xs
xsm
sm
md
lg

“อดุล วิเชียรเจริญ” แฉเล่ห์ “พระวิหาร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังจากมีข้อสงสัยและข้อโต้แย้งต่างๆ เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกอย่างต่อเนื่อง “ดร.อดุล วิเชียรเจริญ” ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมการมรดกโลกไทย จึงได้หยิบยกประเด็นทั้งหมดมาแจกแจงว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นเช่นไร
ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับประเด็นการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
**1. ข้อกฎหมาย ยูเนสโกและคณะกรรมการมรดกโลกนานาชาติ 21 ประเทศ ต่างก็เป็นองค์การระหว่างประเทศแยกจากกัน
1.1 ทั้งยูเนสโกและคณะกรรมการมรดกโลกนานาชาติ ต่างก็เป็นองค์การ ระหว่างประเทศ ตามความตกลงพหุภาคี ซึ่งจัดตั้งขึ้นและดำเนินการตามตราสาร
--- สำหรับยูเนสโก ตราสาร เรียกชื่อว่าธรรมนูญ (Constitution)
-- สำหรับคณะกรรมการมรดกโลกนานาชาติ ตราสาร เรียกชื่อ ว่าอนุสัญญา (Convention)
1.2 การเป็นภาคีสมาชิกยูเนสโกจึงไม่เป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญามรดกโลก ตัวอย่างเช่น เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วที่สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรอังกฤษ ถอนตัวจากสมาชิกภาพยูเนสโก ซึ่งเป็นการประท้วงการดำเนินงานของยูเนสโก แต่ทั้ง 2 ประเทศนี้ก็ยังคงเป็นภาคีอนุสัญญา และเข้าประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ต่อมาภายหลังจึงกลับเข้าเป็นสมาชิกของยูเนสโกอีก ฉะนั้นแม้สมาชิกภาพของ 2 ประเทศนี้ในองค์การยูเนสโกจะขาดตอนไปในช่วงนั้น แต่การเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาก็ต่อเนื่องตลอดมา
1.3 คณะกรรมการมรดกโลกนานาชาติ จึงมิใช่เป็นองค์กรภายในของยูเนสโก อย่างที่พูดกัน และเรื่องมรดกโลกไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของยูเนสโกเลย จะมีแต่เพียงการการรายงานอ้างอิงถึงกัน และในระยะหลังเพื่อสร้างภาพให้แก่ยูเนสโก จีงมีการนำสัญลักษณ์ยูเนสโกใส่ไว้ด้วยกับสัญลักษณ์มรดกโลก ในช่วงที่สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักรอังกฤษถอนตัวจากยูเนสโก
แต่โดยที่คณะกรรมการมรดกโลกมีความเชื่อมโยงกับยูเนสโก โดยที่ประชุมใหญ่รัฐสมาชิกยูเนโกได้มีมติรับอนุสัญญา และสนับสนุนนานาชาติให้เข้าเป็นภาคี และโดยที่อนุสัญญามีข้อกำหนดให้ยูเนสโกจัดเจ้าหน้าที่ของยูเนสโก ทำหน้าที่เป็นฝ่าย เลขานุการ ของคณะกรรมการมรดกโลก จึงทำให้เกิดความสับสนโดยทั่วไป ให้ดูเสมือนว่า คณะกรรมการมรดกโลกเป็นภาคส่วนของยูเนสโก
