อมรรัตน์ ล้อถิรธร.......รายงาน
รบ.อภิสิทธิ์ ได้ฤกษ์ โละ คกก.มรดกโลกของไทยที่มี “ปองพล อดิเรกสาร” เป็น ปธ.แล้ว โดยทาบ “อดุล วิเชียรเจริญ” อดีต ปธ.คกก.มรดกโลก ซึ่งได้รับการยอมรับด้านความเชี่ยวชาญ มาเป็น กก.และที่ปรึกษาอีกครั้ง แม้การปลด นายปองพล (อดีต กก.บห.พรรคไทยรักไทย) ครั้งนี้ อาจถูกมองได้ว่า เพราะอยู่คนละขั้วกับรัฐบาล แต่ในสายตาผู้คร่ำหวอดเรื่องพระวิหาร นายปองพล ไม่เพียงสมควรถูกปลด แต่เขาไม่ควรมานั่ง ปธ.คกก.มรดกโลกตั้งแต่แรกด้วยซ้ำไป เพราะอะไร ไปติดตามคำตอบ พร้อมกับประเด็นที่ “กัมพูชา” ตั้งแง่ไม่ให้เรียก “พระวิหาร”
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
ตั้งแต่กลางสัปดาห์ที่แล้วต่อเนื่องมาจนสัปดาห์นี้ มีประเด็นร้อนเกี่ยวเนื่องกับกรณีปราสาทพระวิหารอยู่ 2 ประเด็น คือ 1.กรณีที่กัมพูชาและไทยตกลงกันไม่ได้ว่าจะเรียกปราสาทพระวิหารว่าอย่างไรกันแน่ เพราะกัมพูชาออกอาการตั้งแง่ว่า ไม่อยากเรียก “พระวิหาร” แต่อยากให้เรียกว่า “เพรียวิเหียะ” มากกว่า และ 2.กรณีที่ ครม.นายอภิสิทธิ์ มีมติ (10 ก.พ.) ปรับเปลี่ยนคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ส่งผลให้ นายปองพล อดิเรกสาร พ้นจากการเป็นประธานคณะกรรมการดังกล่าว ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นนี้มีมุมมองและแง่คิดที่น่าสนใจจากนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ที่ต่อสู้กรณีปราสาทพระวิหารมายาวนานที่จะช่วยชี้ทางออก ว่า เรื่องชื่อปราสาทพระวิหารควรจะลงเอยอย่างไร และกรณีโละคณะกรรมการมรดกโลกชุดนายปองพลนั้น น่าจะมีที่มาที่ไปอย่างไร นายปองพลไปทำอะไรไว้หรือไม่?
เริ่มด้วยกรณีที่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) สมัยสามัญ ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่โรงแรมพลาซ่าแอทธินี ที่ฝ่ายไทยมี นายวศิน ธีรเวชญาณ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโซล เป็นประธาน ส่วนฝ่ายกัมพูชามี นายวาร์ คิม ฮง รัฐมนตรีอาวุโสผู้รับผิดชอบกิจการชายแดนเป็นประธาน ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงที่ตั้งใจว่าจะมีการลงนามร่างบันทึกข้อตกลงการประชุมเจบีซี เมื่อวันที่ 10-12 พ.ย.2551 ได้ หลังทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถหาข้อยุติได้ว่าจะเรียกชื่อ “พระวิหาร” อย่างไรกันแน่ โดยฝ่ายกัมพูชา ยืนยัน ไม่ต้องการให้ใช้ชื่อพระวิหาร แต่อยากให้เรียกว่า “เพรียวิเหียะ” มากกว่า โดยให้เหตุผลว่า เป็นหลักสากล และเป็นภาษาที่ชาวกัมพูชาเรียกมาตั้งแต่บรรพบุรุษแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่ 9-10 ขณะที่ฝ่ายไทยพยายามรอมชอมด้วยการเสนอว่าใช้ 2 ชื่อเลยก็แล้วกัน คือ ทั้งพระวิหาร และ เพรียวิเหียะ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อความเท่าเทียมกันของทั้ง 2 ประเทศตามหลักการทำสนธิสัญญาที่เคยปฏิบัติมา ซึ่งไม่มีผลด้านกฎหมายและไม่ได้หมายความว่าไทยจะเข้าไปมีส่วนเป็นเจ้าของปราสาทพระวิหาร แต่กัมพูชาก็ยังไม่ยอมรับข้อเสนอของไทยอยู่ดี
