“นพดล” กลับลำไม่ขอขึ้นทะเบียนองค์ประกอบของปราสาทเขาพระวิหารฝั่งไทยเป็นมรดกโลกร่วม หลังเสียงฮือต้านยกเขาพระวิหารให้กัมพูชา อ้างเป็นความลับเหตุไม่เปิดเผยก่อนหน้านี้ ลั่นยังไม่ถอดใจ แม้เหนื่อยและหนัก
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายนพดล ปัทมะ ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (24 มิ.ย.) นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีขอจดทะเบียนร่วมเขาพระวิหาร เป็นมรดกระหว่างไทยและกัมพูชาว่า จะมีการหารือกันในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คงจดทะเบียนไม่ทันแล้ว เพราะต้องเตรียมเอกสารมาก แต่อาจจะมีการแสดงเจตจำนงว่าไทยประสงค์ขอขึ้นทะเบียนของประเทศไทย เมื่อถามว่าเหตุผลที่กลับลำเพราะอะไร นายนพดล กล่าวว่า ไม่ได้กลับลำ เพราะขึ้นร่วมไม่ได้ เพราะกัมพูชาปฏิเสธเรา จึงคิดว่าน่าจะขึ้นในส่วนของเรา เหตุผลก็เพราะว่าตนพึ่งมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ 4 เดือน กัมพูชายื่นตั้งแต่ปี 2490 และเป็นโอกาสแรกที่ตนคิดแล้วเพียงแต่ไม่ได้มีการเปิดเผยหรือพูดคุยกันเท่านั้นเอง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมก่อนลงนามไม่คิดเรื่องนี้ก่อน นายนพดล กล่าวว่า ก่อนลงนามกัมพูชาปฏิเสธ ไม่ลงนามร่วมกับเรา ทั้งๆ ที่เรายื่นไปตั้งแต่ปี 2490 สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการยื่นแสดงเจตจำนงไป แต่กัมพูชาก็ยังปฏิเสธไม่ร่วมกับเรา เมื่อถามว่าทำไมไม่เปิดเผยเรื่องนี้ก่อน นายนพดล กล่าวว่า เรื่องนี้มันอยู่ในแฟ้มอยู่แล้ว หลายเรื่องที่เวลาเราบริหารงาน บางอันก็เป็นความลับ บางอันก็เป็นประเด็นที่ไม่ควรเปิดเผย
เมื่อถามว่า แต่เรื่องนี้เป็นการเสนอของกรมศิลปากรเอง แต่ถูกปฏิเสธ นายนพดล กล่าวว่า ถูกปฏิเสธเพราะเวลาเจรจาต้องเจรจาผ่านกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อถามว่าเรื่องนี้ไม่เคยมีการหยิบขึ้นมาที่จะขอขึ้นทะเบียนทำไมวันนี้จึงมีการเสนอเรื่องนี้ เป็นเพราะถูกคัดค้านหรือไม่ นายนพดล กล่าวว่า จะอย่างไรก็แล้วแต่คนจะมองว่าเป็นเพราะเสียงคัดค้าน จึงยอมที่จะขึ้นทะเบียน แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คิดกันมานานแล้ว ซึ่งตนก็เรียนว่าเรายื่นร่วมไม่ได้ เราก็ยื่นแยก เขาก็ยื่นในส่วนของเขา เราก็ยื่นในส่วนของเรา
เมื่อถามว่าในเมื่อสิ่งที่เขาทำอยู่แล้วทำไมเราไม่สานต่อตั้งแต่แรก นายนพดล กล่าวว่า ก็อย่างที่บอกว่าเรายื่นร่วมไม่ได้ เพราะคิดว่ามันมีคุณค่าทางศิลปะ เราก็ยื่นในส่วนของเราเท่านั้นเอง เมื่อถามว่าไปยื่นตามหลังจะมีผลอย่างไร นายนพดล กล่าวว่า ประเด็นแรก คือ เรายื่นร่วมไม่ได้เพราะเขาปฏิเสธ เหมือนเราจะแต่งงานกันแต่เขาไม่ยอมแต่งกับเรา ไม่ยอมอยู่กับเรา เราก็ขึ้นทะเบียนในส่วนของเราก็เท่านั้นเอง ตอนแรกมีประเด็นว่าเสียดินแดน ก็เรียนแล้วว่ามันไม่เสียดินแดน แล้วมาบอกว่าทำไมยื่นร่วมอีก ฉะนั้น ตนพยายามทำหน้าที่ของตนรักษาผลประโยชน์ของชาติมารุกล้ำที่ดินทับซ้อน พอแก้ไขที่ทับซ้อนได้แล้วเราก็ไปทำงานใหม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า ข่าวในอินเทอร์เน็ตกัมพูชาไม่เห็นด้วยที่เราจะขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกบ้าง รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า เขาไม่มีสิทธิ์ที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพราะมันเป็นกรรมสิทธิ์ของเรา
