1. ปชช. สวมเสื้อหลากสีถวายราชสดุดี “ในหลวง” ด้าน “อภิสิทธิ์”นำ ครม.ถวายสัตย์-จะซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นคุณธรรม!
เมื่อวันที่ 5 พ.ค.(เวลา 10.43น.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ในการประกอบพระราชพิธีฉัตรมงคล เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 60 แห่งพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีคณะองคมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ทั้งบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ถนนราชดำเนิน และท้องสนามหลวง โดยมีประชาชนสวมเสื้อหลากสีมาร่วมแสดงความจงรักภักดีอย่างเนืองแน่นตั้งแต่ลานพระบรมรูปทรงม้ายาวถึงท้องสนามหลวง ส่วนที่ทำเนียบรัฐบาล ได้มีการจัดงานสโมสรสันนิบาต พร้อมจุดเทียนชัยถวายพระพร โดยในช่วงค่ำ(19.09น.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ได้นำกล่าวถวายพระพรชัยมงคล พร้อมให้คำมั่นว่า “ข้าพเจ้าจะยึดมั่นแนวทางซื่อสัตย์ สุจริต พอเพียง สงบสุข ยึดมั่นสร้างสรรค์ดีงาม เจริญรอยตามพระยุคลบาท ขอตั้งจิตอธิษฐานให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน” โอกาสนี้ นายอภิสิทธิ์ ได้นำ ครม.กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณด้วยว่า “ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะปฏิบัติตนโดยยึดมั่นต่อชาติ แผ่นดินไทย อันเป็นถิ่นกำเนิดที่อาศัยผาสุกร่มเย็น จะยึดมั่นปฏิบัติตนตามคำสอนศาสนา อยู่ในคุณธรรมความดีทั้งกาย วาจา และใจ เทิดทูนพระมหากษัตริย์ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงนำความเจริญเป็นปึกแผ่น และจะยึดถือความวิริยะอุตสาหะ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอดทน และเสียสละเพื่อดำรงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ภายใต้การปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะที่สถานีโทรทัศน์ทุกช่องกำลังถ่ายทอดสดงานสโมสรสันนิบาต เนื่องในวันฉัตรมงคล เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรากฏว่า ในส่วนของสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ(หรือไทยพีบีเอส) ได้มีเสียงเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” แทรกในช่วงที่มีการถวายราชสดุดีและถวายพระพรชัยมงคล ยาวประมาณ 1 นาที ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องไม่บังควรอย่างยิ่ง ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุ ผู้บริหารทีวีไทย นายเทพชัย หย่อง ชี้แจงว่า ฝ่ายบริหารได้สอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทันที โดยเบื้องต้นพบว่า เป็นความผิดพลาดในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เทคนิค ซึ่งควบคุมการออกอากาศ จึงมีคำสั่งลงโทษเบื้องต้นด้วยการให้พักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องระหว่างสอบสวนเพื่อพิจารณาลงโทษ และจะแจ้งให้สาธารณชนทราบโดยเร็ว นายเทพชัย ยังยืนยันด้วยว่า ความผิดพลาดดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจากเจตนา ซึ่งที่ผ่านมาทีวีไทยมีนโยบายผลิตรายการและข่าวที่เทิดทูน รวมทั้งส่งเสริมบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด
2. “นปช.”เตรียมเปิดหลักฐาน อ้างนายกฯ สร้างสถานการณ์ “เสื้อแดงทุบรถ” ด้าน “อภิสิทธิ์”ไม่กลัว-มีหลักฐานยืนยันเช่นกัน!
