รมต.สำนักนายกฯ กำชับทุกกระทรวง ทบวง กรมเร่งสรุปผลงานในรอบ 6 เดือนก่อนนำเสนอนายกฯ ภายในสิ้นเดือนนี้และจะประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบเพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูล คาดหมายฝ่ายค้านจะไม่ตีรวนพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 15 มิ.ย.นี้ แต่เพื่อความไม่ประมาท ประสานวิปรัฐบาลกำชับ ส.ส.ห้ามโดดร่ม
วันนี้ (11 มิ.ย.) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการแถลงผลงานของรัฐบาล 6 เดือนว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะต้องการให้ประชาชนทราบว่า 6 เดือนรัฐบาลทำอะไรไปบ้าง ซึ่งฝ่ายค้านเองก็ออกมาบอกว่ารัฐบาลไม่มีผลงาน มีแต่เรื่องแพนด้า จึงจำเป็นต้องยืนยันด้วยผลงานที่ทำไป ซึ่งขณะนี้ผู้ที่รับผิดชอบแต่ละกระทรวงสรุปผลงานคืบหน้าไปมากแล้ว โดยวันที่ 18 มิ.ย.นี้จะมีการสรุปในรอบแรก และคาดว่าจะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีได้ปลายเดือนมิ.ย.นี้ ส่วนนายกฯจะสั่งให้ดำเนินการอย่างไรก็แล้วแต่ อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้ทุกกระทรวงแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนด้วย หลังจากแต่ละกระทรวงสรุปได้ชัดเจนแล้ว โดยอาจจะแยกเป็นแต่ละโครงการไป เช่นเรื่องเช็คช่วยชาติ หรือเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการจัดรายการเพื่อการชี้แจงผลงานของรัฐบาลโดยเฉพาะเลยหรือไม่ รมต.ประจำสำนักฯ กล่าวว่า ยังไม่มีแนวคิดอย่างนั้น แต่อาจจะใช้วิธีการลงพื้นที่พบปะประชาชนมากกว่า ทั้งนี้ การชรี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบผลงานรัฐบาลนั้นก็จะใช้ช่องทางที่รัฐบาลมีอยู่ เมื่อถามว่าบางกระทรวงที่ไม่มีผลงาน จะมีผลต่อการพิจารณาในการปรับ ครม.ครั้งต่อไปหรือไม่ นายสาทิตย์กล่าวว่า อยู่ที่นายกรัฐมนตรี แต่เชื่อว่าทุกกระทรวงขณะนี้นายกฯ ได้เร่งรัดไปแล้ว ดังนั้นแต่ละกระทรวงก็คงต้องไปดูว่างานที่รับผิดชอบมีอะไร และคงต้องพยายามเร่งรัดและตามไปดูและชี้แจงให้ประชาชนทราบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีแนวคิดจะออกเป็นสื่อสิ่งพิมพ์แจกประชาชนหรือไม่ นายสาทิตย์กล่าวว่า มีแนวคิดอยู่และคิดว่าคงทำกันมากพอสมควร โดยเฉพาะการสรุปงานของรัฐบาลในด้านของการสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งจะมีการออกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคม จนถึงเดือนตุลาคม ส่วนเรื่องการลงพื้นที่ต่างๆ นั้น นายกฯ ได้มอบใน ครม.แล้วว่าขอให้เน้นพื้นที่ที่มีงบประมาณจากโครงการที่ได้จาก พ.ร.ก.เงินกู้ และจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 53 เป็นหลัก เมื่อถามว่ามีการแบ่งโซนรัฐมนตรีที่ลงพื้นที่กันอย่างไร รมต.ประจำสำนักฯ กล่าวว่า ส่วนใหญ่จะจัดตามโครงการงบประมาณที่จัดลงไปตาม พ.ร.ก.เงินกู้ ที่ลงไปในหลายจังหวัด รวมถึงในจังหวัดทางภาคอีสานด้วย ที่รัฐมนตรีที่ลงไปอาจจะต้องเจอกับประชาชนที่มาคัดค้านบ้าง ซึ่งก็ต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ ทั้งนี้ หากประชาชนเข้าใจว่ารัฐบาลไปทำประโยชน์ให้เขา ก็คงเข้าใจ ความรู้สึกคัดค้านก็คงจะเบาบางลง โดยจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเสาร์ อาทิตย์นี้เลย
นายสาทิตย์กล่าวด้วยว่า สำหรับนายกฯ นั้น เจ้าหน้าที่กำลังดูพื้นที่อยู่ว่าจะไปที่ใด ซึ่งคงจะต้องไปอัดเทปรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธ์” ด้วยเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับเงินกู้ว่ารัฐบาลจะนำไปทำอะไรบ้าง
เมื่อถามว่ามีการเตรียมรับมือกับเสียงวิจารณ์ที่จะตามมาหลังการแถลงผลงานอย่างไรบ้าง รมต.ประจำสำนักฯ กล่าวว่า คิดว่าในระบอบประชาธิปไตย การถูกตรวจสอบด้วยการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชนหรือประชาชนเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องรับฟัง ซึ่งจะเห็นว่ารัฐบาลตั้งแต่เข้ามานายกฯก็พบและรับฟังแนวคิดจากประชาชนหลายกลุ่ม ซึ่งเสียงที่กลับมาก็มีทั้งพอใจและไม่พอใจ เราก็ต้องนำกลับมาทบทวนว่าจะต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไร อย่างกรณีปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องยอมรับว่าสถานการณ์มีความรุนแรงและอยู่ในความสนใจของประชาชนมาก ดังนั้น เสียงวิจารณ์นั้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องฟังและต้องรีบนำกลับมาแก้ไข โดยเฉพาะวันนี้จะมีการประชุมครม.พิเศษพื้นที่ภาคใต้ เสียงสะท้อนทั้งหลายก็ต้องหยิบยกขึ้นมาพิจารณากัน และไปรับฟังความเห็นต่างๆ ในการแก้ไขปัญหา ต้องยอมรับว่าปัญหาภาคใต้แก้ไขไม่ได้ง่ายๆ เพราะมีหลายมิติ
