xs
xsm
sm
md
lg

“อ๋อย” โยนชั่วใส่ “มาร์ค” สับ 6 เดือนล้มเหลว หยันนายกฯ อ่อนประสบการณ์ เกรงใจพรรคร่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จาตุรนต์ ฉายแสง
“จาตุรนต์” เดินหน้าเซาะฐาน “มาร์ค” อ้าง 6 เดือน 5 นโยบายรัฐบาลล้มเหลวสิ้นเชิง ใส่ไฟนายกฯ ขาดประสบการณ์บริหารประเทศ ทำงานแบบเลื่อนลอย แถมทิฐิสูง ล้มเหลวทั้งเศรษฐกิจ ดับไฟใต้ ความขัดแย้งในสังคม ทุจริต ปราสาทพระวิหาร แถมทำงานแบบเกรงใจพรรคร่วม ซ้ำทำประเทศเป็นหนี้มหาศาล ท่องคาถา รบ.ไม่ได้มาจากประชาชน แต่กองทัพตั้ง รบ.นี้มากับมือ

วันนี้ (5 ก.ค.) ที่โรงแรมเรดิสัน นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย แถลงหัวข้อ “6 เดือนรัฐบาลอภิสิทธิ์ ความล้มเหลวจากที่มาและกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย” ว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในภาวะที่ต้องประสบวิกฤตทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยพบว่ารัฐบาลปัจจุบันประสบความล้มเหลวในการแก้ปัญหา 5 เรื่อง คือ 1.การแก้ปัญหาเศรษศฐกิจการ 2.แก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมและการสร้างสมานฉัน์ 3.การแก้ปัญหาภาคใต้ 4.กรณีปราสาทพระวิหาร และ 5.การทุจิรตคอร์รัปชัน ในทั้ง 5 ด้านเกิดจากที่มา และกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ที่มาของรัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้เป็นปัญหาความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล รวมทั้งรัฐบาลมาจากความขัดแย้ง และปล่อยให้ความขัดแย้งดำรงอยู่ โดยไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้

นายจาตุรนต์กล่าวว่า รัฐบาลนี้ไม่ได้มาจากประชาชนในการเลือกตั้ง จึงเป็นรัฐบาลที่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยผู้ตั้งตัวเองเป็นรัฐบาล มีความเกรงอกเกรงใจมากเป็นพิเศษจนรัฐบาลนี้ไม่อาจจะเป็นตัวของตัวเองได้ จากสภาพความขัดแย้งที่มาอย่างต่อเนื่อง ขาดคความสามารถในการบริหาร กำหนดนโยบาย การสั่งการ การประสาน ปรึกษาหารือกับผู้รับผิดชอบงานในด้านต่างๆ ดังนั้นจะเห็นผู้นำของรัฐบาลหรือคนสำคัญของรัฐบาลจะเน้นการพูด การชิงไหวชิงพริบ รวมถึงคนในรัฐบางส่วนเน้นการทำลายฝ่ายตรงข้ามมากกว่าที่จะหาทางแก้ปัญหาของบ้านเมือง

นายจาตุรนต์กล่าวว่า เรื่องแรกเรื่องของเศรษฐกิจ ที่พบว่ามีหนี้มหาศาลเกิดขึ้น ซึ่งนายกฯ ก็ปลอบใจว่ารัฐบาลจะเป็นคนใช้หนี้ ประชาชนไม่ต้องใช้ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะเอาเงินส่วนตัวมาหรืออย่างไร เศรษฐกิจมาอยู่ในสภาพอย่างนี้ รัฐบาลประเมินต่ำ ไม่พูดความจริง ไม่ทำให้คนเห็นว่า นี่คือวิกฤตเศรษฐกิจที่ร้ายแรง ในเมื่อการใช้รายจ่ายของภาครัฐมีข้อจำกัดมาก คือรายได้หายไปอย่างผิดคาด ต้องกู้หนี้ยืมสินแล้วก็ยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่ต้องไปใช้ชดเชยเงินคงคลัง ในระหว่างนั้นรัฐบาลละเลยที่จะมาให้ความสนใจกับปัญหาการส่งออก การท่องเที่ยวและราคาพืชผลเกษตร ก็คือไม่ได้สนใจการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์และของรัฐ และเอกชนอย่างเพียงพอ ไม่สามารถดูแลเงินบาทในการใช้ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ทั้งจากข้อจำกัดของกฎหมายที่ให้อำนาจอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมากไปและขาดการปรึกษาหารือ

“การแบ่งกระทรวงที่พรรคแกนนำไม่ได้ดูแลกระทรวงหลัก เหลือเพียงกระทรวงคลังกระทรวงเดียว ก็ทำให้รัฐบาลนี้ทั้งนายกฯ และรองนายกฯ ซึ่งก็กำกับกระทรวงต่างๆ ไม่ได้ ทำให้ไม่มีการกำหนดนโยบาย ไม่มีการสั่งการในทางนโยบายที่จะไปแก้ปัญหา รัฐบาลต้องสาระวนอยู่กับการพยายามแสวงหาผลประโยชน์ตามกระทรวง กับการต่รองผลประโยชน์ที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ จนกระทั่งไม่สามารถทำเรื่องใหญ่ๆร่วมกันได้ ตัวอย่าง ที่เห็นได้ชัดคือการเช่ารถ 4 พันคัน ปัญหาการจำนำข้าว ขายข้าวขาดทุน ซึ่งทำให้จนบัดดนี้รัฐบาลนี้ไม่มีนโนบายที่เป็นข้อสรุปว่านโยบายสำหรับพืชผลเกษตรจะใช้นโยบายอะไร ฉะน้นจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมราคาสินค้าเกษตรจึงมีปัญหามาก โดยไม่มีใครดูแล นอกจากนี้คือการขาดประสบการณ์ในการบริหารงาน นั่นเป็นปัญหาเศรษฐกิจ” นายจาตุรนต์ กล่าว

นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่า เรื่องที่ 2 คือ การแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม และสร้างความสมานฉันท์รัฐบาลนี้ยังไม่ได้แสดงความเข้าใจว่า ประเทศมีวิกฤตความขัดแย้งในสังคม ไม่เข้าใจว่า สังคมได้มีมีวิกฤตแตกแยกร้าวลึกกว่าที่ผ่านมา ตอนเกิดการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านรัฐบาล รัฐบาลได้เลือกที่จะใช้มาตรการทางทหารที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ โดยรัฐบาลได้ไตร่ตรองไว้ก่อน และมีการเตรียมการมาอย่างแยบยล มาตรการนั้นไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ใช้ปราบปรามประชาชนแบบผิดกฎหมาย นอกจากนั้นยังส่งเสริมการใช้กระบวนการยุติธรรมแบบ 2 มาตรฐาน ก็มีทีท่าอยู่บ้างว่าจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเมื่อมีการประชุมร่วมกันของ 2 สภา เนื่องจากมีการเสนอข้อมูลที่แตกต่างกันของรัฐบาล แต่ว่าเมื่อทำงานไประยะหนึ่งปรากฎว่ารัฐบาลไม่ได้แสดงความจริงใจ นายกฯ ไม่ได้แสดงความเห็นอะไรเท่าไหร่ พรรคประชาธิปัตย์ไม่แสดงความเห็นอะไรต่อการแก้รัฐธรรมนูญ และยังให้อดีตหัวหน้าพรรคถึง 2 คน มาแสดงความเห็นในทางไม่เห็นด้วยต่อการแก้รัฐธรรมนูญ หรือไม่เห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นต้นเหตุของปัญหา

“นอกจากนั้นในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมไม่อาจแก้ได้ เพราะบุคลิกของนักการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ทั้งนายกรัฐมนตรี โฆษกส่วนตัว หัวหน้าพรรค และบุคคลอื่นเน้นการชิงไหวชิงพริบทางการเมือง บางคนถึงขั้นเกะกะระรานรายวันหรือไม่ก็ใส่ร้ายดื้อๆ อย่างหลังสุดกรณีแผนตากสิน 2 เป็นต้น กุเรื่องขึ้น ใส่ร้ายกันดื้อๆ ใครถามก็บอกว่าผ่านตามาแล้ว อะไรผ่านก็ไม่รู้ สุดท้ายคือไม่มีจริงเลย อันนี้คือไม่มีทางที่จะสร้างความสมานฉันท์ได้ ถ้าไม่แก้ที่ตนเหตุ ที่ความไม่เป็นประชาธิปไตย หรือความไม่ยุติธรรมในประเทศนี้”

นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่า ปัญหาที่ 3 ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ ต้องยอมรับว่าน่าเป็นห่วงมาก มีความรุนแรงที่สูงขึ้น ทั้งๆ ที่ทุ่มงบประมาณไปมาก แต่กลับไม่เกิดผล แล้วก็ทั้งๆ ที่บอกว่าจะแก้ให้ได้ภายใน 99 วันที่เป็นปัญหาอย่างนี้คือ สิ่งสำคัญ รัฐบาลไม่ได้ให้เวลา รัฐบาลไม่สามารถนำกองทัพ บางเรื่องยังตกลงกับกองทัพ ผู้นำกองทัพไม่ได้ และเนื่องจากรัฐบาลต้องอยู่ในสภาพที่ต้องเกรงใจกองทัพ เพราะกองทัพเป็นคนตั้งตนเองมาเป็นรัฐบาล เลยทำให้การนำที่รัฐบาลจะมีกับกองทัพไม่สามารถทำได้ ยิ่งกว่านั้นก็คือ การแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับสูงยังไม่ได้แสดงความเข้าใจว่า การเมืองนำการทหารเลย อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่มากที่ผู้รับผิดชอบโดยตรง โดยผู้บัญชาการกองทัพบกเองเมื่อไม่เข้าใจการเมืองนำการทหารแล้ว คุยกับนายกฯก็คุยไม่ค่อยได้ด้วย ทางรัฐบลก็ไม่แสดงความเข้าใจ การเมืองนำการทหารแปลว่าอะไร การแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงไม่สำเร็จ

นายจาตุรนต์กล่าวว่า เรื่องที่ 4 คือ กรณีปราสาทพระวิหาร มาถึงวันนี้เกิดชัดเจนได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ จากรณีปราสาทพระวิหาร และอาจทำให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์มากกว่านี้มากมายเลย ปัญหาใหญ่สุด อยู่ที่นายรัฐมนตรีมีทิฐิ ไม่ยอมรับความผิดพลาดที่ได้ทำไว้ พูดไว้ ในขณะเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ก่อนมาเป็นรัฐบาล คำพูดที่ว่า ที่ดินใต้ปราสาทและที่ดินบริเวณปราสาทยังเป็นของไทย ทั้งๆ ที่ศาลโลกตัดสินไปนานแล้วว่า ปราสาทพระวิหารอยู่ภายในเขตประชาธิปไตยของกัมพูชา รัฐบาลนี้มีนายกษิต ภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ นายกษิตประกาศบนเวทีพันธมิตร จะนำปราสาทพระวิหารคืนจากกัมพูชา รวมทั้งรัฐมนตรีกษิตและพรรคประชาธิปัตย์ ไทยยังสงวนสิทธิท้วงคืนปราสาทพระวิหาร ตรงนี้เข้าใจว่ารวมถึงนายกฯ อภิสิทธิ์ด้วย ยังสงวนสิทธิทวงคืนปราสาทพระวิหาร อาจค้นพบหลักฐานใหม่ทวงคืนได้ตลอดเวลา เพราะไม่มีกำหนดอายุความตามข้อ 60 รัฐธรรมนูญศาลโลก

ซึ่งเป็นความเห็นที่ขัดแย้งกับกระทรวงการต่างประเทศ ขัดกับสภาความมั่นคงของไทยเอง เป็นความขัดแย้งกับประเทศไทยเอง แต่ที่สำคัญคือว่า ที่แสดงความเห็นเหล่านี้ไปแล้ว เมื่อมาถึงปัจจุบันเพื่อเอาชนะคะคานทางการเมืองกับนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีก็ออกมายืนยันความเห็นเดิม และทั้งหมดนายกรัฐมนตรีรัฐบาล และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีต่างประเทศปัจจุบัน ไม่ได้แสดงความยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีตเลยแม้แต่น้อย ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมจะทำให้เกิดความรู้สึกในทางไม่ดีจากฝ่ายรัฐบาลและประชาชนกัมพูชา

