มีผลทางกฎหมายก็ต้องไปดูข้อกฎหมาย เข้าใจว่าที่ประชาชนทำเรื่องถวายฎีกา เป็นเรื่องที่ต้องการให้ทรงปัดเป่าความเดือดร้อน อาจจะไม่ได้ต้องการให้ดำเนินการตามข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่การดำเนินการในเรื่องนี้ ถ้าจะให้ดีอะไรที่เป็นการดำเนินการของประชาชน ผมคิดว่าเป็นสิทธิประชาชนทั่วไป ก็คงเข้าใจเมื่อใครเดือดร้อนและต้องการถวายฎีกาเป็นสิทธิของแต่ละคน
เมื่อถามว่าเท่ากับมองว่าถ้าจะถวายฎีกา พ.ต.ท.ทักษิณ ควรถวายฎีกาด้วยตัวเอง นายจาตุรนต์กล่าวว่า ไม่ได้ว่าอย่างนั้น เมื่อถามต่อว่ากรณีปัญหาของ พ.ต.ท.ทักษิณที่เกิดจากตัวเอง สามารถยื่นช่วยเหลือตัวเองได้หรือไม่ นายจาตุรนต์กล่าวว่า แสดงว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ต้องการถวายเอง หรือญาติพี่น้องผู้มีสิทธิตามกฎหมายจะถวายเอง เมื่อถามว่ามีการมองว่าเป็นความไม่เหมาะสมในการดึงเบื้องสูงลงมา นายจาตุรนต์กล่าวว่า ถ้าจะเป็นการถวายฎีกา เพื่อให้อภัยโทษ มันไม่เข้าข้อกฎหมาย ก็ต้องไปดูว่าเขาเขียนไว้อย่างไร ถ้าเขียนว่าต้องการให้ทรงปัดเป่าความเดือดร้อนเป็นเรื่องที่พสกนิกรมีสิทธิ์ที่จะทำ แต่ว่าเหมาะหรือไม่เหมาะ คิดว่าผู้ดำเนินการก็ต้องชี้แจง โต้แย้งกับผู้ที่ไม่เห็นด้วย เป็นเรื่องที่ว่าไปตามสิทธิของแต่ละฝ่าย ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็วิจารณ์ ฝ่ายที่โต้แย้งก็โต้แย้งมา และถ้าใครทำอะไรผิดกฎหมาย ทางฝ่ายรัฐต้องการดำเนินคดีตามกฎหมายก็ดำเนินการได้ ผมก็พูดแบบกลางๆ เพราะไม่ทราบรายละเอียดว่าเขียนไว้อย่างไร ใครทำอะไรบ้าง
เมื่อถามว่านายกฯ ระบุว่า จะยุบสภาเมื่อถึงเวลาเหมาะสม และจะบอกก่อนเป็นการกดดันพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายจาตุรนต์กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีพูดว่าพร้อมแล้วหรือ ก็เห็นบางคนในรัฐบาลคนใกล้ชิดนายกฯก็บอกอีกว่าประมาณ 2 ปี ดูท่าทีที่ผ่านมานายกฯคงไม่อยากยุบสภาเร็วอยู่แล้ว และได้พูดถัดไปว่าแก้รัฐธรรมนูญแล้ว ค่อยยุบ เพราะถ้ายุบตอนนี้ไม่มีประโยชน์ แต่เวลานี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะแก้รัฐธรรมนูญเมื่อไหร่ อาจถูกมองด้วยว่าตั้งกรรมการสมานฉันท์ขึ้นมาแล้ว ก็จะซื้อเวลา เพื่อให้รัฐบาลอยู่ไปได้นานๆ ผมว่าที่พูดว่ายุบสภาเมื่อไหร่ พร้อมก็จะบอก ไม่ได้เป็นคำขู่ต่อใคร เวลานี้ทั้งนายกฯและพรรคร่วม ต่างฝ่ายก็รู้แก่ใจว่ายุบเร็วๆ ไม่ได้แน่ จะไปขู่ว่าจะยุบเร็วพรรคร่วมก็ไม่เชื่อ พรรคร่วมจะบอกว่าถ้าไม่เอาตามใจฉัน ฉันจะถอนตัว แล้วคุณจะต้องยุบสภา พรรคประชาธิปัตย์คงไม่เชื่อเพราะทั้ง2 ฝ่ายกำลังตกที่นั่งลำบาก คือคะแนนนิยมลดลงอย่างมาก และในการเลือกตั้งซ่อมที่ศรีสะเกษ และสกลนครก็ไม่เป็นไปตามเป้า เพราะฉะนั้น เขาก็รู้ว่าถ้ายุบเร็วจะไปยึดพื้นที่ที่อีสานก็ไม่ได้ พรรคประชาธิปัตย์ก็จะจำกัดอยู่แค่นี้ ไม่รู้จะไปเอาที่นั่งที่ไหน เพราะที่นั่งที่มีฐานสำคัญก็เต็มแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ได้เต็มแล้ว ฉะนั้นเขารู้ว่าถ้ายุบตอนนี้ไม่มีทางดีกว่าเดิม เพราะฉะนั้น พรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมต่างรู้แก่ใจว่ายุบเร็วๆไม่ได้ เพราะฉะนั้นการพูดของนายกฯเรื่องการยุบสภาผมมองว่าไม่ได้เป็นการขู่ใครเลย เป็นการพูดแบบแก้เกี้ยวไปให้พอมีท่ามีทางนิดหน่อย