xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ภัยการเมืองพาณิชยาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - อดีตผู้นำ 14 ตุลาฯ เตือนผู้มีอำนาจเลิกคิดจัดระเบียบ การปกครองแบบเก่าด้วยวิธีการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง เพราะจะแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ในโลกยุคใหม่ แนะควรทำรัฐไทยให้มีฐานะเป็นผู้จัดการสาขาของระบบทุนนิยมโลกมากขึ้น เชื่อไม่ช้าก็เร็วจะต้องมีการจัดระเบียบอำนาจกันใหม่ ให้ประชาสังคมสามารถกำกับรัฐ และชุมชนท้องถิ่นมีอำนาจกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง บัญญัติ ระบุการเมืองยุคปัจจุบันเป็นประเทภ พาณิชยาธิปไตย ด้าน จาตุรนต์ แผ่นเสียงตกร่องอัด รธน. 50 ไม่เป็นกลาง เลือกปฏิบัติ ผาสุก เผย การเมืองไทยมีทิศทางดีขึ้น จากที่ รธน.มีบทลงโทษนักการเมืองทุจริต

ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วานนี้ (24 มิ.ย.) มีการจัดสัมมนาหัวข้อ 70ปีสยามเป็นไทย-ย้อนเวลาสู่อนาคต 24 มิถุนายน 2482-2552 โดยมี นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปาฐกถานำเรื่อง พัฒนาการของรัฐชาติ กับความขัดแย้งภายในของชาวสยาม
นายเสกสรรค์ กล่าวตอนหนึ่งว่า กาที่สยามได้ยกเลิกความสัมพันธ์ทางอำนาจ แบบจารีต หรือแปรรูปเป็นรัฐสมัยใหม ด้วยการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางมาตั้งแต่ต้น นับเป็นเงื่อนไขเชิงโครงสร้างที่มีผลอย่างใหญ่หลวงต่อการจัดระเบียบการเมืองการปกครองต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
ประการแรก ทำให้ประเทศไทยขาดรากฐานการปกครองตนเองแบบสมัยใหม่ในระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแรงและทำงานได้ เหมือนดังในสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตก ประการต่อมา การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางอย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้พัฒนาการของการเมืองไทยสมัยใหม่ เต็มไปด้วยการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจในส่วนกลางอย่างเลี่ยงไม่พ้น ตลอดเวลา 70 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำกลุ่มต่าง ๆ ที่ต้องการยึดกุมฐานะนำในศูนย์อำนาจ มีสภาพเข้มข้นรุนแรงไม่ขาดระยะ
ประการที่สาม เมื่ออำนาจรวมศูนย์ ปัญหาก็รวมศูนย์ กลไกแก้ไขปัญหาในระดับล่าง ค่อนข้างอ่อนแอ ทำให้รัฐบาลทุกรัฐบาล ไม่ว่าอยู่ในระบอบไหน ล้วนต้องเผชิญกับสภาวะข้อเรียกร้องท่วมท้น จากทุกภาคส่วนของสังคม ทำให้ขาดประสิทธิภาพ และเสถียรภาพในการทำงาน ซึ่งการวางฐานะรัฐไว้เหนือชาติ แบบผู้ใหญ่ปกครองเด็กก็ดี ย่อมก่อให้เกิดสภาพหนึ่งที่รัฐไทยคุมไม่ได้
นายเสกสรรค์ กล่าวว่า จากที่รัฐอยากให้สงบเสงี่ยมอยู่ในโอวาท จึงเริ่มเปลี่ยน เป็นเด็กงอแงมากขึ้นเรื่อย ๆ การที่รัฐไทยทำให้ชาติไทยเป็นบุตรบุญธรรมของตนมาตั้งแต่แรก เป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้ทุกวันนี้ ประชาชนคนไทยหลายหมู่เหล่า ทำตัวเหมือนเด็กที่เอาแต่ใจ ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ และก็อ่อนแอ และขาดวุฒิภาวะที่จะรับผิดชอบตัวเอง

