xs
xsm
sm
md
lg

‘ประชามติ’ ต้องรออีก 7 เดือน !??

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

สั่งตำรวจไม่ได้จนต้องโยกย้ายตำรวจก็แล้ว อ้างคำสั่งศาลแพ่งก็ไม่ได้ผล จนศาลอุทธรณ์ยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ต้องกลับมาสู่เกมมวลชนเพื่อเป็นข้ออ้างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อให้ดาบให้ปืนทหาร แต่ทหารก็เก็บไว้ในฝักในซองไม่ชักออกมาใช้ ล่าสุดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็หันมาใช้สนามรบที่ตนเจนจัดที่สุดคือสนามเลือกตั้ง

เสนอกลเกมลงประชามติเพื่อใช้สยบพันธมิตร !

รัฐบาลคิดง่าย ๆ ว่าพวกตนมาจากเสียงข้างมากของประชาชนทั้งประเทศ หากระดมหาเสียงเต็มที่ ผลการลงประชามติก็จะออกมาใกล้เคียงกับผลการเลือกตั้ง

ไม่ได้คิดเลยว่าหนึ่งในสาเหตุสำคัญของวิกฤตการเมืองขณะนี้คือการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ไม่ยุติธรรม มีการใช้เงินจำนวนมหาศาลในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง มิหนำซ้ำนวัตกรรมล่าสุดยังใช้นโยบายประชานิยมซื้อเสียงซื้อคะแนนนิยมอีกต่างหาก

ไม่ได้คิดเลยว่าข้อเสนอการเมืองใหม่มาจากรากฐานการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ไม่ยุติธรรม

เคราะห์ดีที่การลงประชามติไม่อาจจะทำได้ง่าย ๆ ในวันในพรุ่ง !!

การลงประชามติหรือภาษารัฐธรรมนูญใช้ว่า “การออกเสียงประชามติ” บัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 165 จะออกเสียงประชามติในการใดได้หรือไม่ได้แม้จะยังถกเถียงกันอยู่ แต่ประเด็นไม่สำคัญเท่ากับว่าจะออกเสียงประชามติได้ก็ต่อเมื่อมี “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ” เสียก่อนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้วรรค 6

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติเพิ่งผ่านความเห็นชอบขึ้นมาจากสภาผู้แทนราษฎร ผ่านการพิจารณาวาระที่ 1 ในวุฒิสภาเมื่อวันศุกร์ที่ 5 กันยายน 2550 ที่ผ่านมา
เครือข่ายรัฐบาลบางคนบอกว่าวุฒิสภาน่าจะพิจารณา 3 วาระรวด โดยใช้กรรมาธิการเต็มสภา ใช้เวลาสัก 3 วันก็น่าจะเรียบร้อย เพื่อให้บ้านเมืองมีทางออก

น่าเสียดายแทนที่เป็นไปไม่ได้ เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้มีความยาวถึง 45 มาตรา มีรายละเอียดต้องพิจารณาโดยละเอียดรอบคอบ ไม่มีใครบ้องตื้นพิจารณา 3 วาระรวดหรอก

วุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 29 คนเพื่อพิจารณาในวาระที่ 2 กำหนดแล้วเสร็จภายใน 90 วัน

กำหนดเวลา 90 วันนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 302 วรรค 4 และวรรค 6 บัญญัติไว้ !


ดูเหมือนนายกรัฐมนตรีทำให้ผู้คนสับสน โดยพูดว่าวุฒิสภาให้ความร่วมมือ กำหนดวันแปรญัตติไว้ 7 วัน คาดว่าจะเสร็จในเวลาไม่นานเกินไป

ควรเข้าใจว่ากำหนดวันแปรญัตติ 7 วันนั้นเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา เป็นช่วงเวลาที่เปิดโอกาสให้สมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ใช่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เสนอขอแก้ไขรายละเอียดที่ไม่ใช่หลักการในมาตราต่าง ๆ เข้ามา

เมื่อพ้นกำหนด 7 วัน สมาชิกวุฒิสภาทั่วไปจะเสนอแก้ไขไม่ได้ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะพิจารณาเรียงรายมาตรา ทั้งเนื้อหาเดิม เนื้อหาที่สมาชิกวุฒิสภาเสนอแก้ไข และเนื้อหาที่กรรมาธิ การจะพิจารณาแก้ไขเอง จากนั้นเมื่อเสร็จเรียบร้อย จึงเชิญสมาชิกวุฒิสภาที่เสนอแก้ไขเข้ามารับฟังเป็นรายบุค คล ถ้าผู้เสนอแก้ไขไม่ติดใจ ก็จะยอมรับร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านมือคณะกรรมาธิการวิสามัญ ถ้าไม่พอใจก็จะสงวนความเห็นของตนไว้อภิปรายโต้แย้งในที่ประชุมวุฒิสภาในวาระที่ 2 ที่จะพิจารณาเรียงลำดับรายมาตราต่อไป

