xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : ทำไม “ไทย” ต้องค้าน “พระวิหาร” เป็นมรดกโลก?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปราสาทพระวิหาร
อมรรัตน์ ล้อถิรธร......รายงาน

ใกล้ถึงวันที่รองนายกฯ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” จะเดินทางไปทำความเข้าใจกับนายกฯ “ฮุน เซน” ของกัมพูชาแล้ว 27 มิ.ย.นี้ หลังรัฐบาลไทยมีมติประท้วง “คณะกรรมการมรดกโลก-ยูเนสโก” ที่ประกาศให้ปราสาทพระวิหารได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว ทั้งที่ส่อว่าการประกาศนั้นผิดต่อหลักเกณฑ์และวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งองค์กร แม้ไทยจะยืนยันว่า การประท้วงครั้งนี้ เป็นเรื่องระหว่าง “ไทย กับ คณะกรรมการมรดกโลก และยูเนสโก” หาใช่ “ไทยกับกัมพูชา” ไม่ แต่ดูเหมือนผู้นำกัมพูชาจะ “เลือดขึ้นหน้า” แล้ว จึงออกมาท้ารบกับไทย ...ขณะที่ยังไม่รู้ว่าผลเจรจาของผู้นำ 2 ฝ่ายจะลงเอยอย่างไร ลองมาประเมินกันอีกทีว่า ท่าทีของไทย ถือว่ามาถูกทางแล้วหรือไม่?

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

หลังรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ นายสมัคร สุนทรเวช และมี นายนพดล ปัทมะ อดีตที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ทำผิดพลาดครั้งใหญ่ด้วยการออกแถลงการณ์ร่วมกับกัมพูชา เพื่อสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ส่งผลให้ไทยส่อเสียดินแดนรอบปราสาทที่ยังเป็นพื้นที่พิพาทยังไม่สามารถปักปันเขตแดนได้ ขณะที่รัฐบาลนายสมัครถูกครหาว่า รีบเร่งรวบรัดออกแถลงการณ์หนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว (แทนที่จะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกร่วมกัน เพราะองค์ประกอบของปราสาทพระวิหารจะไม่สมบูรณ์หากขาดโบราณวัตถุที่สำคัญอีกหลายอย่างบริเวณปราสาทพระวิหารซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของไทย เช่น สระตราว สถูปคู่ ภาพสลักนูนต่ำ) กระทั่งศาลปกครองมีคำสั่งให้เพิกถอนแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ดังกล่าว แต่ก็เหมือนจะสายเกินไป เพราะคณะกรรมการมรดกโลกประกาศขึ้นทะเบียนให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกไปแล้ว

ขณะนี้ ครม.นายสมัคร อยู่ระหว่างรอคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดกรณีออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา โดยไม่เสนอให้รัฐสภาเห็นชอบก่อน แต่ในส่วนของการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้น รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ให้ทำหนังสือคัดค้านไปยังคณะกรรมการมรดกโลกที่มีกำหนดประชุมครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่ 22-30 มิ.ย.นี้ ที่ประเทศสเปน เพื่อแสดงจุดยืนและท่าทีของไทย ว่า ต้องการคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เนื่องจากเห็นว่า การประกาศของคณะกรรมการมรดกโลกน่าจะขัดกับระเบียบกฎเกณฑ์การขึ้นทะเบียนมรดกโลกของยูเนสโก รวมทั้งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งองค์กรยูเนสโกที่มุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดี เพราะการประกาศให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ได้สร้างความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาให้เพิ่มมากขึ้น

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ยืนยันว่า ไทยต้องการให้คณะกรรมการมรดกโลกและยูเนสโกทบทวนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก “เราจะขอให้ยูเนสโกทบทวนว่า สิ่งที่เขาทำอยู่นั้นขัดกับวัตถุประสงค์ของการตั้งองค์กรและทำเรื่องมรดกโลก เพราะแทนที่จะเป็นพื้นที่ซึ่งเราสามารถอนุรักษ์วัฒนธรรม และทำให้ประชาชนทั้งสองฝั่ง และนักท่องเที่ยวเข้าไปชมและสัมผัสความงดงามของวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ กลับกลายเป็นความขัดแย้งเพิ่มขึ้น เรื่องนี้ควรจะทบทวน...” นายอภิสิทธิ์ บอกด้วยว่า หากขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหารร่วมกันได้ จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