แนะเลิกคิดแบบเก่าในการปฏิรูป
นายเสกสรรค์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าวิตกอย่างยิ่ง คือ ทุกวันนี้ บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับศูนย์อำนาจ ยังคงพยายามจัดระเบียบการปกครองตามกรอบความคิดเก่าๆ อยู่ตลอด ทั้งที่สถานการณ์ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทั้งระบบอำนาจนิยมนอกเครื่องแบบ และระบอบประชาธิปไตย ที่อาศัยอำนาจรัฐแบบแนวดิ่ง ต่างก็ล้มเหลวในการดูแลบ้านเมือง ซึ่งทางออกยังพอมีอยู่บ้าง ถ้าเราเปลี่ยนมุมมอง ความสัมพันธ์ทางอำนาจให้ทันเวลา
หมายถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ต้องเปลี่ยนการจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางอำนาจ หรือที่ชอบเรียกกันว่าการปฏิรูปทางการเมือง โดยไม่ควรจำกัดอยู่แค่การปรับพื้นที่กัน ระหว่างชนชั้นนำกลุ่มต่าง ๆ แต่ต้องเปิดพื้นที่ ให้การเมืองภาคประชาชน อันประกอบด้วยประชาธิปไตยทางตรง ของชุมชนรากหญ้า และบทบาทการตรวจสอบของภาคประชาสังคมในเมืองมากขึ้น เพื่อรองรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงในระดับรัฐ ที่ถูกผูกมัดไว้กับอิทธิพลไร้พรมแดนอย่างหนึ่ง และเพื่อป้องกันตัวจากแรงอัดกระแทกของทุนนิยมข้ามชาติ
นอกจากนี้ ยังต้องลดความสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ อำนาจลงบ้าง และหันมาให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องการพัฒนาแบบทางเลือก ของชุมชุนท้องถิ่นมากขึ้น ส่วนรัฐจะต้องเลิกวางแผนหากำไร ให้คนส่วนน้อยในนาม คนทั้งชาติ รวมทั้งต้องตระหนักว่า การใช้อำนาจของรัฐชาติขับเคลื่อน การเติบโตแบบ ทุนนิยมอย่างไม่หยุดยั้ง นับเป็นการใช้อำนาจ ทำร้ายพลเมืองส่วนใหญ่ อย่างรุนแรงที่สุด

อำนาจรัฐรวมศูนย์แก้ปัญหาไม่ได้
นายเสกสรรค์ กล่าวว่า ขณะนี้ รัฐไทยมีฐานะเป็นผู้จัดการสาขาของระบบทุนนิยมโลกมากขึ้น และมีลักษณะชาติน้อยลง อำนาจรัฐที่รวมศูนย์ไว้อย่าง เต็มเปี่ยมจะยิ่งแก้ปัญหาภายในประเทศไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ช้าหรือเร็วจะต้องมีการจัดระเบียบอำนาจกันใหม่ ให้ประชาสังคมสามารถกำกับรัฐ และชุมชนท้องถิ่น มีอำนาจกำหนดวิถีชีวิตของตน ซึ่งในสภาพเช่นนี้ ถ้าใครขืนใช้ชุดความคิดและและวาทกรรมเก่า ๆ มากดดันผู้คน บ้านเมืองก็คงเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ที่หาข้อยุติไม่ได้
นายเสกสรรค์ เห็นว่า มีแต่ต้องแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับความจริงที่เปลี่ยนไป จึงจะอยู่รวมกันได้อย่างสงบสุข แม้คนไทยยุคหลังสมัยใหม่ อาจจะกลับไปคล้าย ชาวสยามในอดีต คืออัตลักษณ์ที่ผิดแผกแตกต่างกันทั้งประเทศ แต่ก็คงสามารถ อยู่ร่วมกันได้ ถ้าพื้นที่ทางการเมือง ถูกจัดสรรไว้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

บัญญัติชี้ปัญหาการเมืองคือทุจริต
