xs
xsm
sm
md
lg

รู้เท่าทันกระบวนการรับรองแผนที่ 1: 200,000

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บทความโดย : ประกาสิทธิ์ แก้วมงคล ผู้ช่วยวิจัย สถาบันไทยคดีศึกษา มธ.

สืบเนื่องจากอาทิตย์ที่ผ่านมา (5-12 ตุลาคม 2552) นักวิชาการภาคประชาชนได้ค้นพบประเด็นสำคัญที่สุดประเด็นหนึ่งคือ พบว่ารัฐสภาไทยได้มีมติเห็นชอบ “กรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา และกลไกอื่นๆภายใต้กรอบนี้” ตั้งแต่การประชุมร่วมสมัยสามัญนิติบัญญัติ เมื่อ 28 ตุลาคม พ.ศ.2551 โดยภายใต้กรอบนั้น มีการกำหนดแผนแม่บทและข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ไทย-กัมพูชา ที่ทำขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 อยู่ด้วย และหนึ่งในนั้น มีการระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่าให้ใช้แผนที่ 1:200,000 เป็นหลักฐานในการพิจารณาจัดทำหลักเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา

หลังจากการค้นพบประเด็นนี้ ทำให้ภาคประชาชนตระหนักว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องร้ายแรงที่สุดของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติไทย ที่ถือว่าเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยไปในทางมิชอบ ซึ่งแม้จะเป็นมติข้างมาก แต่ก็มิได้สอดคล้องกับประชามติตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จึงได้มีการเสนอความจริงเรื่องนี้สู่สาธารณะอย่างกว้างขวาง และนำเสนอต่อรัฐบาลและรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2552 เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาและความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน

อันที่จริง เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ หากยังจำกันได้ ตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน 2551 ปีที่แล้ว กระทรวงการต่างประเทศได้ทำสมุดปกขาวชื่อ “กรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก” โดยให้ข้อมูลลักษณะนี้ต่อประชาชน โดยอ้างว่า “การปักปันเขตแดนบริเวณเขาพระวิหารยังไม่แล้วเสร็จ” ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วเสร็จไปแล้ว, “แผนที่ 1:200,000 เป็นแผนที่ของคณะกรรมการปักปันสยาม-ฝรั่งเศส” ทั้งๆ ที่ไม่ใช่และสามารถโต้แย้งได้ และ “มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2505 เป็นการกำหนดเส้นเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหาร” ทั้งที่เป็นเพียงการกำหนดเขตบริเวณ เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้ ถูกโต้แย้งมาตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว โดยภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทเขาพระวิหาร เพราะหากเชื่อ/ยึดถือตามนี้ ประเทศไทยจะถูกทำให้เสียเปรียบทุกประตู และถือว่าเป็นการบิดเบือนความจริงที่ไม่มีคนไทยคนไหนที่รู้เรื่องจะยอมรับได้ แต่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่รัฐบาลลงมาก็ไม่เคยมีการชี้แจงให้กระจ่างและไม่เคยมีการแก้ไขความผิดพลาดแม้แต่ครั้งเดียว กระบวนการต่างๆยังคงถูกดึงดันลากถูเรื่อยมา จนกระทั่งหลักฐานต่างๆ เริ่มมาปรากฏชัด

จนถึงล่าสุด คือ เมื่อ นายวศิน ธีรเวชญาณ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ และประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ฝ่ายไทย ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในงานเสวนาเรื่อง “รู้ลึกข้อเท็จจริงเขตแดนทางบกและทางทะเลไทย-กัมพูชา” เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2552 ที่จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ โดยได้ให้เหตุผลในลักษณะเดียวกัน ถึงเรื่องที่ต้องบรรจุแผนที่ 1: 200,000 เอาไว้ในแผนแม่บทและข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ของเจบีซี ซึ่งสื่อนำมาสรุปเป็นประเด็นได้ว่า

1) เป็นแผนที่ที่เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนผสมสยาม-ฝรั่งเศส ซึ่งตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

