อนุ กมธ.ป.ป.ช.เตรียมเสนอสภา แก้กฎหมายให้บอร์ดรัฐวิสาหกิจ-ผบ.เหล่าทัพ-ผู้บริหารท้องถิ่น เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินหนี้สินต่อสาธารณะ ให้ ป.ป.ช.กลับไปพิจารณาว่ามีหน่วยงานใดที่ ขรก.-จนท.ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินอีกบ้าง เพราะเกี่ยวพันกับการใช้อำนาจที่จะก่อให้เกิดการทุจริตได้ง่าย
วันนี้ (17 มิ.ย.) ที่รัฐสภา นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องที่มีผลต่อการใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2552 ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณามาตรา 40 เกี่ยวกับการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จากเดิมที่มีการหนดให้ข้าราชการระดับ 8 ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินทุกคน แต่ไม่มีการกำหนดให้ต้องเปิดการแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะเหมือนกับ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส.และ ส.ว.โดยได้เชิญตัวแทนจาก ป.ป.ช.เข้ามาชี้แจง ซึ่งอนุกรรมาธิการได้เสนอให้มีการกำหนดให้หน่วยงานที่ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะเพิ่ม เช่น กรรมการของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด โดยได้ให้ ป.ป.ช.ไปช่วยดูว่าควรกำหนดให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ระดับใดอยู่ในข่ายนี้บ้าง และให้นำมาเสนอในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้ มีหน่วยงานที่กรรมาธิการได้สอบถามความสมัครใจ หน่วยงานของรัฐที่ได้สอบถามแล้ว อาทิ กรมสรรพากร และกรมศุลกากร ที่ยินดีจะให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เอื้ออำนวยให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินด้วย
นายชาญชัย กล่าวด้วยว่า ได้ให้ ป.ป.ช.กลับไปพิจารณาว่ามีหน่วยงานใดที่ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินอีกบ้าง เพราะเกี่ยวพันกับการใช้อำนาจที่จะก่อให้เกิดการทุจริตได้ง่าย ซึ่งรวมถึงผู้นำเหล่าทัพทั้งหลายก็อยู่ในเงื่อนไขของการพิจารณาด้วย นอกจากนี้สัปดาห์หน้า อนุกรรมาธิการจะเชิญ กกต.มาให้ข้อมูล พร้อมทั้งจะเสนอให้ผู้บริหารท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นนายก อบจ. อบต.และนายกเทศมนตรี ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินด้วย หากจะเข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ โดยจะต้องกำหนดไว้ในกฎหมายการเลือกตั้งของ กกต.
ทั้งนี้ ยังจะขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่จะต้องทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับเอกชน เบื้องต้นได้กำหนดราคาจัดซื้อจัดจ้างไว้ที่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้ประชาชนสามารถคลิกเข้าไปตรวจสอบ หากประชาชนสงสัยในการดำเนินการของหน่วยงานนั้น และเมื่อพบการทุจริตก็อาจจะกำหนดให้มีรางวัลในการจับทุจริตให้กับประชาชน โดยแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ให้ ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบการทุจริตของหน่วยงานรัฐ ตนเชื่อว่า หากรายงานของกรรมาธิการวิสามัญเข้าสู่สภา แล้วได้รับความเห็นชอบการทุจริตคอร์รัปชันของหน่วยงานราชการจะลดลงไม่น้อยกว่า 50%