xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ย้ำอย่าตื่นตระหนกไข้หวัด 2009 ควบคุมได้ - วอน ส.ว.ผ่าน กม.กู้เงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกฯ ยอมรับตัวเลขผู้ติดเชื้อไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่พุ่งสูงขึ้น ย้ำประชาชนอย่าตื่นตระหนก สาธารณสุขเตรียมการรับมืออย่างดี มั่นใจควบคุมโรคได้แน่ - กำชับเจ้าหน้าที่เร่งจับคนร้ายเน้นใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์ ชี้เหตุสุดวิสัยวิสามัญคนร้ายเพื่อรักษากฎหมาย วอนเพื่อนวุฒิสมาชิกผ่านความเห็นชอบพิจารณา พ.ร.บ.กู้เงินพรุ่งนี้

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์”



วันนี้ (21 มิ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จัดรายการ“เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” เป็นครั้งที่ 23 ซึ่งครั้งเป็นเทปบันทึกรายการที่บันทึกไว้เมื่อวันเสาร์ที่ 20 มิ.ย. และเป็นการบันทึกเทปนอกสถานที่ โดยครั้งนี้บันทึกที่ห้องชมวัง ราชนาวิกสภา หอประชุมกองทัพเรือ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดี ที่จริงแล้วก็คือข้ามมาถึงวันศุกร์เช้ารัฐบาลได้เปิดสมัยประชุมสภาวิสามัญ เพื่อที่จะต้องการขอเครื่องมือสำคัญในการที่จะไปทำงานทางด้านเศรษฐกิจ นั่นคือมีกฎหมาย 3 ฉบับ ที่ได้มีการนำเสนอต่อรัฐสภา โดยเริ่มต้นจากสภาผู้แทนราษฎรก่อน นั่นคือทั้งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ในเรื่องที่จะให้อำนาจกระทรวงการคลังในการที่จะกู้เงินเพื่อนำไปลงทุนในการ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเพื่อเสริมความเข้มแข็งในเรื่องของฐานะทางการคลัง และมีกฎหมายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553

“ซึ่งต้องขอขอบคุณท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้ร่วมประชุมกันอย่าง ก็ถือว่าเหน็ดเหนื่อยต่อเนื่องยาวนานถึง 4 วัน และแต่ละวันนั้นประชุมกันไปจนถึงประมาณตีหนึ่ง ตีสอง และได้ผ่านกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ”นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายกฯ กล่าวอีกว่า ในส่วนของพ.รก.นั้นเป็นการอนุมัติเฉยๆ ไม่ได้มีการที่จะต้องไปพิจารณาในวาระที่ 2 ที่ 3 เหมือนกับกฎหมายทั่วไป ซึ่งสาระสำคัญเคยได้เล่าให้ฟังแล้วว่า เรากำลังจะขออำนาจการกู้เงินที่เกินเลยไปจากกรอบซึ่งกฎหมายอนุญาตให้รัฐบาล กู้เงินได้ เพราะเรามีความจำเป็นจะต้องมาใช้เงินส่วนนี้ ส่วนหนึ่งก็คือมาเสริมฐานะในเรื่องของเงินคงคลังในการบริหารจัดการ ในช่วงที่รายได้การจัดเก็บภาษีไม่เข้าเป้า ประมาณไม่เกิน 2 แสนล้านบาท และที่เหลือในยอด 4 แสนล้านบาทนั้น จะนำไปสู่การลงทุนในโครงการสำคัญๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งที่ออกมาเป็นพ.ร.ก.เพราะว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน

“และถ้าหากว่าวุฒิสภาจะให้ความเห็นชอบในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ ก็จะทำให้เราสามารถที่จะพร้อมที่จะเดินหน้าปฏิบัติการตามพ.ร.ก.ฉบับนี้ได้”นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายกฯ กล่าวอีกว่า โดยเริ่มต้นจากการที่จะมีการกู้เงิน ทั้งในส่วนที่จะกู้ยืมในระบบธนาคาร และในส่วนที่จะออกพันธบัตร ซึ่งจะเหมือนกับพันธบัตรออมทรัพย์ เพื่อที่จะเป็นทางเลือกการออมให้กับประชาชนอีกทางหนึ่ง ยอดที่จะออกพันธบัตรนั้นคงจะเป็นประมาณ 3 หมื่นล้านบาท แล้วจะเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือผู้สูงอายุได้มาจองในการที่จะซื้อพันธบัตรตัวนี้ เพื่อเป็นทางเลือกในการออม เงินเหล่านี้ส่วนหนึ่งที่ไปเสริมเงินคงคลังก็ส่งคลัง ส่วนที่จะมีการกระตุ้น ส่วนที่จะมีการลงทุน จะสามารถเริ่มต้นในโครงการที่มีความพร้อม ซึ่งขณะนี้ตรวจสอบแล้วในช่วงเดือนสิงหาคม กันยายน ก็น่าจะมีอยู่ประมาณ 2 หมื่นกว่าล้านบาท และหลังจากนั้นจะเป็นการใช้เข้าไปสู่ในปีงบประมาณปีงบประมาณ 53 ซึ่งเริ่มต้นในเดือนตุลาคม จะเป็นยอดอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า กฎหมายฉบับที่ 2 ที่มีการเสนอเข้าสู่สภาฯ คือพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เคยเล่าให้ได้รับรู้รับทราบไปแล้วว่า เงินลงทุนในช่วง 3 ปีข้างหน้า มียอดเงินรวมถึงประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ที่เราต้องการที่จะให้ประเทศไทยของเรามีขีดความสามารถในการแข่งขัน เข้มแข็งขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแหล่งน้ำ ถนนหนทาง โรงเรียน โรงพยาบาล สถานีอนามัย และการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว รวมไปถึงแผนในการที่จะพัฒนาพื้นที่ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เอาการเมืองนำการทหาร เอาการพัฒนาและความยุติธรรมเป็นกุญแจสำคัญในการนำความสงบสุขกลับคืนมา ยอดเงินตรงนี้ส่วนหนึ่งจะเป็นงบประมาณ อีกส่วนหนึ่งจะเป็นการลงทุนของภาคเอกชน และอีกส่วนหนึ่งจำเป็นจะต้องเป็นเงินกู้ เพียงแต่ว่าเมื่อเราจะใช้เงินตัวนี้ อาจจะเป็นปี 2553 2554 2555 ก็ไม่ได้ออกมาเป็นพ.ร.ก.

นายกฯ กล่าวอีกว่า เรียนว่ากรอบการใช้เงินของพ.ร.ก.นั้น ได้เสนอให้สภาฯ รับทราบเรียบร้อยแล้ว ส่วนกรอบการใช้เงินตามพ.ร.บ.นั้น เดิมทีรัฐบาลตั้งใจที่จะเสนอให้ทางคณะกรรมาธิการของสภาฯ ซึ่งปกติการพิจารณากฎหมายทำ 3 วาระ คือ รับหลักการไป ตั้งกรรมาธิการ มี ส.ส. หรือมีผู้คนภายนอกเข้าไป 30-40 คนไปดูรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อพิจารณาทุกอย่างให้ละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้น และส่งกลับมาให้รัฐสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาระที่ 2 ที่ 3 แต่ปรากฏว่าในการพิจารณาเมื่อวันอังคาร ทางฝ่ายค้านได้ตัดสินใจในการที่จะเดินออกจากห้องประชุม ซึ่งก็มีเหตุผลของฝ่ายค้านที่แสดงออกถึงความไม่พอใจในการบริหารจัดการงบ ประมาณปี 2552 ในบางส่วน ก็ถือว่าเป็นการแสดงออก เป็นสิทธิทางการเมืองที่ทำได้ แต่ว่ารัฐบาลก็มีความจำเป็นที่จะต้องบริหารราชการแผ่นดิน และมีเครื่องมือตรงนี้ที่สามารถเดินต่อไปได้ ทำให้ในที่สุดเราต้องใช้วิธีการในการพิจารณา โดยอาศัยกรรมาธิการเต็มสภาฯ หรือที่เรามักจะพูดกันว่าพิจารณา 3 วาระ เพราะว่าเราจะตั้งกรรมาธิการก็ไม่ได้ เนื่องจากฝ่ายค้านนั้นไม่อยู่ในห้องประชุมที่จะเสนอคณะกรรมาธิการ และยังไม่มีทางออกที่ชัดเจนในแง่ของข้อบังคับ ข้อกฎหมายตรงนั้น เพราะฉะนั้น ในที่สุดสภาฯ โดยเสียงข้างมาก ได้ให้ความเห็นชอบตัวพระราชบัญญัติไปด้วย ซึ่งทำให้ขั้นตอนต่อไปก็คือไปเสนอต่อวุฒิสภา

