xs
xsm
sm
md
lg

มาร์คเล็งทบทวนภาษีน้ำมันสบน.เร่งกู้9.4หมื่นล.อุดคลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - นายกรัฐมนตรีแย้มทบทวนนโยบายน้ำมันหากราคาน้ำมันโลกยังปรับตัวสูงขึ้นกว่านี้ "โฮฬาร" จวกรัฐบาลอ่อนหัด ขึ้นภาษีน้ำมันผิดเวลา ต้องทำตอนเศรษฐกิจฟื้น สบน.เร่งกู้ 9.4 หมื่นล้านโปะเงินคงคลัง "มาร์ค" สั่งคลังเตรียมออกพันธบัตรหลังศาล รธน.ชี้ขาด พ.ร.ก.กู้เงิน มั่นใจฉลุย "เหลิม" ดักคอแบ่งเค้ก 2 แสนล้าน ให้พรรคร่วมงาบ

วานนี้ (21 พ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หากสถานการณ์ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลอาจทบทวนนโยบายในการกำกับดูแลเรื่องราคาน้ำมันใหม่ ขอรอดูอีกสักระยะเพื่อประเมินสถานการณ์ โดยยืนยันกรณีที่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับขึ้นมาในขณะนี้เป็นไปตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ไม่เกี่ยวข้องกับการประกาศปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันหรือการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง "ราคาน้ำมันที่ปรับเปลี่ยนในขณะนี้เป็นไปตามภาวะและปัญหาจากตลาดโลก แต่หากจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายหรือไม่จะมีการประเมินอีกระยะหนึ่ง" นายอภิสิทธิ์ กล่าว การประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ขยายเพดานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเพิ่มจากลิตรละ 5 บาท เป็น 10 บาท แต่เบื้องต้นได้กำหนดให้ปรับการเก็บภาษีสรรพสามิตลิตรละ 2 บาท คือ จากเดิมลิตรละ 5 บาท เป็น 7 บาท
นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากรัฐจะเข้ามาดูแลหรือปรับนโยบายด้านน้ำมันก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องไม่ใช่การควบคุมราคาน้ำมัน ซึ่งรัฐอาจเข้ามาดูแลโดยผ่านกลไกด้านภาษีต่างๆ รวมถึงกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนอัตราการจัดเก็บภาษีเหล่านี้เพื่อให้ราคาน้ำมันในประเทศเป็นไปตามที่รัฐบาลต้องการ แต่หากรัฐยังคงจัดเก็บภาษีน้ำมันเท่าเดิม เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับขึ้น ผู้ประกอบการก็ต้องปรับเพื่อให้สอดคล้องกับตลาดโลก โดยประชาชนจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ แต่หากมีการจัดเก็บภาษีน้ำมันลดลงทางภาครัฐก็จะมีรายได้ลดลงกระทบต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

