“สดศรี” ชี้สำนวน ส.ส.ทั้ง 2 คณะมีสิทธิส่งให้ที่ปรึกษา กม.พิจารณาก่อน กกต.ลงมติ ระบุเป็นอนุฯ ไม่มีอำนาจมาตีความข้อกฎหมาย ควรหาข้อเท็จจริงให้ได้ก่อนที่จะมาดูข้อกฎหมาย ลั่นไม่ได้มาติดคุกด้วย เตรียมเร่งเจ้าหน้าที่ทำเรื่องส่งประธาน ส.ว.โดยเร็วที่สุด หวังให้ประธาน ส.ว.ยื่นศาล รธน.พิจารณาโดยเร็ว
วันนี้ (29 มิ.ย.) ที่สำนักงานคณะกรมการการเลือกตั้ง นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงการตรวจสอบการถือครองหุ้นของ ส.ส. ที่มีข่าวว่า คณะอนุกรรมการเห็นควรยกคำร้องทั้งสองชุดว่า กรณีนี้ก็เหมือนกรณีของ ส.ว.ที่อนุกรรมการมีเสียงแตก กกต. จึงเห็นว่าเป็นข้อกฎหมาย และมีมติเสนอให้ที่ปรึกษากฎหมายซึ่งเป็นคนนอกและมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ อดีต ส.ส.ร.ที่เข้าไปมีส่วนร่วมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็รู้เจตนารมณ์ขอ ม.48 และ ม.265 เป็นอย่างดี ซึ่งก็ชัดเจนออกมาแล้ว ดังนั้น คณะอนุกรรมการฯ ต้องยึดการพิจารณาของคณะที่ปรึกษากฎหมายของ กกต. การพิจารณา ส.ส.ทั้งสองชุดหากอนุกรรมการฯ เห็นควรยกคำร้อง เบื้องต้นตนก็หารือกับประธาน กกต.แล้วด้วยเช่นกันว่าเราอาจจะต้องส่งให้กับที่ปรึกษากฎหมายพิจารณาก่อน ที่จะมีการลงมติ สำหรับเรื่องของ 28 ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์นั้น คาดว่าพรุ่งนี้ (30 มิ.ย.) ประธาน กกต.น่าจะเปิดซองในที่ประชุม ซึ่ง กกต.ก็ต้องดูว่าอนุกรรมการฯได้ดำเนินการมาอย่างไรเหมือนกับชุดที่แล้วหรือไม่
“เรื่องนี้เป็นเรื่องชี้เป็นชี้ตายของ ส.ส. อีกทั้งคนติดคุกไม่ใช่ใครหากเป็น กกต.ทั้ง 4 คน คณะอนุกรรมการฯหรือที่ปรึกษา อนุกรรมการฯหรือฝ่ายที่ปรึกษากฎหมาย ไม่ได้มีส่วนผูกพันในเรื่องนี้เลย ไม่ได้มาติดคุกด้วย การทำอะไรต้องให้รอบคอบชัดเจนมากที่สุดก่อน เพื่อให้ถือว่าเราทำหน้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย ก่อนที่จะใช้ดุลพินิจในการตีความข้อกฎหมาย เพราะการพิจารณาของคณะอนุกรรมการก็เป็นเพียงความคิดเห็น ซึ่งท่านจะชี้ในลักษณะที่ทำให้เราตกเหวด้วยก็คงเป็นไปไม่ได้ กกต.ก่อนที่จะพิจารณาอะไร ก็ต้องอาศัยหลายส่วน” นางสดศรี กล่าว สำหรับความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องปกติ เพราะ กกต.เองยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน เรื่องดังกล่าวจึงยังไม่ใช่ข้อยุติ และการวินิจฉัยจะอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ และยุติที่นั่นจะได้ไม่ต้องโต้เถียงกันต่อไป และถูกมองว่าเป็นสองมาตรฐาน
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีนี้มีความเห็นขัดแย้งระหว่างของอนุกรรมการฯ กับที่ปรึกษากฎหมาย กกต.ควรเสนอศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความไว้เป็นบรรทัดฐานได้เองหรือไม่ นางสดศรีกล่าวว่า การส่งศาลรัฐธรรมนูญ จะมีกฎเกณฑ์อยู่แล้ว และ กกต.ได้พิจารณาเรื่อง ส.ว. โดย กกต.จะเร่งทำเรื่องส่งให้ประธานวุฒิสภาได้ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อจะนำเสนอศาลรัฐธรรมนูญต่อไป อย่างไรก็ตามกรณีที่อนุกรรมการฯเห็นแย้งว่า กฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาการปลดเปลื้องการถือครองหุ้นนั้น การมีไว้จึงไม่ผิดนั้น จริงๆ แล้ว กกต. ยึดตามที่ผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ที่ต้องยื่นภายในสามสิบวันนับแต่ดำรงแหน่ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ กกต.ระบุว่อนุกรรมการฯ ต้องมีความเห็นตามที่ปรึกษากฎหมาย ถือเป็นการกดดันอนุกรรมการฯหรือไม่ นางสดศรีกล่าวปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นการบีบหรือกดดัน แต่ทั้งหมดเป็นความเห็นทางกฎหมาย และเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแรก แต่เคยมีกรณีเรื่องการยุบพรรค ที่มีความเห็นต่างกันระหว่างคณะกรรมการด้านกิจการพรรคการเมืองเห็นว่า ไม่ควรยุบ แต่ที่ปรึกษากฎหมายระบุว่ามาตรา 237 ระบุไว้ชัดว่าเลี่ยงไม่ได้ กฎหมายเขียนไว้ชัด ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะใช้ดุลพินิจของตัวเองว่าควรตัดสินอย่างไร และท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็เห็นด้วยกับเรา
“การพิจารณาของ กกต.ตั้งอนุกรรมการฯ ขึ้นมา ก็เพื่อให้มาดูเรื่องของข้อเท็จจริงว่า เป็นอย่างไร มีหุ้นอะไรบ้าง เป็นสัมปทานรัฐ สัมปทานผูกขาดหรือไม่ มีหุ้นเท่าไหร่ มีมาก่อนรับตำแหน่งส.ส.หรือไม่ อย่างไรแล้วค่อยมาคุยกันในข้อกฎหมายกันต่อไป การที่อนุกรรมการยังไม่ได้อะไรแล้ว อยู่ดีๆ มาตีความว่าอย่างนี้ไม่ผิด จะถือหุ้นเท่าไหรก็ได้ เราไม่ได้ให้ท่านมาตีความข้อกฎหมาย ไม่มีอำนาจมาตีความข้อกฎหมาย” นางสดศรี กล่าว