ที่ประชุม กกต.23 มิ.ย.นี้ คาดถกคำร้อง “เรืองไกร-ศุภชัย” สอบ ส.ส.ถือหุ้นบริษัทสัมปทานรัฐ รอผล 40 กว่า ส.ส.ตกเก้าอี้หรือไม่ เผยเป็นรัฐมนตรีพรรคร่วม 6 คน แต่อาจไม่มีผลให้ขาดจากความเป็นรัฐมนตรี เหตุขายหุ้นไปหมดแล้ว ตามมาตรา 269 คาดเหตุผลเดียวกันนี้ส่งผล “เทพเทือก” ยิ้มแฉ่งไม่หวั่นถูกกกต.สอย
วันนี้ (22 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม กกต.วันที่ 23 มิ.ย.นี้ มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการนำผลการสอบสวนของอนุกรรมการสอบสวนกรณี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา และ นายสมคิด หอมเนตร นักวิชาการอิสระ ร้องขอให้ กกต.ตรวจสอบการสิ้นสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106(6) เหตุกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 48 ถือครองหุ้นธุรกิจสื่อ และต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 265(2) ถือครองหุ้นบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ หรือคู่สัญญาอันมีลักษณะผูกขาดตัดตอน เข้าพิจารณารวมทั้งสิ้น 61 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น ส.ส.และ รมต.ในส่วนของพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล
โดยในส่วน ส.ส.ประชาธิปัตย์ 28 คน ที่ นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทยร้องนั้น อนุกรรมการสอบสวนในส่วนนี้ยังสอบสวนไม่แล้วเสร็จ แต่ทั้งนี้ รายงานที่อนุฯเสนอขึ้นอยู่กับประธาน กกต.จะพิจารณาว่าจะให้มีการลงมติเลยหรือไม่ เพราะสำนวนในส่วนของข้อเท็จจริงเรื่องการถือหุ้นของแต่ละคนอนุกรรมการสอบสวนได้มีการเสนอให้ กกต.แต่ละคนไปศึกษามาตั้งแต่กลางเดือน พ.ค.แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมารอความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายเท่านั้น
สำหรับในส่วนคำร้องของ นายเรืองไกร ที่ส่งมาให้ กกต.ตรวจสอบ มีเพียงรายชื่อผู้ถูกร้อง แต่ไม่ระบุว่าถือหุ้นของบริษัทใดบ้างนั้น อนุฯ ก็ได้มีการเรียกนายเรืองไกรมาสอบถาม ถึงที่มาของข้อมูล จากนั้นก็ไปตรวจสอบจากเว็บไซด์ที่นายเรืองไกรอ้างว่านำข้อมูลมาร้อง ส่วนใหญ่จะมาจากเว็บไซต์ของ ป.ป.ช.ที่ผู้ถูกร้องได้มีการแสดงบัญชีทรัพย์สินไว้ จึงไม่เป็นเหตุให้กกต.ต้องยุติการสอบเพราะมีการชี้ว่าผู้ถูกร้องถือหุ้นบริษัทใด
อย่างไรก็ตาม ในส่วนจำนวน ส.ส.61 คนนั้น อนุกรรมการได้เสนอว่า ได้รับการชี้แจงทั้งด้วยตนเองและเอกสารจากผู้ถูกร้องแล้วส่วนใหญ่ แต่ก็มีบางคนที่อนุฯไม่ได้รับคำชี้แจง ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ กกต.ว่าจำเป็นที่ต้องรอคำชี้แจงดังกล่าวหรือหากมองว่ามีข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์เช่นกับ ส.ว.ที่ได้พิจารณาไปแล้วก็อาจจะลงมติเลย
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ในจำนวน ส.ส.61 คน มี ส.ส.ที่เข้าข่ายถือครองหุ้นตามมาตรา 48 และมาตรา 265 วรรคสองเป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงราว 40 คน ในจำนวนนี้มีที่เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล 6 คน ประกอบด้วย นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข และ นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยืนตาม กกต.จนเป็นเหตุให้สมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ในส่วนของ ส.ส.เขต ไม่เป็นปัญหา พรรคการเมืองสามารถส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งใหม่ได้ แต่ในส่วน ส.ส.สัดส่วนที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องประกาศเลื่อนรายชื่อบัญชีในลำดับถัดไปเป็น ส.ส.ขึ้นมาแทน จะเป็นปัญหากับพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ที่เป็นพรรคเกิดใหม่ เพราะไม่มีบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.สัดส่วนให้เลื่อนขึ้นมาได้ ทำให้ ส.ส.ในสัดส่วนของพรรคนั้นๆ ต้องว่างลง
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาของ กกต.ในประเด็น ส.ส.จะใช้หลักเดียวกับการพิจารณา ส.ว.ซึ่งในการชี้แจงของอนุฯต่อที่ประชุม กกต.ได้ระบุถึงการห้ามถือครองหุ้นที่เป็นเหตุให้สิ้นสมาชิกภาพว่า ควรจะเริ่มนับตั้งแต่ความเป็น ส.ว.เกิดขึ้น ซึ่งก็หมายถึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ กกต.ประกาศรับรองให้เป็น ส.ว.ดังนั้น กรณีดังกล่าวแม้ว่าผู้ถูกร้องจะมีการขายหุ้นภายหลังจากเข้ารับตำแหน่งก็ไม่มีผลให้พ้นความผิด แต่ในประเด็นนี้อาจจะใช้ไม่ได้กับรมต.เพราะกฎหมายไม่กำหนดเหตุแห่งการสิ้นสุดความเป็น รมต.ว่าให้มาจากการไม่ได้เป็น ส.ส.ดังนั้น เมื่อเทียบเคียงกับกรณีของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมตรี นายสุเทพ ถูกร้องประเด็นนี้เมื่อครั้งเป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน กกต.ก็ตรวจสอบ ณ วันที่ถูกร้อง เมื่อพบว่าถือหุ้นในบริษัทที่ต้องห้าม ก็ต้องเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.แต่ความเป็น รมต.จะยังคงอยู่ เพราะว่าได้ขายหุ้นที่เคยถือครองไปแล้วเมื่อเข้ารับตำแหน่งรองนายกฯตามมาตรา 269