xs
xsm
sm
md
lg

"วีระ"ชวนปชช. พิสูจน์เขต"เขาวิหาร" เปิดตารัฐสภาไทย ก่อนเสียโง่รอบสอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"วีระ" ยันลงพื้นที่แล้วพิสูจน์ชัด ภูมะเขือถึงช่องตาเฒ่า อยู่ในเขตุไทยอย่างชัดเจน พร้อมชวนสื่อ-ปชช. ลงพื้นที่พิสูจน์ความจริง 28 ส.ค.นี้ จี้"กษิต" พูดให้เคลียร์ไทยจะเสียดินแดนหรือไม่ ด้าน"มล.วรรณวิภา" ระบุหากข้อตกลงผ่านสภา จะเกิดกลไกใหม่ในการเจรจาเขาวิหาร ที่ยากแก่การเข้าถึงข้อมูล เผยขณะนี้เขมรวางแผนพัฒนาพื้นที่แล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้ข้อตกลงจากไทย ขณะที่"นายอนันต์" แนะทางออก รบ.ควรตีพิมพ์ข้อตกลงผ่านสื่อให้ ปชช.ร่วมพิจารณาด้วย



คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการ “คนในข่าว”

รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน ช่วงเวลา 20.30-21.30 น. วันที่ 25 สิงหาคม 2552 โดยมีนายเติมศักดิ์ จารุปราณ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งได้รับเกียรติจากมล.วรรณวิภา จรูญโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญจากนักวิจัยสถาบันไทยคดีศึกษา พร้อมด้วยนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอรัปชั่น รวมถึงนายอนันต์ เหล่าเลิศวรกุล อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมพูดคุยเจาะลึกถึงเบื้องหลัง หากสภาฯผ่านบันทึกการประชุมของกรรมาธิการเขตุแดนร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา

นายวีระ กล่าวว่า ไม่อยากให้ไทยต้องเสียรู้กัมพูชา เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เหมือนเมื่อครั้งที่ ศาลโลก พิจารณาจดทะเบียนเขาวิหารให้กัมพูชา เมื่อปี 2505 เนื่องจากนักประวัติศาสตร์ ไม่ได้มีส่วนสำคัญในการหาข้อมูลในทีมทนาย ไปสู้กับกัมพูชา ทั้งนี้กรอบการให้ความเห็นชอบของรัฐสภา ที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมในวันศุกร์ที่ 28 ส.ค. นี้ มันมีสิ่งผิดปกติอยู่ข้อหนึ่งที่อาจทำให้ไทยต้องเสียดินแดน 4.6 ตร.กม. ตนจึงอยากให้คณะ ส.ว. ศึกษาข้อมูลให้ถูกต้องชัดเจน ก่อนพิจารณา เพื่อไม่ให้เกิดประวัติซ้ำรอย ที่จะเป็นตราบาปของรัฐสภาไปตลอดชีวิต

นายวีระ กล่าวต่อว่า เมื่อ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา ตนได้มีโอกาสไปสำรวจข้อเท็จจริงกรณีเขาวิหาร ที่บริเวณผามออีแดง ซึ่งเป็นจุดที่มองเห็นเขาวิหารโดยรอบ พบว่าบริเวณตั้งแต่ภูมะเขือถึงช่องตาเฒ่า เป็นบริเวณที่อยู่ในเขตุแดนของไทยอย่างชัดเจน ดังนั้นหากไทยยินยอมผ่านร่างข้อตกลงที่จะนำเข้าสู่สภาในวันศุกร์นี้ ก็เท่ากับเป็นการยกดินแดน 4.6 ตร.กม. บริเวณเขาวิหารให้กัมพูชา

“แปลกใจ ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาชาวกัมพูชาเข้ามาอยู่ในเขตแดนของไทย แต่รัฐบาลไทยไม่มีท่าทีในการที่จะให้กัมพูชาถอยออกไป มิหนำซ้ำยังยอมให้ขนกำลังทหาร ขนอาวุธหนัก รวมถึงสร้างถนน ก่อนที่จะมีการตกลงให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะพฤติการณ์อย่างนี้เท่ากับเป็นการเสียอธิปไตยของประเทศแล้ว” นายวีระ กล่าว

