นักวิชาการ “นิด้า” ประเมินผลงาน “รัฐบาลมาร์ค” ครบรอบ 6 เดือน ระบุ ภาพรวมด้าน ศก.น่าพอใจ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี มีการวางนโยบายต่อเนื่อง แต่ยังขาดการประสานงานระหว่างกระทรวง ศก.ทำให้นายกฯ ต้องเข้ามาล้วงลูกหลายครั้ง จึงได้แค่เกรด B พร้อมเชื่อ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้าน จะผ่านสภา เพราะไม่ใช่เรื่อมที่จะเอามาเล่นเกมการเมือง
นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะรัฐประศาสนศาสตร์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (GSPA NIDA) กล่าวถึงการประเมินผลงานรัฐบาลซึ่งใกล้จะครบรอบ 6 เดือน โดยมองว่า ภาพรวมการบริหารงานด้านเศรษฐกิจถือว่าอยู่ในระดับเกรด B โดยสามารถดำเนินนโยบายต่อเนื่อง และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี แต่ยังขาดการวางแผนที่เป็นระบบ และขาดการประสานงานที่ดีพอ โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ทำให้ที่ผ่านมาจะเห็นภาพนายกรัฐมนตรีต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกเรื่อง
สำหรับพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท ที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ ในสัปดาห์หน้า (วันที่ 15-16 มิถุนายน 2552) คาดว่า จะสามารถผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมสภาไปได้ด้วยดี และไม่คิดว่าจะถูกนำมาใช้เป็นเกมการเมือง เนื่องจากเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ
“การพิจารณา พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาทในสัปดาห์หน้าเชื่อว่าจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ไม่น่าจะมีปัญหา หรือถูกเกมการเมืองขัดขา ซึ่งทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลจะต้องช่วยกันไตร่ตรองในเรื่องนี้ เพราะถือเป็นเรื่องที่จำเป็นและประชาชนได้ประโยชน์โดยตรง ดังนั้นถ้ายิ่งพิจารณาได้เร็วก็จะยิ่งได้ประโยชน์”
ส่วนการอัดฉีดเม็ดเงินลงไปในส่วนใดบ้างนั้น ขณะนี้ยังไม่เห็นภาพชัดเจนแต่โดยหลักการแล้วถ้าจะให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ รัฐบาลจำเป็นต้องรีบลงทุนในโครงการขนาดใหญ่และต่อเนื่องโดยเร็ว เช่น โครงการสาธารณูปโภคต่างๆ
นายมนตรี กล่าวว่า นอกจากการพิจารณา พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาทที่คาดว่าจะผ่านไปได้ด้วยดีแล้ว การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 วงเงิน 1.7 ล้านล้านบาท ในระหว่างวันที่ 17-18 มิถุนายน 2552 ก็น่าจะผ่านไปได้ด้วยดีเช่นกัน เพื่อจะให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2552 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณ
อย่างไรก็ดี สำหรับงบกลางวงเงิน 2.15 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 12.7% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนั้น รัฐบาลควรจะต้องมีการจัดสรรใช้จ่ายที่ชัดเจนเพื่อเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่
“ดูจากการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย 1.7 ล้านล้านบาทนั้น ส่วนใหญ่ก็เหมาะสมทั้งในส่วนของกระทรวงศึกษาที่เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาชาติ กระทรวงการคลังที่ต้องเร่งฟื้นเศรษฐกิจโดยเร็ว แต่ที่ตั้งข้อสังเกตก็คือในส่วนของงบกลาง ซึ่งหมายถึงงบที่รัฐบาลยังไม่มีเป้าหมายชัดเจนว่าจะใช้ทำอะไรนั้นมีมากถึง 2.15 แสนล้านบาท ซึ่งถ้ายังไม่มีแผนจริงๆ ก็น่าจะแบ่งไปให้ส่วนอื่นที่มีโครงการลงทุนชัดเจนดีกว่า”
ขณะที่ยุทธศาสตร์งบประมาณรายจ่ายยังมีบางด้านที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมั่นและการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ 1.45 แสนล้านบาท และยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเศรษฐกิจให้ขยายตัวให้อย่างมีเสถียรภาพวงเงิน 1.58 แสนล้านบาทนั้นยังถือว่าต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตที่มีวงเงินมากถึง 5.06 แสนล้านบาท เนื่องจากการสร้างความเชื่อมั่น และสร้างการเติบโตเป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนเป็นอันดับแรก