ด้านผู้นำกัมพูชาแสดงปฏิกิริยาไม่พอใจท่าทีของรัฐบาลไทยในทันที โดยสมเด็จฯ ฮุนเซน นายกฯ ของกัมพูชา บอกว่า “ผมคิดว่า คำกล่าวของนายกฯ ไทยเป็นสิ่งที่กระทบต่อสันติสุขของประเทศอื่น” และว่า “ผมรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่อความคิดเห็นและความมุ่งหมายของเขา (นายกฯ ไทย) โดยขณะที่เขาเดินทางเยือนกัมพูชาเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.เขาก็ไม่ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุยกับผมเลย แต่ผมคิดว่าความต้องการของเขาไม่น่าจะประสบความสำเร็จ...”

ขณะที่รัฐบาลไทยพยายามชี้แจงว่า การยื่นคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้น เป็นเรื่องระหว่างไทยกับคณะกรรมการมรดกโลก และยูเนสโก ไม่ใช่เรื่องระหว่างไทยกับกัมพูชา โดย นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าทีมผู้แทนรัฐบาลไทยที่เดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ประเทศสเปน ยืนยันว่า “เราไม่ได้ประท้วงกัมพูชา แต่เราจะไปคัดค้านยูเนสโก ...เราจะบอกพร้อมกับแสดงหลักฐานประกอบอย่างชัดเจน และผมคิดว่าคณะกรรมการจะเชื่อและเห็นใจเรา”

นายสุวิทย์ ยังชี้ด้วยว่า การที่คณะกรรมการมรดกโลก ยินยอมให้ปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น นอกจากผิดประเด็นที่ไม่มีองค์ประกอบหลักที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ คืออาณาบริเวณโดยรอบแล้ว ยังทำให้ 2 ประเทศที่มีพรมแดนติดกัน เกิดปัญหาความขัดแย้งมีความรุนแรงถึงขั้นมีการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งขัดกับวัตถุประสงค์ของยูเนสโกชัดเจนมาก

ขณะที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ก็ยืนยันเช่นกันว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ปัญหาระหว่างไทยกับกัมพูชา แต่เป็นปัญหาระหว่างไทยกับยูเนสโก ที่ไทยต้องประท้วงยูเนสโกว่า สิ่งที่พิจารณาตอนนั้นทำผิดระเบียบขั้นตอน นายสุเทพ ยังบอกด้วยว่า จะพยายามพูดคุยกับสมเด็จฯ ฮุนเซน นายกฯ กัมพูชา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งรอบใหม่ “คงต้องหาเวลาไปพูดคุยกับสมเด็จฯ ฮุนเซน เพื่อทำความเข้าใจไม่ให้เกิดการยิงสลุตใส่กัน ส่วนตัวระหว่างผมกับสมเด็จฯ ฮุนเซน ก็มีไมตรีกันอยู่...” ทั้งนี้ นายสุเทพ กำหนดจะเดินทางไปพบสมเด็จฯ ฮุนเซน แล้ว ในวันที่ 27 มิ.ย.นี้

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ พูดถึงกรณีที่สมเด็จฯ ฮุนเซน เสียใจที่ไทยเตรียมคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ว่า “เชื่อว่า เมื่อสมเด็จฯ ฮุนเซน ทราบถึงเจตนาของตน จะไม่มีอะไรทำให้เสียใจ ยืนยันแนวทางการแก้ปัญหายังคงเดิม คือปรารถนาจะเดินหน้าร่วมมือในทุกๆ ด้านกับกัมพูชาอย่างเต็มที่ แต่เรื่องที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือ ความสงบสุข สันติในพื้นที่”

อย่างไรก็ตาม ทางกัมพูชายังคงแสดงความไม่พอใจไทยอย่างต่อเนื่อง โดย นายไพ สีปาน โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ออกมาโจมตีไทยว่า “ปราสาทพระวิหารได้รับการบรรจุให้เป็นมรดกโลกแล้ว จึงเชื่อว่าประชาคมระหว่างประเทศคงจะไม่ตกหลุมพราง หรือกลอุบายอันไร้อารยธรรมของไทย”

ด้าน นายฮอร์นัมฮง รองนายกฯ และรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา ก็ออกอาการกร้าวถึงขั้นพร้อมจะสู้รบกับไทย “นี่เป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่และร้ายแรงครั้งหนึ่งที่ผู้นำไทยสร้างขึ้น หากพวกเขาต้องการจะทำให้เกิดความขัดแย้งถึงขั้นสู้รบอีกเป็นคำรบ 3 เราก็ยินดี วันนี้เรารู้แล้วว่า แม่ทัพภาค 2 ของไทยได้จัดวางกำลังเตรียมพร้อมไว้แล้ว ฝ่ายเราพร้อมที่จะสู้ แต่สถานการณ์ในขณะนี้ยังถือว่าสงบอยู่...”