หลังที่ประชุมรัฐสภา ได้มีมติตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด ชุดหนึ่งคือ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองระหว่างวันที่ 8-15 เม.ย. ซึ่งมีนายสมศักดิ์ บุญทอง อดีตรองอัยการสูงสุด เป็นประธาน และ 2.คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไข รธน. มีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน โดยนายดิเรกได้ส่งสัญญาณสนับสนุนให้มีการแก้ รธน.มาตรา 237 ทันที เพราะไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคและการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคที่ไม่ได้กระทำผิด เนื่องจากเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมนั้น ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ค. คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไข รธน.ได้ประชุมนัดแรก เพื่อกำหนดกรอบการทำงาน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ในฐานะที่ปรึกษาและกรรมการสมานฉันท์ฯ ได้เสนอแนวคิดที่สะท้อนว่าต้องการช่วย พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานให้หลุดพ้นคดีความต่างๆ โดยบอกว่า “ตอนนี้ไม่ใช่จะมาเถียงกันว่า จะเอา รธน.ฉบับไหนมาใช้ ควรเอาทุกฉบับที่คิดว่าเป็นปัญหา ทั้งปี ’40 ปี’49 หรือ ’50 เอาคดีต่างๆ ที่เป็นปัญหา ไม่ว่าคดีที่ดินรัชดาฯ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ที่ไม่ผิดก็ทำให้ผิด รวมทั้งการปฏิวัติเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 มาวางไว้บนโต๊ะ จากนั้นก็มาดูว่าจะแก้อย่างไร และเขียนนิรโทษกรรมทั้ง 111 และ 109 ในบทเฉพาะกาล เพื่อตัดปัญหาเราก็มาเขียนกันว่า ต่อไปนี้อำนาจที่ปล้นมาแล้วออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตัวเอง ไปตั้งอะไรต่อมิอะไรไว้ สภาก็จะยกโทษ จะอภัยให้หมด ผมคิดว่าเป็นทางออกที่จะใช้เป็นธงกัน” อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ยังไม่สามารถกำหนดกรอบการทำงานได้ แต่ได้กำหนดกรอบเวลาที่จะใช้ศึกษาประเด็นการแก้ไข รธน.ว่า จะใช้เวลา 45 วัน ด้านนายดิเรก ถึงฝั่ง ประธานคณะกรรมการฯ เผยหลังประชุมว่า ได้ฝากให้คณะกรรมการทุกคนกลับไปกำหนดกรอบการทำงานของคณะกรรมการ เพื่อนำมาหารือในการประชุมครั้งหน้าวันที่ 12 พ.ค. และว่า การประชุมครั้งต่อไป คณะกรรมการอาจจะต้องมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาใน 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ พิจารณาแนวทางสมานฉันท์ การปฏิรูปการเมือง และการศึกษาการแก้ไข รธน. ส่วนท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยต่อประเด็นการแก้ไข รธน.และการสร้างความสมานฉันท์นั้น ในส่วนของพรรคเพื่อไทย นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร และผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ บอกว่า แนวคิดของนายเสนาะเรื่องนิรโทษกรรม ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ ส่วนการนิรโทษกรรมจะอยู่ในรูปแบบใดนั้น นายพีรพันธุ์ บอกว่า ขึ้นอยู่กับความเห็นของคณะกรรมการฯ ว่าจะร่างไว้ในบทเฉพาะกาลหรือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ส่วนท่าทีของพรรคชาติไทยพัฒนา นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคฯ ได้ออกมาปฏิเสธข่าวที่ว่า นายบรรหาร ศิลปาชา อดีตหัวหน้าพรรค กดดันให้พรรคประชาธิปัตย์แก้ไข รธน. โดยเฉพาะประเด็นนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากคดียุบพรรค โดยนายชุมพล ย้ำว่า จุดยืนของพรรคก็คือ 1.ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม 2.ต้องการให้รัฐบาลทำงานต่อไปได้ 3.เพื่อป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองสูญพันธุ์ 4.ต้องการให้ประชาธิปไตยเดินต่อไปได้ ขณะที่พรรคเพื่อแผ่นดิน นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีอุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคฯ ชี้ว่า ช่วงเวลานี้ยังไม่เหมาะต่อการแก้ รธน. เพราะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รัฐบาลน่าจะเร่งแก้วิกฤตเศรษฐกิจก่อน ถ้าปากท้องดี การแก้ รธน.ก็ง่าย ถ้าปากท้องไม่ดี แค่คิดก็ทะเลาะกันแล้ว ด้านพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคฯ แถลงหลังประชุม ส.ส.ของพรรค(8 พ.ค.)ว่า ประเด็นที่พรรคเห็นว่าควรแก้ รธน.คือ 1. มาตรา 190 ควรบัญญัติให้ชัดว่าเรื่องใดควรเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เรื่องใดไม่จำเป็นต้องเข้า 2. ส.ส.และ ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเหมือน รธน.2540 3. ให้ ส.ส.ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีเหมือนในอดีตได้ 4.