1. “พ.ร.ก.-พ.ร.บ.กู้เงิน” 8 แสน ล. ผ่านสภาฉลุย เตรียมเข้าสภาสูง 22 มิ.ย. ด้าน “อภิสิทธิ์”มั่นใจ ไม่สะดุด!
สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณากฎหมายที่สำคัญเกี่ยวกับการเงิน 3 ฉบับ คือ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 วงเงิน 4 แสนล้านบาท ,พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 วงเงิน 4 แสนล้านบาท และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2553 วงเงิน 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งก่อนจะถึงวันประชุมสภาฯ ในวันที่ 15 มิ.ย. ทางพรรคเพื่อไทยฝ่ายค้านได้ออกมาขู่ว่า หากไม่มีการถ่ายทอดสดการประชุมสภาทางโทรทัศน์ พรรคเพื่อไทยจะวอล์กเอ๊าท์ไม่เข้าร่วมประชุม ส่งผลให้รัฐบาลต้องยอมให้มีการถ่ายทอดสดทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทยตลอดการประชุมสภา เป็นที่น่าสังเกตว่า เช้าวันที่ 15 มิ.ย.ก่อนที่การประชุมสภาเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านจะเริ่มขึ้นในเวลา 09.30น. ปรากฏว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ได้เรียกประชุม ครม.นัดพิเศษ ในเวลา 08.30น. โดยที่ประชุมได้มีมติอนุมัติให้เพิ่มเติมโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 จำนวน 2 โครงการ วงเงิน 4,409 ล้านบาท คือ 1.โครงการด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา(อยู่ในความดูแลของพรรคชาติไทยพัฒนา) วงเงิน 2,459 ล้านบาท และ 2.โครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาท้องถิ่น ในส่วนของการก่อสร้างอาคารเรียนศูนย์เด็กเล็ก ของกระทรวงมหาดไทย(อยู่ในความดูแลของพรรคภูมิใจไทย) วงเงิน 1,950 ล้านบาท ทั้งนี้ การเพิ่มเติมโครงการดังกล่าวเข้าไปในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 1.56 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ต้องดึงเม็ดเงินจากการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทมาใช้ในโครงการไทยเข้มแข็ง เพิ่มขึ้นจากเดิม 231,311 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 235,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้เงินในส่วนที่จะนำไปปิดหีบชดเชยรายได้ของรัฐที่ขาดหายไป ต้องลดจำนวนลงด้วย จากเดิมที่ตั้งไว้ 2 แสนล้านบาท เหลือเพียง 1.5 แสนล้านบาท นอกจากนี้การแบ่งงบให้พรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาใน 2 โครงการดังกล่าว ยังทำให้แกนนำพรรคเพื่อแผ่นดิน นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง เกิดอาการน้อยใจและเสียความรู้สึกที่กระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้การดูแลของพรรคเพื่อแผ่นดินกลับไม่ได้รับงบอย่างที่ควรจะเป็น โดยนายชาญชัย ในฐานะรัฐมนตรีอุตสาหกรรม และหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน บอกว่า แม้พรรคไม่ได้รับงบเช่นพรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา แต่พรรคก็พร้อมสนับสนุน พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้าน “เพียงแต่เสียความรู้สึกเล็กน้อยที่กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกระทรวงสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้กับประเทศ ...กลับได้งบประมาณน้อยมาก จึงจะขอให้นายกฯ จัดสรรงบกลางลงมาให้กระทรวงอุตสาหกรรมด้วย” ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ยืนยันว่า การอนุมัติโครงการลงทุนของพรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ได้เป็นการเอาใจ 2 พรรคดังกล่าว และไม่ได้เป็นเรื่องการเมืองแต่อย่างใด เพราะตนเป็นคนสั่งให้ทำโครงการเสนอเอง เนื่องจากเกรงว่าโครงการดังกล่าวจะไม่ต่อเนื่อง พร้อมพูดทำนองปลอบนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดินว่า ยังสามารถพิจารณาเรื่องงบได้อีกในชั้นกรรมาธิการของสภา สำหรับบรรยากาศการประชุมสภาเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านนั้น หลังจากนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีคลัง ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผล ความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังกู้เงินฉบับนี้แล้ว ทางแกนนำพรรคเพื่อไทยฝ่ายค้านได้ทยอยอภิปรายโจมตีการออก พ.ร.ก.