ส่วนท่าทีของทหารไทยนั้น พล.ท.วิบูลย์ศักดิ์ หนีพาล แม่ทัพภาคที่ 2 บอกว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ได้มาตรวจเยี่ยมกำลังพลในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาอธิปไตยบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. โดย พล.อ.อนุพงษ์ เป็นห่วงกรณีที่กัมพูชาส่งกำลังทหารจากส่วนกลางเข้ามาสนับสนุนในพื้นที่จำนวนมาก จึงได้กำชับให้ในส่วนของไทยระมัดระวังและเตรียมกำลังให้พร้อมที่สุด หากมีความจำเป็นต้องใช้อาวุธ แต่ยืนยัน จะไม่ใช้กำลังและไม่รุกรานใครก่อน

เมื่อการแสดงจุดยืนและท่าทีของไทยในการคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ทำให้ฝ่ายกัมพูชาไม่พอใจอย่างมาก จนหลายฝ่ายเกรงว่าจะเกิดสงครามระหว่างไทยกับกัมพูชาหรือไม่ ดังนั้น ลองมาฟังนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญเรื่องเขาพระวิหารประเมินว่า ไทยเดินมาถูกทางแล้วหรือไม่? และจะเกิดความรุนแรงรอบใหม่ระหว่างไทยกับกัมพูชาจริงหรือ?

ศ.ดร.อดุล วิเชียรเจริญ อดีตประธานคณะกรรมการมรดกโลกไทย บอกว่า การที่รัฐบาลมีมติยื่นคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกไปยังคณะกรรมการมรดกโลกและยูเนสโก ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะการประกาศให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเกิดจากการเกื้อกูลกันเป็นพิเศษระหว่างคณะกรรมการมรดกโลกกับกัมพูชา บวกความผิดพลาดของรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ที่ออกแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ดังนั้น ไทยต้องแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวต่อการคัดค้านเรื่องนี้ โดยตนมีส่วนช่วยเขียนเอกสารคัดค้านต่อคณะกรรมการมรดกโลกด้วย

“การขึ้นทะเบียนมรดกโลก เป็นไปทำนองที่เกื้อกูลกับเขมรอย่างมาก ข้อบังคับต่างๆ ที่มีอยู่ก็ยกเว้นไม่ใช้ มีมติเห็นชอบ อะลุ้มอล่วย ตลอดจนกระทั่งเราเองก็ไปมีส่วนร่วมสมัยที่ออกประกาศแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีต่างประเทศขณะนั้นกับทางฝ่ายเขมรและมีนายฟรังซัวส์ ริวิแยร์ ผอ.ฝ่ายวัฒนธรรม (องค์การยูเนสโก) ร่วมเป็นสักขีพยานด้วย ทั้งหมดมันทำไปเนี่ย มันเป็นการแสดงอย่างชัดเจนว่า เกื้อกูลกันเป็นพิเศษ ซึ่งการเกื้อกูลนั้นก็เป็นการกระทบผลประโยชน์ของเรา แต่เรื่องความผิดพลาดของรัฐบาลหนึ่งในอดีต เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่าทีเราจะต้องแข็งกร้าว ผมเองก็เคยแสดงท่าทีอย่างนี้ออกมา ทีนี้การจะประกาศยกเลิกแถลงการณ์ก็ไม่ทำ มาทำเมื่อมีคำสั่งศาลปกครองแล้ว แต่มันก็สายไปเสียแล้ว เพราะในเอกสารต่างๆ เขาก็อ้างอิงถึงความตกลงร่วมกัน เมื่อไทยเห็นชอบด้วยที่จะให้ขึ้นทะเบียนและสนับสนุน เพราะฉะนั้นการที่จะไปที่สเปนคราวนี้ จะไปคัดค้าน การที่รัฐบาลมีท่าทีเช่นนี้ก็ถูกต้อง ผมพอดีมีส่วนช่วยคุณสุวิทย์ (คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) เขาส่งเอกสารที่จะยื่นคัดค้านมาให้ผมช่วยตรวจดู ผมก็ช่วยแก้ไข และเขียนให้มันแข็งกร้าวอีก เป็นการปฏิเสธตามแนวทางที่ผมเคยแนะนำตลอดว่า เราอย่าไปยอมรับ และการกระทำอะไรที่จะมาทำในดินแดนไทยนั้น ต้องไทยเห็นชอบด้วย เพราะฉะนั้นการแสดงท่าทีเช่นนี้ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ผมก็สนับสนุน”