มาตรา 237 ควรตัดสิทธิทางการเมืองเฉพาะผู้ที่กระทำผิด ส่วนการยุบพรรค ถ้าพรรคกระทำผิด เช่น พรรคมีมติที่ขัดต่อกฎหมาย ก็ควรยุบพรรค ส่วนท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะแกนนำรัฐบาล นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาศึกษาผลกระทบการใช้ รธน.พรรคประชาธิปัตย์ เผยหลังประชุม(6 พ.ค.)ว่า พรรคยังไม่เสนอประเด็นการแก้ไข รธน. เพราะเห็นว่าผลกระทบจากการใช้ รธน.2550 มีน้อยมาก หรือยังไม่มีผลกระทบเลย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสถาบันทางการเมือง ดังนั้นจะขอฟังข้อเสนอของพรรคอื่นก่อน เมื่อได้รับข้อเสนอแล้ว จะต้องมาดูว่า จะทำให้ข้อเสนอเหล่านั้นเป็นข้อเสนอที่สังคมรับได้มากแค่ไหน สำหรับท่าทีของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อการแก้ไข รธน.นั้น ได้มีการแถลงหลังประชุมแกนนำเมื่อวันที่ 3 พ.ค. โดยนายสมศักดิ์ โกศัยสุข 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ ชี้ว่า การแก้ รธน.ครั้งนี้ คงหนีไม่พ้นเปิดช่องให้มีการนิรโทษกรรมให้พวกฉ้อฉล และว่า พฤติกรรมนักการเมืองวันนี้ ถึงจะแก้ รธน.อีกสักกี่ครั้งกี่ฉบับ ก็ไม่สามารถปฏิรูปไปสู่การเมืองใหม่ได้ ขณะที่นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ บอกว่า ถ้าคณะกรรมการแก้ไข รธน.เสนอว่าจะมีการแก้ไข รธน.มาตรา 190 และ 237 กลุ่มพันธมิตรฯ จะมีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลชุดนี้แน่นอน ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงนั้น หลังนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำ นปช.รุ่น 2 ได้นัดชุมนุมคนเสื้อแดงที่ลานพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ 6 พ.ค.เพื่อทวงคืนสถานีโทรทัศน์ดีสเตชั่น ปรากฏว่า เมื่อถึงกำหนด มีคนเสื้อแดงมาร่วมค่อนข้างบางตาประมาณ 1 พันคน จากนั้นนายสมยศได้นำม็อบเสื้อแดงเคลื่อนไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดสถานีดีสเตชั่น พร้อมขีดเส้นว่า หากรัฐบาลไม่คืนดีสเตชั่นใน 2 สัปดาห์ นปช.จะมาทวงถามข้อเรียกร้องที่ทำเนียบฯ ทุกวัน นายสมยศ ยังประกาศด้วยว่า คนเสื้อแดงจะเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเพื่อทวงคืนทีวีของพวกตน โดยวันที่ 9 พ.ค.จะชุมนุมที่ลพบุรี ,วันที่ 10 พ.ค.ชุมนุมที่สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ,วันที่ 16-17 พ.ค.ชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวง และวันที่ 18 พ.ค.จะเคลื่อนขบวนไปที่รัฐสภาเพื่อทวงคืน รธน.2540 ด้วย ขณะที่แกนนำ นปช.รุ่น 1 อย่างนายวีระ มุสิกพงศ์ ,นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ รวมทั้งนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ,นายก่อแก้ว พิกุลทอง ,นายชินวัฒน์ หาบุญพาด และนายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย ได้เปิดแถลง(8 พ.ค.)ยืนยันการจัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 10 พ.ค.ที่วัดไผ่เขียว ย่านดอนเมือง โดยใช้ชื่อรายการ “ความจริงวันนี้ใครทำร้ายประเทศไทย” และว่า การชุมนุมครั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณจะไม่โฟนอินเข้ามาเหมือนครั้งก่อนๆ ทั้งนี้ นายจตุพร คุยโวว่า ในวันชุมนุม ตนมีภาพชุดที่ยังไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน จะมาแสดงให้ดูว่า มีการจัดฉากคนเสื้อแดงทุบรถนายกฯ ที่กระทรวงมหาดไทย โดยนายจตุพร อ้างว่า วันดังกล่าว นอกจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ จะไม่ได้อยู่ในรถแล้ว ยังมีการให้ทหารสร้างสถานการณ์ด้วยการใส่เสื้อแดงทุบรถนายกฯ ด้วย ด้านนายอภิสิทธิ์ ได้แสดงความข้องใจกรณีที่นายจตุพรกล่าวหาว่าตนไม่ได้อยู่ในรถยนต์ที่กระทรวงมหาดไทยระหว่างเกิดเหตุชุลมุนเมื่อวันที่ 12 เม.ย.โดยบอกว่า “ไม่เข้าใจว่านายจตุพรกล่าวเช่นนั้นทำไม มีคนจำนวนมากที่เห็นเหตุการณ์ดังกล่าว และเห็นว่าอะไรเกิดขึ้น ...อยากถามว่า ผมจะไปสร้างสถานการณ์ได้อย่างไร เพราะการปลุกระดมไล่ล่าเกิดต่อเนื่องบนเวทีคนเสื้อแดงก่อนเหตุการณ์ถึง 2-3 วัน ผมจะไปสั่งให้แกนนำพูดอย่างนั้นบนเวทีได้หรือ และจะส่งให้คนไปที่พัทยาหรือมหาดไทย ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย...” นายอภิสิทธิ์ ยังบอกด้วยว่า ที่จริงตนมีหลักฐานและภาพถ่ายเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่ แต่ไม่อยากเปิดเผยออกมา เพราะกลัวถูกหาว่าไปเพิ่มความขัดแย้งอีก ส่วนจะฟ้องนายจตุพรหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ บอกว่า ยังไม่มีความชัดเจน เพราะไม่ได้ยินว่านายจตุพรกล่าวหาว่าตนโกหกหรือไม่
3. “สนธิ”เชื่อ “ทหารนอกรีด”จับมือ “นักการเมืองรุ่นเก่า”ลงขันสั่งเก็บ ด้าน “ธานี”ไม่การันตีคลี่คลายคดีได้ก่อนเกษียณ!