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ พูดถึงเรื่องชื่อพระวิหารที่ไทย และกัมพูชายังตกลงกันไม่ได้ว่า คิดว่า ทั้ง 2 ฝ่ายกังวลว่า ถ้าใช้ชื่อทางใดทางหนึ่งแล้ว จะทำให้มีผลในเรื่องสิทธิที่จะตามมาหรือไม่ คงไม่ใช่ว่าติดที่ชื่อ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต้องเจรจาต่อไป แต่ขอให้การเจรจาอยู่ในบรรยากาศและจิตวิญญาณของการที่จะแก้ปัญหาบนพื้นฐานของสันติ แม้จะใช้เวลาหรือใช้เวลานานก็ไม่เป็นไร ดีกว่าไม่เจรจากันล้มโต๊ะ แล้วแก้ปัญหาโดยใช้วิธีอื่น
ด้าน อ.เทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ มองว่า ความเห็นไม่ตรงกันเรื่องชื่อพระวิหารของฝ่ายไทยและกัมพูชา คงเป็นแค่ความขัดแย้งบนโต๊ะนิดหน่อยเท่านั้น ไม่น่าจะลุกลามบานปลาย และว่า จริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะเรียกชื่อพระวิหาร หรือเพรียวิเหียะ ก็ความหมายเหมือนกัน เพราะชื่อพระวิหาร ตั้งโดยพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ซึ่งเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่เสด็จฯ ขึ้นไปที่ปราสาทพระวิหาร เมื่อเห็นว่า โบราณสถานแห่งนี้มีความสวยงามตั้งอยู่บนเขา จึงให้ชื่อว่า “เทพวิหาร” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น “พระวิหาร” ส่วนคำว่า “เพรียวิเหียะ” ที่กัมพูชาต้องการให้ใช้ชื่อนี้ ก็แปลว่า พระวิหารเช่นกัน แต่เรียกเป็นสำเนียงกัมพูชา ดังนั้น ไม่ว่าจะใช้ชื่อไหน ความหมายก็ไม่ต่างกัน แต่อาจจะมีเรื่องของศักดิ์ศรีเข้ามาเกี่ยวบ้างเท่านั้น
ขณะที่ มล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิจัย สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า ไม่เห็นด้วยหากจะให้เรียกพระวิหารตามกัมพูชา ว่า เพรียวิเหียะอย่างเดียว เพราะอาจกระทบต่อสิทธิที่ไทยขอสงวนไว้กรณีปราสาทพระวิหาร ดังนั้น มองว่า ทางออกเรื่องนี้ ถ้าไม่ใช้คำว่าพระวิหาร ก็น่าจะใช้ทั้ง 2 ชื่อพร้อมกัน
ส่วนกรณีที่ปัญหาเรื่องชื่อพระวิหาร ส่งผลให้ไทยและกัมพูชาไม่สามารถลงนามร่างบันทึกข้อตกลงการประชุมเจบีซีเมื่อวันที่ 10-12 พ.ย.2551 ได้ จะส่งผลกระทบใดใดตามมาหรือไม่นั้น ม.ล.วัลย์วิภา บอกว่า เป็นเรื่องถูกต้องแล้วที่ไทยยังไม่ลงนามร่างดังกล่าว เพราะก่อนจะลงนาม ควรมีการทบทวนก่อนว่า ข้อตกลงการประชุมเจบีซีครั้งนั้นเป็นเรื่องเดียวกับที่มีการทำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา สมัย นายนพดล ปัทมะ ที่สนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่า ศาลปกครองได้สั่งระงับใช้แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวแล้ว แต่ไทยเรายังไม่มีการตีความว่า แถลงการณ์ร่วมนั้นสิ้นผลแน่แล้วหรือยัง เพราะมีเพียงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้นที่ประกาศว่า ส่งจดหมายแจ้งกัมพูชาแล้ว แต่ไม่แน่ว่าการทำเพียงเท่านั้น จะเพียงพอต่อการทำให้แถลงการณ์ร่วมสิ้นผลหรือไม่ หรือต้องเป็นระดับรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศแจ้งยกเลิก
