xs
xsm
sm
md
lg

“ยุบสภา”ทางเลือกที่มาเร็ว ก่อนเกิดสุญญากาศการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
มติคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เป็นฝนไม่มีเค้า ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองให้เกิดขึ้นทั้งกับสภาสูง-วุฒิสภา และที่กำลังลุ้นกันอยู่กับสภาล่าง-สภาผู้แทนราษฏร

หลังกกต.มีมติ 3 ต่อ 1 ระบุว่า 16 ส.ว.มีคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ และเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ ในลักษณะผูกขาดตัดตอน

อันเป็นการฝ่าฝืนตามมาตรา 48 ประกอบมาตรา 265 (2) (4) ของรัฐธรรมนูญ อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพการเป็น ส.ว.ดังกล่าวสิ้นสุดลงตามมาตรา 119 (5) ของรัฐธรรมนูญ

ส.ว.ทั้ง 16 คนตกอยู่ในอาการร่อแร่ มีโอกาสสุ่มเสี่ยงจะหลุดจากตำแหน่งสูงยิ่ง!

กระบวนการหลังจากนี้ กกต.จะส่งหนังสือและคำวินิจฉัยดังกล่าวมาให้นาย ประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ เพื่อให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป โดยระหว่างนี้ส.ว.ทั้งหมดยังคงทำหน้าที่ได้ตามปกติ

หมายถึงว่า การประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายสำคัญสองฉบับคือ

1.พรก.กู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ…. 4 แสนล้านบาท

2.พรบ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ.วงเงิน 4 แสนล้านบาท

ที่จะมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ในวันจันทร์ที่ 22 มิถุนายนนี้ จะยังได้เห็นส.ว.หลายคนที่มีชื่ออยู่ใน 16 ส.ว.ที่อยู่ใน “โซนอันตราย”ใช้สิทธิ์อภิปรายท้วงติงหรือเห็นด้วยกับการกู้เงิน 8 แสนล้านบาทของรัฐบาลแน่นอน

อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนวณระยะเวลาและขั้นตอนการพิจารณาคำร้องของกกต.ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็คาดได้ว่า สังคมคงได้เห็นส.ว.ทั้ง 16 คนโลดแล่นทำหน้าที่ได้อีกหลายเดือน
จนกว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเสร็จสิ้น

เหตุเพราะ กระบวนการการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อดูจากอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีคำร้องใดๆ ก็จะต้องเรียกผู้ร้องกับผู้ถูกร้องมาชี้แจงต่อหน้าองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในทุกกรณี แม้จะมีบรรทัดฐานการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีเดียวกันมาแล้วก็ตาม

กรณีหุ้นเป็นพิษ เมื่อดูแล้วก็น่าจะประมาณการได้ว่า องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็คงเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องคือ ส.ว.16 คนใช้สิทธิ์ในการชี้แจงการได้มา และการครอบครองหุ้นเจ้าปัญหาที่ทำให้ตัวเองอาจหลุดจากเก้าอี้ส.ว.แน่นอน

ส.ว.ทั้งหมดคงไม่ยอมพลาดโอกาสดังกล่าว

เหตุเพราะ อย่างน้อยก็เพื่อขอใช้โอกาสได้ชี้แจงเพิ่มเติมอย่างละเอียดต่อหน้าองค์คณะ ถึงที่มาที่ไปของการครอบครองหุ้นทั้งหมด ซึ่งประเด็นหลักๆ คงไม่พ้นไปจากที่ได้ชี้แจงต่อกกต.แต่คงลงรายละเอียดมากขึ้น

และการได้สิทธิ์นี้ยังเสมือนต่อลมหายใจในการอยู่ในตำแหน่ง ได้อย่างน้อยอีกหลายเดือน

แต่ทว่า หากสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปในทางเดียวกับกกต.นั่นหมายความว่า