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ได้แถลงเปิดใจอย่างเป็นทางการครั้งแรก ที่บ้านพระอาทิตย์ หลังถูกคนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงถล่มเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ทั้งนี้ นายสนธิไม่เพียงพูดถึงมิติของความพยายามลอบสังหารตน แต่ยังวิเคราะห์ด้วยว่ากลุ่มใดน่าจะเป็นผู้กระทำ รวมทั้งจุดยืนของตนว่าจะทำอะไรต่อไป โดยในส่วนของการลอบสังหารนั้น นายสนธิ ชี้ว่า มี 2 มิติ คือ 1. การลอบสังหารในฐานะที่ตนเป็นสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่โดยสุจริต รักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม 2.การลอบสังหารในฐานะที่ตนเป็นแกนนำมวลชนซึ่งเป็นภาคประชาชน ซึ่งทั้ง 2 มิติ เป็นมิติที่อุกอาจ โหดเหี้ยมอำมหิต เป็นการกระทำของคนที่มีอำนาจและมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ และว่า หากการลอบสังหารตนทำได้สำเร็จ เท่ากับยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว ตัวแรกส่งสัญญาณไปยังนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่า ถ้านายสนธิตายได้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ตายได้เช่นกัน และมีนัยเลยนายกฯ ไปด้วยว่า ในประเทศนี้ ถ้าใครมีอำนาจ มีปืน ร่วมมือกัน นึกจะทำอะไรก็ย่อมทำได้ 2.เป็นการข่มขู่ให้บรรดาผู้นำสื่อมวลชน แกนนำมวลชน ภาคประชาชนทั้งหลายเกิดความเกรงกลัว เป็นการข่มขู่ที่สามารถล้มรูปแบบการต่อสู้อย่างเปิดเผย เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับขบวนการป่าเถื่อน นายสนธิ ยังพูดถึงคนร้ายที่พยายามลอบสังหารตนด้วยว่า ใช้ขบวนรถ 4 คัน และเท่าที่ทราบ มีคนเข้ามาร่วมด้วยเยอะพอสมควร 10 คนหรือ 10 กว่าคน ประกอบกับภาวะที่กล้องวงจรปิดเสียกะทันหันถึง 5 ตัว ย่อมเป็นพยานแวดล้อมที่ทำให้เชื่อได้ว่า เป็นการร่วมมือกันของผู้มีอำนาจ ไม่ใช่เป็นการกระทำของมือปืนอาชีพ แต่เป็นลักษณะของขบวนการที่เรียกว่า ทีมล่าสังหาร “ต้องผ่านการฝึกอบรมจากแหล่งต่างๆ ยืนยันได้ว่า เป็นฝีมือของทหารและเป็นทหารบางคนเท่านั้น ไม่ใช่ฝีมือกองทัพ เพราะกองทัพส่วนใหญ่เป็นทหารอาชีพ จะไม่ทำเรื่องที่น่าอัปยศอดสูเช่นนี้เด็ดขาด ผมเชื่อมั่นว่าเหตุที่เกิด มาจากทหารไม่กี่คน นอกนั้นไม่มีส่วนรับรู้หรือรู้เห็นอะไรด้วย” นายสนธิ เผยต่อไปว่า แหล่งข่าวพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นทหาร ตัดสินใจเล่าให้ฟังว่า กลุ่มคนที่ยิงปืนยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าไปที่ทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งที่ดอนเมือง และที่ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นกลุ่มคนเดียวกัน และเตรียมการที่จะยิงต่อ โดยมีคนนำข้อมูลเหล่านี้แจ้งไปที่ พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ซึ่งผลการสืบสวนภายในก็ยืนยันว่าเป็นความจริง และกำลังดำเนินการจับกุมคนที่ยิงอยู่ โดยเป็นทหารยศ “จ่าสิบเอก” ยังอยู่ใน กทม. นายสนธิ ยังชี้ด้วยว่า การลอบสังหารตน นอกจากมีนัยต้องการปิดปากสื่อมวลชนที่กล้าแสดงออกแล้ว ยังต้องการข่มขู่แกนนำพันธมิตรฯ คนอื่นๆ ไม่ให้แสดงจุดยืนหรือกระทำใดใดที่จะเป็นการสั่นสะเทือนฐานอำนาจของการเมืองแบบเก่า จึงไม่น่าแปลกใจหากใครก็ตามที่สูญเสียผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นทหารรุ่นเก่าบางคน หรือนักการเมืองรุ่นเก่า และข้าราชการที่กลัวการเมืองใหม่ จะร่วมมือกันแล้วเห็นพ้องต้องกันว่า นายสนธิต้องตาย ส่วนใครจะเป็นคนลงขันหรือใครเป็นคนกำหนดนั้น เป็นเรื่องภายในที่ตนไม่สามารถเปิดเผยได้ นายสนธิ ยังเผยอีกว่า ขณะนี้หลายกระแสพุ่งตรงไปที่คุณวิระยา ชวกุล(ท่านผู้หญิงวิระยา ชวกุล ประธานกรรมการเลขาธิการมูลนิธิบำรุงขวัญทหาร ตำรวจ อาสาสมัครชายแดน ในพระบรมราชินูปถัมภ์) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รัฐมนตรีกลาโหม) และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา (ผบ.ทบ.) ซึ่งตนไม่ได้คิดและไม่เชื่อว่าคนพวกนี้จะเป็นคนวางแผน เพราะทุกคนก็ออกมาปฏิเสธกัน “โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณวิระยา ชวกุล ก็ออกมาปฏิเสธ แต่ผมจะฝากกราบเรียน เป็นความรู้สึกส่วนตัวของผม สมมุติไม่ใช่เรื่องจริงนะ แต่ถึงจะเป็นจริงผมก็ไม่โกรธ ผมให้อภัยไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผมก็ดีใจที่ท่านไม่ได้เกี่ยวข้อง ผมเพียงแต่อยากจะฝากเตือนไปนิดหนึ่ง เป็นสัจธรรมที่ทุกๆ คนทราบว่า คนเรานั้นโกหกใครก็ได้ แต่โกหกตัวเองไม่ได้เด็ดขาด มโนธรรมสำนึกจะติดตัวอยู่กระทั่งลมหายใจสุดท้ายของชีวิตจะหมดไป กว่าจะตายก็จะตายอย่างทุรนทุรายก็ได้ว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตเคยทำผิดอะไรไว้ เพราะฉะนั้นผมดีใจที่คุณวิระยา ชวกุล ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ ผมก็อนุโมทนาสาธุให้ด้วย” นายสนธิ ยังพูดถึงสิ่งที่ตนเสียใจที่สุดจากกรณีถูกลอบสังหารด้วยว่า “สิ่งที่ผมเสียใจที่สุดในชีวิตคือ เลือดที่มันหยดจากตัวผมไหลลงสู่พื้นดินนั้น มันไม่ได้ต่างไปกว่าเลือดของทหารหาญที่ปกป้องราชอาณาจักรไทยอยู่ที่พรมแดนไทย-เขมร หรือที่ต่อสู้กับโจรแบ่งแยกดินแดนทางใต้ เพราะผมก็สู้เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เช่นกัน แต่ผมกลับโดนยิงโดยคนซึ่งควรที่จะไปปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เหมือนกับผม” นายสนธิ ยังพูดถึงกรณีมีข่าวลือว่าตนถอดใจจะเลิกแล้วว่า ไม่เป็นความจริง แต่แพทย์ให้พักฟื้น เพราะมีอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ทำให้เวียนหัว ดังนั้นคงต้องใช้เวลาพักฟื้นสักระยะหนึ่ง โดยการพักฟื้นมีหลายรูปแบบ เช่น ไปต่างประเทศ แต่ไม่ใช่ไปอินเดียหรือเนปาล แต่อาจจะไปไหว้พระที่ตนเคยไป หรืออาจจะไปสหรัฐฯ สักระยะหนึ่ง ด้าน พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดียิงนายสนธิ เผยหลังประชุมพนักงานสอบสวน(6 พ.ค.)ว่า เป็นการติดตามความคืบหน้าของคดี โดยได้สั่งให้ทำงานเพิ่มเติมเรื่องพยานหลักฐาน เพราะหลักฐานบางชิ้นยังไม่เรียบร้อย ส่วนคดีนี้จะแล้วเสร็จก่อนที่ตนจะเกษียณอายุราชการในอีก 4 เดือนข้างหน้าหรือไม่นั้น พล.ต.อ.ธานี บอกว่า “ต้องแล้วแต่พยานหลักฐาน ถ้าได้พยานหลักฐานสำคัญก็อาจเสร็จเร็ว ถ้าไม่ได้ก็ต้องให้คนอื่นมารับช่วงต่อ ตอนนี้ยังจับใครไม่ได้ ก็ยังระบุอะไรไม่ได้ ส่วนที่มีการระบุว่า ลูกปืนเป็นของทหาร พล.ร.9 ได้ถามไปยังกองทัพให้ตรวจสอบแล้ว ต้องรอผลตอบกลับมาก่อน ส่วนที่มีการระบุว่ามีมือปืนก่อเหตุ 10 คน ก็เป็นเพียงคำให้การ ยังไม่ชี้ชัดว่าเป็นตามนั้น”
4. รมต.สาธารณสุขอาเซียน บรรลุข้อตกลง 15 ข้อ รับมือหวัดพันธุ์ใหม่ ขณะที่ “ฮู”เผย ติดเชื้อแล้ว 24 ปท.!
