xs
xsm
sm
md
lg

สภาทนายจี้รัฐบาลแจ้ง กก.มรดกโลกกรณีเขาพระวิหาร

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

“นายกสภาทนายความ” ออกแถลงการณ์ 6 ข้อ เรียกร้องรัฐบาลเร่งแจ้งผลคำสั่งศาลปกครองกลาง ส่งให้คณะกรรมการมรดกโลก ยันไทยขอสงวนสิทธิกรณีปราสาทพระวิหาร ด้าน “นิติธร ล้ำเหลือ” ทนายคดีเขาพระวิหาร เผยเตรียมร้องศาลบังคับคดี “ครม.-นพดล ปัทมะ” ระงับใช้แถลงการณ์ร่วมขึ้นทะเบียนมรดกโลก

วันนี้ (4 ก.ค.) ที่สภาทนายความ ถ.ราชดำเนิน นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ แถลงข่าวกรณีการยื่นคำขอของรัฐบาลกัมพูชาต่อองค์การยูเนสโก เพื่ออนุรักษ์ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ระบุว่า สภาทนายความเห็นว่าแถลงการณ์ร่วมฯ ถือเป็นสนธิสัญญาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เพราะตามหลักสนธิสัญญาที่ทั่วโลกใช้ สนธิสัญญาต้องประกอบด้วย 1.หนังสือที่มีลายลักษณ์อักษร 2.สัญญาดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ 3.คู่สัญญาเป็นรัฐหรือรัฐบาล 4.มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศนั้นมีสิทธิ มีอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมอย่างกว้างขวาง มีผลผูกพันทางการค้า การลงทุน และงบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

นายกสภาทนายความ กล่าวต่อว่า สภาทนายความจึงออกแถลงการณ์ 6 ข้อ เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดแก้ไขความผิดพลาด ด้วยการเร่งแจ้งผลคำสั่งศาลให้คณะกรรมการมรดกโลกทราบว่า ไทยยังยืนยันสงวนสิทธิ เพราะรัฐบาล และนายนพดลไม่มีหน้าที่จะไปชี้หรือปักปันเขตแดนของไทย หรือทำความตกลงใดๆ จนกว่าจะมีการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เสียก่อน หากละเว้นสภาทนายความจะดำเนินคดีตามกฎหมายทุกทางกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะต้องรับผิดชอบต่ออำนาจอธิปไตยของไทยที่ถูกทำให้เสียหาย

“รมว.ต่างประเทศ ทำไม่ต้องรีบร้อน มีอะไรอยู่เบื้องหลังการออกแถลงการณ์ รัฐบาลต้องดำเนินคดีมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง และส่วนราชการที่มีหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาไม่ควรนิ่งเฉย เพราะเรื่องนี้เกิดการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่เช่นนั้นจะถือว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่” นายกสภาทนายความ กล่าว

ทั้งนี้ นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีปราสาทพระวิหาร กล่าวว่า ในวันที่ 7 ก.ค.เตรียมจะยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองกลางออกคำสั่งบังคับคดีให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ปฏิบัติตามคำสั่งศาลที่ระงับการใช้แถลงการณ์ร่วมระหว่างไทยกับกัมพูชา กรณีสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารโลกให้ถูกต้องครบถ้วน ซึ่งรวมถึงไม่ให้นำผลการลงนามในสัญญาที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 22 พ.ค.ไปใช้กล่าวอ้างต่อคณะกรรมการมรดกโลกด้วย

“การที่นายนพดลลงนามในสัญญาที่กรุงปารีส โดยที่ ครม.ยังไม่มีมติ แต่กลับนำผลการลงนามนั้นมาให้ ครม.อนุมัติในภายหลังหรือวันที่ 17 มิ.ย. ก็ถือว่าการลงนามสัญญากรุงปารีสเป็นเอกสารเริ่มต้นของแถลงการณ์ร่วมฯ ที่นายนพดลลงนามในวันที่ 18 มิ.ย. และศาลมีคำสั่งห้ามมิให้มีผลใช้บังคับ ดังนั้นคำสั่งศาลครอบคลุม” นายนิติธร กล่าว