กู้เงินดังกล่าว เช่น นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า “ผมสงสัยว่ารัฐบาลจะให้สภาตีเช็คเปล่าให้เอางบประมาณไปลงในพื้นที่ต่างๆ โดยไม่มีการตรวจสอบหรือไม่ เพราะงบฯ ก้อนนี้ จะไปลงจังหวัดไหนก็ไม่รู้ จะลงทางใต้ที่เดียวหรือแถวบุรีรัมย์ที่เดียวก็ไม่รู้” ขณะที่นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า มีผู้ใหญ่การเมืองคนหนึ่งที่อยู่ต่างประเทศโทรทัพท์มาฝากบอกนายกฯ และรัฐมนตรีคลังว่า ยังเด็กอยู่ เพราะทำเป็นอยู่ 2 อย่าง คือ 1.ยืมเงินพ่อ คือเก็บภาษีประชาชน 2.ยืมเงินเพื่อน คือการกู้เงิน และว่า รัฐบาลชุดนี้เก่งใน 4 ก. คือ 1.แก้ตัว 2.กู้ 3.เก็บภาษี และ 4.โกงกิน ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีคลัง ชี้แจงว่า รัฐบาลขอให้ความเชื่อมั่นต่อสภาว่า จะดำเนินการกู้เงินและใช้จ่ายด้วยความโปร่งใส โดยยึดถือประโยชน์ของประชาชนชาวไทยเป็นที่ตั้ง ทั้งนี้ หลังที่ประชุมสภาใช้เวลาอภิปราย พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านเป็นเวลา 14 ชม. จึงได้มีการลงมติ ซึ่งที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 248 ต่อ 128 งดออกเสียง 3 และไม่ลงคะแนน 18 เสียง ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ บอกว่า เมื่อ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านผ่านสภาแล้ว ก็ต้องผ่านวุฒิสภาที่จะประชุมในวันที่ 22 มิ.ย.อีก จากนั้นกระทรวงการคลังก็จะดำเนินการกู้เงินใน 2 ลักษณะ คือ 1.การออกพันธบัตร ที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปซื้อ โดยรอบแรกจะออก 3 หมื่นล้านบาท และ 2.เป็นการกู้ยืมเงินในระบบธนาคาร เพื่อผสมผสานกัน เพราะไม่ต้องการให้กระทบกระเทือนเรื่องอัตราดอกเบี้ยในตลาดมากเกินไป ส่วนการใช้จ่ายเงินนั้น ขณะนี้มีโครงการที่มีความพร้อมอยู่แล้ว โดยจะมีคณะกรรมการติดตามกำกับการใช้จ่ายเงินที่มี ดร.พนัส สิมะเสถียร ประธานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เป็นประธาน สำหรับบรรยากาศการประชุมสภาวันที่ 16 มิ.ย.ซึ่งเป็นการพิจารณา พ.ร.บ.กู้เงินอีก 4 แสนล้านนั้น พรรคเพื่อไทยก็ยังคงอภิปรายโจมตีการออก พ.ร.บ.ดังกล่าว เช่น นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า เนื้อหาของ พ.ร.ก.และ พ.ร.บ.กู้เงิน วงเงิน 8 แสนล้าน มีสาระไม่แตกต่างกัน และส่อนัยยะใช้วิธีพิเศษว่าจะไปกู้เป็นเงินบาทหรือเงินต่างประเทศก็ได้ และว่า “วันนี้รัฐบาลไม่ได้มาดับไฟ แต่กำลังมาสุมไฟและเผาบ้านซ้ำอีก ถ้าสมาชิกสภายินยอมให้ พ.ร.บ.นี้ผ่านสภา คนที่โหวตรับ ก็เท่ากับว่าไม่มีความคิด การกู้เงินครั้งนี้จะเป็นมรดกบาปจากเงินปากถุง เกิดการทุจริต เพราะทุกอย่างส่อไปในวิธีพิเศษ” ทั้งนี้ แกนนำพรรคเพื่อไทยยังอ้างด้วยว่า การกู้เงินตามกฎหมายฉบับนี้ ไม่มีแผนโครงการที่ชัดเจน ทำให้ประชาชนเป็นหนี้สิน และไม่มั่นใจการใช้เงินของรัฐบาล จึงไม่ขอสนับสนุนและไม่สามารถร่วมตั้งกรรมาธิการวิสามัญได้ พร้อมขอให้รัฐบาลถอนร่างดังกล่าวออกไป จากนั้น สมาชิกพรรคเพื่อไทยได้วอล์กเอ๊าท์ออกจากห้องประชุม ด้านนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ จึงได้สั่งปิดการอภิปรายก่อนลงมติ โดยที่ประชุมมีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน ด้วยคะแนน 247 ต่อ 0 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 18 เสียง จากนั้นที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาเพื่อพิจารณาในวาระ 2 ตามที่นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และประธานวิปรัฐบาลเสนอ โดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน และหลังการแปรญัตติ ที่ประชุมได้มีมติยืนตามร่างเดิมด้วยคะแนน 239 ต่อ 1 ไม่ลงคะแนน 16 เสียง ก่อนจะมีการลงมติในวาระ 3 ด้วยคะแนน 244 ต่อ 0 ไม่ลงคะแนน 19 เสียง ด้านนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา และแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. พูดถึงกรณีที่สภาฯ ผ่านร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 3 วาระรวดว่า ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลต่างเล่นเกมการเมืองเอาชนะคะคานกันมากเกินไป เหมือนเอาประเทศเป็นของเล่น เพราะหากพิจารณาตามปกติ จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา และทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบแผนการโครงการต่างๆ ที่จะเอาเงินไปใช้ได้ เมื่อเป็นแบบนี้ การพิจารณา พ.ร.ก.และ พ.ร.บ.กู้เงิน 8 แสนล้านของวุฒิสภาในสัปดาห์หน้า ส.ว.