ตามที่รัฐบาลไทย โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ได้มีมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดไม่ให้โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ลามจากประเทศเม็กซิโกและประเทศเสี่ยงอื่นๆ แพร่ระบาดเข้ามายังประเทศไทย รวมทั้งได้เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน เพื่อหาทางป้องกันและสกัดกั้นไม่ให้ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เข้ามาแพร่ระบาดในกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ซึ่งมีประชากรรวมกว่า 500 ล้านคน โดยการประชุมกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 7-8 พ.ค. ที่โรงแรมดุสิตธานี กทม.นั้น ปรากฏว่า ก่อนหน้าจะถึงวันประชุม 1 วัน(6 พ.ค.) ที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติงบกลางจำนวน 100 ล้านบาท เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ในระยะเวลา 1 เดือน รวมถึงเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน+3 ในวันที่ 7-8 พ.ค.ด้วย ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีสาธารณสุข เผยว่า จะขอให้ ครม.อนุมัติงบจัดซื้ออุปกรณ์เทอร์โมสแกน 10 เครื่อง เพื่อติดตั้งที่ด่านตามแนวชายแดน ส่วนด่านที่มีคนเข้าออกไม่มาก จะใช้ปรอดวัดไข้แทน สำหรับประเด็นที่น่าสนใจในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน+3 เมื่อวันที่ 7-8 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น วันแรกเป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาวุโสของประเทศอาเซียน+3 โดย นพ.เคจิ ฟูกูดะ ผู้ช่วย ผอ.ใหญ่ด้านความปลอดภัยสุขภาพและสิ่งแวดล้อม องค์การอนามัยโลก(WHO)ได้แสดงความชื่นชมการเฝ้าระวังควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในภูมิภาคอาเซียนที่มีความจริงจัง ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกจะช่วยประสานหาแหล่งทุนและส่งยาต้านไวรัสแก่ประเทศเสี่ยงที่ไม่สามารถผลิตยาต้านไวรัสหรือมีกำลังซื้อยาต้านไวรัสอย่างจำกัด ซึ่งมีมากถึง 72 ประเทศทั่วโลก สำหรับผลการประชุมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาวุโสอาเซียน+3 นั้น นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค แถลงว่า ที่ประชุมได้สรุปกรอบข้อตกลงความร่วมมือ 13 เรื่องเพื่อเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน+3 ในวันที่ 8 พ.ค.พิจารณาลงนามเห็นชอบ เช่น มาตรการคัดกรองโรคจากพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด ด้วยการคัดกรองผู้โดยสารขาออก ,การเปลี่ยนวิธีเรียกพื้นที่ระบาด โดยให้หลีกเลี่ยงการใช้ชื่อประเทศหรือเมือง แต่ใช้ว่าพื้นที่เสี่ยงหรือระบาดแทน ฯลฯ ส่วนการประชุมระดับรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน+3 เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ได้ไปเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมด้วยนั้น ที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีจาก 13 ประเทศมีความกังวลว่า เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่อาจมีความรุนแรงขึ้นในฤดูหนาวนี้ จึงได้เห็นชอบข้อตกลงร่วมกัน 15 ข้อ โดยแบ่งเป็น 3 หมวด หมวดแรก ข้อ 1-6 เป็นมาตรการที่แต่ละประเทศจะต้องกลับไปดำเนินการ เช่น ให้แต่ละประเทศจัดเตรียมแผนระดับชาติ เพื่อควบคุมเฝ้าระวังการติดต่อระหว่างคนสู่คนและในสัตว์ โดยให้ซ้อมแผนรับมือไข้หวัดใหญ่ตามที่ได้เตรียมมาตรการไว้ทันที ,แต่ละประเทศต้องพิจารณาเพิ่มการสำรองเวชภัณฑ์ให้เพียงพอ ฯลฯ หมวดที่สอง ข้อ 7-10 เป็นมาตรการความร่วมมือในระดับภูมิภาค เช่น ดำเนินการตามหลักวิชาการขององค์การอนามัยโลก เรื่อง ข้อแนะนำการเดินทางไม่ให้เกิดอุปสรรค โดยไม่ใช้วิธีการปิดกั้นพรมแดนหรือห้ามการเดินทาง ฯลฯ ส่วนหมวดที่สาม ข้อ 11-15 เป็นข้อเสนอของประเทศอาเซียนที่จะยื่นให้ที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในวันที่ 18-22 พ.