ผู้สื่อข่าวถามว่างบประมาณที่ลงไปในพื้นที่ภาคใต้ มีเสียงสะท้อนในพื้นที่ว่างบประมาณไม่ได้ลงไปในพื้นที่จริงๆ มีแต่ภาพ มีแต่จำนวนตัวเลขที่รัฐบาลแถลงออกไป รมต.ประจำสำนักนายฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่รับงบประมาณไปต้องประเมินว่า หลังจากที่จัดสรรงบประมาณไปแล้วเป็นอย่างไร อย่างกรณีงบเยียวยาที่ตนดูแลอยู่ 3-5 ปีมานี้ใช้งบไปทั้งสิ้น 1 พันกว่าล้าน ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการเยียวยาครั้งหลังสุดเมื่อเดือนมีนาคม ก็ได้พูดถึงเรื่องคณะกรรมการที่จะต้องลงไปประเมินผลว่า 1 พันกว่าล้านที่นำไปเยียวยานั้นได้ผลอย่างไรบ้าง ดังนั้นทุกกระทรวงก็เหมือนกันจะต้องประเมินผลงบประมาณที่นำลงไปด้วยว่าเป็นอย่างไร มีปัญหาอย่างไรบ้าง แล้วทำไมปัญหายังไม่จบ
ผู้สื่อข่าวถามถึงกฎหมาย สบ.ชต.ที่พรรคประชาธิปัตย์ร่างขึ้นมามีความคืบหน้าอย่างไร นายสาทิตย์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้นร่างจริง ๆ คือนายนิพนธ์ บุญญามณีที่ร่างขึ้นมา และขณะนี้นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทยเร่งผลักดันอยู่ ก็เชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้ก็คงจะมีการเดินหน้าต่อไป ทั้งนี้ คงมีการหารือในรายละเอียดอีกเล็กน้อยก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาต่อไป
นายสาทิตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงความกังวลต่อองค์ประชุมสภา ในการพิจารณาร่าง พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท และ พ.ร.บ.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท รวมถึงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาสมัยวิสามัญในวันจันทร์ที่ 15 มิถุนายนนี้ว่า ความจริงตนไม่กังวลเรื่ององค์ประชุมสภาเพราะทางวิปรัฐบาลก็เตรียมเต็มที่และทุกฝ่ายก็เห็นว่าเสียงในสภามีความสำคัญมาก ดังนั้นก็ต้องอยู่ร่วมกันเพราะเป็นเงินภาษีประชาชนก็ต้องไปถึงประชาชนให้ได้เนื่องจากประชาชนได้ประโยชน์ สำหรับฝ่ายค้านที่อาจจะตีรวนและไม่เข้าร่วมประชุมนั้น คิดว่าฝ่ายค้านไม่น่าจะเอาพระราชกำหนดและพระราชบัญญัติงบประมาณมาเป็นเรื่องของการเล่นเกมทางการเมือง
“ผมไม่คิดถึงขนาดว่าจะมีการวอคเอาท์ หรือไม่ร่วมตั้งกรรมาธิการพิจารณา เพราะเรื่องนี้ประชาชนได้โดยตรง ถ้าขืนช้าไป เงินลงถึงประชาชนช้า ประชาชนก็จะเสียประโยชน์ และประชาชนที่จะได้ไม่ใช่ประชาชนของพรรคประชาธิปัตย์ หรือประชาชนของรัฐบาล แต่เป็นประชาชนคนไทยที่ได้รับผลประโยชน์ทุกคนทั่วถึงทุกหมู่บ้าน ทุกจังหวัด” รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่ากฎหมายนี้ถือว่าสำคัญต่อรัฐบาลเพราะอาจทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้ ตรงนี้ได้มีการกำชับสมาชิกในพรรคร่วมรัฐบาลอย่างไร จะมีการพบกันของแกนนำรัฐบาลก่อนที่จะมีการพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ นายสาทิตย์กล่าวว่า ทุกพรรคทราบดีอยู่แล้ว เพราะถือเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ทุกคนที่ต้องมีความรับผิดชอบที่จะต้องไปร่วมประชุมและร่วมกันโหวต ถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรง ซึ่งตนไม่ห่วงเรื่องนี้เลย ยืนยันไม่มีปัญหา เมื่อถามว่าที่ผ่านมาแม้ว่ารัฐบาลจะบอกว่าไม่ห่วง ไม่มีปัญหา แต่ก็เกิดปัญหาองค์ประชุมไม่ครบมาแล้วหลายครั้งในการพิจารณาหลายเรื่องในสภาที่ผ่านมา นายสาทิตย์กล่าวว่า แต่การพิจารณาเรื่องสำคัญก็ผ่านมาได้ทั้งหมด เช่น การพิจารณาข้อตกลงระหว่างประเทศหลายฉบับผ่านไปแล้ว ซึ่งกรณีนี้ก็ต้องอาศัยเสียงของวุฒิสภาด้วย หรือเรื่องของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายกลางปีก็ผ่านไปแล้ว ดังนั้นก็เชื่อว่ากฎหมายสำคัญนี้ก็จะผ่านไปได้ ไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง ขอให้ความมั่นใจได้ ส่วนบทลงโทษสมาชิกที่โดดประชุมนั้น ก็คงเป็นเรื่องของแต่ละพรรค