จะได้ชี้ให้เห็นถึงการกู้เงินที่ยังไม่มีการวางแผนการใช้งบประมาณในโครงการใดใดอย่างชัดเจน และว่า กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ คงมี ส.ว.บางส่วนไม่ยกมือให้ผ่าน ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ยืนยัน การวอล์กเอ๊าท์ของฝ่ายค้าน ไม่ได้เป็นการเล่นการเมือง แต่เพราะร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้แนบรายละเอียดมาด้วย ฝ่ายค้านจึงไม่สามารถร่วมพิจารณาได้ ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ มั่นใจว่า พ.ร.บ.กู้เงินจะผ่านการพิจารณาของวุฒิสภา เพราะรัฐมนตรีคลังได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการและคณะทำงานของ ส.ว.แล้วเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. เป็นที่น่าสังเกตว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทยยังคงมีความพยายามจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ก.และ พ.ร.บ.กู้เงินอีกครั้งว่า ขัดต่อ รธน.หรือไม่ จากที่ก่อนหน้านี้เคยยื่นไปแล้วครั้งหนึ่ง และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยืนยันว่าไม่ขัด รธน.มาตรา 184 และ 185 เพราะถือว่าสถานการณ์ขณะนี้อยู่ในภาวะจำเป็นเร่งด่วนทางเศรษฐกิจ จึงสามารถออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านได้ อย่างไรก็ตาม คราวนี้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยจะเข้าชื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฎหมายกู้เงินทั้ง 2 ฉบับ ขัดต่อ รธน.มาตรา 166 และ 169 หรือไม่ เพราะมาตราดังกล่าวระบุว่า การจ่ายเงินแผ่นดิน จะทำได้ด้วยงบประมาณรายจ่ายเท่านั้น ซึ่งพรรคฯ เห็นว่า การออก พ.ร.ก.และ พ.ร.บ.กู้เงิน เป็นเพียงการขออำนาจในการหาเงินเท่านั้น หากรัฐบาลจะใช้เงินกู้ดังกล่าว ต้องออก พ.ร.บ.มาอีกฉบับหนึ่ง เพื่อชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้งบ สำหรับบรรยากาศการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 เมื่อวันที่ 17-18 มิ.ย. ซึ่งรัฐบาลตั้งไว้ไม่เกิน 1.7 ล้านล้านบาทนั้น ปรากฏว่า หลัง ส.ส.พรรคเพื่อไทยฝ่ายค้านได้ทยอยอภิปรายโจมตีการจัดทำงบของรัฐบาลแล้ว ในที่สุด ที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยคะแนน 244 ต่อ 3 งดออกเสียง 18 ไม่ลงคะแนน 99 เสียง จากนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวใน 30 วัน โดยจะเริ่มประชุมนัดแรกวันที่ 23 มิ.ย.นี้ ทั้งนี้ มีข่าวด้วยว่า ก่อนหน้าการประชุมสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ นายวิทยา บูรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้าน ได้เข้าหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เพื่อต่อรองให้มีการกระจายงบของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกรมทางหลวงชนบทให้ลงพื้นที่ของ ส.ส.ฝ่ายค้านด้วย เพื่อแลกกับการที่ฝ่ายค้านจะโหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ อย่างไรก็ตาม นายวิทยาได้ออกมาปฏิเสธในภายหลังว่าไม่ได้มีการต่อรองเรื่องงบกับนายกฯ แต่อย่างใด
2. สภา สะเทือน 16 ส.ว.ส่อปิ๋ว ขณะที่ 29 ส.ส.จ่อคิว ฐานถือหุ้นสัมปทานรัฐ-ขัด รธน.!
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ได้มีมติ 3 ต่อ 1 ให้สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) 16 คน สิ้นสุดสมาชิกภาพ เนื่องจากถือหุ้นสัมปทานรัฐ อันเป็นการขัด รธน. โดยหลังจากนี้ กกต.จะส่งเรื่องไปยังประธานวุฒิสภา เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้ง สำหรับการวินิจฉัยของ กกต.ครั้งนี้ สืบเนื่องจากที่นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย เมื่อครั้งเป็นรองโฆษกพรรคพลังประชาชน และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ได้ยื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบ ส.ว.37 ราย และ ส.ส.อีกจำนวนหนึ่ง โดยอ้างว่าเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชน และถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานหรือเป็นคู่สัญญากับรัฐ ในลักษณะผูกขาดตัดตอน ซึ่งถือว่าฝ่าฝืน รธน.มาตรา 48 ประกอบมาตรา 265(2) และ (4) อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพการเป็น ส.ว.ต้องสิ้นสุดลงตามมาตรา 119(5) ทั้งนี้ กกต.เสียงข้างมากพิจารณาแล้วเห็นว่า มี ส.ว.16 คนต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพ ขณะที่ ส.