xs
xsm
sm
md
lg

ดูชัดๆ แถลงการณ์ร่วม ‘นพดล’ ลงนามหนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียน ‘ปราสาทพระวิหาร’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ
ผู้จัดการออนไลน์ - เปิดเอกสาร แถลงการณ์ร่วม (Joint Communique) ที่นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลงนามกับ นายซก อัน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเนสโกลงนามเป็นพยานเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551 (ค.ศ.2008) อันเป็นผลมาจากการประชุมหารือเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551

แถลงการณ์ร่วม


ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2008 มีการประชุมหารือกันระหว่าง นายซก ฮัน รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรับผิดชอบสำนักคณะรัฐมนตรี แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อสืบต่อการหารือระหว่างทั้งสองท่าน ว่าด้วยการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารไว้ในบัญชีมรดกโลก การประชุมคราวนี้จัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ขององค์การยูเนสโก ในกรุงปารีส โดยที่มีท่านอื่นๆ เข้าร่วมด้วย ได้แก่ นางฟรองซัวส์ ริเวเร (Francoise Riviere) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายวัฒนธรรมของยูเนสโก, เอกอัครราชทูต ฟรานเซสโก คารูโซ (Francesco Caruso), นาย อาเซดิโน เบสชอต (Azedino Beschaouch), นางเปาลา เลออนซินี บาร์โตลี (Paola Leoncini Bartoli) และนายจิโอวานนี บอคคาร์ดี (Giovanni Boccardi)

การประชุมหารือคราวนี้ดำเนินไปด้วยเจตนารมณ์แห่งมิตรภาพและความร่วมมือกัน

ระหว่างการประชุมหารือ ทั้งสองฝ่ายได้ทำความตกลงกันดังต่อไปนี้

1. ราชอาณาจักรไทยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหาร เข้าไว้ในบัญชีมรดกโลก ตามการเสนอของราชอาณาจักรกัมพูชา ณ การประชุมครั้งที่ 32 ของคณะกรรมการพิจารณามรดกโลก (นครควิเบก, ประเทศแคนาดา, เดือนกรกฎาคม 2008) ตามขอบเขตรอบดินแดนซึ่งระบุไว้ว่าเป็น หมายเลข 1 ในแผนที่ซึ่งจัดทำโดยทางการผู้รับผิดชอบของกัมพูชา และได้แนบท้ายมาด้วยแล้ว แผนที่ดังกล่าวยังได้ครอบคลุมพื้นที่กันชนทางด้านตะวันออกและด้านใต้ของปราสาท โดยระบุให้เป็น หมายเลข 2

2. ด้วยเจตนารมณ์แห่งมิตรภาพและความร่วมมือกัน ราชอาณาจักรกัมพูชายอมรับว่า ปราสาทพระวิหารที่จะเสนอขอขึ้นทะเบียนไว้ในบัญชีมรดกโลก ในขั้นนี้จะไม่ได้รวมพื้นที่กันชนทางด้านเหนือและด้านตะวันตกของปราสาท

3. แผนที่ซึ่งอ้างไว้ในวรรค 1 ข้างต้น จะแทนที่แผนที่ต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องและบรรจุไว้ใน “Schema Directeur pour le Zonage de Preah Vihear” ตลอดจนการอ้างอิงด้านกราฟฟิกทั้งหมดที่ระบุบ่งชี้ถึง “บริเวณหลัก” (core zone) และการแบ่งบริเวณอื่นๆ (zonage) ของปราสาทพระวิหาร ที่บรรจุอยู่ในแฟ้มเสนอขอขึ้นทะเบียนของกัมพูชาด้วย

4. ระหว่างที่รอผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการร่วมเพื่อการปักปันเขตแดนทางบก (Joint Commission for Land Boundary หรือ JBC) เกี่ยวกับพื้นที่ด้านเหนือและด้านตะวันตกรอบๆ ปราสาทพระวิหาร ซึ่งได้รับการระบุให้เป็น หมายเลข 3 ในแผนที่ที่อ้างอิงไว้ในวรรค 1 ข้างต้น แผนการบริหารจัดการพื้นที่เหล่านี้จะได้รับการจัดทำในลักษณะของการประสานร่วมมือกันระหว่างทางการผู้รับผิดชอบของกัมพูชาและทางการผู้รับผิดชอบของไทย โดยสอดคล้องกับมาตรฐานการอนุรักษ์ระหว่างประเทศ ด้วยทัศนะที่มุ่งรักษาคุณค่าอันเป็นสากลที่โดดเด่นของทรัพย์สินดังกล่าวนี้ แผนการบริหารจัดการดังกล่าวนี้จะบรรจุไว้ในแผนการบริหารจัดการสุดท้ายสำหรับปราสาทพระวิหารและบริเวณรอบๆ ปราสาท ซึ่งจะยื่นเสนอต่อศูนย์กลางมรดกโลก (World Heritage Centre) ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2010 เพื่อการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณามรดกโลก ในการประชุมครั้งที่ 34 ในปี 2010

5. การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารไว้ในบัญชีมรดกโลกครั้งนี้ จะไม่ทำให้เสื่อมเสียสิทธิ์ของราชอาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรไทย ในการกำหนดปักปันเขตแดนของคณะกรรมการร่วมเพื่อการปักปันเขตแดนทางบก (JBC) ของประเทศทั้งสอง

6. ราชอาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรไทย ขอแสดงความซาบซึ้งใจอย่างยิ่งต่อท่านผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก ฯพณฯ นายโคอิชิโร มัตสึอุระ สำหรับความช่วยเหลือของท่านในการอำนวยความสะดวกให้แก่กระบวนการเพื่อการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารไว้ในบัญชีมรดกโลก

พนมเปญ, 18 มิถุนายน 2008        กรุงเทพฯ, 18 มิถุนายน 2008

ในนามรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชา  ในนามรัฐบาลราชอาณาจักรไทย

ฯพณฯ นาย ซก อัน                    ฯพณฯ นายนพดล ปัทมะ
รองนายกรัฐมนตรี                     รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
รัฐมนตรีรับผิดชอบสำนักคณะรัฐมนตรี

ปารีส, 18 มิถุนายน 2008
ผู้แทนของยูเนสโก


ฟรองซัวส์ ริวีเร
ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายวัฒนธรรม



สำหรับคำอธิบายและการแจกแจงเนื้อหาของแถลงการณ์ร่วมข้างต้น (รวมถึงแผนผังแนบท้าย) ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ สถาบันไทยคดีศึกษา ชี้ให้เห็นประเด็นบางประการที่ไว้ดังนี้คือ

ข้อที่ 1 ที่ระบุว่า ไทยสนับสนุนการลงทะเบียนประสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการพิจารณามรดกโลกครั้งที่ 32 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 ณ นครควิเบก ประเทศแคนาดา โดยการกำหนดเขตรอบดินแดนนั้นระบุตามหมายเลข 1 ในแผนที่ซึ่งจัดทำโดยกัมพูชา รวมถึงหมายเลข 2 คือ ด้านตะวันออกและด้านใต้ของปราสาทก็ถูกรวมเข้าไปในแผนที่ดังกล่าวด้วย

ข้อที่ 2 ที่ระบุว่า เพื่อเห็นแก่ความปรองดอง กัมพูชาจะยอมรับการเสนอให้ปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยละเว้นการระบุว่าพื้นที่บริเวณด้านเหนือและด้านตะวันตกของตัวปราสาทว่าเป็นของใคร และ ข้อที่ 5 ที่ระบุว่า การลงทะเบียนปราสาทพระวิหารให้เป็นมรดกโลกจะต้องปราศจากการละเมิดสิทธิของกัมพูชาและไทย ในการกำหนดเขตแดนในการทำงานของคณะทำงานร่วม The Joint Commission for Land Boundary (JBC) ของทั้งสองประเทศ ซึ่ง แถลงการณ์ร่วมทั้ง 3 ข้อนั้นบ่งชี้ว่าไทยยอมรับแผนที่ปักปันที่ทางกัมพูชาทำเสนอในขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในมาตรการส่วน 1:200,000 โดยไม่ได้ยอมรับแผนที่ของฝ่ายไทยที่ยึดถือแผนที่มาตรส่วน 1:50,000 ตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2505 ซึ่งถือเป็นการขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี และการที่ไทยยอมรับพื้นที่ตามแผนผังจะถือว่าเป็นการยอมรับพื้นที่ตามพระราชกฤษฎีกาของกัมพูชาเท่ากับว่าไทยต้องเสียดินแดนที่เป็นปัญหาทับซ้อนกันให้กับกัมพูชาถึง 4.6 ตารางกิโลเมตร (อ่านข่าวเพิ่มเติม : นักวิชาการยันไทยเสียดินแดนให้กัมพูชา 4.6 ตร.กม.)

นอกจากประเด็นข้างต้นแล้ว ยังมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญชี้ให้ด้วยเห็นว่า “แถลงการณ์ร่วม” ฉบับนี้ในทางสากลอาจมีผลเช่นเดียวกันกับ “หนังสือสัญญา” ระหว่างรัฐต่อรัฐ และอาจมีผลทำให้ประเทศไทยสูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนอีกด้วย



สำเนาต้นฉบับหน้าที่ 1
สำเนาต้นฉบับหน้าที่ 2
สำเนาต้นฉบับหน้าที่ 3
กำลังโหลดความคิดเห็น