***โอฬารจวกขึ้นภาษีน้ำมันผิดพลาด
นายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลทักษิณ บรรยายในการสัมมนา ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในหัวข้อ วิกฤตไทยปัญหาและทางออก ว่า นโยบายที่พรรคพลังประชาชนในเดือนก.ย.2551 ได้มีนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันก็ได้นำส่วนนี้ไปใช้จากงบประมาณกลางปี1.16แสนล้านบาท แต่สิ่งผิดพลาดของรัฐบาล คือ เมื่อรัฐสภาผ่านงบประมาณกลางปี1.16 แสนล้านบาทและมีการแจกเงินให้ประชาชน แล้วทำไมหลังจากนั้นเพียง 6 สัปดาห์ก็มีการประกาศขึ้นภาษีสรรพสามิต ยาสูบ สุรา เบียร์ และ น้ำมัน เพื่อหาเงินจากประชาชนอีกประมาณ 6.5หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการเอาเงินใส่กระเป๋าซ้ายแล้วดึงออกจากกระเป๋าขวาของประชชน เป็นจำนวนใกล้เคียงกัน
เป็นผลให้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการที่ยอดส่งออกและท่องเที่ยวลดลงมากได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผลเลย ซึ่งทำให้จำนวนผู้ว่างงานที่คาดว่าจะมีถึง 1.2 ล้านคน ไม่ได้ลดลง แต่ถ้าไม่ขึ้นอัตราภาษี และมีเฉพาะงบกลางปีอย่างเดียว จะช่วยให้คนมีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 2.2แสนคน จึงมีคำถามว่าเมื่อรัฐบาลทำนโยบายผิดพลาดแล้วควรยกเลิกการขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิต ข้างต้นหรือไม่อย่างไร
"การไปล้วงภาษีประชาชนแทนการอาเงินไปใส่กระเป๋าประชาชน ซึ่งไม่มีรัฐบาลไหนในโลกนี้ทำ เพราะนโยบายการคลังไม่มีประเทศไหน อุตริ เอาเงินเข้ากระเป๋าซ้ายล้วงคืนจากกระเป๋าขวาของประชาชน ทำให้เม็ดเงิน ในเศรษฐกิจเหลือไม่มาก จริงอยู่ต้องการลดไม่ให้คนดื่มสุราก็จริง หรือ การจะให้คนใช้น้ำมันลดลงแต่ต้องทำเมื่อเศรษฐกิจฟื้นแล้วไม่ใช่มาทำระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจ"
นายโอฬารกล่าวว่าถ้าไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถูกต้องแบบครบองค์ประกอบ จีดีพีจะติดลบ 4 %และคนจะตกงานเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านคน แต่ถ้าทำได้มีการบริหารจัดการที่ดีโดยเชื่อว่าถ้ารัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยังอยู่ต่อไม่ออกไปเสียก่อนและทำตามนี้เราจะแก้ปัญหาได้ครึ่งหนึ่ง คือ จีดีพีจะติดลบ 2 % และคนจะตกงานประมาณ 6 แสนคน ขณะเดียวกันหากเราได้อยู่ต่อไปจะสามารถฟื้นตัวในนิยามที่ผมต้องการ คือ ระดับจีดีพีและการจ้างงานจะกลับไปสู่ในระดับเมื่อเดือนส.ค.2551 ก่อนที่ วิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะระเบิดออกมา ตราบใดที่ไม่ถึงระดับนั้นจะเรียกว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นไม่ได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะต้องทำให้ถึงระดับนี้ให้ได้

***สบน.เร่งกู้ 9.4 หมื่นล้านโปะคลัง
นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังเรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังรวมทั้งหน่วยงานจัดเก็บภาษีว่า ที่ประชุมได้มีการประเมินการจัดเก็บรายได้รัฐบาลและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการรอศาลรัฐธรรมนูญตีความพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 4 แสนล้านบาท โดยเห็นว่าแนวโน้มการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงกว่าเดือนก่อนแม้จะมีวันหยุดเยอะและจะมีเม็ดเงินภาษีจากนิติบุคคลเข้ามาเดือนพ.ค.นี้ จึงมองว่าทั้งปีการจัดเก็บรายได้น่าจะยังอยู่ในกรอบเดิมที่ต่ำกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 2.8 แสนล้านบาท
แหล่งข่าวจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สบน.เตรียมแผนการกู้เงินชดเชยขาดดุลในส่วนที่ครม.อนุมัติเพิ่มเติมก่อนหน้านี้ 9.4 หมื่นล้านบาทไปก่อนระหว่างที่รอ พ.ร.ก. โดยจะมีทั้งการออกพันธบัตรออมทรัพย์ การกู้ตรงจากสถาบันการเงินและ การออกตั๋วเงินคลัง ซึ่งสามารถทำได้พร้อมๆกัน เพราะสภาพคล่องในตลาดมีมากพอและสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจเสนอตัวเข้าลงทุนพันธบัตรและปล่อยกู้จำนวนมาก โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 1% กว่าเท่านั้น ขณะที่พันธบัตรออมทรัพย์ที่จะออกต้นเดือนมิ.ย.นี้ มีวงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าตลาดเล็กน้อยเพื่อเป็นการจูงใจ โดยอาจบวกเพิ่มอีก 15-18%จากอัตราตลาด
“ขณะนี้เงินคงคลังเหลือเพียง 7 หมื่นล้านบาทคงไม่เพียงพอเพราะแต่ละเดือนจะมีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินเดือนประมาณ 1 แสนล้านบาท จึงต้องทะยองกู้เงินเข้ามาใส่ไว้และเดือนพ.ค.อาจมีเงินก้อนใหญ่เข้ามาจากรมสรรพากรจึงมองว่าจะไม่กระทบมากแม้พ.ร.ก.ยังไม่ผ่าน โดยส่วนของ 2 แสนล้านบาทที่จะกู้นั้นจะสำรองในเงินคงคลังทั้งหมดเป็นของปีงบ52 จำนวน 1.2 แสนล้านบาท และเป็นการสำรองไว้ใช้ต้นปีงบ 53 อีก 8 หมื่นล้านบาท