ว.อีก 20 คน กกต.มีมติเอกฉันท์ว่าไม่ขัด รธน.ไม่ต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส่วน ส.ว.อีก 1 คนลาออกก่อน จึงให้ยกคำร้องส่วนนั้นไป สำหรับ 16 ส.ว.ที่ต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพ ประกอบด้วย 1.นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา 2.ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ตรึงใจ บูรณสมภพ ส.ว.สรรหา 3.นายถาวร ลีนุตพงษ์ ส.ว.สรรหา 4.นายบุญชัย โชควัฒนา ส.ว.สรรหา 5.นายพิชัย อุตมาภินันท์ ส.ว.สรรหา 6.นางพรพันธุ์ บุญรัตพันธุ์ ส.ว.สรรหา 7.นายวรวุฒิ โรจนพานิช ส.ว.สรรหา 8.นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล ส.ว.กาฬสินธุ์ 9.นายสุพจน์ เลียดประถม ส.ว.ตราด 10.นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ส.ว.พิษณุโลก 11.นายจรัล จึงยิ่งรุ่งเรือง ส.ว.สระบุรี 12.พล.ต.อ.โกวิท ภักดีภูมิ ส.ว.อ่างทอง 13.นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ 14.นายจิตตพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ 15.นายสมชาติ พรรณพัฒน์ ส.ว.นครปฐม 16.รศ.อัจฉรา เตชฤทธิพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ส่วน ส.ว.อีก 20 คนที่ กกต.วินิจฉัยว่าถือหุ้นไม่ขัด รธน.ได้แก่ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ,นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา ,นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา ,นางทัศนา บุญทอง ส.ว.สรรหา และนายนิคม ไวยรัชพานิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา ฯลฯ สำหรับ ส.ว.1 คนที่ กกต.ยกคำร้อง เพราะเจ้าตัวลาออกไปก่อนหน้านี้แล้ว ก็คือ ผศ.ทิพวัลย์ สมุทรักษ์ อดีต ส.ว.สรรหา ทั้งนี้ นอกจาก ส.ว.16 คนจะถูก กกต.วินิจฉัยว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพแล้ว ยังมี ส.ส.อีก 80 คนที่ถูกร้องให้ กกต.ตรวจสอบเช่นกัน โดย กกต.จะใช้บรรทัดฐานเดียวกับการวินิจฉัย ส.ว. ซึ่ง กกต.ได้แยกแยะรายชื่อบริษัทที่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายที่ห้าม ส.ส.และ ส.ว.ถือหุ้นทั้งก่อนและหลังเข้ารับตำแหน่งว่า มี 14 บริษัท ส่วนบริษัทที่ไม่เข้าข่ายต้องห้ามมี 21 บริษัท ดังนั้นหาก ส.ส.คนใดถือหุ้น 14 บริษัทต้องห้าม ก็จะต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพเช่นกัน โดยมีรายงานว่า ในจำนวน ส.ส.80 คนที่ถูกร้องนั้น อาจมี ส.ส.29 คนที่ต้องพ้นสมาชิกภาพ คาดว่า จะเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 22 คน ฝ่ายค้าน 7 คน สำหรับ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล อาจเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ถึง16 คน ซึ่งหาก ส.ส.รัฐบาลต้องพ้นสมาชิกภาพ 22 คนจริงๆ จะส่งผลให้รัฐบาลมีเสียงสนับสนุนปริ่มน้ำแค่ 241 เสียง ซึ่งเกินกึ่งหนึ่งเพียง 1 เสียงเท่านั้น จะกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลได้ ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ซึ่งถูกร้องว่าถือหุ้นบริษัท ทีพีไอโพลีน ,ทรูคอร์ปอเรชั่น และบริษัท ธนายง บอกว่า ได้ขายหุ้นดังกล่าวไปนานแล้วตั้งแต่ก่อนรับตำแหน่งรองนายกฯ และว่า เรื่องนี้ต้องไปสู้ที่ศาล กฎหมายว่าอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น ขณะที่นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา บอก หากได้รับเรื่องจาก กกต.แล้ว จะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นจะส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าความเห็นจะออกมาอย่างไร นายประสพสุข ยอมรับด้วยว่า หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นตาม กกต.ทำให้ ส.ว.16 คนต้องพ้นสมาชิกภาพ จะส่งผลให้องค์ประกอบของ ส.ว.ไม่ถึงร้อยละ 95 และ ส.ว.ที่เหลือจะทำงานไม่ได้ ทำให้คล้ายกับเกิดภาวะสุญญากาศ พิจารณากฎหมายไม่ได้ ต้องรอให้เลือกตั้งหรือสรรหามาให้เกินร้อยละ 95 ด้านนายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็น 1 ในผู้ยื่นเรื่องให้ กกต.วินิจฉัยคุณสมบัติของ ส.ส.-ส.ว.เมื่อครั้งเป็นรองโฆษกพรรคพลังประชาชน ยืนยันว่า การยื่นคำร้องของตนไม่ใช่สาเหตุส่วนตัว แต่ทำหน้าที่ตามกฎหมาย ณ ห้วงเวลานั้น และว่า พรรคภูมิใจไทยต้องตรวจสอบว่า ส.ส.พรรคคนไหนได้รับผลกระทบบ้าง หากจะเลือกตั้งใหม่ พรรคคงจะส่งคนเดิมลงสมัคร ผู้สื่อข่าวถามว่า หลัง กกต.