“อย่าง ไรก็ตามขอยืนยันจุดยืนและให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลต้องการที่จะให้มีการตรวจสอบการ ใช้จ่ายเงินตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าสภาผู้แทนราษฎรจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาติดตามรายละเอียด เรื่องราวการใช้จ่ายต่างๆนั้น รัฐบาลก็จะไม่ขัดข้อง เช่นเดียวกันในการเสนอทั้งพ.ร.ก.และพ.ร.บ.เข้าสู่วุฒิสภาใน วันจันทร์นี้ ผมก็ยืนยันครับว่า ถ้าวุฒิสภามีความเป็นห่วงเป็นใย จะสามารถติดตามรายละเอียดต่างๆ จะทำได้หรือไม่อย่างไร ขอยืนยันนะครับว่าทำได้ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา หรืออะไรก็สุดแล้วแต่ และตามกฎหมายที่เราได้จัดทำเอาไว้ เมื่อมีการใช้จ่ายเงินงบประมาณหรือเงินกู้ในส่วนนี้ไปแล้ว จะต้องมีการรายงานให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทราบเป็นระยะ ๆ อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ขอให้ความมั่นใจว่ากลไกการตรวจสอบความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงินกู้ในส่วนนี้ จะต้องมีอย่างแน่นอน”นายกฯ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวย้ำถึงร่างพ.ร.บ.งบฯปี53ว่า ปีนี้ก็เป็นปีที่เคยเล่าให้ฟังแล้วว่าเป็นปีที่การจัดเก็บรายได้ลดลง ดังนั้นงบประมาณก็จะต้องลดลงเป็นเงิน 1.7 แสนล้านล้านบาท ได้ผ่านความเห็นชอบหรือการรับหลักการของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วในวาระที่ 1 จากนั้นไปจะเป็นการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรที่จะ มีการพิจารณารายละเอียดต่างๆ ที่อยู่ในกฎหมายงบประมาณฉบับนี้ เช่นเดียวกันครับรัฐบาลพร้อมที่จะให้รายละเอียดต่างๆ ให้ความร่วมมือกับกรรมาธิการในการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส

“ในวันพรุ่งนี้คือวันจันทร์ จะมีการนำเสนอกฎหมายให้ทางวุฒิสภาพิจารณา ผมก็ขอความสนับสนุน ความร่วมมือจากทางวุฒิสภา เพื่อที่จะให้รัฐบาลนั้นมีเครื่องมือในการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ และลงทุนเพื่อเตรียมประเทศไทยให้มีความพร้อม มีความเข้มแข็งในอนาคตที่จะมีขีดความสามารถในการแข่งขันในวันที่วิกฤต เศรษฐกิจครั้งนี้ได้ผ่านพ้นไป”นายกฯ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ขอเรียนว่า ความจำเป็นเรื่องนี้ยังมีอยู่อย่างเห็นได้ชัด ตัวเลขการส่งออกในเดือนพฤษภาคมออกมา ยังติดลบอย่างมาก เพราะว่าเศรษฐกิจโลกที่ได้มีการหดตัว และการส่งออกของเกือบทุกประเทศก็ยังอยู่ในภาวะที่ติดลบ ในจำนวนลบร้อยละ 20 ร้อยละ 30 โดยเฉพาะในภูมิภาคนี้ เพราะฉะนั้น การที่เราจะต้องเร่งลงทุนทดแทนสิ่งที่ขาดหายไปจากการส่งออก การท่องเที่ยว เพื่อสร้างงาน จ้างงานพี่น้องประชาชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เศรษฐกิจหมุนเวียน ยังเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นมาก รัฐบาลก็ต้องการเครื่องมือเหล่านี้ เพื่อที่จะไปเร่งทำงานฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไป

"อภิสิทธิ์" ยัน หวัด2009รักษาหายไม่ยาก

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกอภิสิทธิ์ว่า กรณีของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งตัวเลขในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นค่อนข้างที่จะรวดเร็ว อันนี้ก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากคนที่เดินทางกลับมา โดยเฉพาะในช่วงเปิดภาคเรียน ไปพบอยู่ในโรงเรียน หรือสถานที่ที่มีคนเดินทางมาจากประเทศที่มีการติดเชื้อก่อนหน้านี้ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้หลายประเทศจะประสบกับสถานการณ์คล้าย ๆ กับเราที่ตัวเลขของผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น แต่ขอย้ำอีกครั้งว่า เราไม่มีความจำเป็นต้องตื่นตระหนก มีการวางแนวทางเอาไว้ ขอให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ในข่ายสงสัยได้รีบเข้าไปรับการรักษาพยาบาล และมีการแจ้งข้อมูลมายังทางการ ก็จะบริหารจัดการ เพราะว่าโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว โรคนี้รักษาหายได้ไม่ยาก และมีกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะเจ็บไข้ได้ป่วย และมีความเสี่ยงในแง่ของการเสียชีวิตนั้น ก็จะมีการแยกออกมาเป็นพิเศษ นั่นคือกลุ่มที่เป็นผู้สูงอายุหรือเด็ก หรือคนที่มีโรคอื่นซ้อนกันอยู่ หรือผู้ที่ตั้งครรภ์ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้วางระบบไว้เรียบร้อยแล้ว

"มาร์ค"แจงเกณฑ์รับจำนำสินค้าเกษตรรูปแบบใหม่ เชื่อเป็นธรรมกับรัฐบาลและเกษตรกร

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกอภิสิทธิ์ว่า เรื่องของสินค้าเกษตร เรื่องของสินค้าเกษตร เคยได้อธิบายให้ฟังว่าจริงๆ แล้วรัฐบาลได้ทุ่มเทเงินงบประมาณค่อนข้างที่จะมากทีเดียว เรากำลังใช้เงินผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผ่านโครงการการแทรกแซงพืชผลทางการเกษตร แต่ละปีตอนนี้เป็นแสนล้าน แต่ระบบที่ใช้กันมาในขณะนี้เป็นระบบซึ่งไม่น่าจะเป็นระบบที่ดีที่สุด ตัวเลขของเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จริง ๆ ก็ยังไม่ได้ทั่วถึง เพราะฉะนั้น เรากำลังทำระบบใหม่ ระบบใหม่ที่ว่าขณะนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว

“หลักสำคัญคือว่าเราจะใช้วิธีการให้เกษตรกรตั้งแต่ช่วงต้น หรือระหว่างฤดูกาลเพาะปลูกมาขึ้นทะเบียนเอาไว้ รัฐบาลก็จะทราบว่าในพืชผลหลักๆ แต่ละตัวมีเกษตรกรที่ปลูกพืชเหล่านั้นกี่คน อยู่ที่ไหน ในปริมาณที่ประมาณการได้ว่าเท่าไหร่ แล้วหลังจากนั้นเมื่อผลผลิตออกมา รัฐบาลจะให้การช่วยเหลือโดยคำนวณอย่างนี้ ต้นทุนในการผลิตนั้นของพืชผลแต่ละตัวนั้นเป็นต้นทุนที่ระดับราคาเท่าไหร่ ดูแลให้พี่น้องเกษตรกรไม่ขาดทุน และมีผลตอบแทนตามสมควร แล้วจะกำหนดมาเพื่อเป็นหลักประกันในแง่ของราคาหรือรายได้ก็ว่าได้ เพราะฉะนั้น จะมีการกำหนดราคาที่เรียกว่าเป็นราคาประกัน หลังจากนั้นเมื่อถึงเวลาที่พืชผลการผลิตออกมา จะมีการนำเข้าสู่ตลาด รัฐบาลไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปแทรกแซงตลาดเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่า จำนำบางส่วน ไม่จำนำบางส่วน แล้วก็รับสินค้าเข้ามาในสต็อคของรัฐบาลมากมาย และก็มีปัญหาต่อมาว่าการระบายสินค้านั้น จะส่งผลกระทบต่อราคามากน้อยแค่ไหนอย่างไร รวมไปถึงปัญหาการต้องคอยดูแลตลอดเวลาว่าไม่ให้มีการทุจริตเกิดขึ้นกับกระบวน การตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เหมือนกับที่เรามีบทเรียนในเรื่องของลำไย ซึ่งในที่สุดแทรกแซงไปแล้วสุดท้ายต้องมาทำลาย”นายกฯ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า เพราะฉะนั้น วิธีก็คือว่าการซื้อขายในตลาดก็เป็นไปตามปกติ จะได้ราคาเท่าไหร่ ถ้าต่ำกว่าราคาที่ประกันไว้ก็มารับส่วนต่างชดเชยจากทางรัฐบาล ตามที่ได้มีการกำหนดและจดทะเบียนเอาไว้ ทีนี้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการไปกำหนดราคาซึ่งไม่เหมาะสม รัฐบาลก็จะติดตามราคาตลาด แล้วประกาศราคากลางซึ่งเป็นราคาเหมือนกับรับซื้อ เพื่อดูแลว่าการซื้อขายนั้นอยู่ในราคาซึ่งสอดคล้องกับความเป็นจริงตามภาวะ ตลาด ถ้าจะมีการแทรกแซงในรูปแบบของจำนำ ก็จะทำในระดับที่ราคาต่ำกว่าตลาด เพียงเพื่อประโยชน์อย่างเดียวคือว่าเปิดทางเลือกให้กับพี่น้องเกษตรกร ว่าตัดสินใจที่จะนำผลผลิตออกมาสู่ตลาดทันที หรือจะไปจำนำไว้ก่อน ซึ่งเป็นวัตุถประสงค์ดั้งเดิมของการจำนำราคาพืชผล ตรงนี้จะเป็นรูปเป็นร่าง และคงจะมีการนำเสนอ ผมก็จะเร่งรัดให้ออกมาทันฤดูกาลผลิตต่อไป

นายกฯ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันครับแผน ยุทธศาสตร์ของพืชผลแต่ละตัว รัฐบาลก็เร่งเดินหน้าทำงาน เช่น กรณีของสัปดาห์ที่ผ่านมามีการอนุมัติในเรื่องของแผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับ ผลไม้ก็ดี กาแฟก็ดี ซึ่งสิ่งที่ต้องการคือมุ่งเน้นในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ระบบการบริหารจัดการที่ทันท่วงที มีการสนับสนุนทางด้านการตลาด สิ่งเหล่านี้ควบคู่ไปกับการลงทุนในเรื่องของแหล่งน้ำตามแผนปฏิบัติการ ไทยเข้มแข็ง ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาของพี่น้องเกษตรกร ซึ่งเรายังพบเห็นอยู่ทุกปี และหวังว่าระบบใหม่ที่จะเข้ามานี้ จะเป็นระบบที่มีความชัดเจน มีความยั่งยืนมากกว่าในอดีต และเป็นหลักประกันสำหรับพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ และจะเป็นโครงการที่สามารถทำประโยชน์ให้กับพี่น้องเกษตรกรได้อย่างทั่วถึง เป็นธรรมอย่างแท้จริง














กำลังโหลดความคิดเห็น