1.4 ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศที่เข้าแทรกแซง และมีอิทธิพล ต่อวิถีทางที่ถูกต้อง ในการวินิจฉัยและดำเนินงาน ขององค์การระหว่างประเทศ ที่เป็นองค์การชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ เช่น ยูเนสโก ตลอดจนคณะกรรมการ แห่งอนุสัญญามรดกโลกนั้น ในหลักการไม่ควรจะมีเลย แต่ก็มีอยู่เสมอ มากบ้าง น้อยบ้างแล้วแต่กรณี แม้กระทั่งทำผิดข้อบัญญัติอย่างชัดแจ้งก็มี โดยเฉพาะในกรณีที่จอร์แดนขอขึ้นทะเบียน Old City of Jerusalem and Its Walls เป็นมรดกโลก ทั้งๆที่จอร์แดน มิใช่เจ้าของหรือผู้ถือครองดินแดนซึ่งทรัพย์สินนี้ตั้งอยู่ แต่คณะกรรมการมรดกโลก โดยเสียงข้างมากผลักดันถึงขนาดทำการประชุมสมัยวิสามัญเพื่อลงมติเรื่องนี้ ตลอดจนยูเนสโกก็เป็นผู้จัดทำแผนปฏิบัติการเสียเอง ด้วยเหตุที่ถือได้ว่าไม่มี รัฐภาคีใดเป็นเจ้าของทรัพย์สินนี้
นอกจากนั้น งานปฏิบัติของยูเนสโกทางด้านวัฒนธรรมในการส่งเสริมและอนุรักษ์ทรัพย์สินทางวัฒนธรรม โดยผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายวัฒนธรรมไม่ควรทำซ้ำซ้อนก้าวก่ายงานด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่ในขอบข่ายงานของคณะกรรมการมรดกโลก และในกรณีปราสาทพระวิหารนี้ นางฟรังซัวส์ ริวีเอียร์ ทำอย่างน่าเกลียดในการลงนามเป็นประจักษ์พยานในแถลงการณ์ร่วมระหว่างเขมรกับไทย
1.5 การทำความเข้าใจในข้อกฎหมายนี้ และการเมืองระหว่างประเทศ อันเป็นตัวแปร ย่อมจะช่วยให้พิจารณาปัญหา การขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร ได้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น
** 2. ความเป็นจริงและลักษณะของการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลกโดยกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว
2.1 ฝ่ายที่สนับสนุนกัมพูชาในเรื่องนี้กล่าวอ้างว่า การขึ้นทะเบียนตัวปราสาทไม่กระทบถึงอธิปไตยเหนือดินแดนของไทย และอ้างว่าก็มีสถานภาพการถือครอง ตัวปราสาทของกัมพูชาเหมือนกับที่เป็นมาตั้งแต่ปี 2505 ที่ไทยมอบการถือครองตัวปราสาทให้กัมพูชาตามคำพิพากษาศาลระหว่างประเทศ โดยไม่บ่งชี้ว่า ไทยได้ปฏิเสธคำพิพากษาซึ่งผิดข้อกฎหมายและไม่ยุติธรรม แต่ไทยต้องจำยอมมอบการถือครองให้กัมพูชา เพราะด้วยพันธกรณีของไทยในฐานะรัฐสมาชิก ขององค์การสหประชาชาติ
ข้อกล่าวอ้างยังมีอีกด้วยว่า การขึ้นทะเบียนตัวปราสาทโดย กัมพูชาฝ่ายเดียว ตามร่างข้อมติของคณะกรรมการที่แคนาดา ทำให้ไทยอยู่ในฐานะดีขึ้น จากเดิมที่กัมพูชาเคยเสนอขอให้มีเขตพื้นที่คุ้มครองและพัฒนานอกตัวปราสาทในดินแดนของไทย
ข้อกล่าวอ้างดังกล่าว เป็นการเบี่ยงเบนและก้าวข้ามนัยของบริบทในร่างข้อมติ ของที่ประชุมคณะกรรมการที่แคนาดา (ซึ่งยังจะต้องผ่านที่ประชุมอีกครั้งหนึ่ง ในวาระรับรองรายงานการประชุมวันสุดท้าย) โดยเฉพาะหลีกเลี่ยงไม่คำนึงถึง ข้อบัญญัติของคณะกรรมการมรดกโลก ที่กำหนดให้ต้องมีเขตกันชนและทำแผนจัดการ ซึ่งในกรณีนี้ของกัมพูชาจำเป็นต้องมีเขตกันชนรอบตัวปราสาททางด้านทิศตะวันตกและ ทิศเหนือเข้ามาในราชอาณาจักรไทย อย่างหลีกเลี่ยงมิได้
2.2 ตัวปราสาทพระวิหารขณะนี้อยู่ในสภาพชำรุด เสื่อมโทรมหนัก อีกทั้งยังตั้งอยู่บนพื้นที่ลาดชันจึงพังทลายได้ง่าย การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร จึงจำเป็นต้องมีพื้นที่กันชนเพียงพอ แต่จะมีบริเวณกว้างไกลเพียงใดนั้น จะต้องกำหนดไว้ในแผนจัดการ ซึ่งกัมพูชาจะต้องเป็นผู้จัดทำประกอบด้วยเหตุผล ซึ่งจะต้องนำเสนอ คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาเห็นชอบในการประชุมอีก 2 ปีหน้า
