xs
xsm
sm
md
lg

"อ๋อย"จวกรัฐบาลล้มเหลว แนะแก้กติกาเลือกตั้งใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 10.30 น.วานนี้ (5ก.ค.) ที่โรงแรมเรดิสัน นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย แถลงถึงผลงาน 6 เดือนของรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับความล้มเหลวจากที่มา และกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ว่า จากการติดตามผลการทำงานของรัฐบาล พบว่าขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในภาวะที่ต้องประสบวิกฤต ทั้งทางเศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน จึงทำให้ปัญหาหนักหนาสาหัสมากกว่าครั้งใดในรอบหลายสิบปี แต่รัฐบาลก็ประสบความล้มเหลว ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และการเมือง โดยมีความล้มเหลวในด้านต่างๆ 5 เรื่อง คือ
1.การแก้ปัญหาเศรษศฐกิจการ 2. แก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมและการสร้างสมานฉันท์ 3.การแก้ปัญหาภาคใต้ 4. กรณีปราสาทพระวิหาร และ 5. การทุจิรตคอร์รัปชัน
ทั้งนี้ ความล้มเหลวที่สำคัญ เกิดจากที่มาของรัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตย มีการใช้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่เป็นธรรม ทำให้เป็นปัญหาความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล รวมทั้งรัฐบาลมาจากความขัดแย้ง และปล่อยให้ความขัดแย้งดำรงอยู่ โดยไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า รัฐบาลนี้ไม่ได้มาจากประชาชนในการเลือกตั้ง แต่มาจากการใช้กติกาและกลไกที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เข้ามาเปลี่ยนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มาแทนที่โดยอาศัยหลายฝ่ายที่ไม่ใช่ประชาชนมาสนับสนุน จึงเป็นรัฐบาลที่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยผู้ตั้งตัวเองเป็นรัฐบาล มีความเกรงอกเกรงใจ มากเป็นพิเศษ จนรัฐบาลนี้ไม่อาจจะเป็นตัวของตัวเองได้ จากสภาพความขัดแย้งที่มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่มีทางที่จะสร้างบรรยากาศของการลงทุนให้เกิดขึ้นได้
นอกจากนั้น รัฐบาลนี้ยังขาดคความสามารถในการบริหาร กำหนดนโยบาย การสั่งการ การประสาน ปรึกษาหารือกับผู้รับผิดชอบงานในด้านต่างๆ ดังนั้นจะเห็นผู้นำของรัฐบาลหรือ คนสำคัญของรัฐบาล จะเน้นการพูด การชิงไหวชิงพริบ รวมถึงคนในรัฐบางส่วนเน้นการทำลายฝ่ายตรงข้ามมากกว่าที่จะหาทางแก้ปัญหาของบ้านเมือง
ส่วนปัญหา 5 เรื่อง ที่ได้เกริ่นไว้ตอนต้น เรื่องแรกคือ เรื่องเศรษฐกิจ ในการแก้ปัญหาพบว่าล้มเหลวในแง่การกำหนดนโยบาย กำกับดูแลบนโยบายไปส่กูการปฏิบัติ จนกระทั่งได้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศมากกว่าควรจะเป็น ตัวเลขเศรษฐกิจหดตัว ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงมาก ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ การท่องเที่ยวตกต่ำ ราคาสินเกษตรก็ลดลงมากเช่นกัน
การที่มีปัญหามากๆอย่างนี้ ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เน้นการใช้จ่ายภาครัฐ ด้วยการขาดดุลมีผลน้อย เนื่องจากขาดดุลมากกว่าที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ คือรัฐบาลได้ประเมินภาวะเศรษฐกิจผิดพลาด และยังขี้แจงกับประชาชนไปในทางที่ผิดพลาดด้วย
ขณะเดียวกัน พรรคร่วมรัฐบาล กลับสาละวนอยู่กับการแสวงหาผลประโยชน์ ตามกระทรวงต่างๆ รวมทั้งการต่รองผลประโยชน์ที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ จนกระทั่งไม่สามารถทำเรื่องใหญ่ๆ ร่วมกันได้ เช่น การเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน ปัญหาการจำนำข้าว ขายข้าวขาดทุน และจนบัดดนี้รัฐบาลก็ยังไม่มีนโนบายที่เป็นข้อสรุปว่า นโยบายสำหรับพืชผลเกษตร จะใช้นโยบายอะไร นี่คือการขาดประสบการณ์ในการบริหารงานด้านเศรษฐกิจ
ส่วนการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม และสร้างความสมานฉันท์ รัฐบาลนี้ยังไม่ได้แสดงความเข้าใจว่า ประเทศมีวิกฤตความขัดแย้งในสังคม ไม่เข้าใจว่าสังคมได้มีมีวิกฤตแตกแยกร้าวลึกกว่าที่ผ่านมาในอดีต ซึ่งต้องการการแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่ได้เข้าใจต้นเหตุของปัญหา หรือเห็นความจำเป็นที่จะต้องพยายามให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาหาทางออกที่หยั่งยืน คือการแก้กติกา สร้างค่านิยม วัฒนธรรมที่ยอมรับกติกาประชาธิปไตย ตอนเกิดการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านรัฐบาล รัฐบาลได้เลือกที่จะใช้มาตรการทางทหารที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ นอกจากนั้นยังส่งเสริมการใช้กระบวนการยุติธรรมแบบ 2 มาตรฐาน