นายนิติธร กล่าวด้วยว่า รัฐบาลและนายนพดลจึงต้องเร่งแจ้งผลคำสั่งศาลนี้ให้คณะกรรมการมรดกโลกทราบ เพื่อระงับการขึ้นทะเบียน หากนายนพดลเพิกเฉย สภาทนายความจะดำเนินคดีอาญาฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ ยูเนสโกจะถือเอาสัญญากรุงปารีสมาเป็นสาระสำคัญไม่ได้ เมื่อภายในไทยยังคัดค้าน แม้ว่ากัมพูชาจะได้แสดงสิทธิขอขึ้นทะเบียนตัวปราสาทพระวิหารโดยอาศัยคำพิพากษาศาลโลกประกอบกับสัญญากรุงปารีส แต่ไทยไม่ถือว่าสัญญากรุงปารีสนั้นมีผลผูกพัน และศาลปกครองกลางก็มีคำสั่งไม่ให้นำไปใช้ สัญญากรุงปารีสก็นำไปใช้ไม่ได้ด้วยเช่นกัน ถ้าหากยูเนสโก และคณะกรรมการมรดกโลก ยอมรับสัญญากรุงปารีส ก็เท่ากับว่ากำลังละเมิดอธิปไตยของไทย

ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวของสภาทนายความ ระบุว่า “สืบเนื่องจากมีข้อเท็จจริงที่ปรากฏเป็นข่าวว่า ความตกลง หรือร่าง Joint Communiqué ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของราชอาณาจักรไทยได้ไปลงนามร่วมกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศราชอาలณาจักรกัมพูชา ในเรื่องของการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารตามที่เป็นข่าวปรากฏและเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วนั้น เนื่องจากมีกรณีกล่าวถึงประเด็นว่าการดำเนินการโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือตามมติของคณะรัฐมนตรี หรือโดยคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลางที่ระงับการกระทำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไว้ชั่วคราวว่าเป็นเรื่องภายในราชอาณาจักรไทย หามีผลที่จะเป็นการยกเลิกการลงนามในความตกลงร่วมมือซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่นั้น สภาทนายความมีความเห็น ดังนี้

1. คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ไม่ได้พิพากษาให้ไทยยอมรับแผนที่ตามภาคผนวก 1 ต่อท้ายคำฟ้องของประเทศกัมพูชา รวมถึงว่าไม่ได้พิพากษาและชี้ขาดเกี่ยวกับเขตแดนระหว่างประเทศกัมพูชา และประเทศไทย ในข้อพิพาทกันในปราสาทพระวิหารเป็นไปตามภาคผนวก 1 ต่อท้ายคำฟ้องของประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นคำแถลงสรุปท้ายของรัฐบาลกัมพูชาในข้อ 1 และข้อ 2 ศาลโลกได้มีคำพิพากษามีความเห็นอันเป็นคุณแก่ประเทศกัมพูชาตามคำแถลงสรุปข้อที่ 3 เท่านั้น ซึ่งความเห็นว่า “ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา” โดยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 และว่า “ประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องถอนกำลังทหารหรือตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหาร หรือในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา” โดยคะแนนเสียง 7 ต่อ 5 และ “ประเทศไทยมีพันธะจะต้องคืนให้แก่กัมพูชา บรรดาวัตถุชนิดที่ได้ระบุไว้ในคำแถลงสรุปข้อที่ 5 ของกัมพูชา ซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยอาจจะได้โยกย้ายออกไปจากปราสาทหรือบริเวณพระวิหาร นับแต่วันที่ประเทศไทยเข้าครอบครองเมื่อ ค.ศ.1954 (พ.ศ.2497)”

2. ทั้งหมดตามข้อ 1 คือข้อสรุปตามคำพิพากษา และศาลโลกยังได้ให้ความเห็นไว้ด้วยว่า “... เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย ในหรือส่วนหนึ่งได้ชี้แจงไว้ด้วยว่า ในอีกทางหนึ่งไม่มีพยานหลักฐานแน่ชัดที่ได้ยื่นต่อศาลแสดงให้เห็นว่าวัตถุชนิดที่กล่าวไว้ในคำแถลงประเทศไทยได้เคลื่อนย้ายไปจากปราสาทพระวิหารหรือบริเวณปราสาทนับแต่ประเทศไทยได้เข้าครอบครองเมื่อ ค.ศ.1954 (พ.ศ.2497) ...ซึ่งการส่งมอบคืนของจึงเป็นปัญหาที่ศาลจะวินิจฉัยได้แต่หลักการให้เป็นไปตามคำขอของกัมพูชาโดยไม่กล่าวถึงวัตถุสิ่งใดโดยเจาะจง...” ซึ่งก็เท่ากับว่าประเทศไทยไม่ได้นำวัตถุหรือเคลื่อนย้ายวัตถุใดๆ ออกจากปราสาทพระวิหารเพราะผลคำพิพากษาของศาลโลก ดังนั้น ผลคำพิพากษาของศาลโลกจึงมีแต่เพียงว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา

3. โดยหลักของความตกลงระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความตกลงในขั้นตอนใด ความตกลงในเบื้องต้นที่ลงนามไปนั้นจะมีผลผูกพันเหตุก็ต่อเมื่อได้มีการดำเนินการรับรองหรือให้สัตยาบันตามกฎหมายของประเทศนั้นแล้ว ดังนั้น เมื่อการกระทำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ไม่ได้มีอำนาจและหน้าที่ในการลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว กรณีจึงถือได้ว่าราชอาณาจักรไทยไม่มีผลผูกพันใดๆ กับสิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการไปทั้งสิ้น ความเข้าใจเช่นว่านี้ถือปฏิบัติกันในนานาอารยประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศมหาอำนาจหรือประเทศอื่นใดที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ

4. กรณีองค์การ UNESCO ซึ่งมีหน้าที่เป็นเลขาธิการของคณะกรรมการมรดกโลกตามอนุสัญญาว่าด้วยมรดกโลกนั้น องค์การ UNESCO ก็ไม่มีอำนาจอะไรที่จะมาแปลความหรือตีความในสนธิสัญญาดังกล่าวให้มีผลผูกพันประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะองค์การ UNESCO ไม่ใช่หน่วยงานที่มีอำนาจเด็ดขาดเรื่องพรมแดนและอำนาจอธิปไตย อนุสัญญาว่าด้วยมรดกโลกนั้นเป็นเรื่องของการอนุรักษ์ด้านวัฒนธรรม ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ดังนั้นหากมีข้อโต้แย้งใดๆ ที่ยังคงอยู่เหมือนเช่นที่เป็นตลอดมาตั้งแต่ พ.ศ.2505 สำหรับปราสาทพระวิหาร องค์การ UNESCO มีหน้าที่เพียงแต่เสนอข้อเท็จจริงให้คณะกรรมการมรดกโลกเป็นผู้พิจารณาเท่านั้น และควรที่จะกำกับบทบาทหน้าที่ของตนเองอยู่เฉพาะเพียงเท่านั้น โดยเฉพาะจะต้องรายงานข้อเท็จจริงให้คณะกรรมการทราบถึงอำนาจหน้าที่ของผู้ที่ลงนามในบันทึกความตกลงดังกล่าวด้วยเมื่อมีข้อเท็จจริงปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวนั้นไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะไปลงนาม และความจริงข้อนี้ต้องทำให้ปรากฏต่อคณะกรรมการพิจารณาการขึ้นทะเบียนมรดกโลกก่อนมีการประชุม

5. คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ดำเนินการอย่างเต็มความสามารถที่จะต้องแก้ไขข้อผิดพลาดที่จะต้องดำเนินการโดยรีบด่วน โดยเฉพาะการทำหนังสือแจ้งแก่บรรดาคณะกรรมการมรดกโลกทุกคนให้ทราบถึงผลของคำสั่งของศาลปกครองกลางโดยไม่ชักช้า หากละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวก็จำเป็นต้องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและรับผิดชอบต่ออำนาจอธิปไตยของประเทศไทย เพราะทำให้ประเทศชาติต้องเสียหาย

6. ให้มีการดำเนินคดีมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไปกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว ส่วนราชการที่มีหน้าที่สอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาไม่ควรนิ่งเฉยในกรณีที่มีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเมื่อมีข้อเท็จจริงปรากฏแจ้งชัดเช่นนี้แล้ว ต้องมีความกล้าหาญที่จะดำเนินการใดๆ ต่อบุคคลดังกล่าว ไม่เช่นนั้นจะถูกถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไปด้วย และให้บุคคลรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครองกลางอย่างเคร่งครัดโดยไม่ชักช้า โดยเฉพาะต้องเข้าใจว่าท่านไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะไปชี้หรือปักปันเขตแดนของราชอาณาจักรไทยจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในมาตรา 190 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือทำความตกลงใดๆ พุทธศักราช 2550 เสียก่อน”


กำลังโหลดความคิดเห็น