วงเสวนา “70 ปีสยามเป็นไทย” คึกคัก “บัญญัติ” ชี้คอร์รัปชันคืออุปสรรคประชาธิปไตยไทย จวกนักธุรกิจเข้ามาเล่นการเมืองโดยลืมถอดวิญญาณพ่อค้า จนค่าหัวคิวเบ่งบาน ยอมรับรัฐประหารทำ ปชต.พัฒนาช้า แต่ต้นตอที่แท้จริงคือนักการเมืองทุจริต ด้าน “จาตุรนต์” ฉวยโอกาสระบายแค้น โทษ 19 ก.ย.ต้นตอปัญหา ส่วน “ดร.ผาสุก” ชี้ รธน.มีบทลงโทษนักการเมืองขี้โกงมาถูกทางแล้ว แต่ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ
ในงานสัมมนา “70 ปี สยามเป็นไทย-ย้อนเวลาสู่อนาคต 24 มิถุนายน 2482-2552” ที่หอประชุมศรีบูรพา (หอเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษายุค 14 ตุลา และอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ปาฐกถาในหัวข้อ “พัฒนาการของรัฐชาติกับความขัดแย้งภายในของชาวสยาม” ตอนหนึ่งว่า สถานการณ์ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าระบบอำนาจนิยมนอกเครื่องแบบและระบอบประชาธิปไตยต่างก็ล้มเหลวในการดูแลบ้านเมือง
สิ่งที่น่าวิตกอย่างยิ่ง คือ ทุกวันนี้บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับศูนย์อำนาจ ยังคงพยายามจัดระเบียบการปกครองตามกรอบความคิดเก่าๆ อยู่ตลอด ทั้งนี้ ทางออกยังพอมีอยู่บ้าง หากเราจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางอำนาจหรือที่เรียกกันว่า การปฏิรูปทางการเมืองให้ทันเวลา นั่นคือต้องเปิดพื้นที่ให้การเมืองภาคประชาชน อันประกอบด้วย ประชาธิปไตยทางตรงของชุมชนรากหญ้า นอกจากนี้จะต้องลดความสำคัญของการขับเคลื่อน แบบรวมศูนย์อำนาจลงบ้าง และหันมาให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจเรื่องการพัฒนาแบบทางเลือก โดยให้ชุมชุนท้องถิ่นมากขึ้น รัฐจะต้องเลิกหากำไรให้คนส่วนน้อย ในนามคนทั้งชาติ
ดร.เสกสรรค์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้รัฐไทยมีฐานะเป็นผู้จัดการสาขาของระบบทุนนิยมโลกมากขึ้น การที่รวมศูนย์อำนาจรัฐไว้ที่รัฐมากก็จะยิ่งแก้ปัญหาภายในประเทศไม่ได้ ทั้งนี้ การแก้ปัญหาจะต้องสอดคล้องกับความจริงที่เปลี่ยนไป
ต่อมาในช่วงเวลา 13.30-15.00 น.มีการอภิปรายในหัวข้อ “การเมืองสยามประเทศไทย เราจะไปทางไหนกัน” ซึ่งมี ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เป็นผู้ดำเนินรายการ มีผู้เข้าร่วมอภิปราย อาทิ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.สัดส่วนและสมาชิกสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากคดียุบพรรค ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย นายคำสิงห์ ศรีนอก หรือลาว คำหอม ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์
นายบัญญัติกล่าวว่า หากย้อนไปดูการปกครองของประเทศไทยปี พ.ศ.2475 ที่ใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น เท่าที่ดูเหตุการณ์ต่างๆ ของบ้านเมืองจนถึงปัจจุบันคิดว่าประเทศไทยก็จำเป็นต้องใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตยต่อไป อย่างไรก็ตามหลังจากที่ประชาธิปไตยไทยได้ผ่านมาถึง 77 ปีแล้ว แต่ยังดูเหมือนว่าประเทศไทยยังล่าช้าไป ตนเห็นว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นเหมาะสมแล้ว แต่เราจำเป็นต้องให้น้ำหนักไปที่การเมืองการปกครองที่ปราศจากการทุจริตคอรัปชั่นให้มากขึ้นด้วย
“ตั้งแต่ผมอยู่ในแวดวงการเมืองมา 30 ปี และได้ติดตามการเมืองมาอย่างโดยตลอดนั้น ปัญหาที่พบเจอมากที่สุดของประเทศเราคือการทุจริตคอร์รัปชัน และยังคงที่จะมีความหนักหนาขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี แต่ก่อนการกินค่าคอมมิชชั่นของนักการเมืองก็มีบ้างแต่จะเป็นแค่เล็กๆ น้อยๆ 2-3 เปอร์เซ็นต์ แต่ในยุคปัจจุบันมีการหักค่าหัวคิวให้นักการเมืองกว่า 20-30 เปอร์เซ็นต์ ในสมัยผมที่ผมลงสมัครเป็นผู้แทนราษฎรซึ่งสมัยนั้นมีค่านิยมส่วนหนึ่งที่ผมเห็นว่าควรจะมีอยู่ในสังคมไทย คือ การที่นักการเมืองอยากอุทิศตัวเข้ามาเป็นตัวแทนของประชาชน และที่เห็นได้ชัดคือภาพลักษณ์ของนักการเมืองสมัยที่ผมเป็น ส.ส.แรกๆ ไม่ได้มีการอวดฐานะให้ดูใหญ่โตภูมิฐานเหมือนในสมัยนี้ ยังคงติดภาพลักษณ์ที่ดูเหมือนประชาชนคนธรรมดา ที่ดูเหมือนว่าจะอวดจนกันเสียด้วยซ้ำในสมัยก่อน” นายบัญญัติ กล่าว