2) รัฐบาลสยามได้ขอร้องให้ฝรั่งเศสจัดพิมพ์แผนที่ฉบับนี้ขึ้น

3) แผนที่ดังกล่าวผูกพันประเทศไทยตามคำตัดสินของศาลโลก คดีปราสาทพระวิหาร

และได้เคยอธิบายข้อเท็จจริงเพื่อโต้แย้งเรื่องนี้เอาไว้ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว แต่จะขอนำมาปัดฝุ่นทบทวนกันอีกครั้งว่า

1) ประเด็นที่อ้างว่า แผนที่ 1: 200,000 เป็นแผนที่ที่เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนผสมสยาม-ฝรั่งเศส ซึ่งตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

ข้อเท็จจริง

แผนที่ของกัมพูชา มาตราส่วน 1:200,000 ดังกล่าวเป็นแผนที่ซึ่งคณะกรรมการปักปันเขตแดนผสมฝ่ายฝรั่งเศส เป็นผู้จัดทำขึ้นฝ่ายเดียว โดยไม่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศส ตามสนธิสัญญา ค.ศ.1904 แต่อย่างใด เนื่องจากแผนที่ฉบับนี้ถูกพิมพ์ขึ้นที่กรุงปารีส ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1907 แต่คณะกรรมการผสมชุดดังกล่าวได้ยุบเลิกไปก่อนหน้านั้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1907 และคณะกรรมการปักปันผสมชุดนี้ ไม่มีหน้าที่หรือไม่ปรากฏว่ามีคำสั่งให้ทำแผนที่ฉบับนี้ขึ้น จึงไม่มีส่วนรับรู้ในการทำแผนที่ฉบับดังกล่าว ดังนั้น ย่อมไม่สามารถที่จะกล่าวว่าแผนที่ฉบับนี้ (1:200,000) เป็นแผนที่ของคณะกรรมการปักปันสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1904

ข้อเท็จจริงข้างต้นที่กล่าวมานี้ ต่อมาได้รับการยืนยันอย่างหนักแน่นจากผู้พิพากษาศาลโลกถึง 4 ท่าน และหนึ่งในนั้นคือ เซอร์ เจรัลด์ ฟิทซ์มอริส ซึ่งแม้ว่าจะพิพากษาให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาด้วยเหตุผลอื่นก็ตาม แต่ก็ได้ยอมรับต่อความจริงในข้อนี้ว่า แผนที่ 1: 200,000 ของกัมพูชา ไม่ใช่ผลงานของคณะกรรมการปักปันผสมสยาม-ฝรั่งเศส ดังจะขอยกข้อความช่วงหนึ่งมาให้ดู ดังนี้

“...แต่เมื่อสรุปแล้วที่แน่นอนมีอยู่เพียงเรื่องเดียว คือแผนที่ภาคผนวก1 นั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายแผนที่ของฝรั่งเศสเป็นผู้ทำขึ้นที่กรุงปารีสเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1907 และแผนที่นี้คณะกรรมการผสมไม่เคยได้เห็น (อย่าว่าแต่จะได้เห็นชอบหรือรับเอาเลย) และคณะกรรมการผสมนี้ปรากฏว่าได้ยุติการปฏิบัติงานไปโดยสิ้นเชิงในราวเดือนกุมภาพันธ์ของปีนั้น...ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าประเทศไทยเป็นฝ่ายได้รับความสำเร็จสำหรับตอนนี้ของคดี...จะต้องถือว่าแผนที่นี้ทำขึ้นแต่ฝ่ายเดียวโดยแท้ไม่ผูกพันประเทศไทยแต่อย่างใด...” (อ้าง คำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ คดีปราสาทพระวิหาร)

