“อภิสิทธิ์” ยังใจเย็นรอศาลรัฐธรรมนูญตีความ ส.ส.สิ้นสภาพ ยืนยันหากขัด กม.จริงก็ต้องน้อมรับสภาพ เชื่อ รธน.ยังมีเจตนารมย์ดี หวังเข้มสัญญาสัมปทานรัฐ แบะท่ารอ คกก.ปฏิรูปการเมืองนำข้อสรุปเข้าเสนอ 16 ก.ค.นี้
วันนี้ (24 มิ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบการสิ้นสภาพ ส.ส.จำนวน 61 คน เนื่องจากถือครองหุ้นในธุรกิจสื่อ ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 48 และถือครองหุ้นในบริษัทที่เป็นคู่สัมปทานกับรัฐ หรือมีลักษณะผูกขาดตัดตอน ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 265 ว่า ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัย ซึ่งเจตนาของมันคือ ป้องกันผลประโยชน์ที่ขัดกัน ซึ่งอาจจะต้องมาดูว่าผลประโยชน์ที่ขัดกันเกิดขึ้นในเงื่อนไขอย่างไร คือ บางคนแล้วแต่มุมมอง บางคนระบุว่าการถือหุ้นไม่มากไม่น่าจะมีผลประโยชน์ที่ขัดกัน แต่บางคนบอกว่าแม้แต่หุ้นเดียวก็มีผลประโยชน์ขัดกัน ก็ต้องมาดู
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรานี้ถือว่าดีหรือไม่สำหรับนักการเมือง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ที่จริงแล้วเป็นบทบัญญัติ ซึ่งขยายมาจากบทเดิมเรื่องสัมปทาน เริ่มต้นจากตรงนั้น สมัยก่อนชัดเจนว่าใครเป็นเจ้าของสัมปทาน ต่อมาองค์ที่รับสัมปทานจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็มาขยายตรงนี้ แต่เมื่อมาเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลายคนมองว่า ถือหุ้นเพียงเล็กน้อยไม่น่าจะนับว่า เขาเป็นผู้ที่จะไปจัดการเรื่องสัมปทานโดยตรงก็เลยเป็นปัญหาในการตีความขึ้นมา ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญตีความอย่างไรก็ต้องยอมรับ ถ้าหมายถึงว่า ส.ส.จะต้องพ้นสภาพ ส.ส.ก็ต้องยอมรับ
เมื่อถามว่า มองว่าตัวคนมีปัญหา หรือกฎหมายมาตรานี้มีปัญหาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า กฎหมายก็มาจากคน เมื่อถามย้ำอีกว่าระบบกฎหมายตรงนี้สมควรแก้ไขหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนคิดว่า เจตนารมณ์กฎหมายมันดี ถ้าจะกำหนดกฎเกณฑ์ต่อจากนี้ไป ทำอย่างไรให้ชัดเจนที่สุด คนจะได้เข้าใจได้ง่าย เหมือนกับมาตรา 266 มีคนเถียงกันอยู่ตลอดเวลาทำอย่างนี้ได้หรือไม่ ทำอย่างนั้นได้หรือไม่ ถ้าศาลชี้ออกมาก็ต้องยอมรับ
“ถ้าคนเหล่านี้รู้มาตั้งแต่แรกว่าการถือไม่ได้เขาก็ไม่ถือหรอก ส่วนการรายงานผลของคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ จะรายงานผมวันที่ 16 ก.ค. อย่างกรณีของรัฐมนตรีเป็นการถือหุ้นในบริษัททั่วไป ซึ่งบอกว่าไม่ให้ใครถือหุ้นเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ถ้าใครอยากจะถือเกินก็ให้แจ้งต่อ ป.ป.ช. แล้วจะกำหนดระบบบริหารจัดการของบริษัทนั้นต้องไม่อยู่ในมือของรัฐมนตรี แต่บทบัญญัติที่เป็นปัญหาของ ส.ส.มีอยู่ 2 ส่วน คือ บริษัทที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนเพื่อไม่ให้นักการเมืองไปมีอิทธิพลต่อสื่อมวลชน กับบริษัทที่รับสัมปทานของรัฐ เพราะเกรงว่าจะเกิดผลประโยชน์อย่างนั้น” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
เมื่อถามว่า หมายความว่าการพ้นสภาพของ ส.ส.ครั้งนี้อาจจะไม่ต้องพ้นสภาพความเป็นรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนจำไม่ได้ว่าบทบัญญัตินี้ใช้กับรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ สันนิษฐานว่าน่าจะใช้ เพียงแต่บางท่านขายก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ฉะนั้นขายไปก่อนคุณสมบัติรัฐมนตรีก็ไม่ขาด เมื่อถามว่าเห็นสมควรจะดำรงตำแหน่งต่อไปได้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จริงๆ เขาไม่ได้ทำผิดอะไรทางกฎหมายในฐานะรัฐมนตรี