นายวีระ กล่าวถึงนายกษิต ภิรมณ์ รมว.ต่างประเทศ ที่พูดว่า “ไทยยังไม่เสียดินแดน” ตนอยากให้ นายกษิต พูดใหม่ ว่า ไทยจะไม่เสียดินแดนแม้แต่ตารางนิ้วเดียวถึงจะถูก เพราะหากพูดว่าเรายังไม่เสียดินแดน ตรงนี้หมายความว่า วันนี้เรายังไม่เสียดินแดน แต่หากข้อตกลงผ่านสภาแล้ว ไทยต้องเสียดินแดนใช่หรือไม่

นายวีระ กล่าวว่าหลังจากที่ตนนัด ประชาชนพบกัน ที่ศาลหลักเมือง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ล่าสุดมีข่าวว่า ได้มีการปลุกระดมพี่น้องคนไทยที่ไม่ทราบข้อมูล ให้มาทำร้ายพวกตน โดยยุยงว่าพวกตนอยากก่อให้เกิดสงคราม แท้ที่จริงแล้วมันไม่ใช่ เราเพียงแค่อยากให้ประชาชนรู้ข้อมูลที่แท้จริง แล้วช่วยกันคัดค้านไม่ให้กรอบการให้ความเห็นชอบผ่านรัฐสภา มิฉะนั้นอาจเสียพื้นที่ 4.6 ตร.กม อย่างไรก็ตามตนอยากเตือนพี่น้องคนไทยที่หลงเป็นเหยื่อเข้ามาต่อต้านการที่เราจะไปพิสูจน์ความจริง ว่า หากปล่อยให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนเขาวิหาร แล้วไทยต้องเสียดินแดน บ้านท่านที่อยู่ตามแนวชายแดนอาจกลายเป็นดินแดนกัมพูชา เมื่อถึงตอนนั้นหากกัมพูชาสั่งให้ย้ายบ้านออกพวกท่านจะทำอย่างไร ทั้งนี้เราก็เป็นคนไทยด้วยกัน ต้องการรักษาดินแดนเหมือนกันกับท่าน ดังนั้นเราควรมาร่วมมือกันมากกว่าที่จะมาต่อต้านกัน

นายวีระ กล่าวต่อว่าวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2552 ขอเชิญสื่อมวลชนและประชาชนคนไทยที่ต้องการทราบความจริง ไปร่วมกันพิสูจน์ว่าบริเวณ ตั้งแต่ภูมะเขือถึงช่องตาเฒ่า จะอยู่ในเขตุแดนไทยหรือว่าเขตุกัมพูชา ในเวลา 10 โมงเช้า ที่ศาลหลักเมือง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เพื่อที่จะได้เอาข้อมูลนี้มาให้สมาชิกรัฐสภาไทย ทั้งนี้ที่เราทำไปทุกอย่างเพียงเพื่อต้องการใช้สิทธิตามรัฐธรรนูญ มาตรา 70และมาตรา 71 เพราะรัฐบาลไทยไม่ให้ความกระจ่าง ดังนั้นเราจึงต้องไปหาความจริงด้วยตนเอง

มล.วรรณวิภา กล่าวเสริมว่า ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 28 เวลา 09.00 น. จะมีการรวมตัวคัดค้านที่ หน้ารัฐสภา เพื่อขอให้ถอนวาระการนำร่างเข้าสู่สภาออกไปก่อน เช่นเดียวกัน

มล.วรรณวิภา กล่าวว่าข้อตกลงของคณะกรรมาธิการร่วมเจรจาปัญหาเขตุแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ที่ยังตกลงกันไม่ได้ ในเรื่องการใช้ชื่อปราสาทเขาวิหาร ซึ่งถ้ามองอย่างผิวเผินจะใช้ชื่ออะไรก็ไม่น่ามีปัญหา แต่ปรากฏว่ามีการตกลงกันจนได้ข้อยุติให้เรียกชื่อ เขาวิหาร ว่า พื้นที่ระหว่าง ภูมะเขือถึงช่องตาเฒ่า ดังนั้นเรื่องที่โต้เถียงกันจึงไม่ใช่เป็นเรื่องของวัตถุแล้ว แต่เป็นการพูดถึงพื้นที่ 4.6 ตร.กม.

