xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.ตราดโต้ กกต.ตั้งธงพิจารณามีหุ้น ปตท. ระบุมีคุณสมบัติครบตาม รธน.26

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุพจน์  เลียดประถม สมาชิกวุฒิสภา จ.ตราด
ตราด - ส.ว.ตราด โต้ กกต.ตั้งธงพิจารณามีหุ้น “ปตท.” ระบุมีคุณสมบัติครบตาม รธน.26 เผย มั่นใจศาล รธน.ยกฟ้อง ประกาศ “ผมยังเป็น ส.ว.ตราดอยู่”

วันนี้ (29 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมหอการค้าตราด นายสุพจน์ เลียดประถม สมาชิกวุฒิสภา จ.ตราด เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน จ.ตราด ถึงกรณีคณะกรรมการเลือกตั้งระบุว่า ตนเองเป็น 1 ใน 16 ส.ว.ถือหุ้นในกิจการที่รับสัมปทานจากรัฐ (ปตท.) ทำให้ขาดสมาชิกภาพเพราะคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 (2) และมีมติออกมาว่าตนเองหมดสมาชิกภาพการเป็นสมาชิกวุฒิสภานั้น

นายสุพจน์กล่าวว่า ตนเองได้รับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2551 และ ป.ป.ช.ได้มีคำสั่งให้ผู้ดำรง ตำแหน่งทุกคนต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ภายใน 30 วัน ซึ่งตนเองได้ถือหุ้น ปตท.จำนวน 5,600 หุ้น โดยซื้อจากตลาดหลักทรัพย์โดยวิธีปกติในปี 2548 ซึ่งตนเองได้ขายหุ้นไปหลังรับตำแหน่งได้ 7 วัน จากนั้นได้ส่งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2551 ตามหลักเกณฑ์ ซึ่งถือว่าน้อยมากหากเทียบกับมูลค่าหุ้นของ ปตท.ในตลาดหลักทรัพย์หรือมูลค่าหุ้นทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีนับหลายแสนล้านบาท

การที่ กกต.มีคำสั่งเช่นนี้ถือว่าไม่เป็นธรรมกับสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 16 คนเพราะในมาตรา 265 ตนเองมีคุณสมบัติครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนในการลงรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา แต่ทำไมเมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วกลับมี ข้อห้ามในมาตรา 115 ว่าห้ามถือหุ้นในบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีลักษณะการผูกขาดการสัมปทานของรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีความยุติธรรม อีกทั้งการถือหุ้นครั้งนี้ก็มีเพียงก็มีเพียง 5,600 หุ้น มูลค่าหรือราคาเทียบกับมูลค่า ในตลาดหลักทรัพย์มิได้

“มีการพูดกันในวงกว้างว่า กกต.ตั้งธงในการพิจารณาครั้งนี้ ซึ่งผมมั่นใจว่าจะสามารถชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญให้เกิดความเข้าใจและยกฟ้องและคืนความชอบธรรมให้กับผมได้ และผมขอบอกกับพี่น้องประชาชนชาวตราดว่าผมยังเป็นสมาชิกวุฒิสภาของพี่น้องประชาชนชาวตราด และแม้จะถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิการเป็น ส.ว.และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ผมก็สามารถลงรับสมัครรับเลือกตั้งได้

สำหรับการกระทำผิดตามมาตรา 265 นั้น ผมเห็นว่า การวินิจฉัยต้องตีความกฎหมายให้เชื่อมโยงกันหลายมาตราและต้องดูเจตนารายละเอียดของการถือหุ้นในแต่ละคนว่ากระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน และสามารถแทรกแซงก้าวก่าย บริษัทฯ ที่ตนถือหุ้น อันเป็น การกระทำที่เป็นการจัดกันแห่งผลประโยชน์”
กำลังโหลดความคิดเห็น