xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฯ คุ้มครอง “เขาพระวิหาร” - ทนายกู้ชาติเตรียมฟ้อง “นพเหล่”-ครม.ยกชุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุวัตร อภัยภักดิ์(ซ้ายสุด) และนายนิติธร ล้ำเหลือ(ขวาสุด) ยื่นร้องต่อศาลปกคึรองเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา
“ศาลปกครองกลาง” สั่งระงับแถลงการณ์ร่วมไทย-เขมรจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา ระบุไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้กระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรียุติการดำเนินการตามแถลงการณ์ร่วม ด้านทนายกู้ชาติเตรียมฟ้อง “นพเหล่” พ่วง ครม.ทั้งชุด-ขรก.ต่างประเทศ-สมช. พร้อมยื่น ป.ป.ช.ฟันซ้ำฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

เมื่อเวลาประมาณ 02.00 น.วันนี้ (28 มิ.ย.) ศาลปกครองกลาง ได้ส่งโทรสารคำสั่งไปยังคู่ความในคดีที่ตัวแทนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองให้ระงับแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชน ที่สนับสนุนให้มีการจดทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยศาลฯ มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้กระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรียุติการดำเนินการตามมติ ครม.ที่รับรองการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาดังกล่าว ไปจนกว่าคดีจะเป็นที่สิ้นสุด หรือ ศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

คดีดังกล่าว ตัวแทนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนำโดย นายสุวัตร อภัยภักดิ์ นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ และคณะ รวม 9 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นจำเลยที่ 1 คณะรัฐมนตรี จำเลยที่ 2 ต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2551 ขอให้ขอศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณามีคำสั่งรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาและขอศาลปกครองสูงสุดได้โปรดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งดังนี้

1) ให้เพิกถอนการกระทำของ นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่เสนอร่างคำแถลงการณ์ร่วมฯ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและมีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ

2) เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ที่มีมติเห็นชอบร่างคำแถลงการณ์ร่วมฯ โดยมอบหมายให้นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมฯ

3) ให้เพิกถอนการลงนามในคำแถลงการณ์ร่วมฯ ของนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ลงนามเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551

4) มีคำสั่งให้ นายนพดล ปัทมะ ยุติความผูกพันตามคำแถลงการณ์ร่วมฯ ต่อประเทศกัมพูชาและองค์การยูเนสโก

ศาลปกครองกลาง ได้นัดไต่สวนคดีนี้เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. และมีคำสั่งเมื่อเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยได้ให้เหตุผลในการออกคำสั่งครั้งนี้ว่า จากการได้ตรวจพิจารณาคำขอเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา และเอกสารอื่นๆ ในสำนวนคดีแล้ว เห็นว่า คำพิพากษาของศาลยุติธรรม ระหว่างประเทศที่พยานของนาย นพดล ปัทมะ รมว.กระทรวงการต่างประเทศส่งต่อศาลนั้น ไม่ได้ระบุเขตแดนระหว่างปราสาทพระวิหารกับเขตแดนไทยอย่างชัดเจน เขตแดนที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการกำหนดบริเวณปราสาทพระวิหารโดยประเทศไทยฝ่ายเดียว ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 10 ก.ค. พ.ศ.2505 ตามคำยืนยันของนายก ฤต ไกรจิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ และนาย เชิดชู รักตะบุตร อัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ปฏิบัติราชการ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้ให้ถ้อยคำว่าการปักปันเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา ที่รวมความยาวพื้นที่ชายแดนประเทศไทยที่ติดต่อประเทศกัมพูชา 798 กิโลเมตร ซึ่งรวมทั้งเขตแดนในบริเวณปราสาทพระวิหารด้วย ตามบันทึกความเข้าใจระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา พ.ศ.2543 และสนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส ค.ศ.1904 โดยคณะกรรมาธิการร่วมชายแดนไทย-กัมพูชายังเจรจาปักปันเขตแดนไม่สำเร็จ จึงเชื่อว่ายังไม่มีการปักปันเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชาในบริเวณเขตแดนปราสาทเขาพระวิหาร โดยคณะกรรมาธิการร่วมชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากทั้งประเทศเกิดขึ้น