มล.วรรณวิภา พยายามโยงให้เห็นถึงผลเสีย หากไทยผ่านข้อตกลง บันทึกการประชุมของกรรมาธิการเขตุแดนร่วมระหว่างไทยกัมพูชาหรือ JDC ทั้งสามฉบับ ที่จะเอาเข้าสภาในวันศุกร์นี้ โดยในบันทึก JDC กล่าวว่า “คู่ภาคีจะไม่คงกำลังทหาร...ในวัดแก้วสิขาคีรีศวร...แม่ทัพภาค 2 ของไทย และแม่ทัพภาค4 ของกัมพูชา จะกำหนดมาตรการที่เหมาะสมร่วมกัน...โดยผ่านชุดติดตามทหารชั่วคราวของแต่ละฝ่าย” และ “จะประชุมโดยไม่ชักช้า เมื่อมีการร้องขอจากคู่ภาคี”

ประกอบกับ มติคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 33 บอกว่า “ให้ส่งแผนที่ขอบเขตุกันชน โดยที่เขตุกันชนไม่รวมพื้นที่ทางทิศเหนือ และตะวันตกของเขาวิหาร เนื่องจากเป็นพื้นที่พิพาทกับประเทศไทย” จากประเด็นดังกล่าวรัฐภาคีจะนำเสนอร่างข้อตกลง ในการจัดการพื้นที่แบบสมบูรณ์ ซึ่งร่างดังกล่าวจะแก้ไขตามข้อตกลง JDC ซึ่งก็แปลได้ว่า หากไทยนำข้อตกลงนี้ผ่านสภาไทย จะเท่ากับการให้สิทธิกัมพูชา นำเขาวิหารไปจดทะเบียนได้อย่างสมบูรณ์ ตามมติของคณะกรรมการมรดกโลก

อย่างไรก็ตามเมื่อเดือน เม.ย. มีเหตุขัดข้อง ทำให้การดำเนินการขึ้นทะเบียนล่าช้า ปรากฏว่า ผู้อำนวยการใหญ่ของ ยูเนสโก ได้ส่งจดหมายแจ้ง ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบของกัมพูชา ตัดสินใจที่จะให้มีกลไกติดตามเสริม และจะส่งชุดทำงานนี้ลงพื้นที่มรดกโลกในทันที เป็นการเร่ง ให้บรรลุผลตามมติคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อต้องการให้ทัน วันที่ 1 ก.พ. 2553

มล.วรรณวิภา กล่าวต่อว่าบันทึกการประชุมร่วมไทย-กัมพูชาเมื่อวันที่ 6-7 เม.ย. 2552 มีการตกลงกันได้ในเกือบทุกประเด็น โดยเฉพาะการจัดตั้งชุดทหารติดตามชั่วคราวเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการปรับกำลังทหาร และการจัดตั้งชุดประสานงานชั่วคราวเพื่อพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่พิพาท ยกเว้นการเรียกชื่อปราสาทเขาวิหาร ดังนั้นเมื่อข้อตกลงมีผลบังคับใช้จะทำให้ชุดติดตามทหารและชุดประสานงานชั่วคราว เป็นกลไกใหม่ในการแก้ไขปัญหากรณีเขาวิหาร ดังนั้นแม่ทัพภาค 2 จึงเป็นตัวแปรที่สำคัญมากในการตกลง และสูงเกินกว่าที่ประชาชนจะรู้ เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของความมั่นคง ซึ่งต้องปิดเป็นความลับทั้งสิ้น

มล.วรรณวิภา ได้นำหลักฐานมาเปิดเผยให้เห็นถึง การวางกำลังของทหารกัมพูชาในพื้นที่ 4.6 ตร.กม. มีทั้ง กำลังทหารของกำลังทหารภูมิภาคที่สี่ กองพลสนับสนุนที่สาม กำลังจากกองทัพบก และบก.ทหารของกัมพูชา รวมถึงขนอาวุธหนักเข้ามาในพื้นที่ นอกจากนี้ยังได้ทำถนนขึ้นปราสาทเขาวิหารอย่างมั่นคง ผ่านทางภูมะเขือ โดยรุกล้ำเข้ามาในเขตุแดนของไทย ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า กัมพูชามีการพัฒนาพื้นที่ มุ่งไปสู่การพัฒนาเพื่อเตรียมนำเขาวิหารไปขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ทั้งๆที่ข้อตกลงร่วม ยังไม่ผ่านสภาไทยเลย