"พรรคประชาธิปัตย์ไม่แสดงความเห็นอะไรต่อการแก้รัฐธรรมนูญ และยังให้อดีตหัวหน้าพรรคถึง 2 คน มาแสดงความเห็นในทางไม่เห็นด้วยต่อการแก้รัฐธรรมนูญ หรือไม่เห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นต้นเหตุของปัญหา นอกจากนั้นในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ในสังคมไม่อาจแก้ได้ เพราะบุคลิกของนักการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ทั้งนายกรัฐมนตรี โฆษกส่วนตัว หัวหน้าพรรค และบุคคลอื่นเน้นการชิงไหวชิงพริบทางการเมืองมากกว่า"
สำหรับ ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ ต้องยอมรับว่าน่าเป็นห่วงมาก เพราะยังมีความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีระดับความรุนแรงที่สูงขึ้น ทั้งๆ ที่ทุ่มงบประมาณไปมาก แต่กลับไม่เกิดผล สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ รัฐบาลไม่ได้ให้เวลา และรัฐบาลยังไม่สามารถตกลงปัญหาบางเรื่องกับกองทัพได้ เนื่องจากรัฐบาลต้องอยู่ในสภาพที่ต้องเกรงใจกองทัพ จึงทำให้แนวทางการแก้ปัญหาไม่มีความชัดเจน ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่ประสบความสำเร็จ
ส่วนกรณีปราสาทพระวิหาร ก็ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย กับกัมพูชาเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจทำให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์มากกว่านี้ ซึ่งเรื่องนี้ ปัญหาใหญ่สุด อยู่ที่นายกรัฐมนตรี มีทิษฐิ ไม่ยอมรับความผิดพลาดที่ได้ทำไว้ พูดไว้ ในขณะเป็นผู้นำฝ่ายค้าน คือคำพูดที่ว่า ที่ดินใต้ปราสาท และที่ดินบริเวณปราสาท ยังเป็นของไทย ทั้งๆ ที่ศาลโลกตัดสินไปนานแล้วว่า ปราสาทพระวิหารอยู่ภายในเขตประชาธิปไตยของกัมพูชา รัฐบาลนี้มีนายกษิต ภิรมย์ เป็น รมว.ต่างประเทศ ก่อนมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ นายกษิตประกาศบนเวทีพันธมิตรฯ จะนำปราสาทพระวิหารคืนจากกัมพูชา และ ยังมีการสงวนสิทธิ ทวงคืนปราสาทพระวิหาร แต่ เมื่อมาถึงปัจจุบัน เพื่อเอาชนะคะคานทางการเมืองกับนายนพดล ปัทมะ อดีตรมว. ต่างประเทศ นายกรัฐมนตรี ก็ออกมายืนยันความเห็นเดิม และทั้งหมดนายกรัฐมนตรี รัฐบาล และนายกษิต ไม่ได้แสดงความยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีตเลยแม้แต่น้อย ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมจะทำให้เกิดความรู้สึกในทางไม่ดีจากฝ่ายรัฐบาล และประชาชนกัมพูชา
เรื่องสุดท้ายคือ คือเรื่องการทุจริต คอร์รัปชัน ที่สำคัญคือปัญหาการทุจริตอคอรัปชั่น ในปัจจุบัน ไม่มีการตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ เนื่องจากองค์กรที่ทำหน้าที่การตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน อย่าง ป.ป.ช. สตง. แต่บุคลากร กรรมาการต่างๆ ที่รับผิดชอบ ล้วนมาจากคมช. ทั้งสิ้น ซึ่งทำให้องค์กรตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ และองค์กรเหล่านี้เอียงมาทางรัฐบาล เพราะว่ามาสายเดียวกัน ก็เปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้ง่าย ดูจากกรณีที่ขัดแย้งกันอยู่ เช่น กรณีรถเมล์ 4 พันคัน ขายข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ ก็น่าเป็นห่วงอยู่แล้ว พ.ร.ก. 4 แสนล้านยิ่งเป็นเหมือนเช็คเปล่าให้รัฐบาล
สรุปได้ชัดเจน รัฐบาลล้มเหลวทั้ง 5 เรื่อง สาเหตุของความล้มเหลว คือ การขาดประสบการณ์ของพรรคแกนนำ การแบ่งงานไม่สามารถแบ่งงานให้สอดคล้องกับคนที่ทำงาน ความเกรงใจต่อพรรคร่วมรัฐบาล และกองทัพ จนไม่สามารถเป็นตัวของตัวเอง
"ถ้าไม่รีบแก้ปัญหา แก้กติกาให้ถูกต้อง ไม่รีบแก้ให้เกิดความยุติธรรมจริงๆ แล้วมาเริ่มต้นกันใหม่ ให้ประชาชนตัดสิน หารัฐบาลที่มีความชอบธรรมในการบริหาร ถ้าไม่รีบทำอย่างนี้ ปัญหาจะร้ายแรงมากขึ้น และผู้ที่เกิดความเสียหายไม่ใช่ใครอื่น ก็คือประชาชนทั้งประเทศนั่นเอง หวังว่าบางเรื่องรัฐบาลจะรีบนำไปพิจารณา" นายจาตุรนต์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น