ศาลปกครองกลางยังระบุอีกว่า อีกทั้งเมื่อพิจารณาแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทย-กัมพูชา ในข้อ 1 ที่ระบุว่า “ราชอาณาจักรไทยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารในบัญชีมรดกโลก ซึ่งเสนอโดยรัฐบาลกัมพูชา ตามที่จะได้มีขึ้นในการประชุมสมัยที่ 32 ของคณะกรรมการมรดกโลก(ที่นครควิเบก ประเทศแคนาดา ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2008) เขตรอบพื้นที่ของปราสาทพระวิหารปรากฏตามที่ระบุไว้ในบริเวณ N.1” ซึ่งปรากฏว่าในแผนที่แนบท้ายแถลงการณ์ ร่วมที่กัมพูชาเป็นผู้จัดทำขึ้น มีการกำหนดเขตรอบพื้นที่ปราสาทอย่างชัดแจ้ง โดยระบุในแผนที่ว่าเป็นพื้นที่ N.1 แม้พื้นที่ดังกล่าวจะมีบริเวณจำนวนน้อยกว่า บริเวณปราสาทพระวิหารตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2505 ก็ตาม อาจถือได้ว่าไทยได้ยอมรับเขตแดนรอบพื้นที่ของปราสาทปรากฏตามที่ระบุไว้ ณ บริเวณ N.1 โดยปริยาย นอกจากนี้แถลงการณ์ร่วมในข้อ 4 ที่ระบุว่า “...เครื่องหมาย N.3 ไว้ในแผนที่ที่กล่าวถึงในย่อหน้าที่ 1 ข้างต้น ให้มีการจัดเตรียมแผนการจัดการพื้นที่ดังกล่าวโดยวิธีการประสานกันระหว่างรัฐบาลกัมพูชา –ไทยอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศด้านการอนุรักษ์เพื่อที่จะธำรงไว้ซึ่งคุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากลของทรัพย์สินนี้ แผนจัดการดังกล่าวจะถูกรวมเข้าไว้ในแผนจัดการสุดท้ายสำหรับปราสาทและพื้นที่รอบๆ ปราสาทนั้น...” ข้อตกลงในลักษณะดังกล่าวอาจมีผลผูกพันประเทศไทยและอาจทำลายน้ำหนักในการอ้างอิงเขตแดนที่ไทยยึดถือสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดนมาโดยตลอด

ดังนั้น คดีจึงมีมูลรับฟังได้ตามคำฟ้อง และการกระทำดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนซึ่งรวมถึงผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าได้รับความเสียหายต่อไป อันเป็นความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง อีกทั้งหากศาลมีคำสั่งหรือกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาแล้ว ก็ไม่มีผลกระทบต่อการบริหารงานของรัฐ และยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยที่ยังคงสงวนสิทธิโต้แย้งคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในคดีปราสาทพระวิหารไว้เช่นเดิม จึงมีเหตุเพียงพอที่ศาลจะกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาได้

จึงมีคำสั่งห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการใดๆ ที่เป้นการอ้างหรือใช้ประโยชน์จากมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ที่เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา และการดำเนินการตามมติดังกล่าว จนกว่าคดีจะถึงที่สุดและจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น

คลิก! อ่านคำสั่งศาลปกครองกลางฉบับเต็ม

ด้าน นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความ และผู้ฟ้องในคดีนี้ กล่าวภายหลังศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่เพื่อประชาชนทั่วประเทศ ที่ยังรักษาปราสาทเขาพระวิหารไว้ได้ ซึ่งหลังจากนี้ ตนและผู้ฟ้องอื่นจะเดินหน้าเกี่ยวกับคดีอาญาที่จะร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ไต่สวนกรณี ครม. , นาย นrดล ปัทมะ ในฐานะ รมว.ต่างประเทศ นายกฤต ไกรจิตติ อธิบดีสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการแถลงการณ์ร่วม ฯ กระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 119 ผู้ใดกระทำการใด ๆ เพื่อราชอาณาจักรหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรตกไปอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐต่างประเทศ หรือเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป ต้องระวางโทษประการชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต และ มาตรา 120 ผู้ใดคบคิดกับบุคคลซึ่งการกระทำการเพื่อประโยชน์รัฐต่างประเทศ ด้วยความประสงค์ที่จะก่อให้เกิดการดำเนินการรบต่อรัฐ หรือในทางอื่นที่เป็นปรปักษ์ต่อรัฐต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 10 – 20 ปี

คลิก! อ่านคำสั่งศาลปกครองกลางฉบับเต็ม

เปิดคำฟ้องศาลปกครอง ระงับ “หุ่นเชิด” ยกดินแดนให้เขมร




ประสาทพระวิหาร
กำลังโหลดความคิดเห็น