“(ถาม-คิดว่ากัมพูชาจะยอมเหรอ เพราะพอรู้ว่าไทยเตรียมยื่นคัดค้าน ท่าทีก็แข็งกร้าวมาก พร้อมจะสู้รบกับไทยได้เลย?) อันนี้จะชี้ให้พวกซึ่งมีส่วนในการอนุมัติขึ้นทะเบียน คือ คณะกรรมการมรดกโลกและองค์การยูเนสโกเห็นว่า การที่ทำไปอย่างนั้นเนี่ย มันก่อให้เกิดการขัดแย้ง ความเข้าใจผิดระหว่างประเทศ และไม่นำมาซึ่งความร่วมมืออันดี ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์ขององค์การระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้นเราไม่มีอะไรจะเสีย เราต้องรักษาผลประโยชน์ของเรา เขมรเนี่ยตัวนิดเดียว ยังกล้าทำอย่างนี้ แล้วไทยมัวแต่ไปหงอหรือให้ความร่วมมือ เพราะมีผลประโยชน์ตอบแทนกันอย่างสมัยรัฐบาลทักษิณ หรือนายสมัคร”


อย่างไรก็ตาม หากไทยยื่นคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแล้ว จะส่งผลให้คณะกรรมการมรดกโลกทบทวนหรือเปลี่ยนใจได้หรือไม่ ศ.ดร.อดุล บอกว่า คงไม่มีหวัง เพราะกัมพูชาคงล็อบบี้อย่างหนัก และคณะกรรมการมรดกโลกก็คงเกื้อกูลกัมพูชาอีกอยู่ดี ขนาดกัมพูชาไม่สามารถจัดทำแผนพัฒนาบริหารจัดการปราสาทพระวิหารได้ตามที่คณะกรรมการกำหนดเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา คณะกรรมการมรดกโลกก็ยังให้เลื่อนได้ แต่ตนเชื่อว่า ที่สุดแล้ว ถ้าไทยไม่ร่วมมือหรือช่วยจัดทำแผนดังกล่าว ปราสาทพระวิหารก็จะไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้สำเร็จ

“ความหวังเช่นนั้นคงไม่มี เพราะมันอนุมัติออกมาแล้ว แล้วจะมากลับใหม่เนี่ย ก็คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เขมรก็ล็อบบี้อย่างหนัก เพราะฉะนั้นก็เรื่องที่ค้างอยู่ ก็เป็นแต่เพียงเขมรยังมิได้ดำเนินการตามที่ที่ประชุมคราวที่แล้วบอก คือทำแผนจัดการ ซึ่งจะครอบคลุมถึงเขตกันชน และมีแผนที่ใหม่แสดงถึงว่ามีการดำเนินการที่ก้าวหน้า เขมรก็ไม่ได้ทำ คราวนี้มา ที่ประชุมใหญ่ก็คงต้องอนุโลม คือ แทนที่จะมาว่ากล่าวตักเตือนเขมรว่าทำอย่างนี้ไม่ถูก หรือเร่งรัด ก็คงจะต้องเกื้อกูลเขมรอีก แทนที่จะต้องยื่นภายในเดือน ก.พ.เมื่อต้นปีนี้ ก็เลื่อนมาจนบัดนี้ ก็คงให้ไปยื่นในปีหน้า ซึ่งเป็นการเกื้อกูลอีกแล้ว เพราะฉะนั้นเราก็ไม่มีอะไรจะเสีย เพราะมันเสียไปแล้ว เป็นแต่เพียงว่าอย่าให้มันมากกว่านี้ โดยเฉพาะการมาทำแผนจัดการและเข้ามาทำในบ้านเรา มีแผนจัดการ เข้ามาอยู่ในดินแดนในอำนาจอธิปไตยของไทยเรา”