นายบัญญัติกล่าวต่อว่า ประเทศไทยซึ่งใช้หลักการปกครองคือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น แต่เท่าที่สังเกตการเมืองไทยในช่วง 10 ปีเศษที่ผ่านมาเปลี่ยนไปจากหลักดั้งเดิมมาก อาจเรียกได้ว่า พาณิชยาธิปไตย เสียมากกว่า กล่าวคือ การที่นักการเมืองมิได้เข้ามาเป็นตัวแทนของประชาชนในการการปกครองบ้านเมือง แต่เป็นไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง เห็นได้ชัดว่านักการเมืองในช่วงหลังจะมีพวกนักธุรกิจผันตัวเองไหลมาสู่ถนนการเมือง แต่ลืมไปว่าตนเองเคยเป็นนักธุรกิจมาก่อนและต้องเปลี่ยนหน้าที่มาเป็นตัวแทนของประชาชนในการบริหารบ้านเมือง ซึ่งเข้ามาลงสนามการเมืองแล้วไม่ได้ถอดวิญญาณของพ่อค้าออกไปด้วย ตรงนี้เองที่ตนคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยและมีทีท่าว่าจะบานปลายต่อไป
“คิดว่าสังคมไทยตอนนี้กำลังมีการสร้างค่านิยมที่ผิดมหันต์อยู่และกำลังจะไปไกลกว่าเดิมนั้นก็คือ การที่ประชาชนมีค่านิยมว่านักการเมืองนั้นโกงกินได้แต่ขอให้มีผลงานเป็นพอ ผมคิดว่าเป็นทัศนคติที่บั่นทอนต่อการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งผมเห็นว่าจุดนี้เองที่ทำให้บ้านเมืองเราไม่พัฒนาไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายบัญญัติ กล่าว
นายบัญญัติกล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้การเมืองไทยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาในประเทศไทยไม่ก้าวไปข้างหน้าเท่าที่ควร ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดรัฐประหารอยู่บ่อยครั้ง ส่วนตัวคงไม่เห็นด้วยที่จะใช้วิธีการรัฐประหารเป็นคำตอบสุดท้ายในการแก้ปัญหาการเมือง ซึ่งเหตุผลที่ถูกอ้างทุกครั้งของการรัฐประหารก็คือการทุจริตคอร์รัปชัน ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องแก้ไขที่ต้นเหตุคือปัญหาการโกงกินบ้านเมืองของนักการเมืองที่เข้ามาใช้อำนาจเอื้อผลประโยชน์ให้ตนเอง ถ้าแก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้คณะบุคคลใดที่จะทำการล้มรัฐบาลโดยการรัฐประหารแบบเดิมคงทำไม่ได้ง่ายเนื่องจากไม่มีเหตุผลที่จะกระทำการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เท่าที่สังเกตการเมืองไทยในช่วงปี 2535 เป็นต้นมาก็พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวประเทศไทยเกิดรัฐประหารแค่ครั้งเดียวคือ ปี 2549 ถ้านับรวมกับเวลา 77 ปีของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งโดยสรุปแล้วคิดว่าการเมืองไทยจะเดินไปข้างหน้าได้อย่างสวยงามและมีประสิทธิภาพถ้าแก้ไขปัญหาในส่วนของการคอร์รัปชันให้หมดไป
ด้าน นายจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวว่า คำถามที่ว่าการเมืองสยามประเทศไทยจะเดินไปทางไหน เราต้องมาถามย้อนกลับว่าประเทศไทยเรามีความเป็นประชาธิปไตยที่เราถือว่าประเทศได้ใช้หลักนี้ในการปกครองมากน้อยแค่ไหน ซึ่งตนเห็นว่าประเทศไทยยังคงมีความเป็นประชาธิปไตยน้อยมาก เหตุเพราะว่าห้วงเวลาที่ผ่านมาของการเมืองไทยมีการเกิดรัฐประหารบ่อยครั้งเกินไป รวมไปถึงการที่คณะบุคคลที่ทำการรัฐประหารเสร็จก็มิได้ลงจากอำนาจที่ได้ยึดมาแต่ประการใด ตรงจุดนี้เองช่วงเวลาประวัติศาสตร์การเมืองไทยจึงอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการรวมอยู่ด้วยเสียส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยอย่างที่ว่ากันก็เป็นเพียงแค่ครึ่งใบเท่านั้น เห็นได้ชัดเจนคือช่วงปี 2523-2531 แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยไม่ได้ยึดหลักการของรัฐธรรมนูญนิยมและนิติรัฐซึ่งเป็นหลักสำคัญสูงสุดของประชาธิปไตย ซึ่งสังคมไม่ได้เข้าใจว่าประชาชนจำเป็นต้องยึดถือกฎหมายสูงสุดของประเทศคือรัฐธรรมนูญ