สภาสูงจะอยู่ในสภาพ “สุญญากาศ”ทันที

อันเป็นคำกล่าวที่ออกมาจากประธานวุฒิสภาว่า หากท้ายสุดปลายทางของส.ว.ทั้ง 16 คนออกมาแบบนั้น วุฒิสภาก็ต้องหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ ไม่สามารถทำอะไรได้เลย จนกว่าจะมีการเลือกตั้งส.ว.ระบบเลือกตั้ง และเลือกส.ว.ระบบสรรหาที่หลุดจากตำแหน่งไปมาให้ได้เสียงเพียงพอกับการทำงานของส.ว.ต่อไปได้ และต้องรอให้กกต.รับรองผลการเลือกตั้งส.ว.อีก

ทั้งหมดก็กินเวลาไปนานพอสมควร

ถึงจุดนั้นกระบวนการต่างๆ ที่รอส.ว.ขับเคลื่อน เช่นการออกกฎหมาย-การเลือกกรรมการองค์กรอิสระ เช่นผู้ว่าฯสตง.ก็ต้องหยุดชะงักไปด้วย

ปัญหาเช่นนี้ อาจเกิดขึ้นกับสภาผู้แทนราษฎรได้เช่นกัน

เนื่องเพราะอดีตสสร.ปี 50 หลายคนได้ชี้แล้วว่ารธน.มาตรา 93 บัญญัติว่า หากส.ส.มีน้อยกว่า ร้อยละ 95 จะไม่ถือว่าเป็นองค์ประกอบการเป็นสภาฯ

ดังนั้น หากมีส.ส.โดนตัดสิทธิ์แค่ 25 คน จะทำให้สภาอยู่ในสภาพสุญญากาศทันที

คงต้องรอลุ้นหนักไม่น้อย เพราะการพิจารณาของกกต.ต้องพิจารณาส.ส.เกือบ 68 คนที่ยื่นโดยศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคเพื่อไทยและเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สว.สรรหา

จำนวน 25 คนจากยอดส.ส.ที่ถูกกกต.สอบทั้งหมด ก็ถือว่าเป็นสัดส่วนที่มีโอกาสเป็นไปได้ไม่น้อย ที่จะส่งผลให้สภาล่างอยู่ในสภาพง่อยเปลี้ย

ทำให้ยามนี้คนที่เตรียมตัวไปชี้แจงต่อกกต.ทั้งรัฐมนตรี- ส.ส.ที่มีชื่ออยู่ ก็เริ่มยอมรับต่อชะตากรรมแล้ว เพราะเมื่อดูบรรทัดฐานการวินิจฉัยของกกต.ในหุ้นบางบริษัทที่ส.ว.ทั้ง 16 คน ถืออยู่แล้วซ้ำกับหุ้นที่รัฐมนตรี –ส.ส.ถือครองอยู่

ก็คงต้องมองการณ์ไกลไปกว่าแค่การต่อสู้คดีที่ศาลรธน..กันแล้ว เมื่อบรรทัดฐานของกกต.กับส.ว.ก็ต้องเป็นบรรทัดฐานเดียวกับส.ส.เช่นกัน

เวลานี้ เมื่อส่องกล้องดูรายชื่อหุ้นบริษัทที่กกต..วินิจฉัยว่าอยู่ในข่ายได้รับสัปทานจากรัฐ พบว่ามีส.ส.ที่ถือครองหุ้นร้อนดังกล่าวอยู่ ที่เห็นชัดๆ แล้วมีประมาณ 10 รายชื่อ

เป็นรัฐมนตรี –ส.ส.ซีกรัฐบาลอยู่หลายคน อาทิ นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคมและส.ส.อยุธยา พรรคชาติไทยพัฒนาถือหุ้นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. สผ.จำกัด (มหาชน) ,พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีจากพรรคชาติไทยพัฒนา ถือหุ้นบริษัท ทีทีแอนด์ทีจำกัด

