xs
xsm
sm
md
lg

40ส.ส.-6รมต.ลุ้นระทึก กกต.เชือด"หุ้นสัมปทานรัฐ"วันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมกกต.วันนี้ ( 23 มิ.ย.) มีความเป็นไปได้ว่า จะมีการนำผลการสอบสวนของอนุกรรมการสอบสวน กรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา และนายสมคิด หอมเนตร นักวิชาการอิสระ ร้องขอให้กกต. ตรวจสอบการสิ้นสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา106 (6) เหตุกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา48 ถือครองหุ้นธุรกิจสื่อ และต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา265 ( 2) ถือครองหุ้นบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ หรือคู่สัญญาอันมีลักษณะผูกขาดตัดตอน เข้าพิจารณารวมทั้งสิ้น 61 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น ส.ส.และรมต.ของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย
โดยในส่วน ส.ส.ประชาธิปัตย์ 28 คนที่นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย ร้องนั้น อนุกรรมการสอบสวนในส่วนนี้ยังสอบสวนไม่แล้วเสร็จ แต่ทั้งนี้รายงานที่อนุฯ เสนอขึ้นอยู่กับประธาน กกต.จะพิจารณาว่า จะให้มีการลงมติเลยหรือไม่ เพราะสำนวนในส่วนของข้อเท็จจริงเรื่องการถือหุ้นของแต่ละคน อนุกรรมการสอบสวนได้มีการเสนอให้ กกต.แต่ละคนไปศึกษามาตั้งแต่กลางเดือนพ.ค.แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมา ยังรอความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายเท่านั้น
สำหรับในส่วนคำร้องของนายเรืองไกร ที่ส่งมาให้ กกต.ตรวจสอบ มีเพียงรายชื่อผู้ถูกร้อง แต่ไม่ระบุว่าถือหุ้นของบริษัทใดบ้างนั้น อนุฯก็ได้มีการเรียกนายเรืองไกร มาสอบถาม ถึงที่มาของข้อมูล จากนั้นก็ไปตรวจสอบจากเว็บไซต์ ที่นายเรืองไกรอ้างว่า นำข้อมูลมาร้อง ส่วนใหญ่จะมาจากเว็บไซต์ของป.ป.ช. ที่ผู้ถูกร้องได้มีการแสดงบัญชีทรัพย์สินไว้ จึงไม่เป็นเหตุให้ กกต.ต้องยุติการสอบ เพราะมีการชี้ว่าผู้ถูกร้องถือหุ้นบริษัทใด
อย่างไรก็ตามในส่วนจำนวน ส.ส. 61 คนนั้น อนุกรรมการได้เสนอว่าได้รับการชี้แจงทั้งด้วยตนเอง และเอกสารจากผู้ถูกร้องแล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีบางคนที่อนุฯไม่ได้รับคำชี้แจง ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของกกต.ว่า จำเป็นที่ต้องรอคำชี้แจงดังกล่าวหรือหากมองว่ามีข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์เช่นเดียวกับส.ว.ที่ได้พิจารณาไปแล้ว ก็อาจจะลงมติเลย
ทั้งนี้มีรายงานว่า ในจำนวนส.ส. 61 คน มี ส.ส.ที่เข้าข่ายถือครองหุ้นตามมาตรา 48 และมาตรา 265 วรรคสอง เป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงราว 40 คน ในจำนวนนี้ มีที่เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล 6 คน ประกอบด้วย นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข และนายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยืนตามกกต. จนเป็นเหตุให้สมาชิกภาพความเป็นส.ส.ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ในส่วนของส.ส.เขตไม่เป็นปัญหา พรรคการเมืองสามารถส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งใหม่ได้ แต่ในส่วน ส.ส.สัดส่วน ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องประกาศเลื่อนรายชื่อบัญชีในลำดับถัดไปเป็นส.ส.ขึ้นมาแทน จะเป็นปัญหากับพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ที่เป็นพรรคเกิดใหม่ เพราะไม่มีบัญชีรายชื่อผู้สมัครส.ส.สัดส่วนให้เลื่อนขึ้นมาได้ ทำให้ส.ส.ในสัดส่วนของพรรคนั้นๆ ต้องว่างลง
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาของ กกต.ในประเด็น ส.ส. จะใช้หลักเดียวกับการพิจารณาส.ว. ซึ่งในการชี้แจงของอนุฯ ต่อที่ประชุมกกต.ได้ระบุถึงการห้ามถือครองหุ้นที่เป็นเหตุให้สิ้นสมาชิกภาพว่า ควรจะเริ่มนับตั้งแต่ความเป็น ส.ว.เกิดขึ้น ซึ่งก็หมายถึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ กกต.ประกาศรับรองให้เป็นส.ว.