มีมติดังกล่าว ได้ต่อสายพูดคุยกับนายกฯ และนายสุเทพหรือไม่ นายศุภชัย บอกว่า “นายกฯ ได้บอกกับผมว่า เป็นผู้ก่อการตัวสำคัญ ส่วนนายสุเทพได้บอกว่า ไม่น่าทำกันเลย" ด้านพรรคเพื่อไทยได้ที รีบปูดข่าวอาจมีการเปลี่ยนขั้วให้พรรคได้เป็นรัฐบาล โดยนายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย พูดถึงกรณีที่ ส.ส.และ ส.ว.จำนวนมากอาจต้องพ้นสมาชิกภาพว่า เป็นเรื่องกฏแห่งกรรม และเป็นปัญหาของ รธน.ที่ไม่มีใครเคยเห็น และว่า หาก ส.ส.-ส.ว.ขาดคุณสมบัติจำนวนมาก จะทำให้การเมืองถึงทางตัน นายอภิสิทธิ์ต้องประกาศยุบสภาเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ นายประชา อ้างด้วยว่า “ผมทราบมาว่า ขณะนี้แกนนำพรรคการเมืองต่างๆ ประสานเพื่อพยายามเปลี่ยนขั้วทางการเมืองอีกครั้ง เพื่อไม่ให้การเมืองสะดุด และครั้งนี้พรรคเพื่อไทยมีโอกาสเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล” อย่างไรก็ตาม มีความเห็นจากอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายจุมพล ณ สงขลา โดยบอกว่า ส่วนตัวแล้วมองว่า การถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทเอกชนต่างๆ เป็นเรื่องปกติ ชาวบ้านทั่วไปถือครองได้ไม่มีปัญหา ไม่ใช่เรื่องคดโกงบ้านเมือง แต่ รธน.ฉบับนี้ยิบย่อย ทำให้เรื่องเล็กๆ กลายเป็นเรื่องใหญ่ และว่า ในฐานะอดีตตุลาการรัฐธรรมนูญ เห็นว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญว่าจะวินิจฉัยอย่างไร ถ้ายึดตามกฎหมายแต่บ้านเมืองแตกแยก ก็ไม่ควรเอาผิดคนเหล่านี้ เชื่อว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคนละทางกับ กกต.แน่นอน
3. รบ.ไทย เตรียมยื่นยูเนสโกค้าน “พระวิหาร”มรดกโลก ด้าน “ฮุน เซน”กร้าว พร้อมเปิดศึก!
เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ประชุม ครม.ได้พิจารณาเรื่องการทำหนังสือคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งเสนอโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เผยว่า ที่ประชุม ครม.ได้มีมติมอบให้คณะผู้แทนไทย ซึ่งเป็นกรรมการมรดกโลก เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่จะประชุม ครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่ 22-30 มิ.ย.นี้ ที่เมืองเซบีย่า ประเทศสเปน เพื่อให้ทราบจุดยืนและท่าทีของประเทศไทยต่อการคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยไทยต้องการให้ยูเนสโกทราบว่า สิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ น่าจะขัดกับหลายๆ อย่าง นอกจากขัดกับระเบียบปฏิบัติและธรรมนูญของมรดกโลกของยูเนสโกแล้ว ยังทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นระหว่างไทยและกัมพูชา “เราจะขอให้ยูเนสโกทบทวนว่า สิ่งที่เขาทำอยู่นั้นขัดกับวัตถุประสงค์ของการตั้งองค์กรและทำเรื่องมรดกโลก เพราะแทนที่จะเป็นพื้นที่ซึ่งเราสามารถอนุรักษ์วัฒนธรรม และทำให้ประชาชนทั้งสองฝั่ง และนักท่องเที่ยวเข้าไปชมและสัมผัสความงดงามของวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ กลับกลายเป็นความขัดแย้งเพิ่มขึ้น เรื่องนี้ควรจะทบทวน...” นายอภิสิทธิ์ บอกด้วยว่า หากขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหารร่วมกันได้ จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ทั้งนี้ หลังมีข่าวไทยเตรียมยื่นคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ปรากฏว่า สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกฯ ของกัมพูชา ได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อท่าทีของรัฐบาลไทย “ผมคิดว่า คำกล่าวของนายกฯ ไทยเป็นสิ่งที่กระทบต่อสันติสุขของประเทศอื่น” และว่า “ผมรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่อความคิดเห็นและความมุ่งหมายของเขา(นายกฯ ไทย) โดยขณะที่เขาเดินทางเยือนกัมพูชาเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. เขาก็ไม่ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุยกับผมเลย แต่ผมคิดว่าความต้องการของเขาไม่น่าจะประสบความสำเร็จ...” ด้านนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าทีมผู้แทนรัฐบาลไทยที่จะเดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ประเทศสเปน ชี้ว่า การที่คณะกรรมการมรดกโลกยินยอมให้ปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น นอกจากผิดประเด็นที่ไม่มีองค์ประกอบหลักที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ คืออาณาบริเวณโดยรอบแล้ว ยังทำให้ 2 ประเทศที่มีพรมแดนติดกัน เกิดปัญหาความขัดแย้งมีความรุนแรงถึงขั้นมีการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งขัดกับวัตถุประสงค์ของยูเนสโกชัดเจนมาก นายสุวิทย์ ยังย้ำด้วยว่า “เราไม่ได้ประท้วงกัมพูชา แต่เราจะไปคัดค้านยูเนสโก ...