ทว่า ที่ลุ้นหนักคือกลุ่มส.ส.ประชาธิปัตย์ 28 คนที่ศุภชัย ใจสมุทร ยื่นให้กกต..ตรวจสอบ แม้จะพบว่าหลายคน อยู่ในส่วนที่กกต.ได้มีมติเสียงข้างมาก ว่าถือหุ้นบริษัทที่ไม่เข้าลักษณะต้องห้าม แต่ด้วยความรวยจัดก็เลยไปถือหุ้นอีกหลายบริษัทที่กกต.ยังไม่ได้พิจารณาว่า เข้าข่ายเป็นหุ้นสัมปทานหรือกิจการสื่อสารมวลชนหรือไม่?

ตัวหลักก็มีเช่น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการพรรคถือหุ้นในบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) บริษัททรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ,นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก ถือหุ้น บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีทีแอนด์ที เป็นต้น

อีกทั้งเมื่อดูรายชื่อส.ส.ที่ถูกยื่นให้ตรวจสอบจะพบว่า มีสัดส่วนในซีกรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ และหากท้ายสุดสมมุติว่าแค่ส.ส.รัฐบาลโดนซัก 20-30 คนก็ถือว่าสะเทือนต่อเสถียรภาพรัฐบาลแล้ว เพราะยามนี้ก็เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและพรรคประชาธิปัตย์ต้องยอมให้พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคมีอำนาจต่อรองสูงยิ่ง

หากสถานการณ์ดิ่งลงอีก เมื่อเสียงส.ส.รัฐบาลหายไปโดยเฉพาะในซีกประชาธิปัตย์

คำถามคือ อภิสิทธิ์จะเลือกตัดสินใจกับอนาคตของรัฐบาล และเสถียรภาพความมั่นคงในเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อไปอย่างไร?

บนสมมุติฐานการเมืองที่ว่า หากท้ายสุด ส.ส.รัฐบาลหลายคน ต้องพ้นสมาชิกภาพไปตามคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ขณะเดียวกันก็จะพบว่าส.ส.เพื่อไทยรวมถึงประชาราชอย่างเสนาะ เทียนทอง ก็สุ่มเสี่ยงจะหลุดจากตำแหน่งเกือบสิบคนเช่นกัน

ถึงตอนนั้น การเมืองก็จะอยู่ในสภาพวุ่นวายไม่น้อย เพราะถ้าต้องมีการจัดการเลือกตั้งระบบเขตจำนวนมาก ภายใน 45 วัน ซึ่งอภิสิทธิ์จะรอผลการเลือกตั้งซ่อม โดยหากฝ่ายรัฐบาลกลับเข้าสภาน้อยกว่าเดิม หรือเสียงส.ส.ซีกรัฐบาลหายไปจำนวนมาก

ตอนนั้น การเมืองก็เข้าถึงจุดตาย

ขยับซ้ายก็ยาก ขยับขวาก็ตัน

การตัดสินใจ “ยุบสภา”ในห้วงเวลาหลังเลือกตั้งซ่อม เพื่อไม่ให้มีการเปลี่ยนขั้วอำนาจ ก็เชื่อว่า อภิสิทธิ์ คงถูกด่าเละเทะ ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดทางการเมือง เพราะจะสิ้นเปลืองเงินภาษีประเทศชาติหลายพันล้านบาท ที่ต้องเลือกตั้งติดๆ กันโดยไม่จำเป็น และไม่ใช่ความผิดของสภาที่จะมายุบสภากันด้วยปัจจัยการเมือง เพื่อช่วงชิงอำนาจแบบนี้

ประเมินว่า คนอย่างอภิสิทธิ์จะไม่ทำเรื่องไม่สง่างามแบบนี้แน่นอน

แต่เรื่องหุ้น จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเร่งในการตัดสินใจ ยุบสภา โดยไม่จำเป็นต้องรอให้กระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น เพื่อไม่ให้การเมืองเกิดความวุ่นวาย และรัฐบาลติดอยู่ในมุมอับ

กำลังโหลดความคิดเห็น