นายจาตุรนต์อ้างว่า เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2549 คนบางกลุ่มได้ใช้อำนาจรัฐซึ่งเป็นกระบวนการพิเศษหลังการรัฐประหาร คือการเขียนรัฐธรรมนูญปี 2550 ขึ้นมา โดยเขียนให้องค์กรบางองค์กรล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งประเทศอื่นไม่มีการเขียนรัฐธรรมนูญในลักษณะอย่างประเทศเรา คือมีคนในพรรคการเมืองกระทำผิดแค่คนเดียวแต่คนอื่นที่มิได้กระทำความผิดด้วยต้องมารับผลอย่างกรณียุบพรรคไทยรักไทย เป็นต้น
“ประเทศไทยขณะนี้ที่มีปัญหาใหญ่ คือ ไม่มีองค์กรที่เป็นกลางจริง และองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่ตรวจสอบเรื่องต่างๆ อย่างคณะกรรมการป้องกันและปรามปราบการทุจริต คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรืออื่นๆ อีก ก็ตั้งมาโดยคณะบุคคลที่ทำการยึดอำนาจ ที่ได้มีแผนบันได 4 ขั้น อย่างที่วางแผนกันไว้ว่าจะล้มพรรคการเมืองพรรคบางพรรค รวมไปถึงยังเลือกปฏิบัติด้วยการที่จะเลือกเรื่องของใครขึ้นมาพิจารณาก็ได้ แสดงว่าไม่ได้เป็นองค์กรอิสระจริงอีกทั้งยังไม่ยอมออกจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ด้วย ตรงนี้เห็นว่าถ้าองค์กรยังคงฝักใฝ่อยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และไม่มีความเป็นอิสระจริง ทั้งที่รัฐธรรมนูญก็ระบุไว้ให้มีกระบวนการในการสรรหาอยู่แล้ว ดังนั้น ประเทศไทยต้องเข้าใจความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงให้มากกว่าที่เป็นอยู่ และเห็นว่าประเทศไทยตอนนี้ยังคงสุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรงอยู่ตอนนี้จึงต้องสร้างกติกาให้เป็นประชาธิปไตยเสียก่อน สังคมจึงจะเป็นประชาธิปไตยขึ้นได้” นายจาตุรนต์ กล่าวอ้าง
ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เท่าที่สังเกตการเมืองไทยที่ได้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มานั้นปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นไปในทางที่ดีขึ้น มีการตรวจตรานักการเมืองที่คอร์รัปชั่นเข้มข้นกว่าที่ผ่านมา อาทิ การแสดงบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองและในเชิงประจักษ์ก็มีนักการเมืองหลายคนถูกลงโทษและถูกตัดสินทางการเมืองและถูกจำคุก จึงเห็นได้ว่าหากปล่อยให้การเมืองในปัจจุบันเดินต่อไปข้างหน้าอย่างปกติโดยไม่มีการแทรกซ้อนของการรัฐประหารเกิดขึ้นจะเป็นเรื่องที่ดีของการก้าวไปข้างหน้าของการเมืองไทย ถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตนคิดว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ก็มีส่วนที่ดีคือหลังจากการรัฐประหารปี 2549 เงินส่วนงบประมาณเพิ่มขึ้นมากกว่าก่อนการรัฐประหาร แต่ถึงอย่างไรตนก็เห็นว่าการแก้ไขปัญหาทางการเมืองของไทยนั้นไม่ควรจะถูกแก้ด้วยการรัฐประหารเพราะเป็นตัวทำลายร้ายแรงที่ทำลายประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าคณะบุคคลที่ทำการรัฐประหารจะอ้างว่ารัฐบาลคอร์รัปชันตนก็ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นวิธีที่ไม่ได้เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและประเทศไทยเราควรจะยึดมั่นการแก้ไขการเมืองด้วยระบบการเมืองคือในกรอบของรัฐสภามากกว่า
“อย่างการเกิดรัฐประหารเมื่อปี 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อปี 2549 ส่วนตัวก็เห็นว่าไม่ใช่ทางออกที่แท้จริง ถึงจะทำการล้มล้างรัฐบาลที่คอร์รัปชันแล้วก็ตาม แต่ปัญหาที่แท้จริงคือการทุจริตไม่ได้หมดไป และประเทศไทยควรจะมีการแก้ไขปัญหาอีกหลายส่วนอาทิความเสมอภาพภายใต้กฎหมาย ความเหลื่อมล้ำในเรื่องรายได้ของคนในสังคม ส่วนนี้ก็มีความจำเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างให้สังคมไทยมีประชาธิปไตยที่แข็งแรงขึ้น” ศ.ดร.ผาสุก กล่าว