2) ประเด็นที่อ้างว่า รัฐบาลสยามได้ขอร้องให้ฝรั่งเศสจัดพิมพ์แผนที่ฉบับนี้ขึ้น

ข้อเท็จจริง

รัฐบาลสยามในสมัยนั้น ได้ขอร้องให้ฝรั่งเศส จัดพิมพ์แผนที่นี้ขึ้นก็ไม่เป็นความจริง เนื่องจากรัฐบาลสยามไม่ได้มีส่วนรู้เห็นกับการพิมพ์แผนที่ขึ้น และแม้จะร้องขอหรือไม่ก็ตาม ฝรั่งเศสก็จงใจจัดพิมพ์แผนที่ขึ้นอยู่แล้ว เป็นแต่ว่า ในภายหลังที่ได้เห็นแผนที่ดังกล่าวแล้ว รัฐบาลสยามได้ขอให้ฝรั่งเศสจัดส่งแผนที่มาให้เพิ่มเติม โดยที่ยังไม่ทราบข้อบกพร่องของแผนที่นั้น ซึ่งปรากฏเป็นเพียงจุดเล็กๆบนแผนที่จำนวนหลายระวาง จึงไม่ได้โต้แย้งใดๆ ซึ่งด้วยเหตุผลเรื่องการรับเอาแผนที่มาใช้โดยไม่มีการโต้แย้งเพียงเท่านี้เอง ที่ต่อมาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก ใช้เป็นเหตุผลหลักในการตัดสินให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา

3) ประเด็นที่อ้างว่า แผนที่ดังกล่าวผูกพันประเทศไทยตามคำตัดสินของศาลโลก คดีปราสาทพระวิหาร
ข้อเท็จจริง

ที่อ้างว่า แผนที่ฉบับนี้ผูกพันประเทศไทยตามคำตัดสินของศาลโลก คดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ.2505 นั้น ข้าพเจ้าอยากเรียนยืนยันถึงข้อเท็จจริงอีกชุดหนึ่งว่า แผนที่ฉบับนี้ไม่ได้มีผลผูกพันประเทศไทยตามคำตัดสินของศาลโลกแต่อย่างใดทั้งสิ้น เหตุผลเพราะว่า คำตัดสินอันถือเป็นที่สิ้นสุดและต้องปฏิบัติตามนั้น คือคำตัดสินสุดท้าย (final judgment) ซึ่งศาลตัดสินให้
1) ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา
2) ประเทศไทยต้องถอนกำลังทหาร ตำรวจ หรือยาม ออกจากบริเวณปราสาทพระวิหาร
3) ประเทศไทยต้องส่งคืนโบราณวัตถุที่นำออกไปจากปราสาทพระวิหารคืนให้แก่กัมพูชา

แต่ศาลโลกไม่ได้ตัดสินให้...

1) ศาลโลกไม่ได้ติดสินรับรองสถานะของแผนที่ฉบับนี้ว่าเป็นแผนที่ของคณะกรรมการปักปันผสมสยามฝรั่งเศส และ
2) ศาลไม่ได้ติดสินว่าเส้นเขตแดนที่ปรากฏบนแผนที่ฉบับนี้เป็นเส้นเขตแดนที่ถูกต้องระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา

ประเทศไทยจึงได้ส่งคืนตัวปราสาทพร้อมทั้งกำหนดบริเวณเพื่อจะให้กัมพูชาได้มีอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารตามคำตัดสินแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2505 จึงถือว่าไม่มีพันธกรณีใดๆอีกแล้ว ที่ไทยจะต้องปฏิบัติตามอีก และนับตั้งแต่ได้ค้นพบความผิดพลาดของแผนที่ 1:200,000 เป็นต้นมา ประเทศไทยก็ไม่เคยยอมรับแผนที่ฉบับดังกล่าวอีก ดังนั้น การดำเนินการใดๆ ของรัฐบาลและข้าราชการในปัจจุบัน ที่เป็นการกลับไปยอมรับแผนที่ฉบับนี้อีกครั้ง ย่อมเป็นความผิดและเป็นความรับผิดของผู้ที่เกี่ยวข้องในยุคปัจจุบัน ไม่ใช่ความผิดของคนในอดีต

ข้อมูลต่างๆ ปรากฏชัดเจนอย่างนี้ หากรัฐสภาไทยไม่ยกเลิกเพิกถอนมติรัฐสภา วันที่ 28 ตุลาคม 2551 และการกระทำใดๆ ที่มีการยอมรับแผนที่ฝรั่งเศส 1:200,000 ทั้งก่อนหน้าและภายหลัง ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา และหากรัฐสภาให้การรับรองร่างข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา จากผลการประชุมเจรจาของ JBC หลังวันที่ 28 ตุลาคม 2551 เมื่อไหร่ ความผิดสถานเดียวคือ เจตนาแบ่งแยกราชอาณาจักรไทย!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น