มล.วรรณวิภา กล่าวว่าหากข้อตกลง JDC ผ่านการประชุมสภาฯ จะเป็นหารมอบอำนาจให้ คณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นตามกลไกนี้ จะตกลงอะไรก็ได้ เพราะการเจรจาจะเป็นความลับทั้งหมด อย่างไรก็ตามตนเคยเรียกร้องทหารให้รักษาแผนดิน แต่ทหารอ้างว่าขึ้นอยู่กับนโยบายการเจรจา และวันนี้ ก.ต่างประเทศยืนยันว่า “เราทำงานตามมติสภา” ดังนั้นตนจึงอยาก วิงวอนรัฐสภาให้วิเคราะห์เรื่องนี้ให้ดี เพราะไม่ว่าจะผิดหรือถูกอย่างไร ท่านต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นด่านแรกที่ก่อให้เกิดปัญหา

มล.วรรณวิภา กล่าวว่าน่าจะมีการนำร่างข้อตกลงไห้ประชาชนได้เห็น โดยเฉพาะในข้อ 8 “ข้อตกลงชั่วคราวจะมีผลใช้บังคับ ในวันที่มีการแลกเปลี่ยนหนังสือแจ้งภาคีแต่ละฝ่าย ว่าได้มีการดำเนินตามกฎหมายภายในของตนเสร็จสิ้นแล้ว และคงมีผลบังคับใช้จนกว่าการจัดทำหลักเขตุแดนเสร็จสิ้นลง...คู่ภาคีจะมีการเร่งรัดการดำเนินการตามกฎหมายภายใน ที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของตน” ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า หากมีการผ่านสภา จะถูกส่งไปให้กัมพูชาทันที แต่จะมีผลบังคับใช้ในทันทีเมื่อมีการแลกเปลี่ยนกัน

นายอนันต์ กล่าวว่า โดยหลักการแล้วบันทึกใบปิดหน้าหากใช้คำใด คำเดียวกันก็ควรปรากฏอยู่ในเอกสารที่บันทึก ถ้าใช้คำที่แตกต่างกัน ส่อให้เห็นถึงการทำงานที่ไม่รอบคอบ อย่างไรก็ตามแต่งานระดับประเทศอย่างนี้ ไม่ควรจะเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น หรือ มีเจตนาแอบแฝง ดังนั้นรัฐบาลควรให้เวลา รัฐสภาใคร่ครวญนานขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตนได้ตั้งความหวัง ว่า สนธิสัญญาหรือข้อความใดๆที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อประเทศชาติ ส.ว.จะสามารถวินิจฉัย ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด คนที่พิจารณาต้องพิจารณาให้รอบคอบที่สุด ที่สำคัญการแปลเอกสารไทย เป็นภาษาต่างประเทศ ควรให้ผิดเพี้ยนน้อยที่สุด ด้วยเหตุนี้รัฐบาลน่าจะขยายเวลาให้รัฐสภา ไม่ใช่พิจารณาแล้วก็ลงมติในวันนั้นเลย

นายอนันต์กล่าวต่อว่า หากเอกสารเหล่านี้หากผ่านรัฐสภาได้ ก็ไม่น่าเป็นเอกสารลับที่จะเปิดเผยไม่ได้ ดังนั้นรัฐบาลควรนำเอกสารทั้งหมดทั้งที่เป็นภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ ตีพิมพ์ผ่านสื่อ ให้ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศร่วมพิจารณาด้วย แต่อำนาจการตัดสินยังคงอยู่ที่สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งวิธีนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์ขณะนี้

“อย่าฝากอนาคตของประเทศในเหตุการณ์นี้ไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ฝากมันไว้กับตัวเราทุกคน” นายอนันต์ กล่าว
นายวีระ สมความคิด
มล.วรรณวิภา จรูญโรจน์
นายอนันต์ เหล่าเลิศวรกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น