2.3 ข้อกำหนดดังกล่าว ที่ให้ต้องมีเขตกันชนเช่นนั้นปรากฏตามข้อบัญญัติ 103 และ104 ของคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญา เพื่อการคุ้มครองและอนุรักษ์มรดกโลก
2.4 อันที่จริงแล้วตามข้อบัญญัติดังกล่าว ในการเสนอขอขึ้น ทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร ควรต้องมีเขตกันชน และแผนจัดการพื้นที่รอบตัวปราสาทแนบไปพร้อมคำขอ ก่อนที่คณะกรรมการจะรับเข้าพิจารณา แต่การเมืองระหว่างประเทศ (ซึ่งไทยมีส่วนร่วมด้วย) ก็เข้ามาแทรกแซง เพื่อ ช่วยเหลือกัมพูชา ให้ตัดปัญหาเฉพาะหน้า ให้ได้รับการ ขึ้นทะเบียนเสียชั้นหนึ่งก่อน และในขั้นต่อไป จึงจะให้ทำ แผนจัดการบริเวณพื้นที่เขตกันชน จากตัวปราสาท ไปทาง ทิศตะวันตกและทิศเหนือ ซึ่งเป็นเขตในอำนาจอธิปไตย ของประเทศไทย รวมทั้งแผนที่และเอกสารประกอบการ เปลี่ยนจากการขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท นี่เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งภายหลัง ซึ่งข้อนี้ก็มีความปรากฏอยู่แล้วใน ร่างมติข้อ 15 แต่หลีกเลี่ยงไม่คำนึงถึง จึงเห็นได้ชัดเจนว่าบิดเบือนประเด็นเพื่อชี้นำว่า เป็นการขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท โดยไม่มีบริเวณเขตกันชนเข้ามาในดินแดนใต้อำนาจอธิปไตยของประเทศไทย

**3. ความพิลึกของกลไกกรณีปราสาทพระวิหาร ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก หาก ร่างมติข้อ ๑๔ สมจริง จากการรับรอง รายงานการประชุมในวันสุดท้าย
3.1 ข้อนี้กำหนดให้กัมพูชาดำเนินการ จัดประชุมคณะกรรมการ ประสานงาน ระหว่างประเทศ เพื่อให้ความคุ้มครองและพัฒนาแหล่งมรดกนี้ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2009 โดยให้มีผู้ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประกอบด้วย รัฐบาลไทยและประเทศผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆที่เหมาะสมอีกไม่เกิน 7 ชาติ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ สารัตถะเชิงนโยบายทั่วไปที่เกี่ยวเนื่องกับการอนุรักษ์คุณค่าสากลอันโดดเด่นของทรัพย์สินนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการการอนุรักษ์ที่เป็นสากล
ข้อนี้ คงจะมีการบิดเบือนในระยะนี้อีกเช่นกันว่า เป็นการเฉพาะตัวปราสาทเท่านั้น แต่ความเป็นจริงคือ รวมถึงพื้นที่เขตกันชนในดินแดนไทยด้วย แน่นอน เนื่องจากตัวปราสาทโดยลำพัง (ถ้าจะไม่มีเขตกันชนด้านทิศตะวันตก ตลอดถึงด้านทิศเหนือในดินแดนไทย)ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะขึ้นทะเบียนได้
3.2 ไม่เคยมีมรดกโลกแห่งไดเลยที่ใช้กลไกเช่นนี้เพื่อการอนุรักษ์ กรณีพื้นที่ซึ่งเป็นดินแดนของ 2 ประเทศร่วมกัน อาทิ แหล่งอนุรักษ์ธรรมชาติ Iguazu ของอาร์เจนตีนา และบราซิล ทั้งๆที่ปัญหาการอนุรักษ์มีมาตลอด และอยู่ในทะเบียนภาวะอันตรายด้วย หรือในกรณีอธิปไตยซ้อนกันของกรุงวาติกัน ซึ่งเป็นนิติรัฐ มีอธิปไตยเหนือดินแดนซ้อนอยู่ในใจกลางมรดกโลกเมืองเก่ากรุงโรม ของอิตาลี