“(ถาม-ถ้าอีก 5-6 ประเทศ รวมทั้งกัมพูชา เดินหน้าทำแผนโดยไม่สนใจไทย จะทำได้สำเร็จมั้ย?) มันก็ไม่มีทาง ขึ้นทะเบียนไม่ได้ด้วย ไม่เข้าเกณฑ์ด้วย เพราะตามข้อกำหนดนั้น การจะอนุรักษ์สิ่งที่เปราะบางอย่างตัวปราสาท และอยู่ในที่ลาดชัน จำเป็นจะต้องมีแผนจัดการที่มีเขตอนุรักษ์ มีเขตกันชน เพื่อออกกฎหมาย ดำเนินมาตรการทางบริหาร อนุรักษ์ ในทางธุรการ ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อไทยเราเป็นคนทำ เพราะอยู่ในเขตดินแดนเรา แต่ถ้าเขมรเป็นคนทำ กำหนดขึ้นมา ใครจะทำ จะมาใช้เรา เราเป็นประเทศเอกราชหรือเปล่า มีอธิปไตยหรือเปล่า (ถาม-แสดงว่า อ.คิดว่ายังไงกัมพูชาก็จัดทำแผนไม่สำเร็จ อย่างนั้นไทยเราเสนอไปได้มั้ยว่า ถ้าจะขึ้นทะเบียนจริงๆ ต้องขึ้นร่วมกับไทยด้วย?) เราเสนอมาตลอด แต่เขาไม่ยอมทำ มีอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าเขาจะทำตามที่ขึ้นไป เราก็ชี้ให้เห็นว่า มันทำไม่ได้ ถ้าเราไม่ร่วมมือ เรามีพันธกรณีตามอนุสัญญาได้ แต่พันธกรณีนั้นในเมื่อมันมาผูกมัดอธิปไตยของเรา บังคับเราถึงขนาดที่เราต้องถามต่างชาติว่า ก็ผมรับไม่ได้ พอดีที่รัฐบาลไทยรับไม่ได้ขณะนี้”


ศ.ดร.อดุล ยังประเมินด้วยว่า แม้กัมพูชาจะไม่พอใจท่าทีของไทยที่คัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่คงไม่ถึงขั้นจะนำไปสู่การสู้รบของทั้ง 2 ฝ่ายดังที่หลายฝ่ายเกรง แต่อาจจะมีการปะทะกันบ้างก็เป็นได้

ด้าน ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐบาลมีมติยื่นคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เพราะหากไทยยอมรับการประกาศดังกล่าวของคณะกรรมการมรดกโลก เท่ากับว่า ไทยต้องยอมรับแผนที่บริเวณปราสาทพระวิหารฉบับของกัมพูชาซึ่งจะกินพื้นที่ในส่วนของไทยเข้าไปด้วย

มล.วัลย์วิภา บอกด้วยว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ ก็คือ การเสนอให้แก้ปัญหาด้วยการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกันระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งต้องระวังว่าจะเข้าทางฝ่ายกัมพูชาที่ต้องการให้การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารของตนที่ขณะนี้ยังไม่สมบูรณ์ ประสบผลสำเร็จขึ้นมา ดังนั้น หากไทยต้องการให้ขึ้นทะเบียนร่วมกันจริงๆ ต้องให้คณะกรรมการมรดกโลกยกเลิกการขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียวของกัมพูชาก่อน

