xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” บ่นเงินไม่พอจ่าย อปท. อยากได้ต้องรอจัดสรรงบปี 54

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
“บุญจง” เล่นเอา “มาร์ค” กุมขมับ อัดแถลงการณ์ 3 องค์กร อปท.ขออนุมัติงบอุดหนุนเพิ่ม ชี้รัฐลดจำนวนเงินลงเรื่อยๆ จากปี 52 ได้ 104,000 ล้าน ปี 53 เหลือ 74,000 ล้าน เผยทั้งโครงการหลักประกันผู้สูงอายุ-เรียนฟรี 15 ปี-จ่ายเบี้ย อสม. รัฐทิ้งภาระให้ อปท.แบกรับ โดยไม่อัดงบเพิ่ม ด้าน “มาร์ค” เปรยเงินไม่พอจ่าย อยากได้ต้องรอจัดสรรงบปี 54


วันนี้ (24 มิ.ย.) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) ครั้งที่ 4/2552 ซึ่งมีนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยเฉพาะวาระการพิจารณาขอจัดสรรงบประมาณอุดหนุนของ อปท. ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีรายจ่าย พ.ศ.2553 ที่จะได้รับเงินอุดหนุน 136,700 ล้านบาท และรายได้ที่ อปท. จัดเก็บได้ 201,000 ล้านบาท รวมเป็น 337,800 ล้านบาท

ทั้งนี้ยังมีการพิจารณาหนังสือแถลงการณ์ของ 3 องค์กร อปท. ประกอบด้วย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ตามที่นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เสนอตามแถลงการณ์ เรื่อง “การจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ปี 53 ให้แก่ อปท.” โดยมีรายละเอียด ดังนี้ รัฐบาลได้ลดเงินอุดหนุนที่ได้จัดสรรให้ อปท. จาก 104,000 ล้านบาท ในปี 52 เหลือ 74,000 ล้านบาท ในปี 53

ส่วนเงินอุดหนุนทั่วไปตามอำนาจหน้าที่ถ่ายโอนเลือกทำ ก็ลดลงจาก 57,000 ล้านบาท ในปี 52 เหลือ 29,000 ล้านบาท ในปี 53 ทั้งนี้ รัฐบาลยังเอาโครงการที่เป็นนโยบายรัฐทั้งโครงการหลักประกันผู้สูงอายุ โครงการเรียนฟรี 15 ปี และโครงการจ่ายเบี้ยยังชีพให้แก่ อสม. ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณในสัดส่วนของ อปท. อีกรวมทั้งโครงการอื่นตามมติ ครม.ที่มีของรัฐบาลมาใช้งบประมาณในสัดส่วนของ อปท. ทำให้มีผลต่อการลงทุนและความอิสระของ อปท. ดังนั้น ทำให้สัดส่วนรายได้ของ อปท.ต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลปีงบ 53 ในอัตราร้อยละ 25.02 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าในปี 52 ที่กำหนดไว้ร้อยละ 25.80 ซึ่งเป็นการดำเนินการที่อาจขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ปี 50 รวมทั้ง พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจแก่ อปท. ปี 42 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 ที่มีเจตนารมณ์ให้กระจายอำนาจแก่ อปท.เพิ่มขึ้น โดยอาจส่งผลต่อความชอบธรรมด้วยกฎหมายของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 53

นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลทบทวนปรับวงเงินเพิ่ม วงเงินอุดหนุนทั่วไปตามหน้าที่และการถ่ายโอนให้ไม่น้อยกว่าเดิม 57,000 ล้านบาท และเอาโครงการที่เป็นนโยบายรัฐที่ใช้งบในสัดส่วน อปท. รวมถึงโครงการอื่นตามติที่ประชุม ครม. ซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาลให้ไปใช้งบกลางหรือเงินกู้รัฐบาล หรืองบประมาณอื่นๆ

“นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ต้องยอมรับว่า รัฐบาลไม่สามารถที่จะจัดสรรงบประมาณให้กับ อปท.ตามที่ทั้ง 3 สมาคมเรียกร้องให้มีการเพิ่มงบประมาณปี 53 ได้ เพราะหากจะให้เพิ่มงบประมาณอีก อาจจะต้องไปเพิ่มงบในปี 54 อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อาจจะต้องไปหารือในขั้นกรรมาธิการงบประมาณ 53” แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าว