เรื่องที่ 5 คือเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ที่สำคัญคือปัญหาการทุจริตอคอร์รัปชัน ในปัจจุบันไม่มีการตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ เนื่องจากกติกากำหนดไว้เป็นอย่างนั้น คือมีองค์กรที่ทำหน้าที่การตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน อย่าง ป.ป.ช. สตง. แต่บุคลากร กรรมาการต่างๆที่รับผิดชอบ ล้วนมาจาก คมช.ทั้งสิ้น ซึ่งทำให้องค์กรตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ และองค์กรเหล่านี้เอียงมาทางรัฐบาลนี้อยู่แล้ว เพราะว่า มาสายเดียวกัน ก็เปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้ง่าย ดูจากกรณีที่ขัดแย้งกันอยู่ เช่น กรณีรถเมล์ 4 พันคัน ขายข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ก็น่าเป็นห่วงอยู่แล้ว พรก. 4 แสนล้านยิ่งเป็นเหมือนเช็คเปล่าให้รัฐบาล

“สรุปความล้มเหลวของรัฐบาล คือ การขาดประสบการณ์ของพรรคแกนนำ มีที่มาที่ไม่ชอบธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตย การแบ่งงานไม่สามารถแบ่งงานให้สอดคล้องกับคนที่ทำงานหรือพรรคที่ทำ แบ่งไปแล้วกลับต้องเกรงใจผู้นร่วมรัฐบาล กองทัพ จนไม่สามารถเป็นตัวของตัวเอง กิจกรรมของนายกฯ ดูเหมือนว่า การจัดคิวบทบาทมันค่อนข้างเลื่อนลอย ไม่อยู่กับเรื่องใหญ่ๆ เรื่องที่ต้องการการแก้ไขรีบด่วน ต้องการความชัดเจนในทางนโยบาย ต้องการการสั่งการ บัญชาการจากนายกฯ เมื่อไม่มีกิจกรรมแบบนี้ นานเข้าสิ่งที่พูดก็ลอยไปด้วย คือพูดแบบ ติดลบ บุคลิกของพรรคประชาธิปัตย์ที่ชอบชิงไหว ชิงพริบ เอาชนะทางการเมือง ก็เลยยิ่งกลายเป็นว่า สิ่งที่พูดลอยห่างออกจากการปฏิบัติที่เป็นจริง และบางครั้งเป็นเรื่องเอาชนะคะคานทางการเมือง ชิงไหวชิงพริบทางการเมือง เมื่อเป็นอย่างนี้ความขัดแย้งก็จะดำรงอยู่ไม่สิ้นสุด หรือจะยิ่งรุนแรงมากยิ่งขึ้น มาเริ่มต้นกันใหม่ แก้กติกาให้หมด เริ่มต้นกันใหม่ ให้ประชาชนตัดสิน หารัฐบาลที่ชอบธรรม หารัฐบาลที่มีความชอบธรรมในการบริหาร ถ้าไม่รีบทำอย่างนี้ปัญหาจะร้ายแรงมากขึ้น และผู้ที่เกิดความเสียหายไม่ใช่ใครอื่น ก็คือประชาชนทั้งประเทศ” นายจาตุรนต์ กล่าว

นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่า ประเด็นสุดท้ายไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นเรื่องที่ประชาชนทั้งประเทศวิตก เนื่องจากรัฐบาลไม่ให้ข้อมูลชัดเจนปิดบังอยู่ ไม่มีการสรุปสถิติว่า ติดเชื้อจากอะไร เกิดจากพฤติกรรมอย่างไรจึงติดโรค ประเทศต่างๆ เป็นอย่างไร ประเทศไทยเป็นอย่างไร นาทีนี้ทำไมไม่ใช้ทีวีพูลอย่างจริงจัง คนจะได้ลดความหวาดกลัว ขณะเดียวกันจะได้ไม่ประมาทนายกฯ มีหน้าที่พูดเพียงว่าตายยังไม่มาก ถ้ามากก็ยังไม่เท่าประเทศอื่น ทั้งนี้นายกต้องเรียกประชุมชี้แจงให้เป็นระบบ เชื่อว่าประชาชนไม่ต้องการคำปลอบใจว่ายังไม่รุนแรง
กำลังโหลดความคิดเห็น