xs
xsm
sm
md
lg

32 ส.ว.ลุ้น กกต.ถกถือหุ้นคู่สัญญารัฐผิด รธน.หรือไม่ 18 มิ.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สดศรี สัตยธรรม กกต.
“เจ๊สด” ยันที่ประชุม กกต.18 มิ.ย.นี้ ถกวาระการสิ้นสภาพของ 32 ส.ว.หลังถูกร้องถือหุ้นสัมปทานรัฐ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังบรรจุวาระในวันนี้ แต่เลขาฯอนุสรุปย่อรายงานไม่ทัน เผย หากมีข้อสรุปต้องส่งเรื่องให้ประธานวุฒิฯ ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีกครั้ง ไม่หวั่นถูกด่า หลังมีมติ บอกชินแล้ว



วันนี้ (17 มิ.ย.) นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวว่า ในการประชุม กกต.ในวันที่ 18 มิ.ย.จะมีการพิจารณากรณี นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย ร้องขอให้ กกต.วินิจฉัยคุณสมบัติ ส.ว.32 คน ที่ถือหุ้นสัมปทานรัฐ ว่า เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 265 จนเป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงหรือไม่อย่างแน่นอน เพราะเรื่องดังกล่าวประธาน กกต.ได้สั่งให้บรรจุเป็นวาระพิจารณาในวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากเลขานุการของอนุกรรมการสอบสวน ไม่สามารถจะย่อรายงานผลสรุปของอนุกรรมการ และที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.แต่การประชุมเมื่อวานนี้ (17 มิ.ย.) ทางเลขา อนุฯก็ยืนยันว่าจะสามารถเสนอต่อที่ประชุม และมาชี้แจงได้

ทั้งนี้ กรณีการถือครองหุ้นที่เป็นคู่สัญญาหรือสัมปทานของรัฐมีการร้องเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดย กกต.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณารวม 3 ชุด 1.พิจารณาคุณสมบัติ ส.ส. 2.พิจารณาคุณสมบัติ ส.ว.และ 3 พิจารณาคุณสมบัติของรัฐมนตรี แต่คณะของ ส.ว.ทำเสร็จตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยในสำนวนจะมีการสอบปากคำ ส.ว.ที่ถูกกล่าวหาทั้งหมด มีผลของการไปขอข้อมูลจากบริษัทที่ ส.ว.ถูกกล่าวหาว่าถือครองหุ้นอยู่ มีการขอหลักฐานการจดทะเบียนบริษัทดังกล่าวกับกรมทะเบียนการค้า ซึ่งถือว่ามีรายละเอียดที่ชัดเจน และเมื่อเข้าสู่การพิจารณาในครั้งที่แล้ว กกต.เห็นว่า เสียงของอนุกรรมการแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ในประเด็นข้อกฎหมาย ดังนั้น เพื่อความรอบคอบจึงส่งเรื่องให้ที่ปรึกษากฎหมายซึ่งก็ไม่ใช่คนของ กกต.เลย แต่เป็นบรรดานักกฎหมาย พิจารณาว่าเจตนารมณ์ของมาตรา 265 เกี่ยวกับการถือครองหุ้นเป็นอย่างไร ดังนั้น การพิจารณาวันที่ 18 มิ.ย.กกต.จึงไม่จำเป็นต้องนำสำนวนกลับไปศึกษาและสามารถวินิจฉัยได้เลย และหาก กกต.วินิจฉัยว่าการถือครองหุ้นของ ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะเร่งยกร่างคำวินิจฉัยเพื่อเสนอไปยังประธานรัฐสภา เพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ ส.ว.ที่ กกต.อาจจะชี้ว่าผิดก็ไม่จำเป็นต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ส.ว.ที่ถูกกล่าวหา ยืนยันว่า ถือหุ้นก่อนเข้าดำรงตำแหน่งและเป็นหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งไม่มีจำนวนมาก จนสามารถเข้าไปบริหารกิจการได้ จะถือว่ามีความผิดหรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า มาตรา 265 ใช้คำว่าห้ามมิให้ถือครองหุ้นที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ ไม่ได้เขียนว่าก่อนหรือหลัง และในฐานะที่ตนเป็น ส.ส.ร.จำได้ว่า ตอนยกร่างมาตรานี้มีเจตนาว่าการจะเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ควรมีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่ง จะไปถือหุ้นอะไรเหล่านี้ไม่ได้

“ตอนยกร่างเราพูดกันว่าไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนอะไรทั้งสิ้น โดยที่ไม่ได้คิดไปลึกกว่านั้นว่าถือก่อนหลัง หรือถือแล้วต้องไม่มีอำนาจในการบริหาร หรือถือมากจนมีอำนาจในการบริหาร แต่ก็มีคนพูดว่าจะให้คนที่จะเข้ามาตัวเปล่าเล่าเปลือยเลยใช่หรือไม่ ซึ่งหากจะลึกกว่านั้นต้องเขียนในกฎหมายลูก แต่เมื่อเกิดปัญหาในลักษณะน่าจะให้ศาลวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานหรือเปล่า” นางสดศรี กล่าว

นางสดศรี ยังกล่าวอีกว่า ประเด็นที่ กกต.จะพิจารณาก็จะดูเรื่องตัวหุ้นเป็นหลัก ซึ่งในรายงานของอนุกรรมการก็แยกประเภทของหุ้นเอาไว้แล้วว่า ส.ว.คนใดถือหุ้นอะไร และหุ้นตัวใดถือว่าเข้าข่ายเป็นคู่สัญญากับรัฐ ส่วนประเด็นถือก่อนและหลังนั้น กกต.จะวินิจฉัย แต่ทั้งนี้ ผู้ร้องได้นำข้อมูลเรื่องการถือหุ้นของ ส.ว.มาจากการรายงานบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.และเมื่อเรียกผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงต่างก็ยืนยันว่าจนปัจจุบันก็ถือครองหุ้นนั้นอยู่

เมื่อถามต่อว่า การวินิจฉัยของ กกต.จะทำให้ถูกด่าจนหูชาหรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า มาใหม่ๆถูกด่าก็รู้สึก แต่ตอนนี้เริ่มชินแล้ว ในเมื่อเขาออกหมายจับเราได้ ทำไมเราจะออกหมายจับเขาไม่ได้ ส่วนถ้าวินิจฉัยว่าผิดต้องส่งเรื่องไปยังประธาน ส.ว.อาจมีการดึงเรื่องเพื่อช่วยเหลือพวกพ้องนั้น ถึงตรงนั้นถือว่า กกต.หมดหน้าที่แล้ว ดึงไม่ดึงก็เป็นเรื่องที่สื่อต้องคอยตรวจสอบเอา

รายงานข่าวแจ้งว่า ในชั้นพิจารณาของอนุกรรมการ เบื้องต้นมีเสียงแตกเป็น 3 ต่อ 2 โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าหากถือมาก่อนดำรงตำแหน่งไม่ผิด กกต.จึงส่งเรื่องให้คณะที่ปรึกษากฎหมาย โดยคณะที่ปรึกษากฎหมายมองว่า ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังก็ขัดรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น หากได้รับผลประโยชน์จากการถือหุ้นนั้น และที่ผ่านมา กกต.ก็มักจะเชื่อที่ปรึกษากฎหมาย เพราะเป็นนักกฎหมายที่มาจากคนภายนอก
กำลังโหลดความคิดเห็น