ผู้สื่อข่าวถามว่า ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ นักวิชาการอาวุโส ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) ระบุว่า พื้นที่บริเวณปราสาทเขาพระวิหารถึงแม้ว่าศาลโลกจะมีการพิพากษาออกมาว่าเป็นของกัมพูชาตั้งแต่ 2505 แต่ไทยไม่เคยยอมรับเลยว่าเป็นของกัมพูชา นายนพดล กล่าวว่า หลังจากมีคำวินิจฉัยเมื่อ พ.ศ.2505 ครม.สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ยกตัวปราสาทให้จึงเป็นมติ ครม.ที่ชัดเจน มันก็เกิดตั้งแต่สมัยตนหนึ่งขวบ ฉะนั้น 46 ปี เราก็ไม่มีการทักท้วงใดๆ เราก็แบ่งเส้นเขตแดนใหม่ตามแผนที่ L 7017 ได้มีการกั้นรั้วให้เขาไปหมดแล้ว ซึ่งเราอาจจะไม่เห็นด้วยเหมือนคำพิพากษาที่ศาลฏีกา แต่ในที่สุดแล้วทำให้มีผลต้องผูกพัน
เมื่อถามว่า เมื่อบอกว่าถึงที่สุดแล้วปราสาทก็เป็นของกัมพูชา ทำไมมายื่นขอให้เป็นมรดกโลก รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ในส่วนที่ตนยื่นเป็นการยื่นขอในส่วนของประเทศไทย เช่น สระตราว สถูปคู่ ผามออีแดง เมื่อถามอีกว่า กัมพูชาทราบหรือไม่ว่าเราจะยื่นในส่วนนี้ นายนพดล กล่าวว่า ต้องไปหารือกัมพูชา อย่างน้อยเราต้องไปแถลงที่ควิเบก ประเทศแคนนาดา ว่าเรามีเจตจำนงที่จะยื่น ส่วนจะได้หรือไม่เป็นเรื่องที่คณะกรรมการมรดกโลกจะพิจารณา อย่างไรก็ตาม อาจจะไม่ต้องขอความเห็นชอบจากกัมพูชา เพราะเป็นส่วนในประเทศของเรา เหมือนที่เขาจะขึ้นปราสาทก็ไม่จำเป็นต้องมาขอความเห็นจากเรา ประเด็นสำคัญ คือ ปราสาทเป็นของใครก่อน ซึ่งอันนี้ศาลโลกได้ตัดสินใจว่าเป็นของเขา แม้เราจะเสียใจ แต่เมื่อมันเกิดขึ้นนานแล้วก็ต้องยอมรับคำวินิจฉัย
ผู้สื่อข่าวถามว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่ามีหลักฐานชัดเรื่องคำพิพากษาต่างๆ นายนพดล กล่าวว่า ตนก็จะชี้แจง เมื่อถามอีกว่า ศาลตัดสินให้เฉพาะตัวปราสาทและที่ดินไม่น่าจะมีที่ทับซ้อนอะไร รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ศาลตัดสินให้ว่า ปราสาทตั้งอยู่บนที่ดินที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา ฉะนั้นไม่ได้ตัดสินให้เฉพาะตัวปราสาท บางคนคิดว่าดินเป็นของเรานั้นไม่ใช่
ส่วนกรณีที่กัมพูชาทำการปิดเขาพระวิหารจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างนั้น นายนพดล กล่าวว่า ส่งผลกระทบแน่นอน เพราะพ่อค้าแม่ค้าขายของไม่ได้ ตนย้ำเสมอความสัมพันธ์ที่ดีเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย การที่กัมพูชาปิดประตูปราสาทไม่ให้นักท่องเที่ยวไม่เดินทางไปท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษทำให้เราเสียรายได้ก็เลยเดือดร้อนตนที่ต้องไปเจรจากับกัมพูชาให้เปิดด่าน แต่ก็ไม่ได้มีการแจ้งว่ามีการปิดนานเท่าไร
เมื่อถามว่าปัญหาความบกพร่องอยู่ที่ใคร นายนพดล กล่าวว่า ไม่ได้อยู่ที่ตน ตนเหนื่อยและก็หนัก แต่ยังไม่ถอดใจ เชื่อมั่นว่าทำในสิ่งที่ถูกต้องก็ต้องชี้แจงออกไป ทุกอย่างขึ้นอยู่กับหลักฐาน และหลักฐานก็ชัดเจน เมื่อถามอีกว่า มีการะบุว่าเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกจะกินอาณาบริเวณโดยรอบ นายนพดล กล่าวว่า คงไม่ เขาทำแผนที่แค่ไหนยื่นไปเท่าไรก็จะขึ้นเท่านั้น ไม่สามารถกินพื้นที่ของบ้านเราด้วย นี้คือปัญหาที่เราต้องไปแก้ไขกันครับ ถ้าปล่อยให้ช้าไปเขาจะขึ้นทะเบียนและจะบวกพื้นที่ทับซ้อนของเราด้วย
“ถ้าเราไม่ไปเจรจาเขาก็จะไปขึ้นทะเบียน เพราะแผนที่ที่เขายื่นไว้มีปราสาทบวกพื้นที่ทับซ้อนค้างไว้ในมรดกโลก ถ้าเราปล่อยไปไม่ได้ไปแก้ไข เขาก็จะขึ้นตามนั้น” นายนพดล กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อเราสนับสนุนกัมพูชาแต่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า มันก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการมรดกโลกและกัมพูชาไม่เกี่ยวกับเรา
ส่วนที่กลุ่ม ส.ว.จะไปยื่นคัดค้านกับยูเนสโก้นั้น รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการพิจารณา ตนตอบแทนไม่ได้ เมื่อถามว่าถ้าเรื่องนี้มีผลทำให้ไม่ไว้วางใจจะทำอย่างไร นายนพดล กล่าวว่า ถ้าไม่ไว้วางใจเดี๋ยวมีคำตอบในวันที่ 26 มิ.ย.ที่จะมีการลงมติ