ดังนั้นกรณีดังกล่าวแม้ว่าผู้ถูกร้องจะมีการขายหุ้นภายหลังจากเข้ารับตำแหน่ง ก็ไม่มีผลให้พ้นความผิด แต่ในประเด็นนี้อาจจะใช้ไม่ได้กับรมต. เพราะกฎหมายไม่กำหนดเหตุแห่งการสิ้นสุดความเป็นรมต.ว่าให้มาจากการไม่ได้เป็น ส.ส. ดังนั้น เมื่อเทียบเคียงกับกรณีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมตรี นายสุเทพ ถูกร้องประเด็นนี้ เมื่อครั้งเป็นส.ส.ฝ่ายค้าน กกต.ก็ตรวจสอบ ณ.วันที่ถูกร้อง เมื่อพบว่าถือหุ้นในบริษัทที่ต้องห้าม ก็ต้องเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากสมาชิกภาพความเป็น ส.ส. แต่ความเป็น รมต.จะยังคงอยู่ เพราะว่าได้ขายหุ้นที่เคยถือครองไปแล้วเมื่อเข้ารับตำแหน่งรองนายกฯ ตามมาตรา 269
นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวถึง กรณีที่มีผู้เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ จากการที่ กกต.วินิจฉัยว่า16 ส.ว.พ้นจากสมาชิกภาพ เนื่องจากถือครองหุ้นสัมปทานรัฐว่า มีคนพูดว่ารัฐธรรมนูญ 50 เขียนเพื่อกำจัดคนเพียงคนเดียว แต่เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะการห้ามเช่นนี้ มีการบัญญัติไว้ตั้งแต่ในรัฐธรรมนูญปี 40 เพียงแต่เขียนเพิ่มเรื่องการห้ามถือครองหุ้นสื่อเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีใครนำมาร้องเรียนเท่านั้น ขณะที่ในครั้งนี้เป็นการร้องไปมา ระหว่างนายศุภชัย ใจสมุทร และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ซึ่งหาก กกต.ไม่พิจารณา ก็จะถูกหาว่าเข้าข้างใดข้างหนึ่ง
ส่วนที่มีผู้ระบุว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติคำว่า"ห้ามคงไว้" ดังนั้น ส.ส.หรือ ส.ว. จึงน่าที่จะสามารถถือหุ้นต่อได้นั้น นายประพันธ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องตีความ และรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะถือว่าเป็นการตีความครั้งสำคัญของนิติศาสตร์ว่า จะตีความตามตัวอักษร หรือเจตนารมณ์ เพราะยังไม่เคยมีบรรทัดฐานในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม กกต.ยืนยันว่าจะพิจารณาในส่วนของส.ส.ทันที ที่ได้รับรายงานจากอนุกรรมการฯ จะไม่รอจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เพราะไม่ใช่หน้าที่ของกกต. และยืนยันว่า จะใช้มาตรฐานเดียวกันกับ ส.ว. เพราะเป็นหลักกฎหมายเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นส.ส.หรือ รมต.
เมื่อถามว่า รู้สึกถูกกดดันหรือไม่เพราะ กกต.ถูกโจมตีมาก นายประพันธ์ กล่าวว่า
"เราพิจารณาตามพยานหลักฐานตามขั้นตอน ใครจะอัดก็อัดไป ผมก็บอกแล้วว่าผมไม่อยากเป็นเสือ ผมอยากเป็นหมีแพนด้า เพราะหล่นหน่อยก็มีคนเป็นห่วงทั้งบ้านทั้งเมือง กกต.ถูกอัดซ้ายอัดขวา ยังไม่เห็นมีคนเป็นห่วง" นายประพันธ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น