เราจะบอกพร้อมกับแสดงหลักฐานประกอบอย่างชัดเจน และผมคิดว่าคณะกรรมการจะเชื่อและเห็นใจเรา” ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ พูดถึงกรณีที่ไทยเตรียมยื่นขอให้คณะกรรมการมรดกโลกทบทวนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยยืนยันเช่นกันว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ปัญหาของไทยกับกัมพูชา แต่เป็นของไทยกับยูเนสโกที่ต้องประท้วงยูเนสโกว่า สิ่งที่พิจารณาตอนนั้นทำผิดระเบียบขั้นตอน ซึ่งจะพยายามพูดคุยกับสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งรอบใหม่ “คงต้องหาเวลาไปพูดคุยกับสมเด็จฯ ฮุน เซน เพื่อทำความเข้าใจไม่ให้เกิดการยิงสลุตใส่กัน ส่วนตัวระหว่างผมกับสมเด็จฯ ฮุน เซน ก็มีไมตรีกันอยู่...” ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ พูดถึงกรณีที่สมเด็จฯ ฮุน เซน เสียใจต่อท่าทีของรัฐบาลไทยที่เตรียมคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกว่า “เชื่อว่า เมื่อสมเด็จฯ ฮุน เซน ทราบถึงเจตนาของตน จะไม่มีอะไรทำให้เสียใจ ยืนยันแนวทางการแก้ปัญหายังคงเดิม คือปรารถนาจะเดินหน้าร่วมมือในทุกๆ ด้านกับกัมพูชาอย่างเต็มที่ แต่เรื่องที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือ ความสงบสุข สันติในพื้นที่” ขณะที่นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ก็ยืนยันเช่นกันว่า การยื่นคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เป็นเรื่องระหว่างไทยกับคณะกรรมการมรดกโลกและยูเนสโก ไม่ใช่เรื่องระหว่างไทยกับกัมพูชา อย่างไรก็ตาม ทางกัมพูชายังคงแสดงความไม่พอใจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา นายไพ สีปาน ได้ออกมาบอก(19 มิ.ย.)ว่า “ปราสาทพระวิหารได้รับการบรรจุให้เป็นมรดกโลกแล้ว จึงเชื่อว่าประชาคมระหว่างประเทศคงจะไม่ตกหลุมพรางหรือกลอุบายอันไร้อารยธรรมของไทย” ขณะที่นายฮอ นัมฮง รองนายกฯ และรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา ก็ออกอาการกร้าวถึงขั้นพร้อมจะสู้รบกับไทย “นี่เป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่และร้ายแรงครั้งหนึ่งที่ผู้นำไทยสร้างขึ้น หากพวกเขาต้องการจะทำให้เกิดความขัดแย้งถึงขั้นสู้รบอีกเป็นคำรบ 3 เราก็ยินดี วันนี้เรารู้แล้วว่า แม่ทัพภาค 2 ของไทยได้จัดวางกำลังเตรียมพร้อมไว้แล้ว ฝ่ายเราพร้อมที่จะสู้ แต่สถานการณ์ในขณะนี้ยังถือว่าสงบอยู่...”
4. “อนุพงษ์” ส่งหน่วยรบพิเศษ 3 กองร้อยสู้โจรใต้ ด้าน “สุเทพ” เผย ได้ดีเอ็นเอคนร้ายถล่มมัสยิดแล้ว!
ความคืบหน้าสถานการณ์ไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังคนร้ายก่อเหตุรุนแรงมากขึ้น ทั้งการกราดยิงชาวไทยมุสลิมที่กำลังละหมาดในมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอร์ปาแย จ.นราธิวาส จนมีผู้เสียชีวิต 10 ราย และบาดเจ็บอีก 12 ราย และการยิงพระสงฆ์จนมรณภาพ 1 รูป และบาดเจ็บสาหัส 1 รูป ที่ จ.ยะลา ตลอดจนการปาระเบิดใส่รถเมล์ จนมีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีก 14 ราย ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ได้ควง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ลงพื้นที่(13 มิ.ย.)ปลอบขวัญชาวบ้านหลังเกิดเหตุคนร้ายยิงถล่มมัสยิด พร้อมรับปาก รัฐบาลจะพยายามแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ให้ได้ใน 3 ปีนั้น ปรากฏว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ได้ออกมายืนยันว่า จะไม่แก้ปัญหาภาคใต้ด้วยการใช้ความรุนแรง แต่จะเน้นการพัฒนาและใช้การเมืองนำการทหาร พร้อมปิดประตูไม่เจรจากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เพราะเกรงจะเข้าทางกลุ่มดังกล่าวที่ต้องการยกระดับปัญหาสู่เวทีนานาชาติ “สิ่งหนึ่งที่ฝ่ายตรงข้ามต้องการมากคือการเจรจา เพื่อที่จะดึงประเทศ 2-3-4-5 เข้ามา จะยิ่งเป็นการแสดงออกว่า ปัญหานี้ต้องยกระดับสู่นานาชาติ ตรงนี้ไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล” ด้านแกนนำพรรคเพื่อไทย เสนอแนวทางแก้ปัญหาใต้ให้นายกฯ 4 ข้อ 1.