ค. เช่น เชิญชวนให้องค์กรนานาชาติ เช่น องค์การอนามัยโลก ,สหประชาชาติ สนับสนุนด้านงบประมาณ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องสำรองคลังยาเวชภัณฑ์ต่างๆ ในอาเซียน เพื่อให้คลังยามีประสิทธิภาพมากขึ้น ,ให้เลขาธิการอาเซียนดำเนินการซ้อมแผนรับมือการระบาดในประเทศสมาชิก ระดับภูมิภาคร่วมกัน ฯลฯ ทั้งนี้ วันเดียวกัน(8 พ.ค.) องค์การอนามัยโลก ได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ว่า พบผู้ป่วยแล้วใน 24 ประเทศ จำนวน 2,371 คน โดยมีผู้เสียชีวิตแล้ว 44 ราย
5. ครม.หั่นงบฯ ปี’53 หลังรายได้หด 2 แสน ล. พร้อมไฟเขียวมาตรการกระตุ้น ศก.รอบสอง 1.55 ล้านล้าน!
เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ประชุม ครม.ได้มีมติเห็นชอบรายละเอียดการจัดสรรงบประมาณปี 2553 วงเงิน 1.7 ล้านล้านบาท ลดลงจากเดิมที่เคยวางกรอบไว้ 1.9 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ เหตุที่มีการปรับลดงบประมาณลง เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ของปีงบประมาณ 2552 ต่ำกว่าเป้า 2-3 แสนล้านบาท นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ แถลงหลังประชุม ครม.โดยยืนยันว่า การปรับลดงบดังกล่าวจะไม่กระทบการบริการประชาชน รวมทั้งนโยบายหลักที่มีผลต่อเนื่องต้องคงไว้ เช่น โครงการเรียนฟรี 15 ปี ,โครงการนมโรงเรียน ,การจ่ายเบี้ยเลี้ยงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) เป็นต้น นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 วงเงิน 1.55 ล้านล้านบาทด้วย ซึ่งเป็นผลการพิจารณาของคณะกรรมการที่มีนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน โดยพิจารณาเสร็จแล้ว 1.4 ล้านล้านบาท คาดว่าจะพิจารณาเสร็จสมบูรณ์และเสนอ ครม.ได้ในวันที่ 14 พ.ค. ส่วนกรอบการพิจารณาโครงการที่จะใช้เงินดังกล่าว นายกอร์ปศักดิ์ เผยว่า มี 4 ส่วนหลัก 1.โครงการที่รัฐวิสาหกิจดำเนินการเอง และรัฐบาลค้ำประกันเงินกู้ให้ 2.การกู้เงินต่างประเทศมาลงทุน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาหลายโครงการ และต้องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตาม รธน.มาตรา 190 3.โครงการร่วมลงทุนกับเอกชน 4.วงเงินกู้จากการออก พ.ร.ก.วงเงิน 8 แสนล้านบาท ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีคลัง แถลงว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม 8 แสนล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการลงทุนของรัฐบาลตาม “แผนปฏิบัติการ : ไทยเข้มแข็ง 2555” โดยกฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าว คือ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. ...วงเงิน 4 แสนล้านบาท และ พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ. ...