ในช่วงบ่ายมีการอภิปรายหัวข้อ การเมืองสยามประเทศไทย เราจะไปทางไหนกัน มี ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เป็นผู้ดำเนินรายการ ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วม อภิปรายมี นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.สัดส่วนและสมาชิกสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายคำสิงห์ ศรีนอก หรือ ลาวคำหอม
นายบัญญัติ กล่าวว่าหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมา 77 ปี ถ้าดูเหตุการณ์ ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าประเทศไทยยังคงล่าช้าไป ตนเห็นว่าประเทศเราใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นเหมาะสมแล้ว แต่เราจำเป็น ต้องเน้นน้ำหนักไปที่การเมืองการปกครองที่ปราศจากการทุจริตคอรัปชั่นให้มากขึ้นด้วย
ตั้งแต่ผมอยู่ในแวดวงการเมืองมา 30 ปี ปัญหาที่พบเจอมากที่สุดของประเทศเราคือการทุจริตคอรัปชั่น และยังคงที่จะมีความหนักหนาขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี แต่ก่อนมีการกินค่าคอมมิสชั่นของนักการเมืองจะมีการทุจริตก็มีบ้างเหมือนกันแต่จะเป็นแค่เล็กๆน้อยๆ 2-3 % แต่ในยุคปัจจุบันมีการหักค่าหัวคิวให้นักการเมืองกว่า 20-30 % ในสมัยผมที่ผมลงสมัครเป็นผู้แทนฯ ซึ่งสมัยนั้นมีค่านิยมส่วนหนึ่งที่ผมเห็นว่า ควรจะมีอยู่ในสังคมไทยคือ การที่นักการเมืองอยากอุทิศตัวเข้ามาเป็นตัวแทนของประชาชน และที่เห็นได้ชัดคือภาพลักษณ์ของนักการเมืองสมัยที่ผมเป็นส.ส.แรกๆ ไม่ได้อวดฐานะให้ดูใหญ่โตภูมิฐานเหมือนในสมัยนี้ ยังคงติดภาพลักษณ์ที่ดูเหมือน ประชาชนคนธรรมดา ที่ดูเหมือนว่าจะอวดจนกันเสียด้วยซ้ำในสมัยก่อน

การเมืองเข้าสู่ยุคพาณิชยาธิปไตย
นายบัญญัติ กล่าวว่า ประเทศไทยซึ่งใช้หลักการปกครองคือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น เท่าที่สังเกตในช่วง 10 ปีเศษที่ผ่านมาเปลี่ยนไปจากหลักดั่งเดิมมาก อาจเรียกได้ว่า พาณิชยาธิปไตยเสียมากกว่า นักการเมืองมิได้เข้ามาเป็นตัวแทนของประชาชนในการการปกครองบ้านเมือง แต่เป็นไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง เห็นได้ชัดว่านักการเมืองในช่วงหลังจะมีพวกนักธุรกิจผันตัวเองไหลมาสู่ถนนการเมือง แต่ลืมไปว่าตนเองเคยเป็นนักธุรกิจมาก่อนและต้องเปลี่ยนหน้าที่มาเป็นตัวแทนของประชาชนในการบริหารบ้านเมือง ซึ่งเข้ามาลงสนามการเมืองแล้วไม่ได้ถอดวิญญาณของพ่อค้าออกไปด้วย ตรงนี้เองที่ตนคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยและมีทีท่าว่าจะบานปลายต่อไป
คิดว่าสังคมไทยตอนนี้กำลังมีการสร้างค่านิยมที่ผิดมหันต์อยู่และกำลังจะไปไกลกว่าเดิมนั้นก็คือ การที่ประชาชนมีค่านิยมว่านักการเมืองนั้นโกงกินได้ แต่ขอให้มีผลงานเป็นพอ ผมคิดว่าเป็นทัศนคติที่บั่นทอนต่อการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งผมเห็นว่าจุดนี้เองที่ทำให้บ้านเมืองเราไม่พัฒนาไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายบัญญัติ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้การเมืองไทยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ในประเทศไทยไม่ก้าวไปข้างหน้าที่เท่าควรส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดรัฐประหารอยู่บ่อยครั้ง