***สั่งคลังออกบอนด์หลังศาลชี้ พ.ร.ก.ฯ
นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แสดงความมั่นใจถึงการออก พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 ในวงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท ว่า จะไม่ขัดต่อกฎหมายตามความเห็น ของฝ่ายค้าน โดยได้สั่งการให้กระทรวงการคลังเตรียมความพร้อมในการออกพันธบัตรทันทีที่มีคำวิจิฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญออกมาหวังว่าศาลจะพิจารณาเร็วภายใน 2-3 สัปดาห์
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้เตรียมแผนการรองรับไว้ในกรณีที่ไม่สามารถ ดำเนินการกู้เงินจำนวนดังกล่าว เพราะมั่นใจว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวไม่มีปัญหาแน่นอน ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาเมื่อใดก็จะเสนอร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญพิจารณาได้ราวกลางเดือน มิ.ย.นี้
สำหรับการเตรียมความพร้อมที่จะไปชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอหารือกับกระทรวงการคลังก่อนเพื่อกำหนดตัวบุคคลที่เหมาะสม ตนยืนยันว่าเตรียมชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียว ไม่ได้เตรียมแผนรองรับไว้
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน และประธานส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลขาดความรับผิดชอบ การออก พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาทนั้น 2 แสนล้านบาทแรกจะนำมาสนับสนุนการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่ไม่เข้าเป้าซึ่งเป็นเรื่องที่พอรับได้ เพราะไม่มีใครคิดว่าจะจัดเก็บรายได้ได้ต่ำขนาดนี้ ส่วน 2 แสนล้านบาทหลังนั้นรับไม่ได้รัฐบาลไม่มีความละอาย เพราะไม่มีโครงการหรือไม่มีสิ่งใดที่จะตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะนำไปแบ่งกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ตามกระทรวงในแต่ละโครงการ ส่วนการปรับงบประมาณปี 2552 นั้น ความจริงเรื่องนี้มีการปรับมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช  โดยได้จัดไปแล้วครึ่งหนึ่ง เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ออกพ.ร.ก.ฉบับนี้ ก็แสดงว่างบประมาณมีการจัดถึง 3 ครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดและไม่รักษาผลประโยชน์ต่อประเทศ
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญจะทำอย่างไร ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ตนยังไม่อยากแสดงความคิดเห็นตอนนี้ แต่ยังติดใจกับเงิน 2 แสนล้านบาทว่าจะเอามาใช้อะไร ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญ ตีความว่าไม่ขัดกฎหมายก็ไม่ได้เป็นเรื่องเสียหน้าของฝ่ายค้าน แต่จะถือว่าดีและเป็นมาตรฐานที่ดี เมื่อตนมีโอกาสได้เป็นรัฐบาลจะได้ทำบ้าง ตามมาตรา 184 วรรค 2.
กำลังโหลดความคิดเห็น