ม.ล.วัลย์วิภา ยังแนะด้วยว่า นอกจากรัฐบาลไทยต้องตรวจสอบเรื่องการสิ้นผลของแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาแล้ว ยังควรพิจารณาด้วยว่าข้อตกลงจากการประชุมเจบีซีเมื่อเดือน พ.ย.2551 นั้น จะส่งผลกระทบต่อเรื่องเขตแดนของไทยหรือไม่
ส่วนกรณีที่รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ มีมติเปลี่ยนตัวคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ที่มี นายปองพล อดิเรกสาร เป็นประธานนั้น อ.เทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ บอกว่า ตนพร้อมด้วยนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และผู้ที่ติดตามเรื่องพระวิหารได้ทำหนังสือถึง นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เมื่อเร็วๆ นี้ โดย 1 ในบรรดาข้อเสนอที่ยื่นต่อนายกฯ ก็คือ ขอให้พิจารณาปลดนายปองพล พ้นประธานคณะกรรมการมรดกโลก เนื่องจาก นายปองพล บกพร่องต่อหน้าที่ แทนที่จะคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกของกัมพูชา กลับประเคนอธิปไตยเหนือดินแดนพื้นที่ทับซ้อนรอบปราสาทพระวิหารที่เป็นของไทยให้กัมพูชา ด้วยการเสนอให้ทำเป็นมรดกโลกข้ามพรมแดน
“เราก็ไปที่ทำเนียบ แล้วก็ไปยื่น 5 ข้อ คือ 1.ขอให้ปลดประธานคณะกรรมการมรดกโลกฝ่ายไทย คือ คุณปองพล เหตุผลเพราะบกพร่องต่อหน้าที่ และพยายามที่จะเอาความเป็นสากลที่ตัวเองไปเจอมาจากองค์กรยูเนสโกไปบิดเบือน และมาบอกข้าราชการส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก 15 หน่วยงานว่า ทำได้ โดยทำเป็นมรดกโลกข้ามพรมแดน ซึ่งมันผิดไง มันผิดตรงไหนรู้มั้ย มันผิดตรงที่ว่า มันยังไม่มีการปักปันเขตแดน แต่ประเทศอื่นเขาปักปันเขตแดนแล้ว จะข้ามพรมแดนก็ได้ เช่น น้ำตกไนแองกาลา มันแคนาดากับอเมริกาใช่มั้ย แต่มันมีปักปันเขตแดนแล้ว มันเลยเป็นมรดกโลกข้ามพรมแดนได้ ทีนี้ปองพลก็พยายามเนียนๆ ว่า กรณีพระวิหารเนี่ย แม้ไม่มีการปักปันเขตแดนก็ให้เรียกว่า มรดกโลกข้ามพรมแดนก็ได้ เพราะโดยหลักการยูเนสโก ไม่เอาเรื่องเขตแดนมาเป็นเงื่อนไข แหง๋แหละ! เพราะเขามีเขตแดนแล้วไง เขาจึงไม่เอาเขตแดนมาเป็นเงื่อนไข แต่ของเรามันยังไม่มีเขตแดน มันจะใช้คำเลี่ยงอย่างนั้นไม่ได้ ผมก็เลยบอกท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ว่า เราต้องปลด และโดยมารยาทแล้ว เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล เขาเป็นคนละขั้วอยู่แล้ว ก็ควรจะออกตั้งแต่แรก”
“(ถาม-สิ่งที่คุณปองพลเสนอมรดกโลกข้ามพรมแดนเนี่ย ไม่ได้หมายความว่า เอาพื้นที่ทับซ้อนรอบพระวิหารขึ้นทะเบียนไปด้วยใช่มั้ย?) ขึ้นทะเบียนไปด้วย เพียงแต่ว่าไปด้วยในนามของกัมพูชาเป็นเจ้าของพื้นที่ แล้วก็ทำเนียนๆ ว่า จะเอาประเทศเราไปร่วมกับอีก 6 ประเทศ เพื่อให้ดูเป็นสากล แต่ความจริงไม่ใช่ ความจริงก็คือคุณจะเอาพื้นที่รอบๆ ตรงนั้นไปยกประเคนให้เขา เพื่อให้เขาเป็นมรดกโลกที่สมบูรณ์ เพราะมันใช้เฉพาะตัวอาคาร(ปราสาทพระวิหาร)ขึ้นทะเบียนไม่ได้ โดยหลักสากลแล้ว มันต้องมี Buffer Zone มีพื้นที่พัฒนาโดยรอบ ไม่งั้นมันไม่มีเขตพื้นที่ที่ทำงานของตัวมรดกโลก”