“รัฐบาลคงจะคิดอย่างนี้ ถ้าดิฉันเดาใจคือบอกว่า เราไปค้านการขึ้นทะเบียน เพื่อจะเป็นการลดกระแส แต่ในความเป็นจริง การประชุมครั้งที่แล้วมีมติออกมาว่า ยอมรับการขึ้นทะเบียนร่วม ซึ่งประธานคณะกรรมการมรดกโลก (ในขณะนั้น นายปองพล อดิเรกสาร) ได้ไปยื่นเอกสารที่สำคัญ แม้จะไม่เป็นทางการเอาไว้ แล้วอดีตประธาน (นายปองพล) ก็ได้แถลงการณ์บอกว่า จะเป็นการขึ้นทะเบียนร่วมแบบวัฒนธรรมและแบบสิ่งแวดล้อม แบบธรรมชาติน่ะ คือ ขึ้นทั้งตัวปราสาทและพื้นที่ พื้นที่นี่คือพื้นที่อุทยานน่ะ และอื่นๆ อีก เท่ากับไปขึ้นขอไปขึ้นร่วม และคณะกรรมการก็รับแล้ว เพราะฉะนั้นในปีนี้ การขึ้นทะเบียนของกัมพูชายังไม่สมบูรณ์ จะต้องไปสมบูรณ์เอาปีหน้าหรือปี 2010 ในครั้งนี้ถ้าเป็นไปตามวาระเนี่ย มันเหมือนกับว่าจะต้องไปยืนยันหรือจะต้องไปส่งเอกสารเพิ่มเติมในมติ”

“ถ้าเรารู้จักมติตรงนั้น จะเห็นว่า ในข้อ 15 มีตั้งแต่ไปยืนยันขอบเขตของมรดกโลกที่ขึ้น ไปยืนยันเขตพื้นที่กันชน ไปยืนยันเขตบริหารพื้นที่อะไรอย่างนี้ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นตัวที่จะช่วยทำให้การขึ้นทะเบียนมรดกของกัมพูชาสมบูรณ์ แต่ปัญหาของกัมพูชาคือมันไม่มีพื้นที่กันชน มันไม่มีพื้นที่พัฒนา มันไม่มีแผนบริหารจัดการ 3 ส่วนนี้จะต้องขอไปจากไทย เพราะฉะนั้นการขึ้นทะเบียนร่วมเนี่ยมันเป็นทางออกที่จะทำให้เกิด 3 สิ่งนี้ขึ้นมาได้ นี่คือสิ่งที่ดิฉันกังกล และหลายคนอาจจะบอกว่า เขาขึ้นแต่ฝ่ายเดียว ถ้าเราได้ขึ้นร่วม มัน win-win แต่ในกรณีนี้ไม่ใช่ เพราะการที่เขาขึ้นมาครั้งที่แล้ว เราเสียตรงที่ว่าเราไปสนับสนุนเขา แล้วทำให้มันติดเรื่องของแผนที่ เพราะฉะนั้นถ้าจะขึ้นร่วมด้วยกัน น่าจะเริ่มต้นที่ 0 คือไปคัดค้านหรือยกเลิกอันนั้นเสียก่อน แล้วก็เริ่มต้นจาก 0 คือมีการเจรจากันใหม่”


ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเกรงว่า การที่ไทยคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก จะนำไปสู่สงครามระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น ม.ล.วัลย์วิภา บอกว่า ความรุนแรงเป็นเรื่องที่น่าห่วงก็จริง แต่ก็มีกลไกที่สามารถจัดการได้หลายทาง ทั้งการเจรจาทางการทูต การเจรจาระดับทวิภาคี การประชุมเจบีซีของรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ การประชุมจีบีซีของทหารทั้ง 2 ฝ่าย หรือแม้แต่การหารือในระดับท้องถิ่นระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดของทั้ง 2 ฝ่าย

ม.ล.วัลย์วิภา ยังชี้ด้วยว่า การที่ 2 ประเทศคบกันหรือเป็นเพื่อนกัน ไม่ควรที่จะให้ประเทศใดประเทศหนึ่งมีความเหนือกว่าอีกประเทศหนึ่ง แต่จะต้องคบกันด้วยความเข้าใจ มีความโปร่งใส และไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ซึ่งส่วนตัวแล้วคิดว่า ถ้าไทยและกัมพูชาปกครองด้วยนิติรัฐ ก็น่าจะสามารถทำความเข้าใจกันได้!!
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เชื่อ ถ้านายกฯ กัมพูชา รู้เจตนาตน จะไม่เสียใจที่ไทยคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เตรียมเดินทางไปหารือนายกฯ กัมพูชา
พล.ท.วิบูลย์ศักดิ์ หนีพาล แม่ทัพภาคที่ 2
ศ.ดร.อดุล วิเชียรเจริญ อดีต ปธ.คณะกรรมการมรดกโลกไทย
ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ สถาบันไทยคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์
ประชาชนแสดงพลังคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช (27 มิ.ย.51)
กำลังโหลดความคิดเห็น