ผมเชื่อว่ากำหนดเวลา 90 วันก่อนวุฒิสภาผ่านมติในวาระที่ 3 จะใช้กันเต็มแน่

ต้องบอกว่า 90 วันสำหรับการพิจารณาร่างกฎหมายวาระที่ 2 นี่ถือว่าเป็นเวลาเร่งรัดเต็มที่แล้ว ปกติ ร่างกฎหมายความยาวประมาณนี้ใช้เวลาประมาณ 180 วันหรือ 6 เดือน

จากนั้นยังไม่จบ !

แม้จะผ่านวุฒิสภาแล้ว ก็ยังต้องผ่านขั้นตอนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยมีกำหนดเวลาไว้ 30 วัน

เป็นข้อกำหนดปกติของ “ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ” โดยทั่วไปตามมาตรา 141


สรุปว่าใช้เวลาไปแล้ว 90 + 30 = 120 วัน

จากนั้นจึงถึงขั้นตอนส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ภายใน 20 วัน แต่จะพระราชทานลงมาเมื่อใดไม่อาจกำหนดเวลาได้

โดยปกติขั้นตอนนี้จะเผื่อเวลาไว้ประมาณ 30 วัน

สรุปว่าใช้เวลาทั้งหมดกว่ากฎหมายจะมีผลใช้บังคับ 90 + 30 + 30 = 150 วัน !

นี่หมายถึงขั้นตอนปกตินะ

อาจมีขั้นตอนไม่ปกติเพิ่มเข้ามาอีก หากในชั้นพิจารณาของวุฒิสภามีการแก้ไขผิดแผกแตกต่างออกไปสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อส่งร่างกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตามปกติทั่วไปแล้ว สภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วย ก็จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภาขึ้นพิจารณาอีกระยะหนึ่ง

ซึ่งไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะมีแนวโน้มว่าวุฒิสภาจะเสนอแก้ไขกันมากใน 2 ประเด็น

ประเด็นหนึ่ง – ขอให้ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งมีสิทธิเป็นผู้ริเริ่มเสนอให้มีการออกเสียงประชามติด้วย แทนที่เป็นรัฐบาลฝ่ายเดียว

ประเด็นนี้ คุณรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. อภิปรายแสดงเจตนารมณ์ไว้แล้ว

อีกประเด็นหนึ่ง – เสนอเพิ่มรายละเอียดประเด็น “ให้ข้อมูลอย่างเพียงพอ” และ “ให้บุคคลฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบมีโอกาสแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างเท่าเทียมกัน” ให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เพราะตามร่างฯเดิมมีบัญญัติไว้กว้าง ๆ เพียงมาตราเดียว

ประเด็นนี้ ทั้งคุณวรินทร์ เทียมจรัส และคุณสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา ก็ได้อภิปรายแสดงเจต นารมณ์ไว้ชัดเจนเช่นกัน

เฉพาะ 2 ประเด็นนี้ สมมติวุฒิสภาผ่านในวาระที่ 2 – 3 สภาผู้แทนราษฎรจะเห็นด้วยหรือไม่ ?

จะต้องมีกรรมาธิการร่วม 2 สภาหรือไม่ ?

จาก 150 วันเดิมอาจจะต้องบวกเพิ่มเข้าไปอีก 30 – 60 วันเป็น 180 - 210 วัน !

ถ้าเป็น 210 วัน...ก็เท่ากับ 7 เดือนอย่างที่ผมจั่วหัวไว้ !!


นี่หมายถึงในกรณีตั้งกรรมาธิการร่วม 2 สภาแล้วผลออกมาเห็นพ้องต้องกันทั้ง 2 สภานะ ถ้าเกิดสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นพ้องด้วย ก็จะต้องยับยั้งไว้ก่อน แล้วรอเวลาอีก 180 วัน สภาผู้แทนราษฎรจึงจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณายืนยันได้

หนทางออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ไม่สามารถจะทำในวันในพรุ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น