ให้เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ จากนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย เป็นนายนิพนธ์ บุญญามณี ซึ่งเป็นผู้ที่ศึกษาปัญหาในพื้นที่มาตลอด 2.ให้พรรคประชาธิปัตย์ใช้โครงการราษฎร์ รัฐร่วมดับไฟใต้ 3.คืนความเป็นธรรมและให้เจ้าหน้าที่รัฐบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนในพื้นที่อย่างเท่าเทียม และ 4.งบฯ พัฒนาภาคใต้ 1.8 หมื่นล้านบาท ต้องพัฒนาและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่การสร้างภาพแบบลูบหน้าปะจมูก ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากได้เรียกประชุม ส.ส.ของพรรคใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ยังได้ให้ข้อคิดในการแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ด้วยว่า รัฐบาลต้องฟังข้อมูลจาก ส.ส.ในพื้นที่ให้มาก ไม่ว่ามาจากพรรคใดก็ตาม ต้องไม่มองข้ามมวลชนส่วนใหญ่ อย่าสร้างเงื่อนไขให้เกิดการเจ็บแค้น อย่าใช้วิธีอุ้มฆ่า ให้ใช้ความเด็ดขาดทางกฎหมายแทน นายชวน ยังเตือนด้วยว่า อย่าเอานโยบายด้านความมั่นคงมาลองผิดลองถูกในการแก้ปัญหาใต้ “ต้องศึกษาให้รอบคอบ กรณีที่จะจัดตั้ง สบ.ชต.(สำนักงานบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้)มาแก้ปัญหา ก็ต้องดูว่าดีกว่าของเดิมหรือไม่ ถ้าไม่ดีก็ต้องเปลี่ยน ทุกคนต้องอ่านประวัติศาสตร์” เป็นที่น่าสังเกตว่า สถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. คนร้ายได้ฆ่าตัดคอคนงานรับจ้างกรีดยางที่ จ.ยะลา พร้อมนำหัวเสียบประจาน โดยทิ้งใบปลิวอ้างว่า เป็นการล้างแค้นให้ผู้บริสุทธิ์ที่เจ้าหน้าที่ฆ่าในมัสยิด ฯลฯ สำหรับความคืบหน้าการติดตามคนร้ายที่กราดยิงชาวบ้านขณะละหมาดในมัสยิดนั้น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เผย(19 มิ.ย.)ว่า เจ้าหน้าที่รายงานว่าได้หลักฐานเป็นดีเอ็นเอแล้ว แต่ยังไม่ให้เปิดเผยรายละเอียด แต่ยืนยันว่า ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองอย่างที่ใครต้องการให้เป็น “ผมได้เร่งรัดไปว่า ต้องออกหมายจับดำเนินคดีให้ได้ และได้ย้ำคำสั่งของนายกฯ ว่า 1.กระบวนการสืบสวนสอบสวนต้องมีความโปร่งใส 2.ต้องได้ตัวจริง ไม่มีแพะ 3.ต้องอธิบายกับสังคมได้” ส่วนความพยายามแก้ปัญหาภาคใต้ของฝ่ายทหารนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ได้ใช้มาตรการเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินการกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ ด้วยการส่งกำลังเจ้าหน้าที่จากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จ.ลพบุรี จำนวน 3 กองร้อย กระจายลงจังหวัดชายแดนภาคใต้จังหวัดละ 1 กองร้อยตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.โดยมีกำหนดปฏิบัติภารกิจในพื้นที่หลักๆ ที่มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหรือพื้นที่สีแดงจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ พูดถึงการส่งกำลังทหารดังกล่าวลงใต้ 3 กองร้อยว่า เป็นเรื่องที่ฝ่ายความมั่นคงจะต้องทำต่อเนื่อง เพื่อดูแลความปลอดภัยไม่ให้มีคนกระทำผิดอีก ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ยืนยันว่า “กำลังจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษที่ลงไป เพื่อดูแลประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างความเข้าใจและดูแลความปลอดภัย โดยกำลังส่วนหนึ่งยังต้องทำหน้าที่ปฏิบัติการเชิงรุกอยู่” ด้านทหารชุดเฉพาะกิจ 15 ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บันนังสตา จ.ยะลา เข้าปิดล้อมหมู่บ้านเป้าหมายในพื้นที่บ้านตือระ หมู่ 8 อ.บันนังสตาเมื่อเย็นวันที่ 18 มิ.ย. โดยมีการปะทะกับกลุ่มคนร้าย จนคนร้ายเสียชีวิต 4 ศพ และจับคนร้ายได้อีก 5 คน ด้าน พล.ต.ท.พีระ พุ่มเชฎฐ์ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศชต.) บอกว่า คนร้ายที่เสียชีวิตทั้ง 4 ศพ มีประวัติยิงรถตู้โดยสารสายหาดใหญ่-เบตง ที่ จ.ยะลา และฆ่าตัดคอประชาชนในสวนยาง รวมทั้งยิง ส.ต.ต.เกรียงไกร พานแก้ว สังกัดหน่วยปฏิบัติการพิเศษ สภ.บันนังสตาเสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีความเชื่อมโยงกับคดียิง ร.ต.อ.ธรนิศ ศรีสุข หรือหมวดแคน และ ร.ต.ต.กฤติกุล บุญลือ หรือหมวดตี้ โดยพบอาวุธปืนขนาด 9 มม.ของหมวดแคนในมือของคนร้ายที่เสียชีวิต
5. ยอดผู้ป่วยหวัดใหญ่ 2009 ทะลุ 700 รายแล้ว ด้าน “สธ.”คาด เชื้อระบาดมากสุด ก.ค.นี้!
ยอดผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในไทยยังคงพุ่งไม่หยุด หลังจากเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั้งหมดอยู่ที่ 106 ราย ปรากฏว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยวันที่ 14 มิ.ย. กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 เพิ่มอีก 44 คน รวมเป็น 150 คน ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ได้ออกมาวอนประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับเชื้อดังกล่าว “จริงๆ แล้ว ขณะนี้ทั่วโลกเราดูสถิติได้ชัดว่า อัตราการตายจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ต่ำมาก ต่ำกว่าไข้หวัดใหญ่ปกติด้วยซ้ำ ตรงนี้ทำให้เราอาจไม่ต้องไปตื่นตระหนกตกใจกับการเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่แก้ไข แต่การแก้ไขต้องยอมรับว่าไม่ง่าย...” วันต่อมา(15 มิ.ย.) กระทรวงสาธารณสุข พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 เพิ่มอีก 51 คน รวมเป็น 201 คน ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีสาธารณสุข บอกว่า กระทรวงสาธารณสุขประเมินว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 จะรุนแรงที่สุดในเดือน ก.ค. ดังนั้นจะวางมาตรการให้เข้มงวดขึ้น วันต่อมา(16 มิ.ย.) กระทรวงสาธารณสุข พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 เพิ่มอีก 109 คน รวมเป็น 310 คน ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำสมุดปกเขียว 1 ล้านเล่ม แจกให้ประชาชนและโรงเรียนต่างๆ เพื่อแนะนำแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ 2009 วันต่อมา(17 มิ.ย.) พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 เพิ่มอีก 95 คน รวมเป็น 405 คน ด้าน นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกในวันเดียวกันว่า ขณะนี้พบผู้ป่วยใน 32 จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง โดยพบผู้ป่วยมากสุดใน กทม. ขณะที่นายศัจธร วัฒนะมงคล ผู้อำนวยการสำนักกิจการพิเศษ สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เผยว่า มีโรงเรียนประกาศหยุดเรียนเพื่อทำความสะอาดโรงเรียนให้ปลอดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 แล้ว 23 แห่ง โดยมีนักเรียนและนักศึกษายืนยันว่าติดเชื้อดังกล่าว 73 คน จาก 13 สถานศึกษา วันต่อมา(18 มิ.ย.) กระทรวงสาธารณสุข พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 เพิ่มอีก 113 คน รวมเป็น 518 คน โดยมีผู้ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังอีก 1,098 คน ด้าน นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เผยว่า มีนักเรียนติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ทั้งสิ้น 73 โรงเรียน และ 9 มหาวิทยาลัย ด้านวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีสาธารณสุข วอนโรงพยาบาลเอกชนให้คิดค่าบริการตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ในราคาที่เป็นธรรม โดยบอกว่า “ขณะนี้มีโรงพยาบาลเอกชนส่งตัวอย่างเชื้อมาตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มากถึงวันละ 100-150 ตัวอย่าง และมีค่าตรวจครั้งละ 4,000 บาท แต่โรงพยาบาลเอกชนกลับคิดค่าบริการจากผู้ป่วยสูง 3,000-8,000 บาท จึงขอให้โรงพยาบาลเอกชนคิดค่าบริการกับประชาชนในราคาที่เป็นธรรม หากมีเรื่องร้องเรียน กระทรวงฯ จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป” ด้าน นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา บอกว่า สาเหตุที่การตรวจหาเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ในโรงพยาบาลเอกชนมีราคาแพง เพราะบริษัทยาขึ้นราคาน้ำยา และน้ำยาขาดตลาด แต่ขอเตือนประชาชนอย่าตื่นเต้นจนเกินเหตุ แล้วเสียเงินโดยไม่จำเป็น และแพทย์ก็ไม่ควรให้ยาโดยไม่จำเป็น ไม่ควรบังคับให้คนไข้นอนโรงพยาบาลทั้งที่ไม่เป็นอะไร หากผู้ป่วยพบว่าแพทย์หรือสถานพยาบาลใดพยายามทำให้สิ้นเปลืองเงินโดยไม่จำเป็น แจ้งมายังแพทยสภาให้ตรวจสอบได้ และหากแพทย์หรือโรงพยาบาลใดอ้างว่า มีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 จะถือว่ามีความผิด เพราะขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อดังกล่าว วันต่อมา(19 มิ.ย.) พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 เพิ่มอีก 71 คน รวมเป็น 589 คน วันที่ 20 มิ.ย. พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 73 คน รวมเป็น 662 คน และล่าสุด วันนี้(21 มิ.ย.) กระทรวงสาธารณสุข พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 เพิ่มอีก 43 คน รวมเป็น 705 คน ด้าน นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค บอกว่า สาเหตุที่จำนวนผู้ติดเชื้อลดจำนวนลงจากเมื่อวานนี้ น่าจะมาจากมาตรการป้องกันโรคในโรงเรียนได้ผล ทั้งการหยุดเรียน และทำความสะอาดโรงเรียน อย่างไรก็ตาม นพ.มล.สมชาย บอกว่า ต้องติดตามดูสถานการณ์ของโรคในประเทศอีก 2-3 วัน จึงจะทราบผลที่แน่ชัด เพราะการลดลงของจำนวนผู้ป่วย อาจเป็นเหมือนคลื่นที่อาจกลับมามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีกเมื่อไหรก็ได้ ฉะนั้นต้องไม่ประมาท.