ขณะที่ ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิจัย สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็แฉพฤติกรรมของนายปองพล และคณะกรรมการมรดกโลกของไทย หรืออีโคโมสไทยชุดนายปองพล ว่า ต่อหน้าก็ทำตัวเหมือนนักบุญ แต่ลับหลังกลับโป้ปดมดเท็จ ทำเหมือนทรยศหักหลังด้วยการเสนอคณะกรรมการมรดกโลกให้ขึ้นทะเบียนร่วมปราสาทพระวิหารแบบข้ามพรมแดน ซึ่งไม่เพียงส่งผลให้การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารของกัมพูชามีผลโดยสมบูรณ์ แต่ยังทำให้กัมพูชาสามารถเข้ามาจัดการพื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบปราสาทพระวิหารที่เป็นดินแดนของไทยได้อีกด้วย
“คุณปองพลในช่วงนั้นไปเอาเอกสารที่จำเป็นในการขึ้น (ทะเบียนมรดกโลก) ร่วม 2 แบบ คือแบบวัฒนธรรม และแบบธรรมชาติ ส่งไปให้คณะกรรมการมรดกโลกแล้ว แล้วมันมีผลทำให้มติของกรรมการมรดกโลกฉบับถาวรออกมาแล้ว 31 ส.ค.ออกมาแล้วว่า ยอมรับพิจารณาการขึ้นทะเบียนร่วมแบบข้ามพรมแดน คือ แบบวัฒนธรรมและแบบสิ่งแวดล้อม นี่คือสิ่งที่อะไรกัน! นี่มันใหม่หมดเลยน่ะ มันเหมือนทรยศหักหลังเลย ท่าน อ.อดุล (วิเชียรเจริญ อดีตประธานคณะกรรมการมรดกโลกไทย)ท่านก็ลุกขึ้นมาพูดนะว่า ถ้าเป็นแบบนี้มันใช้ไม่ได้ แต่นี่อะไรกัน คุณบอกว่าคุณคัดค้าน (กัมพูชา) จากผลที่ว่าขึ้นฝ่ายเดียว แต่คุณกลับมาทำแบบสนับสนุนยิ่งไปกว่าอะไรทั้งสิ้น แล้วคุณก็มาบอกว่า ถ้างั้นแถลงการณ์ร่วม (Joint Communique) สิ้นผลแล้ว ก็แน่นอน สิ้นผลแล้ว แต่มันมีตัว ปิศาจตัวใหม่เกิดขึ้น คือ ตัว decision ของกรรมการมรดกโลกเนี่ยล่ะ”
“(ถาม-นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราเสนอให้มีการปลดคุณปองพล?) ใช่ ยิ่งกว่านั้น ในการทำงานของอีโคโมสไทย อีโคโมสไทยก็ได้รับทุนจากกระทรวงต่างประเทศที่จะมาแก้ข้อถูกข้อผิดในรายงานของตัว ตัวเองก็ถูกต้อง แก้ตามหลักวิชาการ ถูกต้อง ตัวเองทำไป แต่ในการสรุปผล อีโคโมสไทย กลับบิดเบือน โป้ปดมดเท็จ เพราะใน executive summary ย่อหน้าสุดท้าย อันนี้จำแม่นเลย ชัดเจนเลยว่า อีโคโมสไทยเนี่ย คือ ในเชิงวิชาการคุณทำถูกนะ คุณวิจารณ์ตรงนั้นตรงนี้ว่าไม่ถูกต้อง คุณจะแก้ไขยังไง แต่พอถึงตอนท้าย คุณมาสรุปว่า คุณมาสรุปให้เป็นการเอาไปใช้ ให้คุณปองพลได้ว่า สมควรจะมีการขึ้นทะเบียนร่วมแบบข้ามพรมแดน โดยการอ้าง อ.อดุลด้วย ว่า อ.อดุลก็สนับสนุนการขึ้นทะเบียนร่วม แต่การอ้างแบบนี้ นี่มันโป้ปดน่ะ ตรงที่ว่า อ.อดุลไม่เคยบอกว่า ในสถานการณ์แบบนี้และเหตุการณ์แบบนี้ เวลานี้ ควรจะขื้นทะเบียนร่วม อ.อดุลเองเป็นคนลุกขึ้นมาค้านด้วยซ้ำ แต่ทำไมอีโคโมสไทยเหมือนทำตัวดีมาตลอดเลย ทำตัววิพากษ์วิจารณ์ แต่ละคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า เนี่ยมันไม่ได้หรอก ตามแนววิชาการมันต้องเป็นอย่างนี้ ทางขึ้นมันต้องอยู่ทางไทยแน่นอน นั่นคือวิชาการ แต่วิชาการแล้ว มันทำให้เหมือนกับนี่ไงนักบุญ แต่พอสรุปสุดท้ายแล้วคุณโกหกเขา หลอกลวงน่ะ อันนี้ถึงเห็นว่า คุณปองพลไปแล้ว (พ้นจากประธานคณะกรรมการมรดกโลกไทยแล้ว) ก็เหมือนผ่าตัด(คณะกรรมการมรดกโลกไทย) ใหม่น่ะ”
