“สดศรี” เผย ดีเอสไอ สอบคดีเงิน 258 ล้านของ ปชป.เพียงแค่ฝ่ายผู้ร้อง ยังไม่สอบพยานแม้ปากเดียว โบ้ย กกต.สอบต่อเอง อ้าง เป็นความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.พรรคการเมือง เตรียมพิจารณาส่งกลับให้ดีเอสไอสอบต่อ หรือ กกต.สอบเอง ระบุหากผิดจริง แก้ ม.237 ก็ช่วยไม่ได้ เพราะโทษยุบพรรคยังมีอยู่ใน พ.ร.บ.พรรคการเมือง
วันที่ 2 พ.ค.ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณีที่ กกต.ตั้งอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งสำนวนคดีเงิน 258 ล้านบาท ที่สงสัยว่า บริษัท ทีพีไอ บริจาคให้พรรคประชาธิปัตย์โดยไม่ถูกต้อง และคดีพรรคประชาธิปัตย์ใช้เงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองเมื่อปี 2548 ที่อาจผิดวัตถุประสงค์ ว่า เรื่องนี้ดีเอสไอสอบข้อเท็จจริงมาเพียงครึ่งเดียว โดยได้มีการอ้างว่า ที่เหลืออีกครึ่งก็เป็นความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่ กกต.จะต้องดำเนินการต่อ ซึ่งสำนวนที่ดีเอสไอได้ส่งสำนวนมาให้ไม่ได้สอบพยานที่เกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ มีเพียงการสอบพยานฝ่ายของผู้ร้องเท่านั้น
“สำหรับคณะทำงานด้านสำนักกิจการพรรคการเมือง ที่ได้ตรวจสอบเอกสารสำนวนของดีเอสไอก็เสนอให้ กกต.พิจารณามี 2 ประเด็น คือ 1.ให้ดีเอสไอสอบต่อให้เสร็จ และ 2.ให้ กกต.ตั้งอนุกรรมการมาสอบต่อ ซึ่งที่ประชุมเห็นควรให้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาสอบโดยให้เวลาภายใน 30 วัน และรวมคำร้องที่พรรคเพื่อไทยส่งมาให้ดำเนินการยุบพรรคประชาธิปัตย์ในกรณีเดียวกัน เพราะมีการอ้างจากเอกสารของดีเอสไอด้วย” นางสดศรี กล่าว
เมื่อถามว่า หากมีการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 237 แล้วจะปัญหาหรือไม่ หากผลสอบออกมาชี้ว่ามีมูลต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคประชาธิปัตย์ นางสดศรี กล่าวว่า ถึงแม้จะมีการแก้มาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญแล้วก็จะไม่มีผลกระทบต่อการสอบเพราะมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของการเลือกตั้งที่ทำให้ยุบพรรคได้ แต่กรณีของดีเอสไอได้ขอมาให้ กกต.พิจารณาตามมาตรา 94 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ซึ่งเป็นเหตุให้ยุบพรรคได้ ดังนั้นจึงเป็นคนละส่วนกัน เพราะการยุบพรรคไม่มีเฉพาะในรัฐธรรมนูญ แต่ยังมีใน พ.ร.บ.พรรคการเมือง โดยเฉพาะเรื่องการใช้จ่ายเงินจะเป็นตามมาตรา 93 ที่รับบริจาคจากแหล่งที่มาโดยมิชอบ และการรับเงินมาใช้เพื่อบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศก็เป็นความผิดตามมาตรา 94 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ถึงมีการแก้ไขมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญก็ไม่พ้นความผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง
“กรณีของพรรคประชาธิปัตย์ที่ดีเอสไอร้องเข้ามาหากเป็นความผิดตามมาตรา 93 และ 94 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองก็เป็นเหตุให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคได้ แต่ขณะนี้ต้องบอกก่อนว่าข้อเท็จจริงยังไม่ชัดเจนว่า 1.มีเงินบริจาคเข้ามาในปี 2548 หรือไม่ ตามที่ดีเอสไอกล่าวอ้าง และ 2.เงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง กกต.ก็ได้รับเอกสารโดย กกต.ชุดที่แล้วและได้มีการตรวจสอบแล้วว่าถูกต้อง ดังนั้นการกล่าวหาว่าการนำเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองไปใช้ผิดวัตถุประสงค์นั้นก็เป็นเรื่องที่ กกต.จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน” นางสดศรี กล่าว
เผย พบประเด็นสอบ “นพดล” เพิ่ม-ยันไม่มีนายทหารแทรกแซง
นางสดศรี กล่าวถึงการตั้งอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงภายใน 30 วัน กรณีนายนพดล พลซื่อ อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด เขต 3 และอดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อแผ่นดิน ที่ถูกศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) ซึ่งอาจเข้าข่ายมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อแผ่นดินอาจถูกยุบพรรค ว่า ที่ตั้งอนุกรรมการขึ้นตรวจสอบ เพราะยังมีปัญหาในข้อกฎหมายของคำพิพากษาศาลฎีกา ระบุวันกระทำผิดหลายวัน ประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าการกระทำผิดของนายนพดล ในตอนนั้นเป็นกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ อีกทั้งยังมีปัญหาข้อกฎหมายว่าความเป็นกรรมการบริหารพรรคของนายนพดล ต้องยึดวันที่ประชุมใหญ่ของพรรคหรือต้องรอวันที่นายทะเบียนพรรคการเมืองตอบรับ ประกอบกับทางพรรคเพื่อแผ่นดินก็ร้องมายัง กกต.ว่า ขณะนั้นนายนพดลยังไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค เพราะได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหารพรรค ขณะยังไม่ได้ลาออกจากปลัดอำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด
นางสดศรี กล่าวว่า อนุกรรมการ จะตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า นายนพดล เป็นกรรมการบริหารพรรคขณะกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ หากมองว่าเป็นกรรมการบริหารพรรคขณะกระทำผิด ก็ต้องเข้าสู่มาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องเสนอความเห็นยุบพรรคให้อัยการสูงสุดพิจารณาก่อนส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ส่วนที่มีกระแสว่ามีนายทหารนอกราชการวิ่งเต้นเพื่อล้มคดียุบพรรคเพื่อแผ่นดินนั้น ยืนยันไม่มีนายทหารคนไหนมาวิ่งเต้นเรื่องนี้ เพราะทุกอย่าง กกต.จะดูตามข้อกฎหมายเป็นหลัก มีคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้วจะไปพิจารณานอกเหนือจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายไม่ได้