ส่วนตัวคงไม่เห็นด้วยที่จะใช้วิธีการรัฐประหารเป็นคำตอบสุดท้าย ในการแก้ปัญหาการเมือง ซึ่งเหตุผลที่ถูกอ้างทุกครั้งของการรัฐประหารก็คือ การทุจริตคอรัปชั่น ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องแก้ไขที่ต้นเหตุคือปัญหาการโกงกินบ้านเมือง ของนักการเมืองที่เข้ามาใช้อำนาจเอื้อผลประโยชน์ให้ตนเอง ถ้าแก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้คณะบุคคลใดที่จะทำการล้มรัฐบาลโดยการรัฐประหารแบบเดิมคงทำไม่ได้ง่ายเนื่องจากไม่มีเหตุผลที่จะกระทำการดังกล่าว
อย่างไรก็ตามเท่าที่สังเกตการเมืองไทยในช่วงปี 2535 เป็นต้นมาก็พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวประเทศไทยเกิดรัฐประหารแค่ครั้งเดียวคือ ปี 2549 ถ้านับรวมกับเวลา 77 ปีของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งโดยสรุปแล้วคิดว่าการเมืองไทยจะเดินไปข้างหน้าได้ อย่างสวยงามและมีประสิทธิภาพถ้าแก้ไขปัญหาในส่วนของการคอรัปชั่นให้หมดไป

จาตุรนต์เหมือนเดิมถล่มรธน.50
ด้าน นายจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงมีความเป็นประชาธิปไตยน้อยมาก เหตุเพราะว่าห้วงเวลาที่ผ่านมาของการเมืองไทยมีการเกิดรัฐประหารบ่อยครั้งเกินไป รวมไปถึงการที่คณะบุคคลที่ทำการรัฐประหารเสร็จก็มิได้ลงจาก อำนาจที่ได้ยึดมาแต่ประการใด ตรงจุดนี้เองช่วงเวลาประวัติศาสตร์การเมืองไทย จึงอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการรวมอยู่ด้วยเสียส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตามถึงแม้ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยอย่างที่ว่ากันก็เป็นเพียง แค่ครึ่งใบเท่านั้น เห็นได้ชัดเจนคือช่วงปี 2523-2531 แสดงให้เห็นว่าสังคมไทย ไม่ได้ยึดหลักการของรัฐธรรมนูญนิยมและนิติรัฐซึ่งเป็นหลักสำคัญสูงสุดของประชาธิปไตย ซึ่งสังคมไม่ได้เข้าใจว่าประชาชนจำเป็นต้องยึดถือกฎหมายสูงสุดของประเทศคือรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างจากเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2549 คนบางกลุ่ม ได้ใช้อำนาจรัฐซึ่งเป็นกระบวนการพิเศษหลังการรัฐประหาร คือการเขียนรัฐธรรมนูญปี 2550 ขึ้นมา โดยเขียนให้องค์กรบางองค์กรล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งประเทศอื่นไม่มีการเขียนรัฐธรรมนูญในลักษณะอย่างประเทศเราคือ มีคนในพรรคการเมืองกระทำผิดแค่คนเดียวแต่คนอื่นที่มิได้กระทำความผิดด้วย ต้องมารับผลอย่างกรณียุบพรรคไทยรักไทย เป็นต้น