วงเงิน 4 แสนล้านบาท ในแผนปฏิบัติการ : ไทยเข้มแข็ง 2555 นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังมีมติเห็นชอบให้ปรับขึ้นภาษีสรรพาสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทเบียร์ สุราขาว สุราผสม และบรั่นดี โดยปรับเพิ่มเฉลี่ย 7-9% ซึ่งคาดว่าจะทำให้รัฐบาลมีรายได้ประมาณ 7 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ การปรับขึ้นภาษีสุราดังกล่าวเริ่มมีผลทันทีตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนวันเดียวกัน(6 พ.ค.) ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ พูดถึงการปรับลดงบประมาณปี 2553 ว่า ทุกกระทรวงถูกปรับลดงบประมาณลงทั้งหมด เพราะต้องการให้เงินงบประมาณขาดดุลอยู่ในระดับเดิม แต่การจัดเก็บรายได้หายไปประมาณ 2 แสนล้านบาทหรือมากกว่านั้น อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ บอกว่า หากกระทรวงที่ไม่มีเงินกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 เลย เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน คิดว่าโครงการมีความจำเป็นหรือถูกตัดงบมากเกินไป สามารถเสนอกลับเข้ามาให้พิจารณาใหม่ได้ นายอภิสิทธิ์ ยังเผยด้วยว่า หน่วยงานที่ถูกตัดงบฯ มากที่สุด ก็คือสำนักนายกรัฐมนตรี ลดลงร้อยละ 45 ขณะที่กระทรวงกลาโหมปรับลดงบลงประมาณร้อยละ 10-11 ส่วนเรื่องการออกกฎหมายเพื่อให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 8 แสนล้านบาทนั้น นายอภิสิทธิ์ บอกว่า เป็นเรื่องเร่งด่วน 4 แสนล้านบาท โดย 2 แสนล้านสำหรับเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารเงินในส่วนของคลัง อีก 2 แสนล้านเป็นโครงการเร่งด่วนที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนอีก 4 แสนล้าน จะเป็นโครงการในช่วงอีก 2-3 ปีข้างหน้า และว่า เงินกู้ทั้ง 8 แสนล้านจะกู้ภายในประเทศ ด้านพรรคเพื่อไทยฝ่ายค้านได้ทีรีบดิสเครดิตรัฐบาลทันที โดยนายคณวัฒน์ วศินสังวร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พูดถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมออก พ.ร.ก.เพื่อกู้เงิน 4 แสนล้านตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งว่า เป็นหลักฐานความล้มเหลวและผิดพลาดในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ ที่เกิดจากการใช้จ่ายงบประมาณไม่สอดคล้องกับประมาณการรายรับ จนในที่สุดต้องขาดดุลงบประมาณเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งผิดพลาดไปจากเป้าหมายมากจนไม่สามารถปิดหีบงบประมาณปี 2552 ได้ ทำให้ต้องเร่งรีบแก้ปัญหาด้วยการออก พ.ร.ก.เพื่อกู้เงินมาเสริมสภาพคล่องของเงินคงคลังที่ร่อยหรอลงเต็มที นายคณวัฒน์ ยังขู่ด้วยว่า หากพรรคมีข้อสงสัยว่าการออก พ.ร.ก.ดังกล่าวไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก พูดถึงการปรับลดงบในส่วนของกองทัพลงประมาณ 2 หมื่นล้าน ซึ่งมีข่าวว่า เป็นงบของกองทัพบกถึง 1 หมื่นล้านบาทว่า ไม่มีปัญหา เมื่อประเทศมีความยากลำบากเรื่องงบประมาณ ความจำเป็นด้านการทหารแม้จำเป็น แต่หากเทียบความจำเป็นด้านอื่นมีมากกว่า งบด้านการทหารก็ต้องปรับ ไม่ว่าจะปรับอย่างไรกองทัพรับได้หมด ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีกลาโหม ส่งสัญญาณไม่เห็นด้วยกับการปรับลดงบของกระทรวงกลาโหม โดยบอกว่า ขณะนี้งบของกองทัพคิดเป็น 1.5 ของจีดีพี ถือว่ายังน้อย น่าจะปรับขยับขึ้นอีกเล็กน้อย คงต้องมีการพูดคุยอีกครั้งถึงความจำเป็นของกองทัพในการใช้งบประมาณ และว่า นายกฯ ,รองนายกฯ และสำนักงบประมาณรู้ดี คงไม่จำเป็นต้องเรียกผู้บัญชาการเหล่าทัพหารือ เพราะตนรู้ถึงความต้องการของเหล่าทัพดีว่า ความต้องการยุทโธปกรณ์ในระยะยาวเป็นอย่างไร.