3.3 การจะใช้กลไกนี้ต่อปราสาทพระวิหาร จะยังผลให้ชาติอื่นๆ อีก6 ชาติ เข้ามาแทรกแซงปกป้องเขมร และกดดันประเทศไทยเพื่อใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนไทยซึ่งจะต้องตกเป็นเขตกันชน ในการนี้จะต้องมีมาตรการทางกฎหมาย และทางบริหารจัดการ ซึ่งเขมรเป็นผู้กำหนดไว้ในแผนจัดการ
3.4 ถ้าไม่มีกลไกนี้ ก็จะมีปฏิสัมพันธ์เฉพาะเขมรกับไทย ซึ่งต้องเจรจาตกลงกันเอง ประเทศไทยจึงอยู่ในฐานะที่จะต่อรองเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ ได้ดีกว่ามีอีก 6 ประเทศมาคอยขวางกั้นประเทศไทย
4. จุดยืนเผชิญหน้าคณะกรรมการต่างชาติแทรกแซง เขตกันชนในราชอาณาจักรไทย เราต้องรีบดำเนินการทันที และประกาศให้คณะกรรมการมรดกโลก ยูเนสโก และทุกประเทศได้รับทราบเป็นทางการ ดังนี้
4.1 เขตกันชนจากตัวปราสาทด้านทิศตะวันตก ตลอดไปถึงด้านทิศเหนือ ซึ่งเป็นบริเวณในเขตประเทศไทยนั้น ประเทศไทยจะให้จัดทำได้ เฉพาะเพื่ออนุรักษ์ตัวปราสาทตามพันธกรณีแห่งอนุสัญญา โดยให้มีบริเวณเพียงพอสมเหตุผลเท่าที่ไทยเห็นชอบด้วย เท่านั้น
4.2 นอกบริเวณดังกล่าว ตาม 4.1 ประเทศไทยจะไม่ยินยอมให้มีการก่อสร้าง หรือกิจกรรมเพื่อธุรกิจใดๆ ทั้งสิ้น
4.3 การเยี่ยมชมตัวปราสาทและทัศนียภาพเขาพระวิหาร ควรต้องเป็นไปเพื่อการศึกษาและชื่นชม คุณค่าดีเด่นของแหล่งมรดกโลกนี้ ซึ่งต้องตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญามรดกโลก และเมื่อเสร็จสิ้นการ เยี่ยมชมแล้ว ผู้มาทัศนาจรก็ควรกลับไป ทั้งนี้เพราะการจะนำกิจการบันเทิง หรือธุรกิจอื่นใดเพื่อความสะดวกสบาย มาเชื่อมโยงกับการเยี่ยมชมแหล่งมรดกโลก อันจะเป็นการแสวงรายได้จากนักท่อง เที่ยวให้ได้มากที่สุดนั้น เป็นการสวนทางกับหลักการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก ซึ่งต้องคำนึงถึง สมรรถนะสภาพตัวปราสาทพระวิหารที่จะรองรับนักท่องเที่ยวอย่างจำกัด ซึ่งหากเกินควรก็ย่อมเป็น การคุกคามการอนุรักษ์ปราสาทพระวิหาร
5. หลังจากประกาศจุดยืนดังกล่าวข้างต้นแล้ว หากต่อมาปรากฏชัดว่าคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลที่กัมพูชาจัดตั้งขึ้น ภายใต้การอุปถัมภ์ของยูเนสโก ยังคงขวางกั้นเพื่อประโยชน์ของเขมร จนถึงจุดที่ประเทศไทยควรต้องปฏิเสธอย่างแข็งกร้าว (เป็นข้อเสนอแนะสำหรับผู้ที่เคยแสดงความเห็นว่าควรถอนตัวจากอนุสัญญามรดกโลก และองค์การยูเนสโก) ก็ถึงโอกาสอันเหมาะสมที่จะเสริมจุดยืนข้างต้น
โดยประเทศไทย ประกาศถอนการเป็นภาคี อนุสัญญา (denunciation) ตามบทบัญญัติข้อ 35 แห่ง อนุสัญญามรดกโลก ค.ศ. 1972 และอาจจะเลยไปถึงการ ถอนตัวจากยูเนสโก ด้วยเหตุที่ยูเนสโก จงใจทำการอันเป็นอธรรม เบียดเบียนอธิปไตยของไทย ทำการนอกหน้าที่เข้าโยงใย เอื้อประโยชน์แก่กัมพูชาโดยชัดแจ้งตลอดมา
ทั้งหมดนี้ แม้จะมีผลเสียอยู่บ้างก็ย่อมสมควรที่จะแลกเปลี่ยน เพื่อรักษาหลักการ และการแสดงความเป็นเอกราชและอธิปไตยของประเทศไทย ให้เป็นที่ประจักษ์แก่นานาชาติ และแก่ประชาชนชาวไทยตลอดไป
กำลังโหลดความคิดเห็น