ประเทศไทยขณะนี้ที่มีปัญหาใหญ่คือไม่มีองค์กรที่เป็นกลางจริง และองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่ตรวจสอบเรื่องต่างๆ อย่างคณะกรรมการป้องกันและปรามปราบการทุจริต คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรืออื่นๆอีก ก็ตั้งมาโดยคณะบุคคลที่ทำการยึดอำนาจ ที่ได้มีแผนบันได 4 ขั้น อย่างที่วางแผนกันไว้ว่าจะล้มพรรคการเมืองพรรคบางพรรค รวมไปถึงยังเลือกปฏิบัติด้วยการที่จะเลือกเรื่องของใครขึ้นมาพิจารณาก็ได้ แสดงว่าไม่ได้เป็นองค์กรอิสระจริงอีกทั้งยังไม่ยอมออกจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ด้วย ตรงนี้เห็นว่าถ้าองค์กรยังคงฝักใฝ่อยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และไม่มีความเป็นอิสระจริง ทั้งที่รัฐธรรมนูญก็ระบุไว้ให้มีกระบวนการในการสรรหาอยู่แล้ว ดังนั้นประเทศไทยต้องเข้าใจความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงให้มากกว่าที่เป็นอยู่ และเห็นว่าประเทศไทยตอนนี้ยังคงสุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรงอยู่ตอนนี้จึงต้องสร้างกติกาให้เป็นประชาธิปไตยเสียก่อน สังคมจึงจะเป็นประชาธิปไตยขึ้นได้

รธน.มีบทลงโทษนักการเมืองมาถูกทาง
ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร กล่าวว่าเท่าที่สังเกตการเมืองไทยที่ได้ใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มานั้นปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นเป็นไปในทางที่ดีขึ้น มีการตรวจตรานักการเมืองที่คอรัปชั่นเข้มข้นกว่าที่ผ่านมา อาทิการแสดงบัญชีทรัพย์สินของนักการเมือง และในเชิงประจักษ์ก็มีนักการเมืองหลายคนถูกลงโทษและถูกตัดสินทางการเมืองและถูกจำคุก จึงเห็นได้ว่าหากปล่อยให้การเมืองในปัจจุบันเดินต่อไปข้างหน้าอย่างปกติโดยไม่มีการแทรกซ้อนของการรัฐประหารเกิดขึ้นจะเป็นเรื่องที่ดีของการก้าวไปข้างหน้าของการเมืองไทย
ศ.ดร.ผาสุก กล่าวว่าถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตนคิดว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ก็มีส่วนที่ดีคือหลังจากการรัฐประหารปี 2549 เงินส่วนงบประมาณเพิ่มขึ้นมากกว่าก่อนการรัฐประหาร แต่ถึงอย่างไรตนก็เห็นว่าการแก้ไขปัญหาทางการเมืองของไทยนั้นไม่ควรจะถูกแก้ด้วยการรัฐประหารเพราะเป็นตัวทำลายร้ายแรงที่ทำลายประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าคณะบุคคลที่ทำการรัฐประหารจะอ้างว่ารัฐบาลคอรัปชั่นตนก็ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นวิธีที่ไม่ได้เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและประเทศไทยเราควรจะยึดมั่นการแก้ไขการเมืองด้วยระบบการเมืองคือ ในกรอบของรัฐสภามากกว่า
อย่างการเกิดรัฐประหารเมื่อปี 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อย แห่งชาติ หรือการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อปี 2549 ส่วนตัวก็เห็นว่าไม่ใช่ทางออก ที่แท้จริง ถึงจะทำการล้มล้างรัฐบาลที่คอรัปชั่นแล้วก็ตาม แต่ปัญหาที่แท้จริงคือ การทุจริตไม่ได้หมดไป และประเทศไทยควรจะมีการแก้ไขปัญหาอีกหลายส่วน อาทิความเสมอภาพภายใต้กฎหมาย ความเหลื่อมล้ำในเรื่องรายได้ของคนในสังคม ส่วนนี้ก็มีความจำเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างให้สังคมไทยมีประชาธิปไตยที่แข็งแรงขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น