นายกฯ เชื่อฝ่ายค้านจะไม่วอล์กเอาต์อีกในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ในวันนี้ ชี้การวอล์กเอาต์ของฝ่ายค้านวานนี้ เป็นจุดยืนของฝ่ายค้านเอง รบ.เปิดโอกาสให้เต็มที่อยู่แล้ว พร้อมติงฝ่ายค้านไม่ร่วมเข้าเป็นกรรมาธิการฯ ต้องมีคำอธิบาย เพราะจะทำให้เสียระบบ ขณะเดียวกัน นายกฯ ได้ชี้แจงสาระ ร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายปี 53 ในวงเงิน 1.7 ล้านล้าน ในที่ประชุมสภาฯ
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (17 มิ.ย.) ที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ฝ่ายค้านวอล์คเอาท์ในการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน ว่า คิดว่าในการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 คงไม่มีปัญหา เพราะเป็นการเสนองบประมาณประจำปีตามปกติ และแน่นอนว่า ทุกหน่วยงานมีความรู้สึกว่าในงบปี 2553 ได้รับงบประมาณน้อย เพราะจัดเก็บรายได้ได้น้อย ซึ่งเป็นปีแรกในรอบ 10 ปีที่งบประมาณจะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ก็คงจะมีเสียงบ่นบ้าง แต่ความจริงแล้วได้แก้ไขปัญหาด้วยการออก พ.ร.ก. และ พ.ร.บ.กู้เงินมาลงทุน ซึ่งตนจะใช้แนวทางนี้ชี้แจง ทำความเข้าใจ ส่วนการอภิปรายในเรื่อง พ.ร.ก.และ พ.ร.บ.กู้เงินนั้น ก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ผู้สื่อข่าวถามว่าได้มีโอกาสหารือกับนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ที่บ่นน้อยใจเรื่องการจัดสรรงบประมาณหรือไม่ เพราะนายชาญชัยระบุว่าจะมาหารืออีกในการประชุมสภา นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็ได้พบกัน แต่ไม่ได้คุยอะไรกันเพิ่มเติม ความจริงทราบว่าทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ อยากได้งบประมาณเพิ่ม เมื่อถามว่า นายชาญชัยแสดงอาการน้อยเนื้อต่ำใจผ่านสื่อมวลชน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่มีอะไรต้องน้อยใจ เพราะเราดูตามสภาพข้อเท็จจริงและเนื้องานต่างๆ และงานของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในส่วนของบีโอไอ ตนก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่อยู่แล้ว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการต่างๆนั้นรัฐบาลได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับกรอบการใช้เงินงวดแรกไปเรียบร้อยแล้ว และจะมีรายละเอียดเพิ่มเติมอีก ส่วนเรื่องการชำระหนี้จะเป็นไปตามแผนที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงโดยละเอียดในการประชุมสภาไปแล้ว เมื่อถามว่า การที่ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินผ่าน 3 วาระรวดจะมีส่วนทำให้การใช้เงินในพ.ร.บ.เร็วขึ้นหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องไปผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาด้วย ซึ่งเราไม่ทราบว่ากระบวนการหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร หากวุฒิสภาแก้ไข ก็ต้องกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง อย่างน้อยคงต้องรอเปิดประชุมสมัยสามัญในเดือนสิงหาคมนี้
เมื่อถามว่า ห่วงว่าฝ่ายค้านจะวอล์คเอาท์ในการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 หรือไม่เหมือนที่ได้ทำไปแล้วหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตนเข้าใจว่าฝ่ายค้านได้แสดงจุดยืนในการเดินออกจากห้องประชุมในเรื่อง พ.ร.บ.กู้เงิน แต่คิดว่าในการประชุมงบประมาณคงไม่เป็นอย่างนั้น เมื่อถามว่า การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ(กมธ.)แบบเต็มสภาโดยที่ไม่มีฝ่ายค้านร่วมจะถูกมองว่ารัฐบาลใช้เสียงข้างมากลากไปหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “เราเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายกันอย่างเต็มที่ และให้มีการถ่ายทอดสด เราฟังการอภิปรายและชี้แจงกันทุกประเด็น และที่ทำเป็น พ.ร.บ.กู้เงินนั้น เพราะต้องการเปิดโอกาสให้มีคณะกรรมาธิการ จะได้มีการซักถามรายละเอียดได้ แต่เมื่อเขาตัดสินใจไม่ร่วม คำถามคือกระบวนการสภาจะเดินอย่างไร หากฝ่ายเสียงข้างน้อยหรือพรรคใดพรรคหนึ่งบอกไม่ร่วมเป็นกรรมาธิการแล้ว กระบวนการสภาเดินหน้าไม่ได้ ผมคิดว่าระบบก็จะผิดไป จะกลายเป็นว่าตัวแทนของพรรคการเมืองเพียง 1 พรรค สามารถหยุดกระบวนการของสภาได้ทั้งหมด ซึ่งคงไม่ใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หรือระบอบประชาธิปไตยอย่างแน่นอน”
เมื่อถามว่า คิดว่าประเด็นการไม่มีส่วนร่วมจากฝ่ายค้านจะถูกนำไปโจมตีอยู่เรื่อยๆหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “ก็เราเปิดโอกาสให้แล้ว แต่ฝ่ายค้านตัดสินใจไม่ร่วมเอง ซึ่งเขาจะต้องอธิบายจุดยืนของเขา แต่ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลจะไปปิดกั้น หากรัฐบาลปิดกั้น คงพยายามออกเป็น พ.ร.ก.ทั้งหมดไปแล้ว แต่นี่ออกเป็น พ.ร.บ.เพื่อให้มีกรรมาธิการ แต่ฝ่ายค้านตัดสินใจไม่ร่วม ก็เป็นการตัดสินใจของฝ่ายค้าน” เมื่อถามถึงกรณีที่นายเกียรติกร พากเพียรศิลป์ ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ไปใช้โควตาของฝ่ายค้านในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน ทางพรรคประชาธิปัตย์จะมีการดำเนินการอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็เสนอข้อมูลมา ทางรัฐมนตรีก็ชี้แจงไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2553 เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ หลังจากนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ ขอขยายเวลา เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ
ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แจกแจงการจัดสรรงบประมาณ ปี 2553 จำนวน 1.7 ล้านล้านบาท ภายใต้ 8 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจ 144,591 ล้านบาท ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของรัฐจำนวน 173,192 ล้านบาท ยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต 506,640 ล้านบาท ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเศรษฐกิจ 158,707 ล้านบาท ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการที่ดิน 29,719 ล้านบาท ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ 11,960 ล้านบาท ยุทธศาสตร์การต่างประเทศ 7,357 ล้านบาท ยุทธศาสตร์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี 241,228 ล้านบาท และวางงบรายจ่ายค่าดำเนินการของรัฐไว้จำนวน 426,600 ล้านบาท
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า งบประมาณของบางกระทรวงอาจลดลง โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม เพื่อให้สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยืนยันว่า ภารกิจสำคัญตามนโยบายหลักของรัฐบาล มีการวางงบโครงการต่างๆ ไว้ในพระราชกำหนดและพระราชบัญญัติกู้เงิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งแล้ว