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบการสนับสนุนงบประมาณให้กับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้แก่หน่วยงานต่างๆ โดยขอบเขตที่จะสนับสนุนจะเน้นภารกิจด้านการศึกษาและหรือสาธารณสุข ทั้งนี้ หากต้องการรับการสนับสนุน อปท.นั้นจะต้องเสนอความเห็นมายังคณะกรรมการบริหารการถ่ายโอนบุคลากร และงบประมาณให้แก่ อปท.ระดับจังหวัด เพื่อเสนอวินิจฉัยโดยคณะกรรมการเฉพาะพื้นที่ ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จะได้รับการสนับสนุนไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ไม่รวมค่าอุดหนุน เทศบาลขนาดใหญ่จะได้รับการสนับสนุนไม่เกินร้อยละ 2 ของรายได้ไม่รวมค่าอุดหนุน เทศบาลขนาดกลางและขนาดเล็กจะได้รับการสนับสนุนไม่เกินร้อยละ 3 ของรายได้ไม่รวมค่าอุดหนุน และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะได้รับการสนับสนุนไม่เกินร้อยละ 5 ของรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุน

อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นให้เสนอคณะกรรมการบริหารการถ่ายโอนภารกิจ บุคลากร และงบประมาณให้แก่ อปท.ระดับจังหวัด โดยมีลักษณะไตรภาคีในสัดส่วนเท่ากัน และเพิ่มอำนาจหน้าที่วินิจฉัยสนับสนุนงบของ อปท.ที่นอกเหนือจากเขตงานที่กำหนด

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกล่าวอีกว่า ขณะที่แนวทางพัฒนาระบบการสงเคราะห์ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการให้ยกร่างแนวทางของมหาดไทยและสำนักนายกรัฐมนตรีให้เป็นฉบับเดียวกัน เพื่อสงเคราะห์เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุ รายละ 500 บาทต่อเดือน นายกรัฐมนตรียังไม่ได้เห็นชอบ โดยขอให้ฝ่ายเลขาฯไปศึกษา เพื่อดำเนินการต่อไป

สำหรับการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปัจจุบันมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ 1.รูปแบบของกระทรวงมหาดไทย จ่ายให้กับผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจนหรือขาดผู้อุปการะจะได้รับการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพอย่างน้อยในอัตราคนละ 500 บาทต่อเดือน และ 2.รูปแบบตามโครงการหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุของรัฐบาลที่จะจ่ายค่ายังชีพรายละ 500 บาทต่อเดือน แต่เกิดปัญหาที่ อปท.บางแห่งต้องใช้เงินรายได้จ่ายค่าสมทบเพิ่ม เพื่อครอบคลุมจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น อาทิ บางแห่งจ่ายเพิ่มในอัตราคนละ 1,000 บาท บางแห่งจ่ายทุกเดือน บางแห่งจ่ายราย 3 เดือน หรือ 6 เดือน เป็นต้น

ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 53 กำหนดโครงการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไว้ที่ 29,582,950,000 บาท โดยมีผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนไว้ทั้งสิ้น 4,930,491 คน แต่รัฐบาลไม่ได้ตั้งงบประมาณในสัดส่วนที่ลงทะเบียนกับ อปท. เพื่อจ่ายสมทบให้ผู้สูงอายุจำนวน 513,919 คน ทำให้ท้องถิ่นต้องแบกภาระที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ที่ประชุม กกถ.ยังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่และความสัมพันธ์ในการจัดบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยมี ศ.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ เป็นประธาน

ด้านกรมสรรพากร ได้แจ้งการถอนคืนเงินรายได้แผ่นดินประเภทภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อโอนให้กระทรวงมหาดไทย นำไปจัดสรรให้ อปท. สำหรับบประมาณปี 52 งวดที่ 3 วงเงิน 7,1610 ล้านบาท โดยมีเงินที่ อปท.สะสมไว้ 24,620 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น