ด้าน อ.เทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ บอกว่า ผลจากการที่นายปองพลเสนอให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารของกัมพูชาแบบข้ามพรมแดน ทำให้กัมพูชาและอีก 5 ประเทศสามารถเข้ามาจัดการและพัฒนาพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ของไทยได้ ส่งผลให้ปัญหานี้ ไทยจะไม่ใช่รบกับเขมรประเทศเดียวเท่านั้น แต่ต้องรบกับอีก 5 ประเทศด้วย ดังนั้น เพื่อรักษาอธิปไตยเหนือดินแดน 4.6 ตร.กม.ของไทย ตนพร้อมด้วยกลุ่มประชาชนที่ทำเรื่องปราสาทพระวิหาร จะทำหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเรียกร้องให้ยูเนสโกปลดมรดกโลกปราสาทพระวิหารออกไปก่อน เพื่อรอจนกว่าจะมีการปักปันเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ให้ชัดเจนก่อน โดยในหนังสือดังกล่าว จะระบุด้วยว่า การประกาศให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้นเป็นไปโดยมิชอบอย่างไรบ้าง
“1.ไม่มีการปักปันเขตแดน 2.ขั้นตอนของที่มาของการให้คำประกาศมรดกโลกแห่งนี้มันมีความไม่ชอบพากล เพราะคณะกรรมการมรดกโลกทำผิดข้อบัญญัติของตนเอง และทำผิดมติของตนเองที่ไคลจ์สเชิร์ช ที่นิวซีแลนด์ บอกว่า ประเทศไทยต้องให้ความร่วมมืออย่างแข็งขัน แต่เราถูกกรณีที่ว่า ศาลปกครองสั่งก่อนที่จะมีมติที่ควิเบก แคนาดา คือ ศาลสั่ง (ระงับแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา) แล้ว แล้วปรากฏว่า คณะกรรมการมรดกโลกยังฝืนมติที่ว่า ไทยเราไม่เห็นด้วยไง แต่ยังไปฝืนมติให้เขมรอีก ก็เลยทำผิดกฎของไคลจ์สเชิร์ชของตนเอง (ถาม-เราคิดว่ามันมีน้ำหนักพอที่จะเปลี่ยนแปลงเหรอ?) มีหรือเปล่า ผมไม่รู้ อันนั้นมันเป็นอนาคตน่ะ ผมมองว่ามันต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้เขมรได้เห็นว่า เราเองก็ไม่ได้ต้องการที่จะไปมีปัญหาหรอก แต่คุณก็อย่ามายุ่งกับดินแดนเราอีกน่ะ คือ ทุกวันนี้พฤติกรรมของเขมรเนี่ย คือ มายุ่งกับดินแดนโดยรอบปราสาทพระวิหารเรา ซึ่งเป็นสิทธิของเราอย่างเต็มที่ ไม่มีพื้นที่ทับซ้อนนะ ศาลโลกไม่ได้สั่งให้ดินแดนโดยรอบของปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา คือตอนนี้เขมรเขาเคยเข้าใจเหมือนกับเราเข้าใจน่ะ และวันหนึ่งเราเองนี่แหละไปประเคนที่ดินให้เขา เท่านั้นเอง”
อ.เทพมนตรี ยังบอกด้วยว่า ถ้าเผอิญตนเป็นคณะกรรมการมรดกโลก จะขอใช้สิทธิของการเป็นภาคีสมาชิกที่จงรักภักดีต่อยูเนสโกในการจ่ายเงินให้ยูเนสโกทุกปีไม่เคยขาดและไม่เคยสาย บอกว่า ขอใช้สิทธิแซงก์ชั่น โดยขอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาประเด็นปัญหาการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหาร พร้อมยืนยันว่า การพิจารณาถอนมรดกโลกเป็นอำนาจของคณะกรรมการมรดกโลก ที่ไม่ต้องกลัวว่าจะทำให้กัมพูชาไม่พอใจ เพราะเครื่องหมาย “มรดกโลก”ก็เหมือนตราสัญลักษณ์แฟรนไชส์ ให้ได้ก็ถอนได้ ถ้าไม่เข้าหลักเกณฑ์ กัมพูชาไม่มีสิทธิไม่พอใจถ้าถูกถอนมรดกโลกปราสาทพระวิหาร เพราะกัมพูชายังมีนครวัตเป็นมรดกโลกอยู่ และกัมพูชาก็คงไม่กล้าทำอะไรคณะกรรมการมรดกโลก เนื่องจากคณะกรรมการมรดกโลกยังอยู่ในฐานะผู้อนุมัติเงินกู้ให้กัมพูชานำไปดูแลโบราณสถานอยู่!!